บะหมี่มงคล 6 สี

บะหมี่ หนึ่งในของไหว้เสริมสิริมงคลที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลตรุษจีน โดยชาวจีนเชื่อว่า บะหมี่ ที่ใช้ทำอาหาร ต้องเป็นเส้นยาวๆ ไม่ตัดเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวทั่วไป จะช่วยให้ชีวิตราบรื่น ยืดหยุ่น ยืนยาวไปจนแก่เฒ่า

ยิ่งถ้าได้บะหมี่มงคล 6 สีที่ว่ากันว่านำไปไหว้เจ้าในวันตรุษจีนนี้ต้องเฮงแน่นอน

บะหมี่ไข่เส้นสด สีเหลืองนวล ใช้ไข่คุณภาพ สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
บะหมี่เส้นสดใบเตย สีเขียวฉ่ำจากใบเตย ป้องกันเบาหวานได้นะ
บะหมี่เส้นสดเจ สีขาวบริสุทธิ์ ใช้แป้งสาลีคุณภาพ ไม่ใส่ไข่ กินแล้วไม่รู้สึกผิด ช่วยลดคอเลสเตรอลในเลือด
บะหมี่เส้นสดแครอท สีส้ม ช่วยบำรุงสายตา
บะหมี่เส้นสดผักโขม สีเขียวเข้ม บำรุงเลือดในร่างกาย
บะหมี่เส้นสดอัญชัน สีม่วง บำรุงสมอง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง
 

ไหว้เจ้าเสร็จ อย่าลืมนำมารับประทานเพื่อเสริมสิริมงคล สร้างความสุขใจ และให้ประโยชน์ต่อร่างกาย แข็งแรง เฮงๆ ตลอดปีมังกรกันทุกคนนะคะ

มติชนอคาเดมี สอนทำบะหมี่เส้นสด 6 สูตร เหนียวนุ่มลับเฉพาะจาก ร้านบะหมี่หัวโต ที่ตกทอดมากว่า 70 ปี โดย อ.ธีรชัย เจริญวัฒนาเลิศ ทายาทรุ่น 2 ที่พิถีพิถันการปรุงด้วยการใช้วัตถุดิบและส่วนผสมคุณภาพจากธรรมชาติ เรียนรู้วิธี นวดแป้ง  รีดเส้น  การนำบะหมี่มาต่อยอดเป็นเมนูที่หลากหลาย  การเก็บรักษาบะหมี่เส้นสด  การคำนวณต้นทุน และเทคนิคการขาย
 
ผู้สนใจสอบถามได้ที่   08-2993-9097 หรือ 08-2993-9105
📲Inbox Facebook: Matichon Academy – มติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand
📲Line OA: @matichonacademy คลิก https://line.me/R/ti/p/%40matichonacademy

“เส้น” เป็นคำเรียกแทน “เส้นก๋วยเตี๋ยว” แบบสั้นๆ  พูดปุ๊บรู้เรื่องปั๊บ ไม่ต้องอธิบายให้มากความ ต้องบอกว่าปัจจุบันคนไทยนิยมกินเส้นหรือกินก๋วยตี๋ยวกันมากขึ้น เห็นได้ว่ามีร้านก๋วยเตี๋ยวทุกซอกทุกมุม ตามตรอกซอกซอย ตั้งแต่รถเข็นริมทาง ไปจนถึงฟู้ด ทรัค ต่อไปยังร้านห้องแถว ขึ้นห้างใหญ่กลางเมือง จนกระทั่งโรงแรมหรูระดับ 4-5 ดาว ต้องมีก๋วยเตี๋ยวไว้บริการให้คนกิน  คนส่วนมากนิยมกินก๋วยเตี๋ยวเพราะกินง่าย คล่องคอ และกินได้ทุกที่ทุกสถานการณ์ เผลอๆ เวลาเบื่อข้าวหรือเบื่ออาหารขึ้นมา ก็หันเข้าหาเส้นนี่แหละพอจะช่วยแก้เบื่อได้  ยิ่งไปเจอเจ้าอร่อยด้วยแล้ว อาจกลายเป็นติดกินเส้นไปเลยทีเดียว

