Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดีภาคกลาง

พระพุทธรูปประทับยืน ศิลปะทวารวดี พบจากจังหวัดลพบุรี

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง

ชุมชนบ้านเมืองในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเรื่อยมาจนถึงสมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ราวพุทธศตรรษที่ 3-4 มีการติดต่อกับอินเดียผ่านการค้าขาย จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 จึงมีการรับระบบความเชื่อทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีด้านต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนชุมชนเหล่านั้นเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ทวารวดีก็เป็นหนึ่งในบ้านเมืองยุคต้นประวัติศาสตร์เหล่านั้น

“วัฒนธรรมทวารวดี” เกิดขึ้นจากการเลือกรับเอาวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น จนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้น หากกล่าวเฉพาะวัฒธรรมด้านความเชื่อจะพบได้ว่าวัฒนธรรมทวารวดีมีลักษณะเด่นตรงที่มีการนับถือพุทธศาสนา ดังเห็นได้จากจำนวนพระพุทธรูป พระพิมพ์ สถูป ธรรมจักร จารึกข้อพระธรรมคำสอนภาษาบาลีซึ่งพบจำนวนมากยังทำให้ทราบว่าพุทธศาสนาที่เป็นนิกายหลักคือเถรวาท ส่วนพุทธศาสนามหายาน ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อท้องถิ่นมีให้เห็นได้บ้าง

แม้ว่าพุทธศาสนาจะเป็นระบบความเชื่อที่นำเข้ามาจากภายนอก ทว่าในที่สุดก็ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่น พุทธศิลป์ในวัฒนธรรมทวารวดีก็ได้ปรับเปลี่ยนต้นแบบจากอินเดียให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตนด้วยเช่นกัน ดังตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า

พระพุทธรูปในวัฒนธรรมทวารวดีได้รับแบบอย่างมาจากศิลปะอินเดียแบบอมราวดี คุปตะ หลังคุปตะ ปาละ ช่างได้ปรับเปลี่ยนต้นแบบเหล่านั้นให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตนที่ไม่เหมือนใคร เช่น พระพุทธรูปประทับยืนตรงครองจีวรห่มคลุม พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นระดับพระอุระ ทำปางแสดงธรรม 

พระพุทธรูปแบบหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี มีลักษณะเป็นพระพุทธเจ้าประทับเหนือพาหนะ มีบุคคลขนาบอยู่สองข้าง ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของทวารวดีอย่างแท้จริง เพราะไม่เคยปรากฏในดินแดนใดมาก่อน เมื่อวัฒนธรรมทวารวดีได้เสื่อมหายไป พระพุทธรูปแบบนี้ก็ไม่เป็นที่นิยมอีก ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดีมีความหมายเฉพาะประการใด บางท่านสันนิษฐานว่าแสดงถึงพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บางท่านสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นจากความคิดของพุทธศาสนิกชนที่พยายามแสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนามีชัยชนะหรือได้รับการนับถือมากกว่าศาสนาพราหมณ์ จึงนำเอาลักษณะเด่นของพาหนะของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์มาผสมผสานกลายเป็นพาหนะของพระพุทธเจ้า

ภาคกลางยังพบธรรมจักรหินสลักลอยตัวจำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่าธรรมจักรเป็นปูชนียวัตถุที่พุทธศาสนิกชนทวารวดีภาคกลางเคารพบูชาเป็นอย่างมาก หากอยู่ในสภาพสมบูรณ์ธรรมจักรเหล่านี้จะประดิษฐานบนเสาหินซึ่งปักอยู่กลางแจ้ง และมักมีกวางหมอบวางอยู่ด้วย ทั้งนี้เพื่อสื่อความหมายถึงการปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ โดยธรรมจักรหมายถึงพระธรรมคำสอนที่ทรงเผยแผ่ตั้งแต่ครั้งนั้น กวางหมอบหมายถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันซึ่งเป็นสถานที่ที่ทรงแสดงปฐมเทศนา นอกจากนี้ธรรมจักรบางองค์ยังมีจารึกพระธรรมคำสอนที่คัดมาจากคัมภีร์พุทธศาสนาด้วย

นอกจากปูชนียวัตถุในพุทธศาสนาตามที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีวัตถุทางวัฒนธรรมอื่นๆ อีกที่กล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ทางความเชื่อของวัฒนธรรมทวารวดี ที่ได้รับการศึกษาไว้เป็นอย่างมาก คือ ตุ๊กตาดินเผารูปคนจูงลิง  คงเป็นตุ๊กตาที่ใช้สำหรับการสะเดาะเคราะห์เช่นเดียวกันกับตุ๊กตาดินเผาอื่นๆ ทว่าบางท่านเชื่อว่าอาจแฝงปรัชญาทางพุทธศาสนาเข้าไว้ด้วย เช่น จิตคนไม่หยุดนิ่งต้องควบคุมให้ได้หากประสงค์มรรคผล เปรียบได้กับลิงที่ซุกซนต้องล่ามโซ่ไว้

ธรรมจักรและกวางหมอบจากจังหวัดนครปฐม
เหรียญเงินมีสัญลักษณ์มงคล พบจากจังหวัดลพบุรี
ตุ๊กตาดินเผารูปคนจูงลิง

โบราณวัตถุอีกประการที่พบได้บ่อยในภาคกลาง คือ เหรียญเงินซึ่งมีสัญลักษณ์มงคลตามคติอินเดีย ใช้สำหรับเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนค้าขาย 

วัตถุทางวัฒนธรรมที่กล่าวถึงข้างต้นพบได้มากตามเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลาง จนอาจกล่าวเป็นเอกลักษณ์ทางความเชื่อที่สำคัญ หากวัตถุตามแบบอย่างข้างต้นนี้พบในภูมิภาคอื่น ย่อมหมายความว่าได้รับผ่านจากภาคกลางไป

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี พบจากจังหวัดนครปฐม