อาหารหลักของคนไทยที่ขาดไม่ได้ในเกือบทุกมื้อ ก็คงหนีไม่พ้น “ข้าว” แน่นอน แต่รู้กันหรือไม่ว่าข้าวในไทยนั้นมีหลายแบบ หลายขนิดมากๆ เรียกได้ว่าจากฝีมือชาวนาไทย ที่ช่วยกันปลูกและบำรุงกันมาเป็นอย่างดี งานนี้เรามาทำความรู้จักกับข้าวประเภทต่างๆ กันดูดีกว่า รับรองว่าไม่ว่าข้าวพันธุ์ไหน ทานกับอะไรก็อร่อยแน่นอน

ข้าวหอมมะลิ
เป็นพันธุ์ข้าวที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดีอยู่แล้ว และยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เรียกว่าแทบทุกบ้านต้องมีข้าวหอมมะลิติดถังข้าวสารไว้เลยทีเดียว ซึ่งข้าวหอมมะลิอุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย มีคาร์โบไฮเดรตสูงถึง 71-77% ให้พลังงาน มีวิตามินบี 1 บี2 ที่สำคัญหลายคนอาจจะไม่รู้ว่าในบ้านเรามีข้าวหอมมะลิหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งรสชาติจะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ที่ปลูกอีกด้วย วันนี้เราจะมาแนะนำข้าวหอมมะลิพันธุ์ท้องถิ่นของจังหวัดชื่อดัง ที่หลายคนยังไม่รู้จักกันบ้างดีกว่า

  • ข้าวหอมมะลิ จังหวัดศรีสะเกษ หากใครไม่เคยลองบอกเลยว่าพลาดมาก เพราะข้าวหอมมะลิจากที่นี่ ได้รับแร่ธาตุจากพื้นที่ดินภูเขาไฟเก่า ทำให้เมื่อหุงสุกแล้วจะมีความเหนียวนุ่ม หอม น่ารับประทานมากๆ
  • ข้าวหอมมะลิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นข้าวที่ปลูกบนดินร่วนปนทราย จึงทำให้มีความเค็มเล็กน้อย และยังช่วยกระตุ้นการสร้างสารหอมระเหย เมื่อหุงข้าวเสร็จแล้ว จึงทำให้มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย แถมข้าวยังมีความนุ่มอีกด้วย
  • ข้าวหอมมะลิ จังหวัดอุบลราชธานี  ด้วยความที่ปลูกบนพื้นที่ ที่ได้รับแสงอาทิตย์แรกก่อนจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย เมื่อรับแสงแดดอย่างยาวนาน เมล็ดข้าวที่นี่จึงเรียวยาว ขาวสวย หุงแล้วมีความนุ่มอร่อยเป็นพิเศษ

ข้าวไรซ์เบอร์รี
เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ที่คนนิยมรับประทานไม่แพ้กัน ที่ฮอตมากๆ ก็เพราะว่าข้าวไรซ์เบอร์รีมีกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระสูง ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจ และเส้นเลือดอุดตันในสมอง นอกจากนี้ยังมีสารอาหารมากมาย ทั้งธาตุเหล็ก โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ โดยข้าวไรซ์เบอร์รียังมีข้าวที่มีกลิ่นหอม และสีสันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รสชาติหอมมัน เหนียวนุ่ม จึงไม่แปลกใจที่จะสามารถครองใจคนรักสุขภาพได้เพียบ

ข้าวหอมนิล
ชื่อนี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นหูกันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่รู้มาก่อนว่าข้าวหอมนิลถือว่าโดดเด่น ในเรื่องของความหอมเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีคุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วน โดยเฉพาะธาตุเหล็กที่อยู่ในข้าวหอมนิล เมื่อเรารับประทานเข้าไปร่างกายก็สามารถดูดซึมได้เลย ซึ่งร่างกายจะนำไปบำรุงโลหิต การทำงานของระบบประสาท ระบบผิวหนัง และยังช่วยให้ขับถ่ายคล่องยิ่งขึ้น เพราะเป็นข้าวที่มีเส้นใยสูง ที่สำคัญคือมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และป้องกันโรคต่างๆ ได้มากกว่าผลไม้ตระกูลเบอร์รีถึง 3 เท่า เลยทีเดียว