ไหนๆ ก็ต้องกินเส้นกันแล้ว มาเรียนรู้เรื่องของ”เส้น” หน่อยเป็นไร เพื่อให้รสชาติของก๋วยเตี๋ยวที่จะรับประทานอร่อยยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะชนิดของเส้นย่อมเกี่ยวพันกับความอร่อยของก๋วยเตี๋ยวด้วย  แรกเริ่มเลยทีเดียวอาหารเส้น หรือ ก๋วยเตี๋ยวนี้สันนิษฐานว่าเข้ามาในสยามตั้งแต่สมัยที่มีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีน ยุครุ่งเรืองสุดๆ เห็นจะเป็นสมัยอยุธยาตอนกลางในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสยามครั้งนั้นได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของการค้าขายกับต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อมีการติดต่อค้าขายกับจีน จึงมีคนจีนเดินทางเข้ามาในสยามและนำอาหารจำพวกเส้นเหล่านี้มาเผยแพร่ด้วย  เรื่องราวของเส้นก๋วยเตี๋ยวจึงกลายมาเป็นอาหารชนิดหนึ่งในครัวของคนไทยมาถึงปัจจุบัน

เมื่อคนไทยรู้จักการนำเส้นมาปรุงเป็นอาหารแล้ว ก็ต้องรู้จักชนิดของเส้นด้วย เพื่อว่าเวลาจะปรุงเป็นอาหารประเภทไหนแบบไหน จะได้เลือกชนิดให้ถูกและเข้ากับรสชาติของอาหาร เพราะชนิดของเส้นหรือขนาดของเส้นถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้อาหารที่ปรุงออกมานั้นอร่อย หรือไม่อร่อย

เริ่มกันที่ ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ หากเรียกว่าเส้นใหญ่ ความใหญ่ของเส้นต้องวัดได้ที่ 1.5-2.5 เซนติเมตร  เส้นใหญ่มีแป้งข้าวเจ้าเป็นส่วนผสมหลัก และผสมกับแป้งที่ทำจากพืชชนิดอื่นๆ ด้วย  วิธีทำคือการรีดเนื้อแป้งให้เป็นแผ่นบาง นึ่งให้สุก แล้วนำมาตัดเป็นเส้น เส้นใหญ่ส่วนมากเมื่อทำเสร็จพร้อมนำไปปรุงอาหารเลย เรียกว่า “เส้นสด” ซึ่งต้องเอาไปคลุกน้ำมันเคลือบไว้เพื่อไม่ให้เกาะติดกัน สิ่งที่ต้องระวังสำหรับเส้นใหญ่คือ การบูดง่าย และ ความชื้น ของเส้นสด ที่ต้องกินให้หมดภายใน 1-2 วัน ถ้าเก็บไว้นานกว่านั้นมักมีกลิ่นหืน น้ำมัน รวมไปถึงต้องระวังอันตรายจากน้ำมันที่ใช้คลุกเส้นด้วย  บางเจ้าอาจใช้น้ำมันที่ใช้แล้วนำมาใช้ซ้ำ ซึ่งอาจมีสารประกอบโพลาร์หรือปนเปื้อนสารอัลฟาทอกซิน เป็นอันตรายต่อร่างกายได้

ที่นิยมถัดมา คือ “เส้นเล็ก” คำว่าก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กจะต้องมีขนาดของเส้นราว 0.1-0.2 เซนติเมตร เส้นเล็กมีส่วนผสมเหมือนกับเส้นใหญ่ คือทำจากแป้งข้าวเจ้า แต่ต่างกันที่ขนาดและกระบวนการสุดท้าย คือเส้นเล็กจะต้องผ่านการทำให้แห้ง เพื่อกำจัดความชื้นออกเสียก่อน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ “แบบกึ่งแห้ง” เช่น เส้นเล็กในก๋วยเตี๋ยวที่เรากินทั่วไป  เส้นชนิดนี้จะต้องกินภายใน 3-5 วัน และ “แบบแห้ง” เช่น เส้นจันทน์ ซึ่งเก็บได้นานเป็นปี เส้นเล็กให้พลังงานน้อยกว่าเส้นใหญ่ ความชื้นก็น้อยกว่า แต่ในงานวิจัยของประเทศไทยกลับตรวจพบสารกันบูดจำพวก “กรดเบนโซอิก” ในเส้นเล็กมากที่สุด  มีมากถึง 17, 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานกำหนดไว้ 17 เท่า ยิ่งกว่านั้นยังตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์  นิยมใช้กันบูดกันราในผลิตภัณฑ์อาหารอบแห้งต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายเราได้เช่นกัน

