Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

แอ่ว..ลำปาง ปะบ้าน “นายห้างหลุยส์” ชีวิตที่ผูกพันกับสยาม

บ้าน หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) ภาคเหนือบน ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านพักถนนป่าไม้ เขตชุมชนท่ามะโอ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง เขตเทศบาลนครลำปาง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2448 พร้อมอาคารสำนักงาน เพื่อทำกิจการเกี่ยวกับไม้สักในลำปาง มีลักษณะเป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้แบบเรือนปั้นหยา สไตล์โคโลเนียล ชั้นล่างก่อปูนแข็งแรง ส่วนชั้นบนเป็นเรือนไม้ มีห้องนอนใหญ่ ห้องแต่งตัว จุดเด่นคือห้องโถงทำเป็นมุขเจ็ดเหลี่ยมยื่นออกไปด้านหน้า บริเวณบ้านมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น

“คนงามลำพูน คนใจบุญเชียงใหม่ คนทันสมัยลำปาง” เป็นคำกล่าวทั่วไปของคนทางภาคเหนือเมื่อเอ่ยถึง “คนลำปาง” เหตุที่บอกว่าคนลำปางทันสมัยเป็นเพราะจังหวัดนี้มีชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยทำการค้าธุรกิจมาตั้งแต่โบราณ จึงได้นำความรู้  วิถีชีวิต วัฒนธรรมความเป็นอยู่เข้ามาด้วย ทำให้ลำปางกลายเป็นเมืองที่ทันสมัยมาแต่ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าไม้ เปิดสัมปทานกิจการทำป่าไม้ให้บริษัทต่างชาติ

“หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์” ลูกชายของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้ามาทำกิจการป่าไม้ในล้านนาในสมัยนั้น

หลุยส์ติดตาม “แหม่มแอนนา” เข้ามาในสยามเมื่ออายุ 7 ปี  ต่อมาเดินทางกลับยุโรปและเข้าโรงเรียน กระทั่งกลับมาสยามอีกครั้งใน พ.ศ.2425 ขณะมีอายุราว 27 ปี ในปี พ.ศ.2427

หลุยส์ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนของบริษัท บริติชบอร์เนียว (The British Borneo Company Limited) เจรจาขอรับอนุญาตทำป่าไม้ประจำเมืองระแหง (ปัจจุบันคืออำเภอหนึ่งในจังหวัดตาก)  ต่อมา พ.ศ. 2439 เขาได้ลาออกจากบริษัทบริติชบอร์เนียว เพื่อเปิดบริษัทค้าไม้ของตัวเองที่เชียงใหม่ และได้ย้ายบริษัทมาตั้งที่ลำปางเมื่อ พ.ศ. 2442 พร้อมทั้งได้รับสัมปทานทำป่าไม้ด้วย  ดังนั้น หลุยส์ จึงปลูกสร้าง “บ้าน” เพื่อเป็นทั้งที่พักและอาคารสำนักงานที่ลำปาง

เมื่อหลุยส์เสียชีวิตที่อังกฤษใน พ.ศ. 2462 กรมป่าไม้จึงได้รับมอบโอนกิจการทำไม้ของบริษัท บริติช บอร์เนียว จำกัด และ บริษัทหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์  รวมถึงบ้านของหลุยส์ด้วยใน พ.ศ. 2482  บ้านของหลุยส์จึงกลายเป็นอาคารที่ทำการขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) ระยะหนึ่ง  และต่อมาได้กลายเป็นบ้านพักสำหรับพนักงาน  จนกระทั่งพนักงานลดจำนวนลงไม่มีผู้พักอาศัยอีก บ้านจึงทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

ออป. ลำปาง ร่วมกับชุมชนท่ามะโอ และเครือข่ายชาวลำปาง รวมทั้งจังหวัดลำปางร่วมกันบูรณะบ้านของหลุยส์ขึ้นมาใหม่ เป็นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่สวยงามและหาชมได้ยากเอาไว้ บ้านหลุยส์จึงกลายมาเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวแห่งชุมชนท่ามะโอในปัจจุบัน โดยปกติแล้ว จะเปิดบ้านจัดกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ อาทิ งานศิลปะของศิลปินต่างๆ การแสดงดนตรี  กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม  ตลาดนัด ฯลฯ

สำหรับบ้านของหลุยส์หลังนี้อยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านพักถนนป่าไม้ เขตชุมชนท่ามะโอ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง เขตเทศบาลนครลำปาง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2448 พร้อมอาคารสำนักงาน เพื่อทำกิจการเกี่ยวกับไม้สักในลำปาง มีลักษณะเป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้แบบเรือนปั้นหยา สไตล์โคโลเนียล ชั้นล่างก่อปูนแข็งแรง ส่วนชั้นบนเป็นเรือนไม้ มีห้องนอนใหญ่ ห้องแต่งตัว  จุดเด่นคือห้องโถงทำเป็นมุขแปดเหลี่ยมยื่นออกไปด้านหน้า ติดหน้าต่างบานเกล็ดไม้โดยรอบ เพดานตีไม้ปิดสวยงาม บริเวณบ้านมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น และยังมีอาคารสำนักงานอีกหนึ่งหลัง เป็นอาคารถือปูนชั้นเดียว อาคารหลังนี้แต่เดิมใช้เป็นที่เก็บตู้เซฟของบริษัท ปัจจุบันเก็บรักษาสิ่งของที่เกี่ยวกับการค้าไม้

ส่วนเรื่องราวของ “นายห้างหลุยส์” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม แห่งสำนักพิมพ์มติชน นำเสนอเรื่องของหลุยส์ผ่านงานเขียนของนักเขียนนามว่า W.S. Bristowe  ซึ่งเดินทางมาไทยเมื่อ พ.ศ. 2473 เขาติดตามเรื่องราวของหลุยส์เมื่อครั้งที่เดินทางกลับสยามอีกครั้งในวัยหนุ่ม จนแปรสถานะจากชายมือเปล่ากลายมาเป็นผู้ใกล้ชิดกับราชสำนักในช่วงเวลาหนึ่งงานเขียนของ W.S. Bristowe บรรยายเนื้อหาในจดหมายโต้ตอบระหว่างแม่ลูกที่อยู่ในสยาม(แอนนาและหลุยส์) กับลูกสาวในอังกฤษ  ซึ่งเนื้อความบางส่วนเอ่ยถึงความรู้สึกประสบการณ์ที่ได้รับในช่วงใกล้ชิดกับราชสำนักสยาม  นอกเหนือจากบันทึกในจดหมาย ยังมีเนื้อความในหนังสือพิมพ์บางกอกกาลันเดอร์อีกด้วย

ด้านหน้าของตัวบ้านหลุยส์ จัดแสดงการทำไม้ในอดีต ตั้งแต่การชักลากออกจากพื้นที่ การนำมาแปรรูปเป็นไม้สัก
สมัยก่อนการนำไม้ออกป่าต้องใช้ "ช้าง" ลากซุง
อาคารสำนักงานค้าไม้ของหลุยส์ ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับบ้านพัก แต่เป็นอาคารชั้นเดียว มีประตูเปิดเข้า-ออก เหมือนเรือนแถวของพวกคาวบอยตะวันตก

W.S. Bristowe ยังเล่าถึงความน่ารักน่าเอ็นดูของหลุยส์ ทำให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ออกปากกับหมอแคมป์เบลล์ ว่าจะรับเด็กฝรั่งคนนี้ไว้เป็นบุตรบุญธรรม หากแหม่มแอนนาที่กำลังป่วยหนักมีอันเป็นไป โดยแอนนาป่วยหนักและต้องเดินทางไปอังกฤษในพ.ศ. 2410 หลุยส์เดินทางกลับพร้อมแม่และได้เข้าเรียนหนังสือในหลายโรงเรียนที่ไอร์แลนด์  เมื่อจบการศึกษาโตเป็นหนุ่ม ชีวิตไม่ราบรื่น เขาเปลี่ยนงานหลายครั้งจนแอนนาที่ยุ่งวุ่นกับการเดินสายบรรยายประสบการณ์ของเธอช่วงพำนักในแดนสยามเป็นกังวลถึงชีวิตลูกชาย

บันทึกของ W.S. Bristowe บรรยายชะตาของหลุยส์ ในพ.ศ. 2416 ว่าเขาเร่ร่อนไปถึงรัฐอาร์คันซอส์  จนได้ทำงานกับบริษัทสร้างรางรถไฟ และย้ายไปทำบริษัทเดินเรือกลไฟในฟิลาเดเฟีย ทำได้ไม่นานก็ย้ายไปออสเตรเลีย ก่อนที่จะไปออสเตรเลียก็ทำงานกับเหมืองทองพาล์มเมอร์  จนได้รับตำแหน่งตำรวจเหมือง แต่สุดท้ายก็ย้ายไปทำงานที่คลังสินค้าของสถานีรถไฟทางตอนใต้ของออสเตรเลีย ด้วยเหตุผลกลใดมิอาจบ่งชี้ได้แน่ชัด  หลุยส์ ที่เดิมทีแจ้งแอนนาว่าจะเดินทางไปหาที่อเมริกา แต่แอนนามาได้ยินข่าวอีกทีหลุยส์ก็เดินทางไปสยามแล้ว

การทำไม้สักในอดีต คือจุดเปลี่ยนความรุ่งเรืองของเมืองลำปาง หรือเมืองเขลางค์นครในอดีต เมื่อรัฐบาลสยามอนุญาตให้ชาวยุโรปเข้ารับสัมปทานทำไม้สักในมณฑลพายัพ ตัวแทนการค้าของอังกฤษจึงเดินทางขึ้นเหนือ พร้อมชาวพม่าในบังคับ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค การคมนาคม รวมถึงการค้าขาย ลำปางจึงเป็นเมืองที่ทันสมัยมากในช่วงเวลานั้น

ช่วงที่หลุยส์เดินทางมาถึงสยาม เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ได้ 13 ปีแล้ว  หลุยส์มีโอกาสเข้ารับราชการ โดยได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชากองทหารม้า มีอัตราค่าจ้าง 800 ปอนด์ พร้อมที่พักใกล้พระราชวังติดกับบ้านที่เคยอยู่มาก่อนนั่นเอง

W.S. Bristowe บรรยายว่าหลุยส์ปฏิบัติหน้าที่หลายประการ ตั้งแต่ไปซื้อม้าพันธุ์ใหญ่ที่นิวเซาธ์เวลส์ ตามที่เขาเสนอแนะต่อกองทัพสยาม  และเคยร่วมปราบกบฏอั้งยี่  กระทั่ง พ.ศ. 2426 เป็นช่วงที่ราชบัลลังก์มั่นคงแล้ว หลุยส์ตัดสินใจกราบบังคมลาออกจากราชการ แต่ถูกระงับและได้รับมอบหมายให้ขึ้นเหนือไปกับกองทัพปราบฮ่อ เพื่อสำรวจเขตแดนเตรียมทำแผนที่สากล  จนปีต่อมาหลุยส์กราบบังคมลาออกจากราชการไปเป็นเอเยนต์สัมปทานป่าไม้สักภาคเหนือของบริษัทบอร์เนียว 

การผจญภัยในชีวิตของหลุยส์ ใต้ปากกาของ W.S. Bristowe โดยสรุปแล้วชีวิตของหลุยส์กับสยามถือว่ามีความผูกพันกันมาก แต่น่าเสียดายที่มหาสงครามในช่วง พ.ศ. 2457-2461 เป็นเสมือนขวากหนามกั้นความสัมพันธ์ของเขากับสยาม  เมื่อถึงช่วงโรคระบาดใหญ่ในยุโรป หลุยส์เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2462

เรต้า ภรรยาของเขาแบ่งมรดกส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สยาม โดยบริจาคให้หลายแห่ง ทั้งกองทุนสร้างตึกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  นิคมโรคเรื้อนที่เชียงใหม่ และสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าสยาม  สภาอุณาโลมสยาม (สภากาชาด)

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

การเดินทางเข้าไปในป่าเพื่อทำไม้สมัยก่อน
ลักษณะพิเศษที่หาไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบันสำหรับงานสร้างบ้านหลังนี้คือ บานเกล็ดที่ทำด้วยไม้สัก สามารถเลื่อนเปิด-ปิดได้แนบสนิท ซึ่งเป็นบานเกล็ดที่สร้างไว้รอบบ้าน ปัจจุบันไม่มีช่างทำแล้ว
ภาพเขียนของหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ บุตรชายของแหม่มแอนนา ครูสอนภาษาอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4
ปูนปั้นและลายฉลุไม้มีอยู่ทุกบานประตู
อาคารสำนักงานค้าไม้ของหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์
บ้านหลุยส์ในบรรยากาศตอนกลางคืน
ลายฉลุไม้ที่อาคารสำนักงาน
ประตูทางเข้าสำนักงาน ลายฉลุอ่อนช้อย สวยงาม
สิ่งของที่จัดแสดงในอาคารสำนักงาน
สิ่งของที่จัดแสดงในอาคารสำนักงาน
สิ่งของที่จัดแสดงในอาคารสำนักงาน
บานประตูตู้เก็บของที่ยังเหลือสภาพให้เห็นในสำนักงาน
ตู้เซฟโบราณ ก่ออิฐถือปูน ด้านหน้าประดับจั่วเปิด/จั่วแตก (Broken Pediment) ระบุตัวเลข 1912 ตู้เซฟหลังนี้ตั้งอยู่ภายในอาคารสำนักงาน ข้างๆ บ้านหลุยส์
อ่างอาบน้ำที่สำนักงาน
ไม้สักเป็นท่อนซุงชักลากออกมาจากในป่า
สิ่งของที่จัดแสดงไว้ในสำนักงาน
สภาพของบ้านหลุยส์ก่อนที่จะบูรณะซ่อมแซม อยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก
นักท่องเที่ยวเริ่มทะยอยเดินทางไปชมความงามของเรือนปั้นหยา สไตล์โคโลเนียล ของหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์
ประตูมุ้งลวดดูคลาสสิคมาก
ชั้นวางสำหรับเก็บเอกสาร เป็นไม้ สามารถเลื่อนเข้าเลื่อนออกได้
ประตูทางเข้าสำนักงานของหลุยส์ให้บรรยากาศราวกับอยู่ในตะวันตก
ตู้เซฟในบ้านหลุยส์ ก่ออิฐถือปูน มีขนาดความหนาของเหล็กประมาณ15-20 เซ็นติเมตรเห็นจะได้
สถาปัตยกรรมด้านข้าง ของสำนักงานหลุยส์
อาคารแปดเหลี่ยม ลักษณะพิเศษของบ้าน