ข้าวขาวพันธุ์สินเหล็ก
ถือเป็นอีกพันธุ์ข้าวที่ดีสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะข้าวสินเหล็กเป็นข้าวที่ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่าง ข้าวเจ้าหอมนิล กับ ข้าวขาวดอกมะลิ ทำให้เมล็ดข้าวมีรูปร่างเรียวยาว มีกลิ่นหอม อีกทั้งคุณประโยชน์ยังสูงมากเนื่องจากมีดัชนีน้ำตาลต่ำ-ปานกลาง จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และยังมีธาตุเหล็กสูง

เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับข้าวชนิดต่างๆ ที่เรานำมาฝากกัน จริงๆ แล้วพันธุ์ข้าวในไทยมีหลายชนิดมากๆ ที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์แบบนี้ ใครอยากรู้ว่าดีอย่างไรต้องลองรับประทานกันดูเองแล้วล่ะ ไม่ใช่แค่เรื่องกินเท่านั้น แต่เรายังได้ช่วยอุดหนุนชาวนาไทยอีกด้วย

ที่มา : บล็อกเล่าเก้าสิบ

นึ่ง

        เป็นกระบวนการทำข้าวให้สุกด้วยความร้อนจากไอน้ำ นิยมใช้กับข้าวเหนียวโดยใช้หวดนึ่งข้าว

        (เคล็ดลับ) การนึ่งข้าวเหนียวให้นุ่มควรนำข้าวที่ซาวแล้วมาแช่น้ำทิ้งไว้ โดยข้าวเหนียวใหม่แช่ทิ้งไว้ 3-4 ชั่วโมง ส่วนข้าวเหนียวเก่าแช่ทิ้งไว้หนึ่งคืนหรือ 6-12 ชั่วโมง ก่อนนำมานึ่ง จากนั้นนำน้ำแช่ข้าว มาใช้พรมบนข้าวเหนียวให้นุ่มในขณะที่นึ่งอยู่

หุง สวย หรือ เจ้า

      เป็นกระบวนการทำข้าวให้สุก โดยการนำข้าวใส่หม้อต้มกับน้ำ ซึ่งอัตราส่วนระหว่างข้าวกับน้ำและขั้นตอนวิธีการอาจแตกต่างกันเล็กน้อยขึ้นอยู่กับชนิดข้าวที่นำมาหุง

       (เคล็ดลับ) ขณะหุงให้ใส่เกลือประมาณหยิบมือหรือปลายช้อนชาลงไป จะช่วยให้ข้าวหุงขึ้นหม้อและเรียงเม็ดสวยงาม

       การหุงข้าวปริมาณมากๆ เมื่อข้าวที่หุงกำลังสุกและระอุให้ใช้พายไม้หรือตะเกียบซุยข้าวให้ร่วนทำให้เมล็ดข้าวเรียงตัวสวย

หลาม

       เป็นกระบวนการทำข้าวให้สุกด้วยการนำข้าวใส่ลงในกระบอกไม้ไผ่ แล้วนำไปอังไฟให้สุก

คั่ว

       เป็นกระบวนการทำข้าวให้สุกด้วยการนำข้าวสารเหนียวมาคั่วในกระทะร้อนๆพร้อมกับตะไคร้ ใบมะกรูดหั่นฝอย และ ข่าที่ฝานเป็นแผ่นยาว จนได้สีเหลือง น้ำตาล-เหลืองทอง พักให้เย็น แล้วนำไปโขลกบดหรือตำให้ละเอียด นิยมใช้ใส่ในอาหารอีสาน ลาบ น้ำตก แกงอ่อม

         (เคล็ดลับ) แบ่งข้าวที่คั่วแล้วออกเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกตำให้ละเอียด ส่วนที่สองตำหยาบเล็กน้อย แล้วนำมาผสมกัน จะได้รสสัมผัสที่ลงตัว

ประเทศเราเหมาะกับการเพาะปลูกข้าว จึงทำให้เรามีผลผลิตของสายพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย เช่น ข้าวหอมมะลิที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลก พันธุ์ข้าวและประเภทของข้าวที่เรานิยมบริโภคสามารถแบ่งตามลักษณะได้เป็น 2 ประเภท คือ ข้าวเจ้า และ ข้าวเหนียว ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกันแต่แตกต่างกันตรงที่เนื้อแข็งภายในเมล็ด

                   ข้าวเจ้า (rice)  เมื่อหุงสุกแล้วเมล็ดมักจะร่วนสวย สามารถแบ่งย่อยตามลักษณะสีเยื่อหุ้มเปลือกได้เป็น