ต่อมาเป็น “เส้นหมี่ขาว” ทำจากแป้งข้าวเจ้าเช่นกัน แต่มีที่ต่างคือจะเป็นเส้นกลมสม่ำเสมอ มีสีขาวและเป็นเส้นยาว นอกจากเห็นในก๋วยเตี๋ยวทั่วไป ยังพบได้บ่อยในเมนูอาหารจีน ส่วนกระบวนการทำใกล้เคียงกับเส้นเล็กมาก คือเมื่อทำเสร็จแล้วต้องนำความชื้นออกไป กลายเป็นเส้นหมี่แบบแห้ง เส้นหมี่ขาวจะให้พลังงานไม่มากเท่าเส้นเล็ก แต่ก็เสี่ยงต่อสารกันบูดกันราเช่นเดียวกัน

เส้นอีกชนิดที่ขาดไม่ได้เลย คือ “เส้นบะหมี่” เป็นเส้นที่มีขนาด 0.1-0.2 เซนติเมตร  เส้นชนิดนี้แตกต่างจากเส้นทั้งสามชนิดที่กล่าวมาแล้ว เพราะเป็นเส้นที่ทำจากแป้งสาลีและมีการใส่ไข่ลงในส่วนผสม ทำให้เส้นมีสีเหลือง แต่ถ้าผสมสีผสมอาหารสีเขียวลงไปก็จะกลายเป็น “บะหมี่หยก”  ส่วนใหญ่เป็นแบบเส้นสด ก่อนนำไปใช้ประกอบอาหารต้องผสมแป้งลงไปไม่ให้เส้นติดกันเป็นก้อน อย่างไรก็ตาม ต้องรู้ว่าเส้นบะหมี่เป็นเส้นที่ให้พลังงานมากที่สุด ดังนั้น เวลาจะประกอบอาหารรับประทานจึงต้องพิจารณาปริมาณที่จะกินถึงจะดี ไม่เช่นนั้นระวังโรคอ้วนถามหา

“วุ้นเส้น” เป็นเส้นที่มีขนาด 0.1-0.2 เซนติเมตร  ทำจากแป้งถั่วเขียวผสมแป้งมัน ลักษณะเป็นเส้นยาวใส ไม่มีสี  ผ่านกระบวนการทำให้แห้งหรือทำให้ความชื้นเหลือน้อยที่สุดเช่นเดียวกับเส้นเล็ก มีข้อควรระวัง คือเรื่องสารกันบูด กันเชื้อรา อีกประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียงกันว่ากินวุ้นเส้นทำให้ผอม ความจริงก็คือ ไม่ได้ช่วยให้ผอมอย่างที่คิด ถึงแม้ว่าวุ้นเส้นไม่ได้ให้พลังงานมากที่สุด แต่ก็ให้พลังงานมากกว่าเส้นหมี่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงของวุ้นเส้น เมื่อมีการสำรวจและเก็บตัวอย่างวุ้นเส้นและวุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปในท้องตลาดมาวิเคราะห์หาปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ พบว่ามีซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกำหนดมาตรฐานอยู่ร้อยละ 15% ของตัวอย่าง ดังนั้น การกินเส้นไม่ว่าเส้นชนิดไหน หรือการนำเส้นไปประกอบอาหารต้องดูให้เหมาะสม และตรวจดูว่าเส้นชนิดนั้นๆ ใส่สารกันบูดหรือไม่ เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ใส่สารกันบูด จะเหนียวผิดปกติ กัดขาดยาก และเมื่อนำเส้นไปลวก เส้นที่ใส่สารกันบูด น้ำที่ลวกจะขุ่นกว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวสดแบบปกติ ทีนี้ เราทั้งหลายก็สามารถกินเส้นหรือก๋วยเตี๋ยวได้อย่างสบายใจ

