เหตุผลอันน่าหดหู่! ทำไมรถไฟญี่ปุ่นถึงหยุดกะทันหัน?

Human of Office ชีวิตมนุษย์เงินเดือน

คนที่ไปเที่ยวนานๆ หรือใช้ชีวิตยู่ในญี่ปุ่นแล้วใช้บริการรถไฟ อาจมีข้อสงสัยบางอย่างคล้ายกับผมว่า “ทำไมรถไฟต้องหยุดกะทันหัน” แถมหยุดกะทันหันบ่อยๆ เสียด้วย ทั้งๆ ที่ระบบโครงสร้างและวิศวกรรมญี่ปุ่นออกจะเพียบพร้อมอยู่แล้ว

คนไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นอาจจะรู้สึกแค่ว่า น่าจะเกิดเหตุอะไรบางอย่างที่สถานีรถไฟ จึงยืนคอยจนกว่ารถไฟจะใช้การได้ปกติเหมือนเดิม

จากสถิติที่บริษัทรถไฟส่งให้กระทรวงที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค คมนาคมและการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น พบว่า ที่รถไฟต้องหนุดกะทันหันส่วนใหญ่นั้น จริงๆ แล้วเกิดจากเหตุการณ์ที่คนญี่ปุ่นเลือกฆ่าตัวตายบนเส้นทางรถไฟกันนี่แหละครับ บรึ๋ยยย..

ถ้าใครเพิ่งรู้ ก็ต้องขออภัยที่เอามาบอก เพราะมันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่น

ตลอด 3 ปีที่ผมทำงานอยู่ในโตเกียว ผมก็เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ครั้งหนึ่ง ไม่ได้เห็นต่อหน้า แต่เห็นว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น และมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากรีบวิ่งเข้าไปในที่เกิดเหตุจริง เมื่อเรื่องร้ายลักษณะนี้เกิดขึ้น ทางสถานีรถไฟจะประกาศให้คนในสถานีทราบว่า Jin-Shin-Ji-Ko จินชินจิโคะ หรืออุบัติเหตุทางรถไฟที่ทำให้คนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ถ้าคุณยืนอยู่ในสถานี หรือกำลังโดยสารอยู่ในสถานีรถไฟ แล้วอยู่ดีๆ รถไฟหยุดพร้อมมีเสียงประกาศจากนายสถานี จับใจความได้โดยมี 4 คำนี้ จิน-ชิน-จิ-โคะ เท่ากับว่าคุณอยู่ใกล้ๆ เหตุการณ์ครับ

เป็นที่ทราบกันครับว่าในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนคนที่คิดฆ่าตัวตายเยอะ ถ้าพูดถึงเคสคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากรถไฟ 15 สายหลักในมืองมีมากถึง 3,145 เคสใน 10 ปีที่ผ่านมา

แล้วในจำนวนนั้นมีเคสคนพยายามฆ่าตัวตายด้วยรถไฟถึง 1,985 เคสเลยทีเดียว หรือนับเป็น 63% ของทั้งหมด

ร้ายไปกว่านั้น วิธีการของการฆ่าตัวตายด้วยรถไฟส่วนใหญ่คือ “การกระโดดเข้าหารถไฟที่กำลังวิ่งอยู่ครับ”

แล้วสัดส่วนอายุที่กระทำการเช่นนี้มากที่สุดคือ “ชายหรือหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี”

โอ้ววว น้องเอ๋ย ชีวิตยังมีทางให้เดินต่ออีกมาก ทำไมถึงคิดสั้นขนาดนั้นล่ะ

แล้วเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดบ่อย ราวๆ ช่วงเปิดเรียนใหม่ๆ หลังจากมีช่วงหยุดปิดเทอมเป็นเวลานานครับ

ทางด้านผู้ใหญ่ที่กระทำการเช่นนี้ ส่วนใหญ่คือเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ถูกใช้งานหนักจากบริษัทหน้าเลือด แล้วเกิดความเครียดสุมอยู่ในอก หาทางออกไม่ได้จนต้องจบชีวิตลงแบบนั้น

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทางประเทศญี่ปุ่นเองก็พยายามแก้ไขปัญหานี้ ทางสถานีรถไฟเองก็พยายามเลือกใช้ชานชาลาระบบปิด มีประตูเลื่อนปิดอัตโนมัติขณะรถไฟเทียบจอดชานชาลา แล้วค่อยเปิดประตูให้ผู้โดยสารเดินเข้าประตูรถไฟ (คือเราจะกระโดดไปที่รางตามอำเภอใจไม่ได้แล้ว ค้ายๆ รถไฟฟ้า MRT บ้านเรา)

ส่วนฝั่งบริษัทและองค์กรต่างๆ ก็พยายามหาโอกาสให้พนักงานได้หยุดหรือลางานได้มากขึ้น ไม่ต้องคอยเกรงอกเกรงใจสายตาคนรอบข้างที่จะหาว่าเราไม่มุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน

สุดท้ายนี้ต้องบอกว่า เราคนไทยโชคดีที่มีที่พึ่งทางจิตใจค่อนข้างมาก มีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ในขณะที่คนญี่ปุ่นจำนวนมากไม่ได้ยึดถืออะไรเหมือนคนไทยเรา นอกจากการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก พอพวกเขามีปัญหาสภาพจิตใจขึ้นมา ไม่มีใครให้ปรึกษา จึงตัดสินใจลงเอยในลักษณะนั้น

เรื่องนี้อยากบอกอะไร?

ผมอยากจะสื่อสารให้ทุกคนรู้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม จะทำอะไรอยู่ ขอให้คุณค้นหา “คุณค่า” ของตัวคุณเอง

คุณค่าของตัวเราไม่ต้องยิ่งใหญ่นัก อาจเกิดจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อะไรก็ได้ที่ทำได้ทำเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อสังคมหรือเพื่อประเทศชาติครับ

ทุกชีวิตมีค่ามากเกินกว่าจะบรรยายด้วยตัวอักษร

หมายเหตุ : สาเหตุของการฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดเข้าหารถไฟของคนทำงาน (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการของญ่ปุ่นในปี 2016)

อันดับ 1 ปัญหาโรคซึมเศร้า
อันดับ 2 ปัญหาโรคจิตเภท มีความผิดปกติของความคิด
อันดับ 3 ปัญหาความเจ็บป่วยทางร่างกาย
อันดับ 4 โรคทางจิตเวชอื่นๆ
อันดับ 5 ปัญหาความขัดสนในชีวิตประจำวัน
อันดับ 6 ปัญหาความสัมพันธ์คู่สามีภรรยาไม่ดี
อันดับ7 ปัญหาความสัมพันธ์กับคนที่ทำงาน
อันดับ 12 เหนื่อยจากงาน
อันดับ 26 ทำงานล้มเหลว
อันดับ 34 ปัญหาการเลี้ยงลูก
อันดับ 49 เป็นผู้เสียหายจากเหตุอาชญากรรม


ที่มา หนังสือ JAPAN DARK SIDE ถึงร้ายก็รัก โดย บูม-ภัทรพล เหลือบุญชู สนพ.มติชน