โซบะ ทำมาจาก เมล็ดต้นโซบะหรือบักวีต (Buckwheat) ลำต้นกลวง ใบเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายรูปหัวใจ เมล็ดอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน ถ้าแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ เมื่อกะเทาะเปลือกออกมาจะมีแป้ง ซึ่งสามารถนำไปทำเส้นโซบะได้ นอกจากนี้แป้งบักวีตยังประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น การทำแป้งขนมปัง แป้งแพนเค้กได้

วิธีทำเส้นโซบะ นำเมล็ดบักวีตมากะเทาะเปลือกออก จากนั้นนำไปใส่เครื่องโม่เมื่อได้แป้งโซบะแล้วให้นำไปนวดกับแป้งสาลีและน้ำเพื่อไม่ให้เส้นขาดได้ง่าย และยังต้องเตรียมแป้งมันเอาไว้เพื่อที่จะไว้โรยเพื่อที่จะไม่ให้เส้นติดกัน พอนวดเข้าที่แล้วทำแป้งให้แบนๆ แล้วพับแป้งสลับไปมา หลังจากนั้นใช้มีดตัดแล้วจับออกใช้แป้งมันที่เตรียมไว้โรยไม่ให้เส้นติดกัน พอเสร็จแล้วนำเส้นโซบะไปต้มกับน้ำร้อนพอเดือด ตักเส้นใส่กะละมังที่มีน้ำเย็นไว้และรินน้ำออก ตักเสิร์ฟบนถาดไม้ไผ่ให้ดูเหมือนอยู่ในร้านอาหารญี่ปุ่นอีกด้วย

ที่มา : แม่บ้าน

ราเม็ง

ความนิยมที่พุ่งพรวดขึ้นสูงอย่างไม่น่าวิตกกังวลอะไรในยุคนี้ คือ การกินก๋วยเตี๋ยว ทุกตรอกซอกซอย  ถนนใหญ่ถนนรอง  ร้านห้องแถว รถเข็นริมทาง ไปจนถึงโรงแรมหรูกลางเมือง ต่างมี “เมนูก๋วยเตี๋ยว” ไว้บริการลูกค้าแบบไม่ขาดตกบกพร่อง  อาจเป็นเพราะว่าก๋วยเตี๋ยวกินแล้วไม่ฝืดคอ มีน้ำซุปให้ซดร้อนๆ  บางคนเบื่อการเคี้ยวเมล็ดข้าว เปลี่ยนมาเคี้ยวเส้นลื่นๆ ยาวๆ ดูบ้าง ก็เพลินดี  หรืออาจเป็นเพราะรสชาติที่กลมกล่อม ถูกปาก กินร้อนๆ แล้ว มีกำลังวังชาขึ้นมาทันตาเห็น นี่เป็นนานาสารพัดเหตุผลข้อบอกเล่าของคนชอบกินก๋วยเตี๋ยว

“ก๋วยเตี๋ยว” เป็นภาษาจีนแท้แน่นอน แต่จีนแมนดาริน จีนฮกเกี้ยน หรือจีนแต้จิ๋วยังสรุปไม่ได้  ที่สรุปได้ก็คือ ก๋วยเตี๋ยวเป็นหนึ่งในอาหารประเภทเส้นของจีน ทำจากแป้งข้าวเจ้า วิธีกินจะลวกให้สุกในน้ำเดือดก่อน ยกให้สะเด็ดน้ำแล้วจึงนำเครื่องปรุงชนิดต่างๆ มาใส่ นิยมกินกันทั้งแบบน้ำและแบบแห้ง หากจะเอาเนื้อหาสาระกันจริงๆ คำว่า “ก๋วยเตี๋ยว” แต้จิ๋วออกเสียง  “ก๋วยเตี๊ยว”  ด้านฮกเกี้ยนออกเสียงว่า  “ก๊วยเตี๋ยว”  ส่วนในจีนกลางหรือจีนแมนดาริน จะอ่านว่า “กั่วเถียว”  แปลว่า “เส้นข้าวสุก” แน่นอนว่าก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารประเภทเส้นของชาวจีน แต่สันนิษฐานว่าเข้ามาแพร่หลายในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง หรือ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยมีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากมาย รวมทั้งชาวจีนด้วย

