Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

2 สวนไม้ผลเศรษฐกิจ จันทบุรี-ตราด ก่อนตะลุยชิม&ช็อป

สภาพอากาศที่ร้อนจัดมากยิ่งขึ้นทุกปี ย่อมน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับเมืองผลไม้อย่างจังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง โดยเฉพาะ “จันทบุรี” ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหานครแห่งผลไม้ เพราะบริเวณย่านเหล่านี้เป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ชั้นดี คุณภาพสดใหม่ มีรสชาติอร่อย ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง

ทุกๆ ปีระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ก็มีการจัดงานเทศกาลบุฟเฟต์ผลไม้ เชิญชวนนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกภูมิภาคมาเที่ยวชมและชิมผลไม้ที่มีอย่างมากมายถึงในสวน สามารถเลือกเด็ด เลือกสอยกันได้ตามใจชอบ แต่สำหรับปีนี้ ด้วยสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน และอุณหภูมิที่ร้อนจัดยิ่งขึ้น อาจส่งผลต่อการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตปีนี้อาจลดน้อยลงกว่าทุกปี เลยต้องมาลุ้นกันว่าผลไม้จันทบุรี ตราด ปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชาและราชินีแห่งผลไม้ คือ ทุเรียนและมังคุด จะเป็นเช่นไร

เพื่อเป็นการลงพื้นที่ไปสัมผัสด้วยตนเอง แบบสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ “มติชนอคาเดมี” และ “นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน” ในสังกัดบริษัทมติชน จำกัด(มหาชน) เปิดซิงฤดูกาลผลไม้ก่อนใคร ด้วยการนำทัวร์ผู้สนใจเรื่องราวของผลไม้ ทั้งชาวสวน คนที่อยากเป็นชาวสวนก็ดี หรือนักกินนักชิมทั้งหลาย รวมไปถึงนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลธรรมชาติ ได้ลงพื้นที่ไปกินผลไม้ถึงสวนก่อนใคร เป็นสวนที่คัดสรร เน้นเรื่องคุณภาพและรสชาติเป็นหลัก เหนืออื่นใด ยังได้ความรู้ในการทำสวน เพาะปลูก ขยายพันธุ์ ผลไม้ราคาดีอย่าง”ทุเรียน” และ “ส้มโอทับทิมสยาม” ที่กำลังมาแรงในจันทบุรีปัจจุบัน เพื่อเป็นอีกทางเลือกของการดำเนินชีวิตในอนาคต

สำหรับสวนทุเรียนแล้ว ปีนี้ไม่มีใครเด่นดังไปกว่าสวนของ “ไพฑูรย์ วานิชศรี” เจ้าของสวนไพฑูรย์ เกษตรกรวัย 58 ปี แห่ง ต.ทุ่งนนทรี อ.เขาสมิง จ.ตราด ไพฑูรย์เรียนจบปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตัดสินใจวางมือจากหมอความมาเป็นชาวสวน เพราะไม่เห็นอนาคตจากการเป็นพนักงานบริษัทเอกชน เขาจึงกลับหลังหันสู่อาชีพพื้นฐานคือเป็นเกษตรกร ยึดการปลูกทุเรียนเป็นอาชีพหลัก ปัจจุบันมีสวนทุเรียนที่ อ.เขาสมิง จ.ตราด

สวนของไพฑูรย์ติดอันดับความอร่อยและได้มาตรฐานการส่งออกทุเรียนทุกปี และที่สำคัญตัวไพฑูรย์เองได้รับความไว้วางใจจากเจ้าสัวคนดังเมืองไทยหลายคน ไม่ว่าจะเป็นธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี หรือเจ้าสัวค่ายจิราธิวัฒน์ ให้เป็นผู้คัดเลือกทุเรียนส่งไปให้

สวนของไพฑูรย์ มีเนื้อที่ราว 300 ไร่ ขนาบสองฝั่งแม่น้ำเขาสมิง ต.ทุ่งนนทรี อ.เขาสมิง จ.ตราด เป็นแหล่งปลูกทุเรียนเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน 100 % มีพันธุ์หมอนทองชะนี เป็นหลัก ตามด้วยพันธุ์ที่ทำราคาอย่างพวงมณี สวนแห่งนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น จึงถือว่าเป็นสวนทุเรียนเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งใน จ.ตราด ทุเรียนบางต้นอายุกว่า 30 ปี ขณะเดียวกันเขาได้ซื้อหาเนื้อที่เพิ่มเติมและขยายการทำสวนทุเรียนออกไปอีกหลายไร่

“ทุเรียนที่สวนมีประมาณ 1,500 ต้น ให้ผลผลิตปีละ 200 ตัน ส่วนลองกองเป็นพันธุ์ตันหยงมัส มาจาก อ.ตันหยงมัส จ.นราธิวาส มีอยู่ประมาณ 1,000 ต้น มังคุดอีก 700 ต้น เงาะอีกจำนวนหนึ่ง ทุเรียนจะมีหมอนทองเป็นหลัก ส่วนพวงมณีเป็นสายพันธุ์ของเมืองจันท์เองหาชิมได้ยากพอสมควร สำหรับหมอนทองแล้วถือว่าสุดยอดของทุเรียนที่ส่งไปประเทศจีนเลยทีเดียว”ไพฑูรย์แจงรายละเอียดอย่างเป็นกันเอง และบอกด้วยว่าผลไม้ของสวนแห่งนี้เป็นสวนผลไม้ปลอดสารพิษ และสวนผลไม้เพื่อส่งออก

เขาบอกอีกว่าราคาผลไม้ในปีนี้อาจมีขยับขึ้นมาบ้าง คาดว่าเป็นเพราะผลผลิตจะออกมาน้อย เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด หมอนทองอาจจะขึ้นไปอยู่ที่กิโลละเกือบ 200 บาท มังคุดช่วงต้นฤดูราว 60 บาทต่อกิโล อย่างไรก็ดี สวนไพฑูรย์ไม่ได้ขายผลไม้อย่างเดียว แต่ยังเป็นสวนสำหรับเรียนรู้การปลูกทุเรียน ทั้งขยายพันธุ์ เสียบยอด ต่อกิ่ง และยังนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่มาใช้ในการสร้างพันธุ์ทุเรียนที่ต้านทานโรคด้วย สิ่งที่กำลังเร่งทำอยู่เวลานี้คือ การบุกเบิกการปลูกทุเรียนในโรงเรือน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถควบคุมเวลาการผลิตทุเรียน ทำให้มีผลผลิตได้ทั้งปี ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จ จะเป็นการสร้างรายได้หมุนเวียนให้แก่ผู้ปลูกทุเรียนตลอดทั้งปี จากเดิมที่จำกัดเฉพาะช่วงฤดูกาลเท่านั้น

กำนันประยุทธ์ พานทอง

กกลับไปบนเส้นทางจันทบุรี-แกลง จ.ระยอง มุ่งหน้าไปยังสวนส้มโอทับทิมสยาม “สวนกำนันประยุทธ์ พานทอง” เป็นกำนันที่ประกาศตัวว่าจบการศึกษาแค่ชั้นประถมปีที่ 4 แต่ปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจผลไม้หลายร้อยล้าน มีเนื้อที่สวนปัจจุบันเป็นพันไร่ ชายวัยห้าสิบอัพ ผิวสีเข้มคร้ามแดด พูดเสียงดังฟังสำเนียงแบบชาวระยอง เล่าเรื่องของตัวเองว่าแต่เดิมครอบครัวอาศัยอยู่ ต.พังราด อ.แกลง จ.ระยอง พ่อแม่มีอาชีพทำนา มีทำสวนบ้างเล็กน้อย แต่เพราะมีลูกถึง 6 คน ในฐานะพี่ชายคนโต หลังเลิกเรียนจึงตั้งหน้าตั้งตาช่วยพ่อแม่ทำงาน หนักเอาเบาสู้ทุกอย่าง เลยต้องหยุดการเรียนแค่ชั้น ป.4

จากที่ดินสินเดิมที่มีไม่มากนัก กำนันประยุทธ์ช่วยพ่อแม่เก็บเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 40 ไร่ แต่ไปๆมาๆ เห็นว่าการทำนายากที่จะลืมตาอ้าปากได้ จึงหันเหมาทำอาชีพเลี้ยงตะพาบน้ำขาย โดยส่วนใหญ่ส่งไปขายที่ไต้หวัน ช่วงเวลาผ่านไปไม่กี่ปีก็มีเงินสามารถซื้อที่ดินเพิ่มครั้งละ 10-20 ไร่ ขยายจำนวนไปเรื่อยๆ เพราะราคาที่ดินสมัยก่อนไม่แพงอย่างปัจจุบัน หลังจากนั้นหลายปีความนิยมตะพาบน้ำจากต่างแดนลดลง จึงต้องหยุดเลี้ยงตะพาบน้ำ แต่ทรัพย์สินที่เป็นที่ดินและรถขุดต่างๆ ยังอยู่ จึงเกิดความคิดเริ่มมาทำสวนทุเรียน “.. พ่อปลูกทุเรียนสัก 50 ต้นได้ให้ลูกๆ เรียนรู้การทำสวน กระทั่งผมมาทำเป็นเรื่องเป็นราว ตอนนี้ปลูกหมอนทองไปแล้ว 10,000 ต้น มีพันธุ์อื่นๆ บ้าง แต่ไม่มาก ปลูกไว้กินและไว้ศึกษาเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ”

กำนันบอกว่าตนเองเป็นคนชอบคิดทำโน่นทำนี่ ในที่สุดจากที่ปลูกทุเรียนก็เริ่มมองเห็นพืชตัวใหม่ที่ทำราคาได้อย่างงาม คือ “ส้มโอทับทิมสยาม” เริ่มปลูกมาได้หลายปีแล้ว ต้นกำลังจะเริ่มให้ผลผลิต “ผมมองว่าพื้นที่ส่วนหนึ่งบริเวณนี้เป็นที่ลุ่ม น้ำกร่อย เหมือนที่ อ.ปากพนัง นครศรีธรรมราช ก็คาดว่าจะสามารถปลูกส้มโอได้ผลดี…”

ส้มโอ เป็นไม้ผลเศรษฐกิจสามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย อีกทั้งมีรสชาติดีและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ปลูกได้ทั้งเพื่อบริโภคและการค้า แต่ส่วนมากนิยมปลูกเพื่อการค้าเพราะได้ราคาดี ส้มโอมีประโยชน์ คือนอกจากบริโภคเนื้อแล้ว เปลือกของส้มโอยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นเปลือกส้มโอเชื่อม และเปลือกส้มโอแช่อิ่มได้อีกด้วย สำหรับส้มโอพันธุ์ “ทับทิมสยาม” หรือ “ส้มโอแดงสยาม”

เล่ากันว่าเมื่อปี 2523 นายสมหวัง มันแหละ อยู่บ้านแสงวิมาน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ได้ซื้อกิ่งส้มโอพันธุ์พื้นเมืองจาก อ. ยะรัง จ.ปัตตานี ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ส้มโอสีชมพู” เพราะเนื้อในเป็นสีชมพู แต่รสชาติขม ไม่นิยมรับประทาน ไปทดลองปลูกที่บ้าน ปรากฏว่าเมื่อติดผลและนำมารับประทาน เนื้อกลับมีรสชาติหวานขึ้น แต่ยังมีรสขมปนอยู่ จึงใช้วิธีปรับปรุงพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งแบบต่อเนื่องหลายๆรุ่น ทำให้รสขมหายไป เหลือเพียงรสหวานอย่างเดียว สีสันของเนื้อส้มโอก็เป็นสีแดงเข้มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย เจ้าของเลยตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ส้มโอทับทิมสยาม” พร้อมขยายพันธุ์ ปลูกเก็บผลขายได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ปัจจุบันส้มโอทับทิมสยามเพิ่มความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และขายได้ราคาดี ราคาขายส่งจากสวนอยู่ที่ผลละ 150-300 บาท ราคาขายปลีกอยู่ที่ ผลละ 300-500 บาท เกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคาเอง ส่วนที่ตลาด อ.ต.ก. กรุงเทพฯ ราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัวอยู่ที่ ผลละ 700-800 บาท ดังนั้น หากใครคิดอยากจะเป้นเจ้าของสวนส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม หากมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการสวนอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ส่งผลต่อราคาขายทำให้สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ทัวร์ ตะลุยสวน!!! ชวนชิม & ช็อปผลไม้ จันทบุรี-ตราด จ.จันทบุรี-ตราด

กำหนดเดินทาง 11-12 พฤษภาคม 2562 นำชมและบรรยายโดย อ.ประเวศ แสงเพชร ราคา 5,900 บาท

คลิกอ่านโปรแกรมเดินทางได้ที่ https://bit.ly/2uSQaGa

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand

หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105    line : @matichon-tour คลิก http://line.me/ti/p/%40matichon-tour