  1. สีขาว
  • ข้าวหอมมะลิ เป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย มีเมล็ดเรียวยาวสวยงาม รสชาตินุ่มหอม อร่อย สามารถปลูกได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง
  • ข้าวเสาไห้ มีเปลือกบาง จมูกเล็ก เมล็ดยาว มีความเลื่อมมัน หุงขึ้นหม้อ ทำให้ข้าวสุกร่วน ไม่แข็ง และไม่เกาะเป็นก้อน
  • ข้าวหอมปทุม เป็นข้าวที่ได้มาจากการผสมสายพันธุ์ข้าวที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ทำให้มีความหอมนุ่มคล้ายข้าวหอมมะลิ โดยเฉพาะเมื่อเป็นข้าวใหม่ต้นฤดูจะหอมเป็นพิเศษ ซึ่งสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
  1. สีแดง
  • ข้าวมันปู ลักษณะมีเยื่อหุ้มเปลือก ข้าวเป็นสีแดงแบบสีมันปู เมื่อหุงสุกแล้วเนื้อข้าวจะเป็นสีชมพูอ่อน มีกลิ่นหอม เมล็ดนุ่มสวย
  • ข้าวสังข์หยด มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวปนสีแดงจางๆจนถึงสีแดงเข้ม เพราะมีแอนโทไซยานินอยู่ในเยื่อชั้นนอก เมื่อหุงสุกจะนุ่มและเมื่อเย็นลงจะมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์
  1. สีเหลือง / น้ำตาลอ่อน
  • ข้าวเหลืองปะทิว เป็นข้าวพื้นเมืองดั้งเดิมของอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร มีลักษณะเป็นเมล็ดเรียวยาวให้ผลผลิตสูง หุงขึ้นหม้อ สุกเร็ว เนื้อร่วน ไม่เกาะกันเป็นก้อนและรสชาติดี
  1. สีดำ
  • ข้าวหอมนิลหรือข้าวสีนิล มีลักษณะเป็นเมล็ดเรียวยาว สีดำหรือสีม่วงเข้ม จาก สารแอนโทไซยานิน ชนิดเดียวกับที่พบในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่และดอกอัญชัน เวลาหุงเสร็จจะมีสีม่วงอ่อน นุ่มฟู และมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์                  
  1. สีม่วงเข้ม
  • ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นการผสมระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลและข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีลักษณะเรียวยาว ผิวมันวาว มีสีม่วงเข้มคล้ายกับลูกเบอร์รี มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รสชาติหอมมัน เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม 

                 ข้าวเหนียว (sticky rice หรือ glutinous rice)  เมื่อหุงสุกแล้วจะมีลักษณะเนื้อสัมผัสเหนียวติดกันระหว่างเมล็ด

  • ข้าวเหนียวดำหรือข้าวก่ำ เมล็ดข้าวมีสีม่วงดำและค่อนข้างแข็ง นิยมนำมาทำเป็นขนมหวาน
  • ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เป็นข้าวที่มีเม็ดเรียวยาว สีขาวและทนทานต่อโรคต่างๆ ได้ดี เมื่อนำมาหุงให้สุกเม็ดข้าวที่ได้จะเหนียวนุ่ม เรียงตัวสวย และมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน

จากที่เชื่อกันว่าการกินข้าวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อ้วน จนกลายเป็นทัศนคติที่นำไปสู่พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จึงจัดโครงการประกวดคลิปสั้น ในหัวข้อ “อ้วนไม่อ้วนไม่เกี่ยวกับข้าว” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริโภคข้าวผ่านกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนหันมาสนใจข้อมูลด้านโภชนาการของข้าวมากยิ่งขึ้น และปรับความเข้าใจผิดเรื่องข้อมูลที่ปลูกฝังว่า กินข้าวแล้วทำให้อ้วน

จากการศึกษาตารางโภชนาการอาหารเปรียบเทียบแคลอรี จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อาหารแต่ละชนิดที่ปริมาณ 100 กรัม เท่ากัน ข้าวให้พลังงาน 133 กิโลแคลอรี ในขณะอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตแบบเดียวกัน เช่น ขนมปัง ให้พลังงาน 267 กิโลแคลอรี เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ให้พลังงาน 400 กิโลแคลอรี ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ให้พลังงาน 160 กิโลแคลอรี ซึ่งล้วนให้พลังงานสูงกว่าการกินข้าวทั้งสิ้น