เล่ากันว่าชาวจีนได้นำก๋วยเตี๋ยวเข้ามากินกันในเรือ โดยต้มในน้ำซุป ใส่หมู ใส่ผักและเครื่องปรุงเพื่อความอร่อย แต่สำหรับคนไทยแล้วถือวเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในยุคนั้น จึงได้นำมาประกอบเป็นอาหารอื่นๆ บริโภคกันจนรู้จักกันเป็นอย่างดี และเริ่มมีการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทย  ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนกินก๋วยเตี๋ยวแทนข้าว  ซึ่งจอมพล ป. เห็นว่าหากประชาชนหันมาบริโภคก๋วยเตี๋ยว จะเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจของชาติทำให้เงินหมุนเวียนในตอนนั้น เนื่องจากสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นช่วงหลังสงครามครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ดังนั้น การสนับสนุนให้คนกินก๋วยเตี๋ยวถือว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสมัยนั้น

สำหรับส่วนประกอบของก๋วยเตี๋ยวจากชาวจีน จะไม่มีการใส่ถั่วงอกลวกในก๋วยเตี๋ยว  แต่การใส่ถั่วงอกลงในก๋วยเตี๋ยวอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เกิดจากแนวความคิดและนโยบายของ จอมพล ป. ที่ได้ลองนำถั่วงอกใส่เพิ่มเข้าไป เมื่อรับประทานแล้วรสชาดอร่อย จึงสั่งให้ใส่ถั่วงอกเพิ่มเข้าไปในก๋วยเตี๋ยวด้วย และที่สำคัญเป็นการเพิ่มอาชีพเพาะถั่วงอกขาย เพื่อรองรับนโยบายสนับสนุนให้คนไทยบริโภคก๋วยเตี๋ยว  จึงถือได้ว่าก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทยเพิ่งจะใส่ถั่วงอกในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นี่เอง

ก๋วยเตี๋ยวนับวันจะกลายเป็นอาหารหลักของนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเส้นก๋วยเตี๋ยวใช้ปรุงอาหารได้หลากหลาย อร่อยและสะดวก สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคนในสังคมที่ส่วนใหญ่เร่งรีบ ไม่มีเวลา มาดูกันว่าแต่ชาติในเอเชียเขามีอาหารเส้นหรือ “ก๋วยเตี๋ยว” เป็นแบบใดกันบ้าง ???

โซบะ
โซบะ

เริ่มจากเจ้าของหลัก “ประเทศจีน”  ต้องบอกว่าเป็นแหล่งอารยธรรมของอาหารเส้น มีหลายแบบหลายลักษณะ แต่ก๋วยเตี๋ยวจีนส่วนใหญ่นิยมกินเป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ ก๋วยเตี๋ยวผัดและก๋วยเตี๋ยวราดซอสแบบขลุกขลิกมีน้อยมาก ยิ่งประเภทแบบแห้งที่คนไทยนิยมกัน ก็แทบไม่รู้จักกันเลย พอมีบ้างก็ในเขตเสฉวนเท่านั้น  ต่อมา “ญี่ปุ่น”  นิยมกินอาหารเส้น หรือ “เมนรุอิ” มาก เรียกว่ามากพอๆ กับชูชิ  ในญี่ปุ่นมีร้านขายก๋วยเตี๋ยวชุกชุม แต่ละร้านจะมีพ่อครัวหรือมาสเตอร์ที่มีความชำนาญการปรุงอาหารโดยเฉพาะทำหน้าที่บริการลูกค้า  อาหารเส้นของญี่ปุ่นมีหลากหลายชนิด แต่แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่  คือ โซบะ หรือเส้นที่ทำจากบักวีต กับ เส้นข้าวแป้งสาลี เช่น อุด้ง โชเม็ง และ  ราเม็ง