เมนูดับร้อนแบบโบราณของบ้านเราอาจจะมีข้าวแช่ แต่ของญี่ปุ่นเป็นเส้นหมี่เย็นที่ไหลออกมาตามรางไม้ไผ่ หรือเรียกว่า “นางาชิ โซเมง” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ชาวเกียวโตและคาโกชิมะจะกินบะหมี่ชนิดนี้ในช่วงฤดูร้อน เพื่อช่วยคลายร้อนนั่นเอง

โซเมงนี้จะไหลมาพร้อมกับน้ำเย็นในรางไม้ไผ่ ซึ่งคนกินจะต้องใช้ตะเกียบคีบออกมา แล้วจิ้มในซอสเปรี้ยวนั่นเอง

ชมคลิป

https://www.facebook.com/redduckpost/videos/806305602896835/

ทุกวันนี้อาหารประเภทเส้นไม่ว่าก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ก๋วยจั๊บ สปาร์เก็ตตี้ ฯลฯ มีอิทธิพลในชีวิตคนไทยสูง..งงงง มาก บางคนลืมตาตื่นขึ้นมาก็นึกอยากกินอะไรร้อนๆ แล้วจินตนาการเห็นก๋วยเตี๋ยวชามใหญ่ส่งควันหอมฉุย ก่อนกลืนน้ำลายเอื๊อกๆ แล้วรีบเผ่นออกไปหาร้านก๋วยเตี๋ยวกินให้หายอยาก อย่างนี้เป็นต้น และไม่เฉพาะผู้ใหญ่คนหนุ่มสาวเท่านั้น แม้แต่เด็กเล็กก็ยังร้องอยากกินเลย

พูดถึงเรื่องเส้นๆ แล้วเชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน คือ บะหมี่ แต่ชาวญี่ปุ่นก็เชี่ยวชาญด้านการทำอาหารเส้นและการนำเส้นไปปรุงเป็นอาหาร ความนิยมเส้นจากประเทศจีนจึงถ่ายทอดและแผ่กระจายไปสู่คนญี่ปุ่น จนกลายเป็นที่ชื่นชอบไปทั้งประเทศ ทุกวันนี้ “บะหมี่” เป็นอาหารที่นิยมบริโภคในญี่ปุ่นมากกว่าอย่างอื่น หากไม่รวมข้าว ร้านขายบะหมี่จำนวนมากกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่น โดยมีลูกค้าอุดหนุนเนืองแน่น ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าควรกินอาหารบะหมี่ทันทีก่อนที่น้ำซุปร้อนจัดจะทำให้เส้นเละ นั่นแปลว่าจะต้องสูดอากาศเย็นๆ เข้าไปพร้อมกับบะหมี่ทุกคำ ซึ่งทำให้เกิดเสียง “ซู้ด…” ที่คนไทยเห็นว่าไม่เป็นผู้ดีไม่มีมารยาท

แต่แท้จริงแล้วการส่งเสียง “ซู้ด..” ในการกินบะหมี่ร้อนจัดของคนญี่ปุ่นหรือคนจีน มันคือสัญลักษณ์แห่งความรื่นรมย์ และถือเป็นมารยาทที่ดีงามในญี่ปุ่น และในความเห็นของคนญี่ปุ่นแล้วการกินบะหมี่ช้าๆ สงบสงี่ยมต่างหากถือเป็นการดูหมิ่นพ่อครัวด้วยซ้ำ