แม้กระทั่งอาหารคลีนที่นิยมรับประทานกัน ก็มีแคลอรีสูงกว่าข้าวในปริมาณที่เท่ากัน แบบที่ทุกคนอาจจะนึกไม่ถึง อาทิ อกไก่ไม่ติดหนัง ให้พลังงาน 173 กิโลแคลอรี เนื้อปลาไม่ติดหนัง ให้พลังงาน 173 กิโลแคลอรี เนื้อวัวไม่ติดหนัง ให้พลังงาน 233 กิโลแคลอรี หมูย่าง ให้พลังงาน 333 กิโลแคลอรี

จะเห็นได้ว่าการกินข้าวไม่ได้ทำให้อ้วนอย่างที่คิด แต่สาเหตุที่ทำให้อ้วนนั้นเป็นเพราะใช้พลังงานน้อยกว่าสิ่งที่กินเข้าไปในแต่ละวัน ในขณะเดียวกันคนที่เข้าใจผิดว่ากินข้าวแล้วอ้วนนั้น บางคนไม่กินข้าว หรืออาหารจำพวกแป้งอื่นๆ เลย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อไม่กินข้าวเลย ร่างกายจะขาดสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ขาดวิตามินบี ทำให้การเผาผลาญช้าลง ขาดพลังงาน จนอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด กินอาหารก็ไม่อยู่ท้อง ทำให้อยากกินจุกจิก และเป็นสาเหตุที่ทำให้การควบคุมน้ำหนักยากมากขึ้นไปกว่าเดิม

นพ. คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ กล่าวว่า หลักการง่ายๆ ในการควบคุมน้ำหนัก คือต้องรักษาอินพุตให้เท่ากับเอาต์พุต จะอ้วนไม่อ้วนอยู่ที่การควบคุมปริมาณแคลอรีที่กินเข้าไปในแต่ละวัน ซึ่งผู้หญิงไม่ควรให้น้อยกว่า 1,200 กิโลแคลอรี และผู้ชายไม่ควรน้อยกว่า 2,000 กิโลแคลอรี

การลดน้ำหนักที่ได้ผลระยะยาว น้ำหนักควรจะค่อยๆ ลดปริมาณ 0.5 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสมดุลได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อระบบร่างกายทั้งหมด สารอาหารทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน ควรประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 50% ไขมัน 30% และโปรตีน 20% โดยให้พิจารณาจากไลฟ์สไตล์ของตัวเองว่ามีการใช้พลังงานไปกับกิจกรรมต่างๆ มากน้อยเพียงใด เพื่อควบคุมปริมาณแคลอรีให้เหมาะสม

ด้าน พิมพ์อร โมกขะสมิต ฟิตเนสอินฟลูเอ็นเซอร์ชื่อดัง กล่าวว่า การควบคุมน้ำหนักที่ได้ผล นอกจากต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยไม่มีข้ออ้างเรื่องเวลาแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องกินข้าวให้ครบทุกมื้อ ข้าวทำให้อิ่มนาน และทำให้ไม่อยากกินจุกจิก จึงทำให้ระหว่างวันเลือกกินอาหารโดยขาดสติ เช่น กินน้ำหวานและขนมปังแทนข้าวก็ทำให้อ้วนได้โดยไม่รู้ตัว

เพราะฉะนั้น โครงการนี้จึงต้องการสร้างกระแส สร้างการรับรู้ข้อเท็จจริง เปลี่ยนทัศนคติของคนไทยเรื่องการกินข้าว และชวนให้คนไทยหันมากินข้าวมากขึ้น ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับนักเรียน นักศึกษา คือ ทีม “PSC Studio” จากโรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย ส่วนผู้ชนะเลิศระดับบุคคลทั่วไป คือ ทีม “ช่างภาพเทคนิคกรุงเทพ” สำหรับผู้ที่สนใจสามารถชมผลงานคลิปวิดีโอทั้งหมดได้ผ่านทางเฟซบุ๊ก : อ้วนไม่อ้วนไม่เกี่ยวกับข้าว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ กำลังจะทำให้ทะเลทรายที่แห้งแล้งกลายเป็นพื้นที่เขียวชะอุ่มได้ หลังจากนักวิทยาศาสตร์จากประเทศจีน ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกได้กับน้ำทะเล และสามารถนำไปปลูกไว้กลางทะเลทรายได้

นายหยวน หลงผิง นักวิทยาศาสตร์ชาวจีน ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสม ได้ทำการปลูกข้าวจากน้ำทะเล และกำลังนำเทคนิคดังกล่าวไปใช้กับประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับการปลูกพืชอยู่แล้ว