อุด้ง

“ราเม็ง” เป็นก๋วยเตี๋ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แม้จะได้อิทธิพลมาจากคนจีน แต่ราเม็งได้พัฒนารสชาติและหน้าตาไปอย่างมีเอกลักษณ์ญี่ปุ่น ความเป็นราเม็งอยู่ที่การเตรียมน้ำซุป ซึ่งประณีตพิถีพิถันมาก ถึงกับจำแนกราเม็งตามชนิดของน้ำซุปที่ใช้เลยทีเดียว อาทิ  โชยุราเม็ง(น้ำซุปปรุงด้วยซีอิ๊ว) มิโสะราเม็ง (น้ำซุปปรุงด้วยมิโสะ) และชิโอะราเม็ง (น้ำซุปปรุงรสด้วยเกลือทะเล)  “อุด้ง”  เป็นเส้นที่คนญี่ปุ่นภาคภูมิใจว่าเป็นญี่ปุ่นแท้  ทำจากแป้งสาลีผสมเกลือและน้ำ ไม่ได้ผสมไข่เหมือนราเม็งหรือบะหมี่จีนทั่วไป อุด้งสมัยก่อนเป็นเส้นหนา  มีทั้งเส้นกลมและเส้นแบน  คนญี่ปุ่นนิยมทำอุด้งสดๆ กินกันเอง หรือถ้าจะซื้อก็มักเป็นเส้นสดจำพวกเส้นแห้ง  ความเก่าแก่คลาสสิคของอุด้ง เห็นได้จากเป็นเส้นยอดนิยมของเมืองเกียวโตและโอซาก้า ซึ่งเป็นเขตเมืองหลวงเก่า ขณะที่ “โซบะ”  เป็นเส้นโปรดของเขตเมืองใหม่ เช่นเมืองโตเกียว และโยโกฮามา  สำหรับเส้น “โซบะ” เป็นเส้นญี่ปุ่นแท้เหมือนกัน เพราะทำจากบักวีต

ด้านประเทศ “เกาหลี” โดดเด่นด้านอาหารเส้นไม่แพ้ญี่ปุ่น เครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยวเกาหลีส่วนใหญ่จะคล้ายของญี่ปุ่น แต่มีลักษณะเฉพาะตัว การทดแทนด้วยเส้นของญี่ปุ่นอาจเป็นไปได้ แต่รสชาติแท้ๆ แบบเกาหลี จะหมดไป  ตัวอย่างเส้น “แนงเมียน”  แม้จะทดแทนด้วยเส้นโซบะได้ เพราะทำจากบักวีตเหมือนกัน แต่แนงเมียนยังผสมด้วยแป้งมันฝรั่ง ขณะที่เส้นโซบะผสมด้วยแป้งสาลี ทำให้รสสัมผัสของแนงเมียนต่างจากโซบะ หลายคนบอกว่าแนงเมียนอร่อยกว่าโซบะมาก แต่ราคาแพงและหาซื้อยาก  “เส้นโซเมียน” คล้ายเส้นโซเม็งของญี่ปุ่น แต่ขนาดเล็กกว่าพอๆกับเส้นผม “เส้นดางเมียน” หรือ วุ่นเส้นเกาหลี  ต่างจากวุ้นเส้นทั่วไป เพราะทำจากแป้งมันเทศ แทนที่จะเป็นถั่วเขียว

ที่ “เวียดนาม” มีเส้นก๋วยเตี๋ยวหลากชนิดเช่นกัน แต่ที่นิยมแพร่หลาย คือ “บั๋น เฝอ” เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวสดหรืแห้ง  ทำจากแป้งข้าวเจ้า จะเป็นเส้นใหญ่ก็ไม่ใช่ เส้นเล็กก็ไม่เชิง นิยมใช้ในก๋วยเตี๋ยวเนื้อ หรือ เฝอบ่อ และก๋วยเตี๋ยวไก่ หรือ เฝอกา นับเป็นอาหารประจำชาติอย่างหนึ่งของเวียดนาม