บะหมี่ญี่ปุ่นมีคุณลักษณะและสรรพคุณด้านบำรุงสุขภาพที่โดดเด่น เพราะบะหมี่ญี่ปุ่นมีกลูเต็นน้อยกว่าพาสต้าที่ทำจากข้าวสาลีดูรัม เชื่อกันว่าย่อยง่ายกว่าและไม่เกิดอาการแพ้จากข้าวสาลี เกลือปริมาณเล็กน้อยที่ใส่ในบะหมี่ญี่ปุ่นยังช่วยเรื่องการย่อยอาหารด้วย หากพูดถึงเรื่อง “กินเส้น” ของคนญี่ปุ่นแล้ว มีให้ลองพิจารณาเป็นความรู้ ดังนี้

โซบะ

ส่วนผสมหลักคือบัควีต ธัญพืชเก่าแก่ บัควีตเป็นแหล่งที่ดีที่สุดที่มีสารจำเป็นต่อการทำงานของเซลล์และเอ็นไซม์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้การเพิ่มโซบะในมื้ออาหาร โดยเฉพาะโซบะที่ทำจากบัควีต 100% จึงส่งผลดียิ่งต่อสุขภาพ หลังจากบริโภคโซบะมาหลายศตวรรษ ชาวญี่ปุ่นเริ่มให้ความสำคัญกับโซบะเมื่อได้รับการยืนยันจากนักวิจัยด้านการแพทย์ว่า เส้นใยอาหารปริมาณสูงในโซบะบัควีตช่วยให้ร่างการกำจัดคอเลสเตอรอลได้ ยิ่งไปกว่านั้นการกินโซบะที่โปรตีนสูงยังมีความสัมพันธ์กับการลดไขมันในร่างกายอีกด้วย

แม้ว่าการรับประทานโซบะที่ทำจากบัควีต เป็นหนทางดีที่สุดในการรับประโยชน์จากสารอาหารในบัควีต แต่ก็ยังมีโซบะอีกหลายชนิด เช่น โซบะชาเขียว และโซบะอื่นๆ ที่มีการใส่ผงสมุนไพรเพิ่มลงไปในสูตรโซบะพื้นฐาน เช่น โซบะชาเขียวจะเติมผงชาเขียวลงไปในเส้นโซบะ ชาเขียวเป็นอาหารเชิงยาที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่งในธรรมชาติ ทำให้โซบะมีสีสันสวยงามและมีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย ชาวญี่ปุ่นนิยมกินโซบะจิเน็นโจ หรือโซบะมันภูเขาอย่างมาก เพราะอุดมไปด้วยเอ็นไซม์ช่วยย่อย และยังทำให้เส้นมีความเนียน ลื่น ง่ายต่อการย่อย จึงไม่แปลกใจที่จิเน็นโจจะเป็นที่นิยม เพราะถือเป็นยาพื้นบ้านที่สำคัญของญี่ปุ่นในการรักษาผู้ที่มีระบบย่อยไม่ดี โซบะเหล่านี้มีบางชนิดหาซื้อได้ตามร้านอาหารตามธรรมชาติ หรือสั่งซื้อทางเว็บไซต์

อุด้ง-โซเม็ง

บะหมี่ญี่ปุ่นที่ทำจากแป้งสาลี เช่น อุด้งและโซเม็ง เป็นบะหมี่ไขมันต่ำ แต่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ให้พลังงานยาวนานในปริมาณสูง แม้ว่าอุด้งและโซเม็งจะมีโปรตีนและเกลือแร่ต่างๆ ไม่มากเท่าโซบะ แต่ก็เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงที่ดีเยี่ยม อุด้งจากข้าวกล้องยังมีกรดอะมิโนเสริมที่ได้จากข้าวและข้าวสาลี ในญี่ปุ่นอุด้งมีชื่อเสียงในเรื่องการย่อยง่าย การทดลองในห้องทดลองของญี่ปุ่นโดยใช้เอ็นไชม์ช่วยย่อย และมีการควบคุมอุณหภูมิ แสดงให้เห็นว่าอุด้งย่อยเร็วกว่าบะหมี่ชนิดอื่นมาก และย่อยได้เร็วกว่าเนื้อวัวถึง 3 เท่า

วิธีการนวดแป้งของอุด้ง ช่วยให้ข้าวสาลีมีคุณภาพดีขึ้นและเข้มข้นมากขึ้น โปรตีนจะไปผสมรวมกับโมเลกุลของแป้ง ทำให้เอ็นไซม์ช่วยย่อยในร่างกายสามารถย่อยได้ง่ายขึ้น เนื่องจากอุด้งย่อยได้เร็ว จึงทำให้มีเลือดปริมาณมากไปหล่อเลี้ยงกระเพาะ ร่างกายจึงมีความร้อนสูง อุด้งสร้างความร้อนในร่างกายที่คงที่ อยู่ได้นานกว่าความร้อนที่เกิดจากราเม็ง โซบะ หรือพาสต้า ดังนั้น อุด้งจึงเป็นอาหารยอดนิยมในฤดูหนาวของคนญี่ปุ่นยุคก่อนที่ยังไม่มีระบบทำความร้อนในบ้าน และเป็นที่นิยมในภาคเหนือด้วย เป็นอาหารโปรดของผู้ที่เป็นไข้ เนื่องจากให้พลังงานที่ยาวนานได้อย่างรวดเร็วและอบอุ่น

บะหมี่ญี่ปุ่นที่ใส่วัตถุกันเสียและใช้แป้งขัดขาวนั้น หาซื้อได้ทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ต บะหมี่พวกนี้โดยทั่วไปมักจะใส่เกลือที่ผ่านการฟอกขาว และสารอาหารถูกขัดออกไปหมด เมื่อเลือกซื้อบะหมี่ญี่ปุ่นควรตรวจดูส่วนผสมบนบรรจุภัณฑ์อย่างระมัดระวัง เลือกแต่บะหมี่ที่ทำจากแป้งข้าวสาลีที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ และเกลือทะเล เมื่อซื้อราเม็งดูให้แน่ใจว่าไม่มีการใส่น้้ำมันหรือวัตถุกันเสีย

ชนิดของบะหมี่ แม้ว่าจะมีการแยกย่อยได้อีกหลายชนิด แต่บะหมี่ญี่ปุ่นมีเพียง 2 ประเภทหลักเท่านั้น คือ บะหมี่ที่ทำจากบัควีต (โซบะ) และ บะหมี่ที่ทำจากข้าวสาลี (อุด้งและโซเม็ง) เนื่องจากบัควีตปลูกได้เฉพาะในที่อากาศเย็นจัดและแห้งแล้ง โซบะ ที่ทำจากบัควีต 100% นั้น หนักท้องและอร่อย มีให้เลือกทั้งแบบใส่เกลือและไม่ใส่เกลือ อย่างไรก็ตาม โซบะส่วนใหญ่จะทำจากแป้งบัควีต 40-80% ส่วนที่เหลือจะเป็นแป้งข้าวสาลีขาวชนิดไม่ฟอก โซบะอิโตะ ซึ่งใช้แป้งบัควีต 40% เป็นบะหมี่เส้นบางละเอียดที่สุกเร็วและซึมซับรสชาติของน้ำซุป ซอส และเครื่องปรุงรสได้ดี

สำหรับ “อุด้ง” เป็นบะหมี่เส้นหนา สีนวล เคี้ยวสนุก ทำจากแป้งสาลี นิยมในเกียวโตและทางใต้ของญี่ปุ่น อุด้งชนิดต่างๆ ที่หาได้ตามร้านขายอาหารแนวธรรมชาติ จะทำจากแป้งข้าวสาลีขัดสีน้อย หรือแป้งข้าวสาลีขัดสีน้อยผสมกับแป้งข้าวสาลีสีขาวชนิดไม่ฟอก อุด้งจากแป้งข้าวสาลีขัดสีน้อย จะมีความเหนียว บะหมี่ที่ต้องการให้ซึมซับรสชาติของน้ำซุป ซอส และเครื่องปรุงได้ดี ควรใช้อุด้งที่ลื่นกว่า นุ่มกว่า คือทำจากแป้งข้าวสาลีขาวชนิดไม่ฟอก

อุด้งข้าวกล้อง มีส่วนผสมของแป้งข้าวกล้องและแป้งข้าวสาลีนั้น ไม่ใช่อาหารญี่ปุ่นดั้งเดิม แต่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตลาดสินค้าอาหารแนวธรรมชาติโดยเฉพาะ ถึงแม้บะหมี่จะเป็นที่นิยมอย่างมากและสามารถปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญต้องเลือกบะหมี่ให้เหมาะสมกับอาหารที่ต้องการทำ เช่น โซบะและอุด้งสีขาวทั่วไป เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนำไปผัด โซบะชนิดเส้นบางละเอียด เช่น โซบะอิโตะและชาเขียว ไม่เหมาะสำหรับการผัด โซบะทำจากบัควีต100% ก็ไม่เหมาะเช่นกัน โซเม็งซึ่งเป็นบะหมี่แป้งสาลี แต่เส้นก็เล็กบอบบางเกินกว่าจะนำไปผัด

บะหมี่น้ำ ในญี่ปุ่นนิยมกินบะหมี่โดยใส่น้ำซุปปรุงรสด้วยโชยุ ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่ญี่ปุ่นชนิดใดก็สามารถนำมาปรุงด้วยวิธีนี้ได้ หากใช้โซบะ น้ำซุปควรจะมีรสชาติเข้มข้นมากขึ้นเล็กน้อย โดยเติมโชยุและมิรินให้มากกว่า เมื่อนำไปใช้กับอุด้งและโซเม็ง นอกจากนั้น น้ำซุปสำหรับโซบะยังนิยมปรุงรสด้วยวาซาบิ ขณะที่นิยมปรุงรสอุด้งด้วยเครื่องเทศญี่ปุ่น 7 ชนิด

ส่วน บะหมี่ผัด มักจะใช้บะหมี่ญี่ปุ่นผัดกับผักและเต้าหู้ เป็นอาหารอร่อยมีคุณค่าครบถ้วน สามารถปรุงได้ในเวลาสั้นๆ อุด้งหรือโซบะธรรมดาและโซบะจิเน็นโจ เป็นตัวเลือกที่เหมาะที่สุดสำหรับการทำบะหมี่ผัด โดยต้มบะหมี่จนกระทั่งเกือบนุ่ม ล้างน้ำเย็น ทิ้งให้สะเด็ดน้ำ หรือแห้งแล้วนำไปผัด ใส่ผักและเครื่องปรุงอื่นในช่วง 1 หรือ 2 นาทีสุดท้ายของการผัดบะหมี่ สำหรับ บะหมี่ราดซอส สามารถทำได้ง่ายเช่นกัน แม้ว่าบะหมี่ญี่ปุ่นทุกชนิดสามารถกินคู่กับซอสได้ แต่อุด้งจะเข้ากับซอสได้หลากหลายกว่าโซบะ เนื่องจากรสชาติไม่ชัดเจนเท่าโซบะ

มาถึง สลัดบะหมี่ โซบะเป็นบะหมี่ที่เหมาะกับการทำสลัดอย่างมาก โดยเฉพาะถ้าใช้น้ำสลัดที่รสจัดจ้าน หรือน้ำสลัดแบบเอเชีย ตัวอย่างคือ สลัดผักใส่โซบะ และสลัดโซบะราดซอสเนยถั่วรสจัด ขณะที่โซเม็งเหมาะจะเลือกใช้ในสลัดเบาๆ ที่ใช้น้ำสลัดรสผลไม้ เช่น น้ำสลัดงา น้ำสลัดส้ม เป็นต้น ส่วน บะหมี่จุ่มซอส นิยมใช้บะหมี่ชาเขียวและโซบะอิโตะเส้นละเอียด เหมาะอย่างยิ่งสำหรับจุ่มในซอสเย็นๆ โซเม็งก็เหมาะกับเป็นอาหารยอดนิยมในฤดูร้อนเช่นกัน

มีความรู้เรื่องเส้นอย่างนี้แล้ว เข้าครัวเมื่อไหร่ลงมือได้ไม่ยาก นอกจากอิ่มท้องแล้ว ยังสนุกกับการเลือก การปรุงจำพวกเส้นเป็นอาหารแบบทำเอง กินเอง อร้อย…อร่อยเองอีกด้วย


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111