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเก็บเกี่ยวข้าวที่ปลูกตั้งแต่เดือนมกราคม และได้ผลผลิตที่สูงกว่าทั่วไป โดยได้ 7,500 กิโลกรัม ต่อ 10,000 ตารางเมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 3,000 กิโลกรัม ต่อ 10,000 ตารางเมตร ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องการที่จะสานต่อโครงการดังกล่าวออกไป และมีเป้าหมายอยู่ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นที่แรก

จึงเกิดเป็นบริษัทร่วมทุนกันระหว่างศูนย์วิจัยข้าวน้ำทะเลของจีน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองชิงเต่า กับชีค ซาอีด บิน อาหมัด อัล มัคทูม จากตระกูลมหาเศรษฐีแห่งดูไบ ที่มีเป้าหมายระยะยาวอยู่ที่การปลูกข้าวให้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ เท่ากับว่า จะมีพื้นที่ปลูกข้าวกลางทะเลทรายมากถึงราว 83,600 ตารางกิโลเมตร เพื่อความมั่นคงทางอาหารของภูมิภาค เพราะไม่เพียงแค่โปรโมตข้าวปลูกจากน้ำทะเลในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เท่านั้น แต่จะนำไปปลูกทั่วตะวันออกกลางอีกด้วย เพื่อเพิ่มผลผลิตด้านอาหารในภูมิภาคให้มากขึ้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์

คนอุษาคเนย์ในอาเซียน กินข้าวเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวันเมื่อหลายพันปีมาแล้วก่อนรู้จักกินข้าว คนทั้งหลายกินพื ชและสัตว์ที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น เผือก, มัน, กลอย และกุ้ง, หอย, ปู, ปลา ฯลฯ

ข้าวเก่าแก่สุดในไทย
คนกินข้าวครั้งแรก ราว 7,000 ปีมาแล้ว (บางคนว่านานมากกว่านี้) พบหลักฐานในไทยเป็นเมล็ดข้าวจากถ้ำปุงฮุง จ.แม่ฮ่องสอน

เป็นประเภทข้าวไร่ที่เจริญงอกงามบนที่สูง มีทั้งข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ (Large Type) จัดเป็นพวกชวานิคา (Javanica) และข้าวเจ้าเมล็ดเรียว (Slender Type) จัดเป็นพวกอินดิคา (Indica)

ข้าวเหนียว หรือ ข้าวนึ่ง
เป็นข้าวเมล็ดป้อม ตระกูลข้าวเก่าแก่ในไทยและสุวรรณภูมิในอาเซียน เป็นอาหารหลักของคนทุกชาติพันธุ์ในอาเซียนอุษาคเนย์ เมื่อรับศาสนาจากอินเดียสมัยหลังๆ ยังเป็นอาหารหลักของพระสงฆ์ในวัดด้วย
ราวหลัง พ.ศ. 1000 พบแกลบข้าวเหนียวผสมดินเหนียวในแผ่นอิฐสร้างเจดีย์แบบทวารวดีทั่วลุ่มน้ำเจ้าพระยา และที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
[ดูบทความเรื่อง แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจายของข้าวที่ปลูกในทวีปเอเชีย ของ วาตาเบะ ทาดาโยะ แปลโดย สมศรี พิทยากร พิมพ์ในหนังสือ ญี่ปุ่น-ไทย-อุษาคเนย์ บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และฮายาโอะ ฟูกุย จัดพิมพ์โดยโครงการ Core University ธรรมศาสตร์-เกียวโต ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2541 หน้า 75-109]
ราวหลัง พ.ศ. 1800 พบเมล็ดข้าวเหนียวที่หุงหรือนึ่งแล้วปนอยู่ในดินบริเวณศาลาโถง (เนินปราสาท) หน้าวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย น่าจะเป็นข้าวเหนียวที่คนเอามาถวายพระสงฆ์เมื่อทำบุญเลี้ยงพระ

ข้าวเจ้า หรือ ข้าวจ้าว

เป็นข้าวเมล็ดเรียว พบพร้อมข้าวเมล็ดป้อมทั้งในไทยและอาเซียน แต่การแพร่กระจายและความต่อเนื่องต่างกัน

เจ้า, จ้าว ในคำว่า ข้าวเจ้า, ข้าวจ้าว มีความหมายหลายอย่าง ดังนี้
แปลว่า ผี เช่น เจ้าฟ้า คือ ผีฟ้า มีคำพูดในชีวิตประจำวันว่าไหว้ผี ไหว้เจ้า
ภาษาไทยอาหมและไทใหญ่ หมายถึง ร่วน, ซุย, ไม่เหนียว, หุง
[จากหนังสือ เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้ ของ ถาวร สิกขโกศล สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2557]
มีคำบอกเล่าว่า ข้าวเจ้า เป็นคำกร่อนจากคำเรียกว่าข้าวเหลือเจ้า หมายถึงข้าวที่เจ้านายเสวยก่อน แล้วเหลือไว้ให้พวกไพร่กินทีหลัง นานเข้าก็เรียก ข้าวเจ้า ส่วนข้าวที่เจ้าเสวย เพี้ยนเสียงเป็นข้าวสวย

เฮ็ดไฮ่-เฮ็ดนา-เฮ็ดข้าว
ข้าวเป็นพืชตระกูลหญ้าอย่างหนึ่ง มีขึ้นทั่วไปเป็นธรรมชาติเหมือนหญ้าชนิดอื่นๆ ในโลก แต่สมมุติเรียกกันว่าข้าวป่า เช่นเดียวกับพืชผลธรรมชาติชุดแรกๆ ก็เรียกด้วยคำว่าป่าทั้งนั้น เพราะมีมากในป่า และมีมากเป็นป่า เช่น มะม่วงป่า, ขนุนป่า ฯลฯ
คนสุวรรณภูมิรู้จักข้าวป่า แล้วคิดทำข้าวปลูกตั้งแต่เมื่อไร? ยังกำหนดแน่นอนไม่ได้
แต่นักโบราณคดีขุดพบซากเมล็ดข้าวปลูก (ถ้ำผีแมน จ.แม่ฮ่องสอน) มีอายุราว 10,000 ปีมาแล้ว

นาตาแฮก แรกนาขวัญ
ภาพเขียนสีที่ผาหมอนน้อย ราว 2,500 ปีมาแล้ว มีรูปคนกับควายหรือวัว คล้ายกำลังเฮ็ดไฮ่เฮ็ดนา อยู่ท่ามกลางลายเส้นคล้ายจะเป็นต้นข้าว

โดยมีรูปอื่นแวดล้อม เช่น คนถืออาวุธทำท่าล่าสัตว์, ลายมือประทับทำแนวโค้ง, ลายขีดข่วนรูปแบบต่างๆ
น่าเชื่อว่ารูปคนกับควายและต้นข้าวกลุ่มนี้ ที่เป็นศูนย์กลางของภาพทั้งหมด หมายถึงพิธีนาตาแฮกยุคแรกเริ่มราว 2,500 ปีมาแล้ว (ตามอายุภาพเขียนสี)

นาตาแฮกเป็นประเพณีราษฎร์ ที่บรรดาไพร่บ้านต้องทำเมื่อถึงฤดูทำนา เพื่อวิงวอนร้องขอแกมบงการธรรมชาติบันดาลความอุดมสมบูรณ์

ความเชื่อถือแบบดั้งเดิมเก่าแก่ ที่เชื่อว่าถ้าเราจำลองเลียนแบบธรรมชาติขึ้นแล้ว ก็จะบันดาลหรือบังคับให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริงดังใจปรารถนา

ชาวนาแต่ก่อนเมื่อจะลงมือดำนา จะต้องสร้างนาจำลองขนาดสักหนึ่งตารางเมตรขึ้นก่อน แล้วดำกล้าลงในนานั้นห้าหกกอ นาจำลองนั้นเรียกว่า ตาแรก หรือ ตาแฮก (ตา = ตาราง ; แรก คือ แรกเริ่มดำ) ถ้าบำรุงข้าวในนาตาแรกนั้นได้งาม ข้าวในนาทั้งหมดก็จะงามตามไปด้วย

[สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2526 หน้า 350]

เมื่อมีพัฒนาการเป็นบ้านเมือง กระทั่งมีราชสำนักขึ้น ก็ทำนาตาแฮกเป็นประเพณีหลวง แล้วเรียกชื่อด้วยภาษาศักดิ์สิทธิ์ขึ้นว่า “จรดพระนังคัล แรกนาขวัญ” สืบมาจนทุกวันนี้

ปลูกข้าว
วิธีปลูกข้าวมีนักวิชาการทั่วโลกกำหนด จำแนกตามลักษณะภูมิประเทศ 3 อย่าง คือ เฮ็ดไฮ่ (ทำไร่) เฮ็ดนา (ทำนา) เฮ็ดข้าว (ทำข้าวหรือปลูกข้าว)