สำหรับ “ประเทศลาว” มีอาหารเส้นที่เรียกว่า “ข้าวปุ้น” ที่คนไทยเรียกว่า “ขนมจีน” เป็นอาหารเส้นประจำชาติของลาว ไปที่ไหนในลาวก็หากินได้ ข้าวปุ้นเป็นชื่อเส้นขณะเดียวกันก็เป็นชื่ออาหารด้วย คือขนมจีนน้ำยาเหมือนบ้านเรา แต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำยาปลา หรือไม่ก็น้ำยาเป็ด และน้ำแจ๋ว(น้ำยาปลาผสมเลือดหมู) อันหลังนี้มีในหลวงพระบาง ในลาวยังมี “ข้าวปุ้นจีน”  ซึ่งไม่ใช่ขนมจีน แต่เป็น “วุ้นเส้น”  ในตำราอาหารหลวงพระบางมีตำรับข้าวปุ้นจีนผัดแห้ง ซึ่งก็คือ ผัดวุ้นเส้นแบบลาว นั่นเอง  นอกเหนือจากนี้ลาวยังมีอาหารเส้นอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย เช่น “เฝอเนื้อ” ของเวียดนาม แพร่หลายมาก และ “ข้าวซอย” ที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐฉานในพม่า และสิบสองปันนาในจีน

ขนมจีน
ขนมจีน
ข้าวซอย

“ประเทศเมียนม่า” เป็นอีกชาติที่นิยมกินก๋วยเตี๋ยวอย่างมาก ก๋วยเตี๋ยวยอดนิยมของคนพม่า คือ โมฮิงก่า และ โอนุเข้าโซย ชื่อ “โมฮิงก่า” เทียบเคียงได้กับขนมจีนน้ำยาปลาของไทย แต่มีรสชาติแตกต่างออกไป เป็นเอกลักษณ์ของพม่าเอง  คนพม่านิยมกินโมฮิงก่าเป็นอาหารเช้ามื้อพิเศษ ส่วน “โอนุเข้าโซย”  ใกล้เคียงกับ “ข้าวซอย” ของภาคเหนือของไทย เรียกได้ว่าเป็นก๋วยเตี๋ยวประจำเทศกาลงานบุญ เช่น งานบวช งานแต่งงาน เป็นต้น  ที่จริงแล้วคำว่า “เข้าโซย” ก็คือคำว่า “ข้าวซอย” ของคนไตในรัฐฉาน ภาษาไต ข้าวซอยหมายถึงแผ่นแป้งสุกที่ตัดเป็นเส้นขนาด  0.7 เซ็นติเมตร ในหมู่คนไต รวมตลอดถึงคนลาว พม่า ได้รับอิทธิพลข้าวซอยจากคนไต แต่เรียกเพี้ยนเป็น “เข้าโซย” และขยายความรวมไปถึงเส้นหมี่สีเหลืองด้วย  ข้าวซอยไม่ได้หมายถึงเส้นก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น ยังหมายถึงตำรับอาหารเส้นปรุงรสด้วยไก่หรือเนื้อผัดเครื่องแกงและถั่วเน่า เริ่มด้วยการลวกเส้นและผักในชาม ตักไก่หรือเนื้อผัดเครื่องแกงใส่ลงไป ตามด้วยน้ำซุป บางตำรับใส่ดอกงิ้วด้วย  นอกจากข้าวซอยแล้ว คนไต-ลาว ยังมี “ข้าวเส้น” เป็นเส้นกลมคล้ายขนมจีนแต่ใหญ่กว่า ซึ่งบางครั้งข้าวซอยก็ใช้เส้นชนิดนี้ด้วยก็ได้

“ก๋วยเตี๋ยวคลุก” เป็นอีกหนึ่งอาหารเส้นของพม่า แต่เรียกว่า “โซะ”  รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกับสลัดก๋วยเตี๋ยวมากกว่า จะเป็นก๋วยเตี๋ยวแห้งแบบไทย วิธีทำนั้นเขาจะเอาเส้นที่ลวกไว้จนเย็น แล้วมาคลุกกับเครื่องเคราต่างๆ ปรุงรสตามใจชอบ อาหารเส้นชนิดนี้ ตามตลาดมีขายอย่างก้วางขวาง เพราะราคาถูก ทำก็ง่าย และที่สำคัญรสชาติดี อร่อย ที่จริงแล้วคนไตในรัฐฉานก็กินก๋วยเตี๋ยวคลุกเหมือนกัน โดยจะคลุกแบบร้อน คือเส้นเพิ่งลวกใหม่ๆใส่เครื่องเคราลงไปคลุก แล้วกินได้เลย

