Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

“โกษาปานและจานพระเจ้าหลุยส์” เรื่องน่ารู้ที่ไม่อยู่ใน “บุพเพสันนิวาส”

ในงานประมูลเครื่องแก้วที่สำนักโซเธอบีส์ (Sotheby’s) กรุงลอนดอน เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๗ รายการลำดับที่ ๑๖๒ เป็นที่จับตาของบรรดาภัณฑารักษ์และนักสะสม เพราะเป็นจานลายครามหายาก ผลงานชิ้นโบแดงของแบรนาร์ด แปร์โรท์ (Bernard Perrot) ช่างหลอมแแก้วนามอุโฆษชาวฝรั่งเศส จานใบดังกล่าวเป็นจานเคลือบสี ลักษณะกลมรี กว้าง ๒๙.๕ ซม. สูง ๓๖.๕ ซม. บนจานแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส (ต่อไปเรียกโดยย่อว่า ‘จานพระเจ้าหลุยส์’) สันนิษฐานว่าทำขึ้นราวปี ๒๒๒๘ จานพระเจ้าหลุยส์โดยแปร์โรท์มีปรากฏหลงเหลือหลักฐานอยู่เพียง ๘ ใบในโลก การประมูลครั้งนั้นจึงได้รับความสนใจอย่างสูง

ที่น่าสนใจ จานใบนี้อาจเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่ทำให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยาที่พร่องนั้นสมบูรณ์ขึ้น ก่อนจะไขปริศนาว่าจานใบนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อยุธยาอย่างไร ผมขอกล่าวโดยย่อถึงประวัติและผลงานของท่านผู้นี้

แบรนาร์ด แปร์โรท์ เกิดที่เมืองบอร์มิดา ใกล้แคว้นอัลแตร์ (Bormida, Altare) ประเทศอิตาลี เมื่อปี ๒๑๖๑ ต่อมาได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่ประเทศฝรั่งเศส และก่อตั้งโรงหลอมแก้วที่เมืองออร์เลองส์ (Orleans) ราว ๑๐๐ กม.ใต้กรุงปารีส แปร์โรท์ได้บุกเบิกคิดค้นกรรมวิธีหลอมแก้วให้เป็นรูปทรงต่างๆ การคิดค้นที่สำคัญคือวิธีหลอมแก้วเพื่อทำรูปแกะสลัก เหรียญ และจานที่ระลึก ผลงานชิ้นเอกของเขาคือจานพระเจ้าหลุยส์

แต่น่าเสียดายว่าผลงานชิ้นเอกของเขาสูญหายไปแทบหมดสิ้น จานพระเจ้าหลุยส์ที่เหลืออยู่นั้น ส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ในฝรั่งเศส อาทิ พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Musee du Louvre) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งแคว้นออร์เลองส์ (Musee Historique de l’Orleanais) และโรงผลิตแก้วกองปาญญี แซงท์ โกแบ็ง (Compagnie Saint-Gobain) มีเก็บรักษาไว้นอกฝรั่งเศสเพียงใบเดียว ที่พิพิธภัณฑ์เครื่องแก้วคอร์นิง (Corning Museum of Glass) เมืองคอร์นิง มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ ห้องโถงที่โอ่อ่าของสำนักประมูลโซเธอบีส์จึงเนืองแน่นไปด้วยภัณฑารักษ์และนักสะสมกระเป๋าหนัก

ก่อนการประมูล โซเธอบีส์ได้สร้างความฮือฮาด้วยการเผยโฉมฐานไม้สำหรับรองจานที่ทำขึ้นภายหลัง ประดับลวดลายแกะสลัก “มังกรและราชินีพระสมุทร” ซึ่งโซเธอบีส์สันนิษฐานว่าอาจเป็นตราหรือสัญลักษณ์แห่งพระเจ้ากรุงสยาม ข้อสังเกตอีกประการคือ การเคลือบสีจานมีกลิ่นอายตะวันออก คาดว่าทำขึ้นภายหลังที่จานถูกนำออกจากฝรั่งเศส โดยช่างที่ไม่คุ้นเคยกับศิลปวิทยาการของตะวันตก อนึ่ง จานพระเจ้าหลุยส์ที่ปรากฏหลักฐาน มีเพียงใบเดียวที่เคลือบสี แต่ก็เพียงเล็กน้อย ไม่แต้มสีฉูดฉาดเหมือนใบนี้