[เฮ็ด เป็นคำพื้นเมืองของตระกูลภาษาไทย-ลาว หมายถึง ทำ, ร่วมเพศ ฯลฯ ตรงกับคำไทยปัจจุบันว่าเย็ด, เยียะ, ยะ]
1. เฮ็ดไฮ่ หรือดรายไรซ์ (dry rice) หมายถึง ทำไร่หมุนเวียนบนที่สูง โดยอาศัยน้ำค้างและน้ำฝน ทำคราวหนึ่งราว 4-5 ปี ต้องย้ายที่ไปบ่อนอื่น เพราะดินเก่าจืด
2. เฮ็ดนา หรือเวตไรซ์ (wet rice) หมายถึง ทำนาทดน้ำบนที่ลุ่ม ทำได้ต่อเนื่องยาวนานไม่ต้องโยกย้ายไปไหน เพราะถึงฤดูน้ำหลากจะมีน้ำท่วมพัดพาเอาโคลนตมเป็นปุ๋ยมาให้ตามธรรมชาติ
3. เฮ็ดข้าว หรือฟลัดไรซ์ (flooded rice) หมายถึง ปลูกข้าวหว่านบนพื้นที่โคลนตมเมื่อน้ำท่วมตามธรรมชาติใกล้ๆ แหล่งที่อยู่อาศัย เป็นการปลูกอย่างง่ายๆ โดยอาศัยรอน้ำท่วมที่นา แล้วก็หว่านข้าวลงไป (เป็นผลการศึกษาวิจัยของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ดูในบทความเรื่อง อีสานมีพัฒนาการเป็น “รัฐ” พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2527)

ข้าวเปลือก
ต้นข้าว มีเมล็ดข้าวอยู่ในช่อเป็นรวง เรียกรวงข้าว
เมื่อเมล็ดข้าวสุกได้ที่แล้วต้องเกี่ยวข้าว เอาไปนวดให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง เป็นข้าวที่ยังมีเปลือกหุ้มเมล็ด เรียกข้าวเปลือก

ข้าวสาร
เอาข้าวเปลือกไปบดหรือตำให้เปลือกหลุดจากเมล็ด เรียกข้าวสาร แต่ยังหลุดไม่หมดทุกเมล็ด บางทีเรียกข้าวกล้อง
แต่ยังดิบ เมื่อจะกินต้องเอาไปทำให้สุกด้วยไฟ เรียกหลาม, นึ่ง, หุง

หลาม
หมายถึง ข้าวสารเหนียว ทำให้สุกด้วยการหลามในกระบอกไม้ไผ่ (เรียกบั้งข้าวหลาม) เป็นข้าวเหนียวล้วนๆ ไม่ปรุงแต่งด้วยวัสดุอื่นใด เช่น กะทิ
โดยตั้งกระบอกขึ้น แล้วก่อไฟเป็นแถวขนาบให้เผาล้อมรอบ แต่ต้องคอยหมุน หรือกลับกระบอกหลบไฟเผาไหม้ ขณะเดียวกันก็ให้โดนความร้อนรอบกระบอกจนสุก
หลาม หมายถึง ทำให้สุกภายในกระบอกไม้ไผ่ เช่น ข้าวหลาม, ปลาหลาม ฯลฯ
[หลาม แปลว่า มากขึ้น, ขยายขึ้น, ล้นออกมา]

หุง, นึ่ง
หมายถึง ข้าวสารเหนียวทำให้สุกด้วยการหุง หรือนึ่งในภาชนะ
หุงข้าว หรือ นึ่งข้าว ต้องมีภาชนะดินเผา เรียกหม้อดินหรือหม้อดินเผา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นจากภาชนะธรรมชาติ เช่น กะลา, กระบอกไม้ไผ่, เครื่องจักสาน
ในยุคแรกเริ่ม คนที่กินข้าวเหนียวด้วยวิธีหุงหรือนึ่ง จึงต้องเป็นคนชั้นสูงระดับหมอผีหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีภาชนะดินเผา
ส่วนคนทั่วไปกินข้าวหลามจากกระบอกไม้ไผ่

ข้าวเหนียวในพิธีกรรม
อาหารในพิธีกรรมดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ นับพันปีมาแล้ว ล้วนทำจากข้าวเหนียว
เป็นพยานว่าข้าวเหนียวเป็นอาหารก่อนข้าวเจ้า ในชีวิตประจำวันของคนในอุษาคเนย์และสุวรรณภูมิ

ข้าวหมัก
ของกินทำจากข้าวเหนียวนึ่งหรือหุงสุกแล้ว หมักกับแป้งหัวเชื้อห่อด้วยใบตองเป็นข้าวหมัก แต่เรียกเพี้ยนเสียงเป็นข้าวหมาก

อุ
เหล้าหมักชนิดหนึ่งใช้ข้าวเหนียวนึ่งผสมแป้งหัวเชื้อใส่ไห โดยมีแกลบอัดกลบไว้ข้างบน
เมื่อจะดูดดื่มต้องใช้น้ำเติมลงไปในไห แล้วใช้หลอดดูดทำจากก้านไผ่เล็กๆ ที่มีปล้องกลวง
อาหารที่ปรุงใส่น้ำแต่น้อย เช่น อุกบ, อุเขียด, อุหน่อไม้ ฯลฯ (คล้ายอ่อม)
อุ แปลว่า โอ่งหรือไหใส่น้ำ

ขนมจ้าง
ขนมจ้างเป็นชื่อคำลาว แต่จีนเรียก บ๊ะจ่าง ทำจากข้าวเหนียว
เดิมเรียก ถ่งจ้ง แปลว่า ขนมจ้างกระบอก คือข้าวหลาม เพราะเอาข้าวเหนียวใส่กระบอกไผ่ย่างไฟให้สุก ยุคต่อมาหลังจากนั้นใช้ใบไผ่ห่อข้าวเหนียวใส่หม้อต้ม

บ๊ะจ่าง ก็คือ ขนมจ้างไส้เค็มมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ
บ๊ะ เป็นภาษาพูดแต้จิ๋ว แปลว่า เนื้อ, จ่าง สำเนียงแต้จิ๋วว่า จั่ง สำเนียงจีนกลางว่า จ้ง แปลว่า ข้าวห่อใบหลู (พืชตระกูลอ้อหน่อไม้น้ำชนิดใบใหญ่ ใช้ห่ออาหารได้)
(จ่าง แปลว่า ถ่าง, กาง จ้าง หมายถึง ชื่อเครื่องมือยิงสัตว์ทำด้วยไม้แก่น แล้วมีสายยิงลูกดอก เรียกหน้าจ้าง หรือ หน้าไม้ คล้ายรูปสามเหลี่ยม)

ประเพณีสารทบ๊ะจ่าง มีกำเนิดจากข้าวเหนียวซึ่งเป็นธัญพืชทางใต้ แล้วแพร่จากภาคใต้ (ลุ่มน้ำแยงซี) ขึ้นไปภาคเหนือ (ลุ่มน้ำฮวงโห)
มีนิทานกำกับว่าเริ่มจากปั้นข้าวเหนียว ใช้เซ่นพลีโยนใส่ปากมังกร (นาค), จระเข้, งู ซึ่งล้วนเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ผู้พิทักษ์แหล่งน้ำ (ในอุษาคเนย์)

ข้าวเหนียว เป็นธัญพืชหลักของจีนภาคใต้ ทางลุ่มน้ำแยงซี
ข้าวฟ่าง เป็นธัญพืชหลักของจีนภาคเหนือ ทางลุ่มน้ำฮวงโห

ขนมเข่ง
ขนมเข่ง มาจากขนมไหว้ตรุษจีน เรียก เหนียนเกา (แปลว่า ขนมประจำปี) ทำด้วยแป้งจากข้าวชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ข้าวฟ่าง

แต่จีนภาคใต้ใช้ข้าวเหนียว (เพราะประชากรดั้งเดิมกินข้าวเหนียว)
เหนียนเกา นึ่งในถาดขนาดใหญ่น้อย โดยยกไหว้ทั้งถาด เมื่อจะกินต้องตัดแบ่งเป็นชิ้น
ครั้นเข้าเมืองไทยก็ดัดแปลงวัสดุใช้ใบตองทำกระทงเป็นเข่งเล็กใส่เหนียนเกาข้าวเหนียวนึ่งออกมาแล้วเรียก ขนมเข่ง
[จากหนังสือ เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้ ของ ถาวร สิกขโกศล สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2557]
จีนภาคใต้ทางลุ่มน้ำแยงซีเกียง มีบรรพชนคนกลุ่มหนึ่ง เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว พูดตระกูลภาษาไทย-ลาว สืบเนื่องถึงทุกวันนี้ ในยูนนาน, กวางสี, กวางตุ้ง และกินข้าวเหนียว ปลูกข้าวเหนียวในชีวิตประจำวัน จึงมีประเพณีสำคัญเกี่ยวข้องกับข้าวเหนียว


ที่มา : หนังสืออาหารไทย มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก