Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เครื่องทองโบราณ เครื่องประดับของไทย

อาจจะแยกกันลำบากสักหน่อยกับ “เครื่องทองโบราณ” ของไทย และ “เครื่องประดับทอง”ของไทย เฉียดกันแค่เส้นยาแดงผ่าแปด จะอย่างไรก็ตาม หากจะอธิบายสามารถแบ่งได้ ว่า เครื่องประดับไทยแต่เดิมมีคำศัพท์อยู่ 2 คำ คือ “ศิราภรณ์” หมายถึงเครื่องประดับศีรษะ และ “ถนิมพิมพาภรณ์” หมายถึง เครื่องประดับกาย ปัจจุบันเรียกรวมกันว่า เครื่องประดับ ผลิตจากวัสดุมีค่า เช่น ทองคำ อัญมณี ที่มีความสวยงามและแสดงถึงทักษะฝีมืออันประณีต รวมทั้งแสดงออกในคติความเชื่อ และความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย หรือสถานภาพของผู้สวมใส่ เช่น เป็นกษัตริย์ พระราชวงศ์ ขุนนางชั้นสูง หรือสามัญชน

อาจจะไม่ค่อยรู้กันว่าเครื่องประดับบางอย่าง ในกฎมณเฑียรบาลจะระบุไว้ว่าสามัญชนไม่สามารถสวมใส่ได้

เครื่องประดับไทยมีความต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์

ในยุคสุโขทัยนั้น พออนุมานได้ว่าเครื่องประดับในสมัยสุโขทัยมีที่มาจากศิลปะของชาวไทยพื้นเมือง ผสมผสานกับศิลปะขอมในสมัยละโว้ และศิลปะของมอญ สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง โดยสรุปอย่างคร่าวๆ ได้ 3 รูปแบบ คือ 1.เครื่องประดับของเทวรูปจากอิทธิพลศาสนาพราหมณ์ การสร้างเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ มีเครื่องประดับตกแต่ง อาทิ มงกุฎ เทริด กรองศอหรือสร้อยคอ ที่ทำเป็นรูปแบบเรียบง่ายในระยะแรก ต่อมามีการตกแต่งลวดลายให้วิจิตรงดงามมากขึ้น พาหุรัด หรือกำไลต้นแขน ที่เลียนแบบมาจากกรองศอ และมีกุณฑลหรือตุ้มหู ที่ทำเป็นแบบลูกตุ้มถ่วงไว้ที่ปลายใบหู

2.เครื่องประดับของเทวดา กษัตริย์ บุคคลชั้นสูง มีมงกุฎ ชฎา และเทริด เป็นเครื่องประดับศีรษะ โดยมีกะบังหน้าซึ่งเป็นส่วนที่อยู่บริเวณกรอบหน้า และมีกรรเจียกจอน อยู่ติดส่วนล่างของกะบังหน้า ตรงบริเวณด้านหลังใบหู หากเป็นสตรีจะมีรัดเกล้า

ซึ่งเป็นเครื่องประดับส่วนบนของศีรษะ มีสองแบบคือรัดเกล้ายอด ปลายยอดทรงกรวยแหลม และรัดเกล้าเปลว มียอดปักช่อกระหนกเปลว นอกจากนี้ก็มีกรองศอ พาหุรัด กุณฑล ทองกร ธำมรงค์ โดยทองกรนั้นทำเป็นแหวนเกลี้ยง 3-4 วง สวมใส่ไว้ที่ต้นแขน หรือข้อมือ 3.เครื่องประดับของสามัญชนได้แก่ พ่อค้า ชาวบ้าน หลักฐานการใช้เครื่องประดับที่พบมีเพียงแค่ต่างหู เช่น บนจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย

ส่วนสมัยอยุธยา มีการแบ่งเครื่องประดับออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.เครื่องประดับสำหรับกษัตริย์ มเหสี พระราชวงศ์ และขุนนางในราชสำนัก ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีเครื่องประดับที่ดูสง่างาม โดยเฉพาะเวลามีพระราชพิธี หรือเสด็จออกขุนนาง เครื่องประดับต่างๆ มักสร้างขึ้นโดยเลียนแบบเครื่องประดับที่มีมาก่อนหน้านั้น ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ในสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลาย มีการติดต่อค้าขายกับชาวเปอร์เซีย และชาวตะวันตกมากขึ้น จึงนำวัสดุและวิธีการทำเครื่องประดับของชาวต่างชาติเข้ามาผสมผสานกับการทำเครื่องประดับของไทย ให้แปลกใหม่ออกไปกว่าเดิม เครื่องประดับเช่นนี้ ได้แก่ มงกุฎ และชฎา เป็นเครื่องประดับประเภทศิราภรณ์ ใช้สำหรับกษัตริย์และมเหสี หากมียอดแหลมตรงขึ้นไป เรียกว่า “มงกุฎ” หากมียอดหลายยอดปัดไปทางด้านหลัง โดยแยกเป็นหาง ไหลออกไปหลายหาง เรียกว่า “ชฎา”

เทริด เป็นศิราภรณ์สำหรับกษัตริย์ หรือพระราชวงศ์ และเทวรูป มีรูปเป็นมงกุฎทรงเตี้ย เกี้ยว มีลักษณะเป็นวงคล้ายกับพวงมาลัย ใช้สำหรับรัดผมหรือรัดจุก กุณฑล คือ ตุ้มหู หรือต่างหู สังวาล หรือ “สร้อยเฉวียงพระองค์” เป็นสร้อยที่คล้องลงมาจากบ่าทั้งสองข้าง สร้อยพระศอ กำไลต้นแขน หรือ พาหุรัด กำไลข้อมือ “ทองพระกร” หรือ “ทองกร” กำไลข้อเท้า ราชาศัพท์เรียกว่า “ทองพระบาท” เป็นกำไลสวมที่ข้อเท้า นิยมใส่เฉพาะสตรี แหวน ราชาศัพท์เรียกว่า “พระธำมรงค์” หรือ “ธำมรงค์”

2.เครื่องประดับสำหรับสามัญชนในสมัยอยุธยา นิยมใส่แหวนไว้ที่นิ้วกลาง นิ้วนาง หรือนิ้วก้อย โดยอนุญาตให้ใส่ได้มากเท่าที่จะใส่ได้ ผู้หญิงนิยมใส่ต่างหู แต่ผู้ชายไม่นิยม ต่างหูมักทำด้วยทองคำ เงิน หรือเงินกะไหล่ทอง ลูกคนมีฐานะดีนิยมสวมกำไลข้อมือจนมีอายุ ๖ – ๗ ขวบ โดยอาจสวมกำไลต้นแขนและกำไลข้อเท้าด้วย ลูกสาวของขุนนางนิยมสวมรัดเกล้าทองคำในพิธีแต่งงานของตน

ในสมัยสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 ยังใช้เครื่องประดับที่สืบต่อมาจากสมัยอยุธยาทั้งหมด จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 การใช้เครื่องประดับเริ่มเปลี่ยนแปลง เพราะสมัยนี้มีการติดต่อกับต่างชาติมากขึ้น ที่สำคัญคือมีพระราชดำริให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบ ในการปฏิบัติราชการแก่พระราชวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสยุโรป ทำให้มีการใช้เครื่องประดับตามอย่างชาวตะวันตกมากขึ้น เช่น เข็มกลัดติดเสื้อ การประดับเครื่องแบบด้วยเครื่องหมายของหน่วยงาน การจัดทำเหรียญที่ระลึกในโอกาสต่างๆ

การจัดทำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เมื่อแรกเริ่มนั้น มีแค่ดวงตราสำหรับติดเสื้อ เรียกกันว่า “ตรา” และยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ใช้ว่า “เครื่องราชอิสริยยศ” หมายถึง เครื่องประดับของพระมหากษัตริย์ และ “เครื่องสำคัญยศ” หมายถึง เครื่องประดับสำหรับขุนนาง จนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้น ใน พ.ศ. 2432 คำว่า “เครื่องราชอิสริยาภรณ์” จึงเริ่มใช้กันอย่างเป็นทางการนับแต่นั้นมา