ผู้เชี่ยวชาญจากโซเธอบีส์ลงความเห็นว่าจานใบนี้มีลักษณะ “แปลก” ด้วยรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันตกและตะวันออก แต่ยืนยันว่าเป็นผลงานของแปร์โรท์ และที่น่าพิศวงคือที่มาของจานใบนี้ เมื่อเจ้าของผู้นำจานออกประมูลเปิดเผยว่า บิดาของเขาได้นำออกจากประเทศจีนช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐

จานแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส (เครดิตภาพ : Corning Museum of Glass พิพิธภัณฑ์เครื่องแก้วคอร์นิง สหรัฐอเมริกา)

จากข้อมูลดังกล่าว โซเธอบีส์สันนิษฐานว่าจานใบนี้น่าจะเป็นเครื่องบรรณาการที่แปร์โรท์มอบให้โกษาปาน (ออกพระวิสุทสุนทร) ราชทูตสยามที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสเมื่อปี ๒๒๒๙ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ข้อสันนิษฐานนี้ส่งผลให้โซเธอบีส์ปรับราคาประเมินสูงขึ้น และในที่สุด พิพิธภัณฑ์เครื่องแก้วคอร์นิงในสหรัฐอเมริกาชนะประมูลไปด้วยราคา ๔๐,๐๐๐ ปอนด์ บวกค่าธรรมเนียม ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เป็น ๔๘,๐๐๐ ปอนด์ หรือราว ๓,๖๐๐,๐๐๐ บาท (อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น)

นายเดวิด ไวท์เฮาส์ (David Whitehouse) ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์คอร์นิง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประมูลว่า เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้จานใบนี้ มันเป็นประจักษ์พยานที่น่าอัศจรรย์ของการพบกันระหว่างตะวันตกและตะวันออกในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗” หนังสือพิมพ์แอนติกส์ เทรด แกเซ็ท (Antiques Trade Gazette) ประโคมข่าวด้วยการพาดหัว “ความเกี่ยวข้องกับสยามส่งผลให้จานลายครามหายากมีราคาสูงถึง ๔๐,๐๐๐ ปอนด์” จะเห็นว่าแม้ราคาสูงลิ่วเพียงใด ก็หาใช่ปัญหาสำหรับผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของจานใบนี้ ทั้งในเชิงบันทึกประวัติศาสตร์และคุณค่าทางศิลปะ

ภายหลังได้อ่านรายงานข่าว ผมรู้สึกทึ่งกับเรื่องราวความเป็นมาของจานใบนี้ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะถามตัวเอง

เชื่อได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หรือว่าแปร์โรท์มอบจานใบนี้ให้ราชทูตโกษาปานเพื่อนำไปถวายสมเด็จพระนารายณ์ฯ” แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นจริง “จานใบนี้ไปอยู่ที่ประเทศจีนได้อย่างไร”

ก่อนอื่น ผมขอตอบข้อสงสัยว่าข้อสันนิษฐานของโซเธอบีส์เชื่อถือได้เพียงใด

ขณะนี้เป็นที่เชื่อว่าแปร์โรท์มอบจานใบนี้ให้แก่ราชทูตสยามเมื่อครั้งเยือนฝรั่งเศสปี ๒๒๒๙ ผู้จัดประมูล (โซเธอบีส์) เห็นว่าข้อมูลใหม่มีน้ำหนัก จึงปรับราคาประเมินขึ้นจาก ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ ปอนด์ เป็น ๔๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ปอนด์”

ข่าวการประมูลจานพระเจ้าหลุยส์ จากหนังสือพิมพ์ “แอนติกส์ เทรด กาเซ็ท”, ๒๑ สิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๔

บางท่านอาจคิดว่าโซเธอบีส์ไม่ได้วิเศษอะไร เป็นเพียงสำนักประมูลที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียม เขาอาจกุข่าวขึ้นเพื่อใช้อ้างในการปรับราคาประเมิน แต่ผมไม่คิดเช่นนั้นเพราะได้ไม่คุ้มเสีย จานพระเจ้าหลุยส์ที่เคาะไปในราคา ๔๐,๐๐๐ ปอนด์ ถือเป็นมูลค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรายได้จากการประมูลหลายร้อยล้านปอนด์ในแต่ละปี ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นว่าโซเธอบีส์คงไม่ด่วนสรุปโดยปราศจากหลักฐาน

และหากจานใบนี้ไม่เคยอยู่ในครอบครองของโกษาปานและราชสำนักสยาม ทำไมพิพิธภัณฑ์คอร์นิง พิพิธภัณฑ์เครื่องแก้วชั้นนำของโลก ยอมทุ่มเงินกว่า ๓ ล้านบาท เพื่อจานเก่าๆ หน้าตามอมแมม และถ้าไม่ใช่ ทำไมสื่อชั้นนำในแวดวงนักค้าของเก่าเมืองผู้ดี ซึ่งนานทีจะลงเรื่องเกี่ยวกับบ้านเรา ถึงได้ประโคมข่าวใหญ่โต

มีหลักฐานไหมว่าแปร์โรท์เคยพบโกษาปานที่ฝรั่งเศส?

ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ชาวฝรั่งเศสสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสยามเป็นอย่างมาก หนังสือ ภาพพิมพ์ และแผนที่สยาม ขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำ ทั้งยังมีวารสารจดหมายข่าวหลายฉบับที่นำเสนอข่าวคราวจากสยาม ในระหว่างที่โกษาปานอยู่ฝรั่งเศส เดอ วิเซ (Doneau de Vise) บรรณาธิการวารสารแมรกูร กาลังต์ (Mercure galant) ได้ทยอยตีพิมพ์บันทึกการเยือนของโกษาปาน ในบันทึกนี้ เดอ วิเซ ได้กล่าวถึงการเยือนโรงหลอมแก้วของแปร์โรท์ที่ออร์เลองส์

ในวันที่มงเซียร์ฮูแบงมาทำการทดลองให้ท่านราชทูตดูนั้น เผอิญมาดามแปร์โรต์ ภรรยาของนายช่างหลอมแก้วที่โรงหลอมแก้วและเครื่องลายครามต่างๆ ที่เมืองออร์เลอังส์ ได้มาพร้อมกันกับมงเซียร์ฮูแบงที่สถานทูตนั้นด้วย และท่านอัครราชทูตเมื่อได้แลเห็นนางคนนั้น ท่านก็จำได้ทันที เพราะตอนเมื่อท่านได้ผ่านเมืองออร์เลอังส์ก่อน และเจ้าเมืองออร์เลอังส์ได้พาท่านไปชมโรงลายคราม และโรงหลอมแก้วซึ่งสามีของนางแปร์โรต์นั้นเป็นเจ้าของ…”

ไมเคิล สมิธีส์ (Michael Smithies) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศส ยืนยันในบทความ “การเยือนฝรั่งเศสของราชทูตสยาม ปี ค.ศ. ๑๖๘๖-๑๖๘๗” ว่าโกษาปานได้เยือนโรงหลอมแก้วของแปร์โรท์เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๒๒๙ เป็นไปได้ไหมที่ระหว่างเยือน แปร์โรท์ได้มอบจานใบนี้ให้โกษาปานเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์ฯ

น่าสนใจว่าโกษาปานใช้เวลาที่เมืองออร์เลองส์เพียงไม่กี่ชั่วโมง ทำไมเขาเจียดเวลาอันจำกัดไปเยือนโรงหลอมแก้วของแปร์โรท์

คำตอบอยู่ในหนังสือ “ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสสมัยอยุธยา” โดยพลับพลึง มูลศิลป์ ซึ่งระบุว่าสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงโปรดปรานเครื่องแก้วจากฝรั่งเศส และในภาคผนวกท้ายเล่ม “บัญชีรายละเอียดต่างๆ ที่พระเจ้ากรุงสยามได้มีรับสั่งให้ราชทูตสยามไปจัดทำหรือซื้อที่เมืองฝรั่งเศส” จะพบว่าเป็นรายการเครื่องแก้วมากกว่าสามหมื่นชิ้น! ลองพิจารณาว่าแปร์โรท์เป็นช่างหลอมแก้วที่มาชื่อเสียงที่สุดในขณะนั่น โกษาปาน ผู้ได้รับคำสั่งให้จัดหาเครื่องแก้วคุณภาพดีจำนวนมาก จะได้รับคำแนะนำให้ติดต่อกับใคร

พลับพลึงยังกล่าวเสริมว่า สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงโปรดปรานเครื่องกระจกที่มีภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ทั้งหมดนี้จึงเชื่อมโยงมาถึงโกษาปาน ซึ่งเชื่อว่าได้ซื้อหรือรับมอบจานพระเจ้าหลุยส์จากแปร์โรท์ส่วนจะใช่จานใบที่นำออกประมูลหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ถ้าจานพระเจ้าหลุยส์เคยอยู่ในสยามจริง แล้วพบที่ประเทศจีนได้อย่างไร ทำไมไม่ถูกทำลายหลังสมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต?

ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เกิดกระแสเกลียดชังฝรั่งเศสอย่างรุนแรงในสยาม ภายหลังที่พระองค์สวรรคต ชาวฝรั่งเศสถูกขับไล่ออกจากสยาม สิ่งของที่มีต้นกำเนิดจากฝรั่งเศสถูกทำลายแทบหมดสิ้น ในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีรายงานว่าสิ่งของหรือภาพฝรั่งที่หลงเหลืออยู่ ได้ถูกเผาทำลายไปเสียพร้อมกัน รวมถึงพระบรมสาทิสลักษณ์แห่งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แล้วจานใบนี้รอดพ้นได้อย่างไร

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจว่า แม้ชาวฝรั่งเศสได้ถูกขับไล่ออกไป แต่ฝรั่งชาติอื่นๆ ก็ยังสามารถอาศัยอยู่ในสยาม แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) ชาวเยอรมันที่เข้ามาสยามช่วงต้นสมัยสมเด็จพระเพทราชา บันทึกในจดหมายเหตุว่า เขาได้เห็นแผนที่ฝรั่งและภาพเขียนพระบรมวงศานุวงศ์ของฝรั่งเศสแขวนอยู่ที่ผนังบนเรือนที่พำนักของโกษาปาน หากโกษาปานสามารถเก็บและแขวนภาพดังกล่าวอย่างเปิดเผย เขาก็น่าจะได้รับอนุญาตให้เก็บรักษาจานพระเจ้าหลุยส์ไว้เช่นกัน

อีกทฤษฎีหนึ่งคือ นักบวชฝรั่งเศสได้ลักลอบนำจานใบนี้ออกจากสยาม และนำติดตัวไปยังประเทศจีน ข้อมูลในหนังสือ “การปฏิวัติในสยาม ปี ค.ศ. ๑๖๘๘” โดย ฮัทชินสัน (E. W. Hutchinson) ระบุว่า เลอ บลังค์ (Le Blanc) และเดอ แบส (De Beze) นักบวชเยซูอิตที่เดินทางเข้ามาสยามพร้อมคณะราชทูตเดอ ลาลูแบร์ในปี ๒๒๓๐ ภายหลังสมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต พวกเขาได้เดินทางต่อไปยังประเทศจีน เป็นไปได้ไหมว่าพวกเขาได้ลักลอบนำจานพระเจ้าหลุยส์ไปประเทศจีน

ที่สันนิษฐานเช่นนี้เพราะมีผู้พบบันทึกต้นฉบับของนักบวชเดอ แบส และจดหมายต้นฉบับโดยออกญาวิชาเยนทร์ อยู่ในครอบครองของมอร์ริสัน (G. E. Morrison) ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษประจำกรุงปักกิ่ง

ช่างบังเอิญเหลือเกินที่บันทึกของนักบวชฝรั่งเศส จดหมายออกญาวิชาเยนทร์ และจานลายครามล้ำค่า ล้วนหลักฐานเก่าแก่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ต่างโคจรไปพบกันที่ประเทศจีน

ผมอยากรู้ว่าผู้ที่นำจานพระเจ้าหลุยส์ออกประมูลที่กรุงลอนดอน ผู้อ้างว่าบิดาของเขาได้จานใบนี้จากประเทศจีน ใช้นามสกุล “มอร์ริสัน” หรือเปล่า ถ้าใช่ก็อยากถามว่าบิดาเขาได้บันทึกจดหมายเหตุและจานพระเจ้าหลุยส์มาอย่างไร

และอยากรู้ว่าลวดลายแกะสลัก “มังกรและราชินีพระสมุทร” บนฐานไม้รองจานใช่สัญลักษณ์ของพระเจ้ากรุงสยามดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ หรือเป็นลวดลายแกะสลักโดยช่างชาวจีนที่ทำขึ้นในภายหลัง

ผมอยากเชื่อเหลือเกินว่าจานใบนี้คือเครื่องบรรณาการที่ช่างหลอมแก้วชาวฝรั่งเศสมอบให้โกษาปานเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์ฯ แม้ว่าจานจะชำรุดไปบ้าง แต่ก็คงไว้ซึ่งร่องรอยแห่งความสง่างาม ให้เราสามารถจินตนาการรำลึกถึงความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสมเด็จพระนารายณ์ฯ และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส

และหากพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าจานพระเจ้าหลุยส์เคยอยู่ในสยาม ผมก็อยากเห็นจานใบนี้กลับคืนสู่มาตุภูมิ เพื่อเติมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ให้เราได้ยืนบนฐานความรู้ของแผ่นดินที่แน่นกว่าเดิม

(ผู้เขียนปรับปรุงจากบทความเรื่อง “จานพระเจ้าหลุยส์” มรดกแห่งมิตรสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศส แต่กว่าจะรู้ก็สายไป! ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม ๒๕๔๘)


อ้างอิง

Antiques Trade Gazette. “Siamese Connection Helps Rare Medallion to 40,000 Pounds,” (21 August 2004), p. 9

Corning Museum of Glass. “Portrait Medallion of Louis XIV,” www.cmog.org

  1. W. Hutchinson. Adventurers in Siam in the Seventeenth Century. (London, 1940), pp. 222-242
  2. W. Hutchinson. 1688 Revolution in Siam. (Hong Kong, 1968), pp. xii-xv

Engelbert Kaempfer. “Reception of the Phra Klang and Ayutthaya and Its Surroundings,” in Michael Smithies. Descriptions of Old Siam. (Kuala Lumpur, 1995), p. 96

Dedo von Kerssenbrock-Krosigk. “Glass for the King of Siam: Bernard Perrot’s Portrait Plaque of King Louis XIV and Its Trip to Asia,” Journal of Glass Studies, Vol. 49 (2007), pp. 63-79

Michael Smithies. “The Travels in France of the Siamese Ambassadors 1686-1687,” Journal of the Siamese Society, Vol. 77:2 (1989), p. 64

พลับพลึง มูลศิลป์. ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สมัยอยุธยา. (กรุงเทพฯ, ๒๕๒๓), น. ๓๑๔-๓๑๕

ฟ. ฮีแลร์. พระยาโกษาปานไปฝรั่งเศส. (กรุงเทพฯ, ๒๕๔๐), น. ๑๑๒

 

ผู้เขียน : ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม