เครือซีพี ผนึกกำลัง “ซีพี ออลล์-ทรู” ร่วมมือกทม.และสปสช. เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนจองสิทธิฉีดวัคซีนผ่านเซเว่น อีเลฟเว่นทุกสาขาทั่วกทม. ด้าน “ทรู” เตรียมพร้อมระบบ Call Center  ช่วยให้คำแนะนำลูกค้าลงทะเบียน มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่มากที่สุดและเร็วที่สุด หยุดเชื้อ ฟื้นประเทศเร็ววัน

นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด  พร้อมด้วย นายอาณัติ  เมฆไพบูลย์วัฒนา รองประธานคณะกรรมการบริหาร ของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น  เข้าร่วมการแถลงข่าวระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย”  ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่าย  เพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนจองสิทธิในการรับบริการฉีดวัคซีน  ณ  หน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ในรูปแบบของ web based ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  โดยมี พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  พร้อมด้วยผู้บริหารจากภาคเอกชนเข้าร่วมแถลงข่าว ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง)

นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด  กล่าวว่า  เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือ  พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของพลังความร่วมมืออันยิ่งใหญ่ ระหว่างหอการค้าไทย กรุงเทพมหานคร(กทม.) และภาคีเครือข่าย ในการรับลงทะเบียนเพื่อจองสิทธิฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่กทม.ได้รับการฉีดวัคซีนกันอย่างทั่วถึง และมีภูมิคุ้มกันหมู่มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อทำให้เศรษฐกิจ สังคม กลับคืนมาสู่ปกติโดยเร็ววัน เนื่องจากกทม.เป็นพื้นที่ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด  คือการฉีดวัคซีน  เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อ

ในการนี้ เครือซีพี โดยบมจ.ซีพี ออลล์ จะเปิดให้บริการรับลงทะเบียนเพื่อจองสิทธิฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านเซเว่น อีเลฟเว่นทุกสาขาในพื้นที่กทม. รวม 3,314 สาขา ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ภายในวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 โดยขอให้ประชาชนที่ต้องการลงทะเบียนที่เซเว่นฯ ขอให้ตรวจสอบสิทธิของตนเองก่อน และนำบัตรประชาชน พร้อมโทรศัพท์มือถือไปแจ้งที่เซเว่นฯได้ทุกสาขา พนักงานเซเว่นฯจะอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนจองสิทธิฉีดวัคซีนสำหรับบุคคลทั่วไปผ่านเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com หรือช่วยดำเนินการให้กรณีที่ไม่สามารถดำเนินการเองได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนได้อย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ ทั้งนี้ นอกจากนี้ ได้นำความเชี่ยวชาญของบริษัทในเครือ คือ กลุ่มทรูที่มีการดูแลลูกค้ากว่า 30 ล้านคนมาช่วยสนับสนุนผ่านระบบ Call Center ช่วยให้คำแนะนำปรึกษาให้พี่น้องประชาชนสามารถลงทะเบียนจองสิทธิฉีดวัคซีนได้ทั่วถึงมากที่สุด

“วิกฤตโควิดครั้งนี้ แม้จะทำให้ทุกคนต้องพบกับความทุกข์มหาศาลที่กระทบกับทุกองค์กร ทุกภาคส่วนและทุกครอบครัว แต่เมื่อผ่านพ้นครั้งนี้ไปได้ เชื่อมั่นว่าจะทำให้เรามีความสามัคคีและเข้มแข็งยิ่งขึ้น” นายนพปฎลกล่าว

กทม.ฟื้นฟูเมืองครั้งใหญ่ ทุ่มปรับภูมิทัศน์ ขยายทางเท้า ปั้นสตรีตฟู้ด บูมท่องเที่ยว 5 ย่านเศรษฐกิจ เกาะรัตนโกสินทร์ อโศก-พระราม 9 เตาปูน-บางโพ บางหว้า บางขุนเทียน กระตุ้นจับจ่าย ประเดิมถนนเยาวราชรับสงกรานต์ปีหน้า “อัศวิน” โชว์แผนลงทุน 7.5 หมื่นล้านซื้อเรือไฟฟ้า ซ่อมสร้างถนนทั่วกรุง ผุด 3 อุโมงค์ยักษ์แก้น้ำท่วม

นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.มีแผนจะปรับปรุงทางเท้าและภูมิทัศน์ย่านสำคัญและย่านเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งวันที่ 9 ธ.ค. 2563 จะหารือรวมกับกฎบัตรแห่งชาติถึงโมเดลการพัฒนาใน 5 ย่าน โดยคัดถนนที่มีการใช้งานน้อย เนื่องจากจะต้องนำผิวถนน 1 ช่องจราจรเพื่อขยายทางเท้าเพิ่ม คาดว่าจะนำร่องถนนเยาวราชเป็นแห่งแรก

ทุ่ม 10 ล้านประเดิมเยาวราช

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ กทม. บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) บริษัท กรุงเทพพัฒนาเมือง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ปรับปรุงฟื้นฟู 5 ย่านเศรษฐกิจในพื้นที่ กทม. ได้แก่ เกาะรัตนโกสินทร์ ย่านอโศก-พระราม 9 ย่านเตาปูน-บางโพ ย่านบางหว้า และบางขุนเทียน โดยจะขยายทางเท้าเพิ่มเพื่อทำเป็นสตรีตฟู้ดรองรับการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

“วันที่ 9 ธ.ค.จะเสนอโมเดลให้ผู้บริหาร กทม.พิจารณา นำร่องที่ถนนเยาวราชตั้งแต่ช่วงถนนเยาวราช-ถนนราชวงศ์ ระยะทาง 650 เมตร เพราะเป็นย่านท่องเที่ยว มีร้านอาหารชื่อดังเป็นที่รู้จัก และมีรถไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้เดินทางสะดวก จะใช้เงินปรับปรุงประมาณ 10 ล้านบาท มีผู้ประกอบการในพื้นที่ออกค่าใช้จ่ายให้ กทม.”

วันที่ 24-25 ธ.ค.นี้จะจัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นของบรรดาร้านอาหารสตรีตฟู้ดในเยาวราชถึงการขยายทางเท้า โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.จะเข้าร่วมรับฟังด้วย เพื่อเก็บข้อมูลออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. เริ่มสร้างเดือน ก.พ. และแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 2564 พอดีกับช่วงเทศกาลสงกรานต์

“การขยายทางเท้าจะเสียผิวจราจรไปฝั่งละ 1 ช่องหรือเฉลี่ย 1 เมตร เพื่อให้ทางเท้ามีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 1.8 เมตรเป็น 3 เมตร จะทำให้พื้นที่ร้านค้าริมทางสามารถขยายที่นั่งได้มากขึ้น ส่วนผิวจราจรจะเหลือให้รถวิ่งผ่านได้ 6 ช่องจราจร จากเดิม 8 ช่องจราจร แต่ไม่น่ามีปัญหาเพราะช่วงเวลาปกติถนนเยาวราชเดินรถทางเดียว” นายฐาปนากล่าวและว่า

ลุยต่อย่านเตาปูน-บางโพ

ส่วนที่เหลือจะศึกษาเสร็จในปี 2564 ได้แก่ 1.ช่วงเตาปูน-บางโพ ระยะทาง 1.8 กม. ตั้งแต่แยกเตาปูนเลาะไปตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสายสีน้ำเงินช่วงสถานีเตาปูน-แยกประชาราษฎร์-สถานีบางโพ ซึ่งการขยายทางเท้าในย่านนี้เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่มีมากขึ้นจากการเปิดโครงการคอนโดมิเนียม และเป็นย่านการค้าเก่าอย่างตลาดเตาปูน ย่านการค้าใหม่อย่างห้างเกตเวย์ บางซื่อ และรองรับสถานีกลางบางซื่อจะเปิดใช้ในปี 2564 และกำลังหารือ กทม.จะขยายระยะทางอีก 2.5 กม.ไปถึงรัฐสภาเกียกกาย

2.โซนพระราม 9-อโศก ระยะทาง 4 กม. เริ่มตั้งแต่เซ็นทรัล พระราม 9 ผ่านรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์สถานีมักกะสัน เลาะไปตามถนนอโศกมนตรีถึงศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 จะออกแบบให้เป็นถนนที่มีต้นไม้อยู่ริมสองข้างทาง (boulevard) ให้เกิดความร่มรื่นในการเดินทางตลอดสาย เพื่อเพิ่มการเดินเท้าในการสัญจร 3.บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบางหว้า ระยะทาง 300 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อการเดินทางแบบล้อ ราง เรือ มีรถไฟฟ้า 2 สายตัดผ่าน คือ สายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน รวมถึงเป็นจุดจอดเรือโดยสารคลองภาษีเจริญ และเรือโดยสารคลองบางกอกใหญ่

และ 4.บริเวณถนนมหาราชเชื่อมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ต้องเสนอโครงการให้คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่ามีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาก่อน

ทุ่มปรับปรุงเกาะรัตนโกสินทร์

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2564 กทม.มีโครงการปรับปรุงทางเท้าบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์จำนวน 30 เส้นทาง แบ่งดำเนินการ 4 ตอน ใช้งบประมาณ 517 ล้านบาท คือ 1.พื้นที่ถนนดินสอ ถนนตีทอง ถนนตรีเพชร ถนนมหาไชย ถนนสำราญราษฎร์ ถนนบำรุงเมือง จากถนนตีทองถึงคลองรอบกรุง ถนนเจริญกรุงจากถนนสนามไชยถึงคลองรอบกรุงและถนนจักรเพชรจากถนนมหาไชยถึงถนนตรีเพชร วงเงิน 166 ล้านบาท

2.พื้นที่ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุ ถนนจักรพงษ์ ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชินีจากถนนราชดำเนินกลางถึงถนนพระอาทิตย์ วงเงิน 154 ล้านบาท 3.พื้นที่ถนนหน้าพระธาตุ ถนนพระจันทร์ ถนนมหาราช ถนนท้ายวัง ถนนเชตุพน ถนนสนามไชย และซอยเศรษฐการ วงเงิน 75 ล้านบาท และ 4.พื้นที่ถนนราชดำเนินใน ถนนหลักเมือง ถนนแพร่งนรา ถนนสำราญราษฎร์ ถนนราชบพิธ ถนนบ้านหม้อ ถนนเฟื่องนคร ถนนตะนาว ถนนสิบสามห้าง และถนนบวรนิเวศน์ วงเงิน 122 ล้านบาท

ปี’64 นำร่อง 4 เส้นทาง

“ปี 2564 มีพื้นที่จะนำร่อง 4 เส้นทาง ได้แก่ ถนนพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ ถนนเจ้าฟ้า ถนนจักรพงษ์ เพราะมีการเชื่อมโยงกับถนนข้าวสารที่เพิ่งปรับปรุงทางเท้าและผิวถนนโฉมใหม่ไปก่อนหน้านี้”

ยังมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และทางเท้าถนนรัชดาภิเษกจากช่วงบริเวณคลองสามเสนถึงแยกเทียมร่วมมิตร (The Street รัชดา) คลองช่องนนทรี จะนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน และปรับปรุงทางเท้าที่ชำรุดทรุดโทรมใหม่ให้ได้มาตรฐาน ปรับปรุงทางเดินและทางจักรยานคลองไผ่สิงโต (สะพานเขียว) เชื่อมสวนลุมพินีกับสวนเบญจกิติ พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่

อัดงบฯตัดถนน-ผุดอุโมงค์ยักษ์

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กทม.ตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2564 อยู่ที่ 75,500 ล้านบาท มีโครงการสำคัญจะริเริ่ม เช่น ขยายการเดินเรือคลองแสนแสบวัดศรีบุญเรือง-มีนบุรี ระยะทาง 10.5 กม. ซื้อเรือไฟฟ้า 12 ลำ สร้างท่าเทียบเรือคลองแสนแสบ 8 ท่า ติดตั้งป้ายรถเมล์อัจฉริยะครบ 100 แห่ง

จะเปิดใช้ถนนใหม่ ได้แก่ ถนนศาลาธรรมสพน์จากถนนพุทธมณฑลสาย 2-คลองทวีวัฒนา, ถนนต่อเชื่อมกาญจนาภิเษก-พุทธมณฑลสาย 2, ขยายสะพานอรุณอมรินทร์ พร้อมทางขึ้น-ลง, ทางยกระดับข้ามแยกศิริราช, ทางลอดรัชดาฯ-ราชพฤกษ์, ทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก และสะพานข้ามแยก ณ ระนอง

สำหรับโครงการใหม่จะเริ่มก่อสร้าง อาทิ ถนนรามคำแหง 24, ถนนไมตรีจิต, สะพานข้ามแยกบางกะปิ (สะพานลาดพร้าว-เสรีไทย), ทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง, ถนนวิภาวดีรังสิตกับ ถนนพหลโยธิน, ถนนเชื่อมต่อศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะกับถนนประชาชื่น, ถนนพุทธมณฑลสาย 2-ถนนพุทธมณฑลสาย 3

ด้านปัญหาน้ำท่วมจะสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากรช่วงที่ 2 หมู่บ้านแกรนด์ คาแนล-ถนนสรงประภา ความยาว 5 กม. เริ่มปี 2564-2566 ช่วงที่ 3 ถนนสรงประภา-ถนนแจ้งวัฒนะ ความยาว 10 กม. เริ่มปี 2564-2565 ช่วงที่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ-ถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาว 10.7 กม. เริ่มปี 2564-2565 ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์คลองเปรมประชากร อุโมงค์ส่วนต่อขยายคลองแสนแสบ และอุโมงค์คลองทวีวัฒนา ช่วยพื้นที่กรุงเทพฯโซนเหนือ ใจกลางเมืองย่านลาดพร้าว และฝั่งธนบุรี จะเริ่มปี 2564-2569 เป็นต้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

“สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” พร้อมให้บริการปลาย มิ.ย.นี้ เปิดเวลา 05.00 – 20.00 น.

นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมพิธีเปิดสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ครั้งที่ 1/2563 ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าและการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ของพิธีเปิดสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (Chao Phraya Sky Park)

“สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ถือเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางสัญจรระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร พร้อมจุดชมวิวที่สวยงามกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้บนสะพาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมภูมิทัศน์ย่านกะดีจีน-คลองสาน ขณะนี้ โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการไปเกือบสมบูรณ์แล้ว เหลือปรับและตกแต่งเพียงเล็กน้อยก็จะสามารถเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ เบื้องต้นที่ประชุมกำหนดให้มีการแถลงข่าวพิธีเปิดสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา การลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่าง กทม. และกรมทางหลวงชนบท การมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดตั้งชื่อสวนสาธารณะดังกล่าว จากนั้นจะมีการจัดพิธีเปิดสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (Chao Phraya Sky Park) อย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ โดย กทม.จะเชิญนายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธานในพิธีเปิด” นางวัลยา กล่าวและว่า สวนแห่งนี้จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการในช่วงเวลา 05.00 – 20.00 น.”

นางวัลยา กล่าวว่า สำหรับโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้าหรือสะพานด้วน เกิดขึ้นจากการร่วมมือระหว่าง กทม.โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรมทางหลวงชนบท และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ในการปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์มานานกว่า 30 ปี ให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่มีทางเดินและทางจักรยานอยู่ด้วย ความยาว 280 เมตร ความกว้าง 8.50 เมตร มีการติดตั้งราวกันตกความสูง 2 – 3 เมตร พร้อมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และมีการติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้พิการที่มาใช้บริการอีกด้วย

“ด้านภูมิสถาปัตยกรรม มุ่งเน้นการใช้งาน บำรุงรักษาง่าย โดยเลือกใช้พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร มีต้นมะกอกน้ำเป็นไม้ยืนต้นหลัก และพันธุ์พืชอีกนานาชนิด อาทิ ชาข่อย ใบต่างเหรียญ รัก หญ้าหนวดแมว ยี่โถ ชงโค ต้อยติ่ง เอื้องหมายนา เป็นต้น ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ให้เมือง อีกทั้งพืชบนสวนลอยฟ้ายังมีประโยชน์กับแมลงและระบบนิเวศโดยรวมด้วย” รองปลัด กทม.กล่าว

สำหรับสวนดังกล่าวได้เชื่อมการสัญจรระหว่างฝั่งธนบุรีเข้ากับฝั่งพระนคร นอกจากจะใช้ประโยชน์เพื่อการพักผ่อนและออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นจุดชมวิวกลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงามที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และยังช่วยชูเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวย่านกะดีจีน-คลองสาน คลองโอ่งอ่าง และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายด้านวัฒนธรรมด้วย

ที่มา : มติชนออนไลน์

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2563 ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครครั้งที่13/2563 มีพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.เป็นประธาน ได้พิจารณามาตรการผ่อนปรนกิจการ-กิจกรรมป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่3 จะเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป

หลังสถานการณ์ในเดือนพ.ค. ในพื้นที่กทม.พบผู้ป่วยใหม่ 9 ราย ซึ่งสถิติลดลงกว่า55% จากเดือนเม.ย. จึงเป็นที่มาทำไมถึงมีผ่อนปรนเพิ่มเติมเปิดสถานที่ต่างๆ มี 17สถานที่ มีแตกต่างจากมาตรการของรัฐไปบ้าง

1. ร้านอาหาร เปิดผ่อนปรนตั้งแต่เฟสแรก มีการแพร่ระบาดค่อนข้างมาก จึงมีมาตรการเข้มข้น มีเทเบิลชิลหรือเว้นระยะทางบนโต๊ะ 1-1.5 เมตร แต่ตอนนี้จะอนุโลมมากขึ้นให้สามารถนั่งรับประทานร่วมกันได้ แต่ต้องมีการเว้นระยะห่าง 1 เมตร หลักการไม่ให้หนาแน่นมากเกินไป ไม่จำกัดคนแต่ละโต๊ะ แต่จำกัดความหนาแน่นโดยเว้นระยะห่างเก้าอี้ เพื่อให้ประชาชนออกมาทานนอกบ้านได้มากขึ้น

2. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ให้มีการเปิดได้มากขึ้นถึง21.00 น. ทางกทม. รัฐบาลคุยกับผู้ประกอบการแล้ว ให้บริหารจัดการหลังร้านให้พนักงานกลับบ้านได้ทัน ไม่เกินเวลาเคอร์ฟิว

3. ร้านตัดผม เสริมสวย แต่งผม ผ่อนผันให้เปิดบริการได้ทุกอย่าง แต่จำกัดเวลาใช้บริการครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อถ่ายเทอากาศ ทำความสะอาดทุก 2 ชั่วโมง และผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือผ้าตลอดเวลา

4. สถานเสริมความงาม สถานบริการสักผิวหนัง ให้บริการได้ทุกกิจกรรม แต่ต้องจำกัดการบริการไม่เกิน2 ชั่วโมง ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย

ซึ่งกทม.เพิ่มให้ส่วนของผู้ให้บริการหรือหมอต้องใส่เฟซชิลด์ด้วย และมีลงทะเบียนทุกครั้ง ส่วนบริเวณปากหากจะทำหน้า จะต้องให้ผู้ให้บริการประยุกต์หาวิธีป้องกันเพื่อป้องกันลมหายใจ

5. ฟิตเนสนอกห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าและคอมมิวนิตี้มอลล์ รวมถึงในห้าง ผ่อนปรนให้เปิดเล่นทุกกิจกรรม จำกัดจำนวนผู้เล่น เว้นระยะห่างเครื่องเล่นประมาณ 2 เมตร จำกัดเวลาเล่นครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อทำความสะอาด งดการอบตัว อบไอน้ำ

6. ผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ โรงเรียน สถาบันการศึกษา ตอนนี้ยังไม่มีการให้เปิดเทอมเต็มรูปแบบ แต่ให้เตรียมการศึกษา ความพร้อมหลักสูตร การประชุมครูสามารถทำได้ แต่ยังไม่ให้นำนักเรียนเข้าห้องเรียน

ส่วนโรงเรียนเอกชนนอกระบบ สอนวิชาชีพ ศิลปะและกีฬา สามารถเปิดได้แต่ต้องเป็นกีฬาที่ผ่อนผันแล้ว เช่น แบดมินตัน ตะกร้อ ปิงปอง สควอตและอื่นๆ แต่ต้องทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากทุกครั้ง

7. การจัดแสดงสินค้า นิทรรศการ ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า สถานที่ต้องมีขนาดไม่เกิน 20,000 ตารางเมตร จำกัดสูงสุด 5,000 คน จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมตามขนาดพื้นที่ คือ ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อคน เว้นระยะห่างที่นั่ง ยืน ไม่น้อยกว่า 1 เมตร และเปิดบริการได้ถึงเวลา 21.00 น.

8. ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา สามารถเปิดได้ แต่ไม่มีจัดสัมมนา ประกวด รวมกลุ่มเพื่อการจองเช่าพระ วัตถุมงคล แต่ถ้าเป็นการส่องพระเช่าพระสามารถทำได้

9. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน จะให้เปิดได้เพื่อดูแลเด็ก เนื่องจากขณะนี้มีเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน บางส่วนอยู่บ้าน จะให้เปิดศูนย์ทำการประกอบเลี้ยง ทำอาหาร นม ให้เด็กตามบ้านหรือให้ผู้ปกครองมารับตามศูนย์ แต่ไม่รับเลี้ยงทั้งวัน

10. สถานประกอบการนวดเพื่อสุขภาพ นวดแผนไทย สปา ให้เปิดได้เต็มรูปแบบ แต่ห้ามนวดบริเวณใบหน้า อบตัว อบสมุนไพรแบบรวมหลายๆคน ไม่ให้เปิดสถานที่ประเภทอาบน้ำ อบนวด และจำกัดการใช้บริการไม่เกิน2 ชั่วโมง และผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นขณะอบตัวหรืออบไอน้ำ ต้องทำตามที่กำหนด

11. สถานที่ฝึกซ้อมมวย โรงยิม ค่ายมวย ให้เปิดเฉพาะฝึกซ้อมนักมวย ชกล่อเป้า ชกลมได้ แต่ยังไม่ให้ชกหรือซ้อมกันเอง เพราะยังมีความใกล้ชิดค่อนข้างมาก อาจจะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดได้

12. สนามกีฬา ได้อนุโลมประเภทกีฬามากขึ้น เช่น ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล แต่ต้องไม่มีการแข่งขัน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกีฬาจะต้องมีไม่เกิน 10 คน

13. สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ต โลโรเบต หรือการละเล่นอื่นๆ ให้มีการเปิดเฉพาะกิจกรรมให้การออกกำลังกาย หรือฝึกซ้อมเท่านั้น ไม่ให้มีการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นรวมตัวแข่งโบว์ลิ่งการกุศล ให้เว้นระยะห่างยืนและนังไม่น้อยกว่า 1 เมตร

14. สถาบันสอนลีลาศ หรือสถาบันลีลาศ ให้ใช้บริการไม่เกิน 5 ตารางเมตรต่อคน

15. สถานที่ให้บริการลักษณะกีฬาทางน้ำ เช่น เจตสกี ไทเซิร์ฟ บันนานาโบ้ต สามารถ เปิดดำเนินได้

16. โรงภาพยนต์ โรงมหรสพ ให้เปิดบริการได้ แต่จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ไม่เกิน 200 คน งดเว้นการจัดดนตรี คอนเสิร์ต หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่สุ่มเสี่ยง ทำให้คนมาใกล้ชิดกัน

17. สวนสัตว์หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ ให้เปิดดำเนินการได้แต่ต้องทำตามมาตรการของรัฐ

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวอีกว่า สำหรับแอโรบิกในสวนสาธารณะ ยังไม่อนุญาต ด้านไทเก็กสามารถรำได้แต่ต้องรำเดี่ยว ไม่เป็นการรวมกลุ่ม โดยกทม.จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนเช็กอินผ่านแอปพลิเคชั่น“ไทยชนะ”ด้วย เพื่อติดตามประวัติผู้ใช้บริการในสถานีที่ต่างๆ

เช็คด่วน! 27 สถานที่ ห้าง โรงหนัง ฟิตเนส ศบค.มีมติให้ผ่อนปรนระยะ 3 เริ่มวันที่ 1 มิ.ย.63 เป็นต้นไป แต่ยังห้ามตั้งวงเหล้าในสถานที่ดังกล่าว

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 13/2563 โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธาน ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เพื่อพิจารณากำหนดรายละเอียดมาตรการควบคุมดูแลสถานที่ตามที่ ศบค.มีมติให้ผ่อนปรนมาตรการเปิดสถานที่เพิ่มเติมระยะ 3 โดยมีมาตรการผ่อนปรนสถานที่เพิ่มเติม 27 สถานที่ จะเริ่มวันที่ 1 มิ.ย.63 เป็นต้นไป

ได้แก่ 1.ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ไม่รวมถึงสถานบริการ ผับ บาร์ แต่ยังคงห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในสถานที่ดังกล่าว 2.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้จนถึง 21.00 น.

3.ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ 4.ห้องประชุมในโรงแรมหรือศูนย์ประชุม 5.ร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดย่อม ร้านค้าปลีก/ค้าส่งชุมชน ตลาด ตลาดนํ้า และตลาดนัด 6.ร้านค้าปลีก/ค้าส่ง หรือตลาดค้าส่งขนาดใหญ่

7.ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมสำหรับบุรุษหรือสตรี ให้เปิดดำเนินการโดยจำกัด เวลาการให้บริการในร้านไม่เกินรายละ 2 ชั่วโมงและต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน 8.สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง 9.สถานรับเลี้ยงเด็กหรือสถานดูแลผู้สูงอายุ (เฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ)

10.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน 11.คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ร้านทำเล็บ 12.สนามกอล์ฟ และสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ 13.สนามกีฬา 14.สวนสาธารณะ ลาน-พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา

15.สถานที่ให้บริการดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบนํ้า ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์ 16.สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส 17.สถานที่หรือสนามออกกำลังกายในร่ม 18.สระว่ายนํ้าสาธารณะทั้งกลางแจ้งและในร่ม

19.สวนพฤกษศาสตร์ สวนดอกไม้ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ห้องสมุดสาธารณะ และหอศิลป์ 20.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา และสถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า 21.สนามซ้อมมวย โรงยิม หรือค่ายมวย

22.สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 23.สถาบันลีลาศ หรือสอนลีลาศ 24.สระนํ้าเพื่อการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมทางนํ้าในบึง
25.โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ 26.สวนสัตว์ หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ 27.อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก “ผู้ว่าฯ อัศวิน” ระบุว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม และ สำนักสิ่งแวดล้อม จัดโครงการผักกระถางปลอดสารพิษเพื่อคุณภาพชีวิตพิชิตโควิด-19 โดยแจกต้นกล้าผักสวนครัวให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกักตัวอยู่บ้าน คนตกงาน และคนมีรายได้น้อย ในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และส่งเสริมให้ผู้ที่หยุดอยู่บ้านใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

สำหรับกล้าผักสวนครัวที่แจกจ่ายนั้น จะเป็นผักกระถางปลูกง่ายพร้อมทาน เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง โหระพา ใบกะเพรา ผักกาดขาว และผักสลัด รวมกว่า 20,000 ต้น ซึ่งผักเหล่านี้ ตัดแล้วแตกเรื่อยๆ ครับ โตไว ดูแลง่าย ให้ผลผลิตเร็ว ใช้พื้นที่การปลูกน้อย สามารถปลูกหน้าบ้าน หรือระเบียงบ้านก็ได้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนนำไปปลูกในครัวเรือน และต่อยอดขยายพันธุ์จาก 1 กระถาง เป็น 2 กระถาง จนกลายเป็นแปลงผักเล็กๆ ภายในบ้าน ที่สามารถปลูกไว้กินในระยะยาว ปลูกเอง กินเอง ประหยัด ปลอดสารพิษ และยังสามารถเป็นอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น กทม. ยังได้จัดทำชุดปลูก DIY จำนวน 2,500 ชุด ประกอบด้วย กระถาง เมล็ดพันธุ์ผัก ดินปลูก กาบมะพร้าวสับ ปุ๋ยหมัก สารสกัดไล่แมลง และคู่มือการปลูกผัก ที่จะทำให้การปลูกผักเป็นเรื่องง่ายๆ แจกจ่ายให้ประชาชนอีกด้วยครับ

ประชาชนที่สนใจจะขอรับต้นกล้าผักสวนครัวและชุดปลูก DIY ไปปลูกด้วยตัวเอง หรือชุมชนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประสงค์จะให้เจ้าหน้าที่ของเราไปแนะนำวิธีการปลูกให้กับคนในชุมชนก็ยินดีมากครับ สามารถติดต่อได้ที่กลุ่มงานส่งเสริมเกษตรกรรม สำนักงานส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาสังคม กทม. โทร. 08 7008 7599 และที่สวนหลวง ร.9 สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. โทร. 08 9621 2909 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

94952791_802524706822354_168250245694619648_n

อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม. เปิดเผย เรื่องการห้ามเปิดสถานบันเทิง การห้ามขายเหล้า จะมีการขยายประกาศออกไปอีก จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 20 เม.ย. เป็น 30 เม.ย.

วันที่ 20 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019(โควิด-19) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ

 

ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า วันนี้มีวาระหารือในประเด็นสำคัญ คือ มาตรการที่ กทม.ออกประกาศ เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 6) ปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ตั้งแต่วันที่ 10-20 เม.ย.2563 โดยสามารถจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นได้

ทั้งนี้คณะกก.เห็นควรให้ขยายเวลาการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 6) ปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 จากที่ประกาศไว้วันที่ 10-20 เม.ย.2563 เป็นวันที่ 30 เม.ย.

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

วันที่ 22 ม.ค. เพจ สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. ประกาศ กทม. แจกหน้ากากอนามัยฟรี!

บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS จำนวน 8 สถานี โดยแจก 2 ช่วงเวลา คือ 06.00-09.00 น. และ 16.00-19.00 น. ประชาชนสามารถไปรับได้ที่

  1. ศาลาแดง
  2. อโศก
  3. วงเวียนใหญ่
  4. สยาม
  5. บางหว้า
  6. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  7. หมอชิต (ช่วงเช้า)
  8. ห้าแยกลาดพร้าว (ช่วงเย็น)

และสามารถไปรับได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่งของ กทม. ใกล้จุดไหนขอรับได้เลย

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

กทม.เดินหน้านโยบาย “ห้องสมุดมีชีวิต” ดึง “เอชเอสบีซี” ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทย ยกเครื่องโซนเด็กและเยาวชนในห้องสมุดสวนลุมพินีให้เป็นอาคารรูปเต่าทองกลางสวนสาธารณะ พร้อมด้วยพื้นที่รองรับการจัดกิจกรรมหลากหลายให้เด็กและเยาวชนเข้ามาเรียนรู้

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายเคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบี ซี ประเทศไทย ร่วมทำพิธีเปิด “ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” พร้อมทั้งส่งต่อห้องสมุดฯ ให้แก่เด็กและเยาวชนเข้ามาใช้ประโยชน์ ณ สวนลุมพินี เขตปทุมวัน

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายปรับปรุงและพัฒนาห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ สวนลุมพินี ภายใต้แนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต”  ซึ่งในเบื้องต้นได้พัฒนาพื้นที่โซนเด็กและเยาวชน โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เป็นผู้ให้การสนับสนุนและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้เกิด “ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” ที่ทันสมัยและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เป็นโถงอาคารที่มีพื้นที่ดิน อาคารเป็นรูปเต่าทอง สีแดงสดใส ตั้งอยู่ใจกลางสวนลุมพินี เพื่อดึงดูดให้เด็กและเยาวชนเข้ามาอ่านหนังสือและเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเสริมทักษะต่างๆ สำหรับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ

“กรุงเทพมหานครขอขอบคุณธนาคารเอชเอสบีซีที่ได้เข้ามาพัฒนาห้องสมุดสวนลุมพินีแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน มีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างเสริมสาธารณประโยชน์เพื่อเด็กและเยาวชนรวมถึงประชาชนทั่วไป อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไป” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

นายเคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบี ซี ประเทศไทย กล่าวว่า “ธนาคาร เอชเอสบีซี ในฐานะธนาคารชั้นนำระดับโลก และธนาคารแห่งแรกในประเทศไทย มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการดำเนินกิจกรรมและให้ความสำคัญด้านการพัฒนาการศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกลุ่มเอชเอสบีซีที่มุ่งเน้นด้านการช่วยเหลือพัฒนาการศึกษาและทักษะอาชีพของเยาวชน การสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อองค์กรและผู้ประกอบการ และการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นปณิธานในการดำเนินธุรกิจของเอชเอสบีซีที่จะสร้างความยั่งยืนให้แก่ประชาคมโลก”

 

“ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดความสำเร็จและยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมในด้านต่างๆ และเพื่อฉลองครบรอบ 130 ปีการดำเนินธุรกิจของธนาคารเอชเอสบีซีในประเทศไทย ธนาคารฯ จึงได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร สนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการปรับปรุง “ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” เพื่อให้เด็กและเยาวชนในกรุงเทพมหานครมีแหล่งเรียนรู้และพื้นที่อ่านหนังสือที่ทันสมัยและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว โดยสร้างเป็นอาคารรูปเต่าทองสีแดงใจกลางสวนลุมพินี โดยนอกจากการพัฒนาปรับปรุงตัวอาคารให้สวยงามทันสมัยแล้ว ธนาคารยังจะร่วมกับกรุงเทพมหานครสนับสนุนการจัดกิจกรรมเสริมทักษะความรู้ด้านต่างๆของเด็กและเยาวชนอีกด้วย อาทิ การสอนทักษะภาษาอังกฤษ การให้ความรู้เรื่องการออมเงิน การจัดกิจกรรม D.I.Y. หรือการนำวัสดุสิ่งของเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นของที่ระลึก เป็นต้น” นายเคลวิน กล่าว