“ประเทศเขมร” ถือเป็นประเทศที่แปลกกว่าใครในเอเชีย รวมไปถึงอาเซียน  เพราะเขมรหรือกัมพูชาเป็นประเทศที่กินก๋วยเตี๋ยวน้อยที่สุด อาหารหลักรองจากข้าวของคนกัมพูชาเป็นขนมปังฝรั่งเศสหรือบาแกตต์  ก๋วยเตี๋ยวแทบไม่ติดอันดับ  แต่ก็มีอาหารเส้นที่กินอยู่เหมือนกัน คือ ขนมจีน ที่คนเขมรเรียก “นมปันเจ๊าะ” เวลาออกเสียงเร็วๆ ฟังคล้ายคำว่า “ข้าวปุ้น” ของลาว อยู่เหมือนกัน

ทุกวันนี้อาหารประเภทเส้นไม่ว่าก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ก๋วยจั๊บ สปาร์เก็ตตี้ ฯลฯ มีอิทธิพลในชีวิตคนไทยสูง..งงงง มาก บางคนลืมตาตื่นขึ้นมาก็นึกอยากกินอะไรร้อนๆ แล้วจินตนาการเห็นก๋วยเตี๋ยวชามใหญ่ส่งควันหอมฉุย ก่อนกลืนน้ำลายเอื๊อกๆ แล้วรีบเผ่นออกไปหาร้านก๋วยเตี๋ยวกินให้หายอยาก อย่างนี้เป็นต้น และไม่เฉพาะผู้ใหญ่คนหนุ่มสาวเท่านั้น แม้แต่เด็กเล็กก็ยังร้องอยากกินเลย

พูดถึงเรื่องเส้นๆ แล้วเชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน คือ บะหมี่ แต่ชาวญี่ปุ่นก็เชี่ยวชาญด้านการทำอาหารเส้นและการนำเส้นไปปรุงเป็นอาหาร ความนิยมเส้นจากประเทศจีนจึงถ่ายทอดและแผ่กระจายไปสู่คนญี่ปุ่น จนกลายเป็นที่ชื่นชอบไปทั้งประเทศ ทุกวันนี้ “บะหมี่” เป็นอาหารที่นิยมบริโภคในญี่ปุ่นมากกว่าอย่างอื่น หากไม่รวมข้าว ร้านขายบะหมี่จำนวนมากกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่น โดยมีลูกค้าอุดหนุนเนืองแน่น ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าควรกินอาหารบะหมี่ทันทีก่อนที่น้ำซุปร้อนจัดจะทำให้เส้นเละ นั่นแปลว่าจะต้องสูดอากาศเย็นๆ เข้าไปพร้อมกับบะหมี่ทุกคำ ซึ่งทำให้เกิดเสียง “ซู้ด…” ที่คนไทยเห็นว่าไม่เป็นผู้ดีไม่มีมารยาท

แต่แท้จริงแล้วการส่งเสียง “ซู้ด..” ในการกินบะหมี่ร้อนจัดของคนญี่ปุ่นหรือคนจีน มันคือสัญลักษณ์แห่งความรื่นรมย์ และถือเป็นมารยาทที่ดีงามในญี่ปุ่น และในความเห็นของคนญี่ปุ่นแล้วการกินบะหมี่ช้าๆ สงบสงี่ยมต่างหากถือเป็นการดูหมิ่นพ่อครัวด้วยซ้ำ

บะหมี่ญี่ปุ่นมีคุณลักษณะและสรรพคุณด้านบำรุงสุขภาพที่โดดเด่น เพราะบะหมี่ญี่ปุ่นมีกลูเต็นน้อยกว่าพาสต้าที่ทำจากข้าวสาลีดูรัม เชื่อกันว่าย่อยง่ายกว่าและไม่เกิดอาการแพ้จากข้าวสาลี เกลือปริมาณเล็กน้อยที่ใส่ในบะหมี่ญี่ปุ่นยังช่วยเรื่องการย่อยอาหารด้วย หากพูดถึงเรื่อง “กินเส้น” ของคนญี่ปุ่นแล้ว มีให้ลองพิจารณาเป็นความรู้ ดังนี้

โซบะ

ส่วนผสมหลักคือบัควีต ธัญพืชเก่าแก่ บัควีตเป็นแหล่งที่ดีที่สุดที่มีสารจำเป็นต่อการทำงานของเซลล์และเอ็นไซม์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้การเพิ่มโซบะในมื้ออาหาร โดยเฉพาะโซบะที่ทำจากบัควีต 100% จึงส่งผลดียิ่งต่อสุขภาพ หลังจากบริโภคโซบะมาหลายศตวรรษ ชาวญี่ปุ่นเริ่มให้ความสำคัญกับโซบะเมื่อได้รับการยืนยันจากนักวิจัยด้านการแพทย์ว่า เส้นใยอาหารปริมาณสูงในโซบะบัควีตช่วยให้ร่างการกำจัดคอเลสเตอรอลได้ ยิ่งไปกว่านั้นการกินโซบะที่โปรตีนสูงยังมีความสัมพันธ์กับการลดไขมันในร่างกายอีกด้วย

แม้ว่าการรับประทานโซบะที่ทำจากบัควีต เป็นหนทางดีที่สุดในการรับประโยชน์จากสารอาหารในบัควีต แต่ก็ยังมีโซบะอีกหลายชนิด เช่น โซบะชาเขียว และโซบะอื่นๆ ที่มีการใส่ผงสมุนไพรเพิ่มลงไปในสูตรโซบะพื้นฐาน เช่น โซบะชาเขียวจะเติมผงชาเขียวลงไปในเส้นโซบะ ชาเขียวเป็นอาหารเชิงยาที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่งในธรรมชาติ ทำให้โซบะมีสีสันสวยงามและมีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย ชาวญี่ปุ่นนิยมกินโซบะจิเน็นโจ หรือโซบะมันภูเขาอย่างมาก เพราะอุดมไปด้วยเอ็นไซม์ช่วยย่อย และยังทำให้เส้นมีความเนียน ลื่น ง่ายต่อการย่อย จึงไม่แปลกใจที่จิเน็นโจจะเป็นที่นิยม เพราะถือเป็นยาพื้นบ้านที่สำคัญของญี่ปุ่นในการรักษาผู้ที่มีระบบย่อยไม่ดี โซบะเหล่านี้มีบางชนิดหาซื้อได้ตามร้านอาหารตามธรรมชาติ หรือสั่งซื้อทางเว็บไซต์

อุด้ง-โซเม็ง

บะหมี่ญี่ปุ่นที่ทำจากแป้งสาลี เช่น อุด้งและโซเม็ง เป็นบะหมี่ไขมันต่ำ แต่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ให้พลังงานยาวนานในปริมาณสูง แม้ว่าอุด้งและโซเม็งจะมีโปรตีนและเกลือแร่ต่างๆ ไม่มากเท่าโซบะ แต่ก็เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงที่ดีเยี่ยม อุด้งจากข้าวกล้องยังมีกรดอะมิโนเสริมที่ได้จากข้าวและข้าวสาลี ในญี่ปุ่นอุด้งมีชื่อเสียงในเรื่องการย่อยง่าย การทดลองในห้องทดลองของญี่ปุ่นโดยใช้เอ็นไชม์ช่วยย่อย และมีการควบคุมอุณหภูมิ แสดงให้เห็นว่าอุด้งย่อยเร็วกว่าบะหมี่ชนิดอื่นมาก และย่อยได้เร็วกว่าเนื้อวัวถึง 3 เท่า

วิธีการนวดแป้งของอุด้ง ช่วยให้ข้าวสาลีมีคุณภาพดีขึ้นและเข้มข้นมากขึ้น โปรตีนจะไปผสมรวมกับโมเลกุลของแป้ง ทำให้เอ็นไซม์ช่วยย่อยในร่างกายสามารถย่อยได้ง่ายขึ้น เนื่องจากอุด้งย่อยได้เร็ว จึงทำให้มีเลือดปริมาณมากไปหล่อเลี้ยงกระเพาะ ร่างกายจึงมีความร้อนสูง อุด้งสร้างความร้อนในร่างกายที่คงที่ อยู่ได้นานกว่าความร้อนที่เกิดจากราเม็ง โซบะ หรือพาสต้า ดังนั้น อุด้งจึงเป็นอาหารยอดนิยมในฤดูหนาวของคนญี่ปุ่นยุคก่อนที่ยังไม่มีระบบทำความร้อนในบ้าน และเป็นที่นิยมในภาคเหนือด้วย เป็นอาหารโปรดของผู้ที่เป็นไข้ เนื่องจากให้พลังงานที่ยาวนานได้อย่างรวดเร็วและอบอุ่น

บะหมี่ญี่ปุ่นที่ใส่วัตถุกันเสียและใช้แป้งขัดขาวนั้น หาซื้อได้ทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ต บะหมี่พวกนี้โดยทั่วไปมักจะใส่เกลือที่ผ่านการฟอกขาว และสารอาหารถูกขัดออกไปหมด เมื่อเลือกซื้อบะหมี่ญี่ปุ่นควรตรวจดูส่วนผสมบนบรรจุภัณฑ์อย่างระมัดระวัง เลือกแต่บะหมี่ที่ทำจากแป้งข้าวสาลีที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ และเกลือทะเล เมื่อซื้อราเม็งดูให้แน่ใจว่าไม่มีการใส่น้้ำมันหรือวัตถุกันเสีย

ชนิดของบะหมี่ แม้ว่าจะมีการแยกย่อยได้อีกหลายชนิด แต่บะหมี่ญี่ปุ่นมีเพียง 2 ประเภทหลักเท่านั้น คือ บะหมี่ที่ทำจากบัควีต (โซบะ) และ บะหมี่ที่ทำจากข้าวสาลี (อุด้งและโซเม็ง) เนื่องจากบัควีตปลูกได้เฉพาะในที่อากาศเย็นจัดและแห้งแล้ง โซบะ ที่ทำจากบัควีต 100% นั้น หนักท้องและอร่อย มีให้เลือกทั้งแบบใส่เกลือและไม่ใส่เกลือ อย่างไรก็ตาม โซบะส่วนใหญ่จะทำจากแป้งบัควีต 40-80% ส่วนที่เหลือจะเป็นแป้งข้าวสาลีขาวชนิดไม่ฟอก โซบะอิโตะ ซึ่งใช้แป้งบัควีต 40% เป็นบะหมี่เส้นบางละเอียดที่สุกเร็วและซึมซับรสชาติของน้ำซุป ซอส และเครื่องปรุงรสได้ดี

สำหรับ “อุด้ง” เป็นบะหมี่เส้นหนา สีนวล เคี้ยวสนุก ทำจากแป้งสาลี นิยมในเกียวโตและทางใต้ของญี่ปุ่น อุด้งชนิดต่างๆ ที่หาได้ตามร้านขายอาหารแนวธรรมชาติ จะทำจากแป้งข้าวสาลีขัดสีน้อย หรือแป้งข้าวสาลีขัดสีน้อยผสมกับแป้งข้าวสาลีสีขาวชนิดไม่ฟอก อุด้งจากแป้งข้าวสาลีขัดสีน้อย จะมีความเหนียว บะหมี่ที่ต้องการให้ซึมซับรสชาติของน้ำซุป ซอส และเครื่องปรุงได้ดี ควรใช้อุด้งที่ลื่นกว่า นุ่มกว่า คือทำจากแป้งข้าวสาลีขาวชนิดไม่ฟอก

อุด้งข้าวกล้อง มีส่วนผสมของแป้งข้าวกล้องและแป้งข้าวสาลีนั้น ไม่ใช่อาหารญี่ปุ่นดั้งเดิม แต่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตลาดสินค้าอาหารแนวธรรมชาติโดยเฉพาะ ถึงแม้บะหมี่จะเป็นที่นิยมอย่างมากและสามารถปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญต้องเลือกบะหมี่ให้เหมาะสมกับอาหารที่ต้องการทำ เช่น โซบะและอุด้งสีขาวทั่วไป เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนำไปผัด โซบะชนิดเส้นบางละเอียด เช่น โซบะอิโตะและชาเขียว ไม่เหมาะสำหรับการผัด โซบะทำจากบัควีต100% ก็ไม่เหมาะเช่นกัน โซเม็งซึ่งเป็นบะหมี่แป้งสาลี แต่เส้นก็เล็กบอบบางเกินกว่าจะนำไปผัด

บะหมี่น้ำ ในญี่ปุ่นนิยมกินบะหมี่โดยใส่น้ำซุปปรุงรสด้วยโชยุ ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่ญี่ปุ่นชนิดใดก็สามารถนำมาปรุงด้วยวิธีนี้ได้ หากใช้โซบะ น้ำซุปควรจะมีรสชาติเข้มข้นมากขึ้นเล็กน้อย โดยเติมโชยุและมิรินให้มากกว่า เมื่อนำไปใช้กับอุด้งและโซเม็ง นอกจากนั้น น้ำซุปสำหรับโซบะยังนิยมปรุงรสด้วยวาซาบิ ขณะที่นิยมปรุงรสอุด้งด้วยเครื่องเทศญี่ปุ่น 7 ชนิด

ส่วน บะหมี่ผัด มักจะใช้บะหมี่ญี่ปุ่นผัดกับผักและเต้าหู้ เป็นอาหารอร่อยมีคุณค่าครบถ้วน สามารถปรุงได้ในเวลาสั้นๆ อุด้งหรือโซบะธรรมดาและโซบะจิเน็นโจ เป็นตัวเลือกที่เหมาะที่สุดสำหรับการทำบะหมี่ผัด โดยต้มบะหมี่จนกระทั่งเกือบนุ่ม ล้างน้ำเย็น ทิ้งให้สะเด็ดน้ำ หรือแห้งแล้วนำไปผัด ใส่ผักและเครื่องปรุงอื่นในช่วง 1 หรือ 2 นาทีสุดท้ายของการผัดบะหมี่ สำหรับ บะหมี่ราดซอส สามารถทำได้ง่ายเช่นกัน แม้ว่าบะหมี่ญี่ปุ่นทุกชนิดสามารถกินคู่กับซอสได้ แต่อุด้งจะเข้ากับซอสได้หลากหลายกว่าโซบะ เนื่องจากรสชาติไม่ชัดเจนเท่าโซบะ

มาถึง สลัดบะหมี่ โซบะเป็นบะหมี่ที่เหมาะกับการทำสลัดอย่างมาก โดยเฉพาะถ้าใช้น้ำสลัดที่รสจัดจ้าน หรือน้ำสลัดแบบเอเชีย ตัวอย่างคือ สลัดผักใส่โซบะ และสลัดโซบะราดซอสเนยถั่วรสจัด ขณะที่โซเม็งเหมาะจะเลือกใช้ในสลัดเบาๆ ที่ใช้น้ำสลัดรสผลไม้ เช่น น้ำสลัดงา น้ำสลัดส้ม เป็นต้น ส่วน บะหมี่จุ่มซอส นิยมใช้บะหมี่ชาเขียวและโซบะอิโตะเส้นละเอียด เหมาะอย่างยิ่งสำหรับจุ่มในซอสเย็นๆ โซเม็งก็เหมาะกับเป็นอาหารยอดนิยมในฤดูร้อนเช่นกัน

มีความรู้เรื่องเส้นอย่างนี้แล้ว เข้าครัวเมื่อไหร่ลงมือได้ไม่ยาก นอกจากอิ่มท้องแล้ว ยังสนุกกับการเลือก การปรุงจำพวกเส้นเป็นอาหารแบบทำเอง กินเอง อร้อย…อร่อยเองอีกด้วย


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111