Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

“เหมี้ยง” หรือ “เมี่ยง” คือ “ชา”

ใน นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ อธิบายคำนี้อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า  “เหมี้ยง”  แปลว่า ชา หรือ ชาเมี่ยง

“เหมี้ยง”  คือใบชาที่นำมาหมัก

ต้นชา เป็นพืชที่รู้จักกันดีในการนำมาชงดื่ม มีชื่อเรียกต่างกันตามท้องถิ่นและการนำมาบริโภค หากเป็นชาที่ปลูกในรัฐอัสสัม เรียกว่า  “ชาอัสสัม”  ชาประเทศจีนในเขตเมืองผู่เออ เรียก  “ชาผู่เออ”

กลุ่มชาวไทลื้อ ไทขืน เรียกชาว่า  “ล้า”  ไทใหญ่เรียก “เหน่ง”  พม่าเรียก  “ละแพ็ด”

การกินเมี่ยงของคนล้านนา นิยมอมเมี่ยงเพื่อล้างปากหลังอาหาร กินยามว่าง ใช้รับแขกในงานบุญสุกดิบ  งานศพ  งานขึ้นบ้านใหม่  ปอยหลวง และงานพิธีกรรมต่างๆ

คนล้านนาได้รับวัฒนธรรมการอมเหมี้ยงมาจากไหนไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน และนิยมอมเหมี้ยงมาแต่เมื่อใดก็ไม่ทราบแน่  ขณะที่คนภาคอื่นไม่รู้จักเหมี้ยง

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เหมี้ยง” แปลว่า ชา หรือ ชาเมี่ยง

จากศิลาจารึกของวัดพระธาตุหริภุญชัย เมื่อ พ.ศ.2034 มีบันทึกไว้ว่า  “เงินจำนำไว้เป็นมูล ให้เอาดอกเป็นค่าหมากเหมี้ยงบูชาพระธรรมพันร้อยเงิน”

สมัยนั้นพระยาแก้วครองเมืองเชียงใหม่  มีพระราชศรัทธาสร้างหอมณเฑียรธรรมและพระคัมภีร์ ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย เสร็จแล้วได้ถวายเครื่องบูชา และเงิน 1,100 เพื่อให้เอาดอกเป็นค่าหมากเหมี้ยงบูชาพระธรรมดังกล่าว

เหมี้ยงที่ผ่านกรรมวิธีดองแล้ว  แบ่งตามรสชาติได้ 3 ประเภท  คือ เหมี้ยงฝาด  เหมี้ยงส้ม  และเหมี้ยงหวาน  เหมี้ยงที่นำมาอมกันโดยทั่วไปนิยมใช้เหมี้ยงส้ม ที่มีรสเปรี้ยว

การอมเหมี้ยง หรือกินเหมี้ยงอย่างง่ายที่สุดคือ เอาแผ่นชาเหมี้ยงมาแผ่ออก เอาเกลือหยิบมือวางตรงกลาง แล้วม้วนใบเหมี้ยงห่อเกลือให้มิด ส่งเข้าปาก อมแล้วเคี้ยว จุกไว้ที่ข้างแก้ม พร้อมกับสูบบุหรี่ขี้โย จะได้รสชาติที่พึงพอใจเป็นที่สุด นอกจากจะอมเหมี้ยงแล้ว คนล้านนายังเอามาทำเป็นอาหารโบราณที่เรียกว่า  “น้ำเหมี้ยง”  โดยเอาน้ำดองใบชาเหมี้ยงมาปรุงรสผสมข้าวคั่ว กินกับแคบหมู  ส่วนใบอ่อนสดๆ สามารถนำมาทำเป็นส้าใบเหมี้ยง (ยำใบเหมี้ยง)

สําหรับเหมี้ยงที่ปรุงรสพิถีพิถันใช้ในงานเลี้ยงต่างๆ หรือมีประจำในสำรับหมากพลูของผู้มีอันจะกิน เรียกว่า  “เหมี้ยงทรงเครื่อง”  โดยมีเครื่องปรุงดังนี้

หมี่เหมี้ยง คือมะพร้าวทึนทึกหั่นฝอย คั่วให้เหลืองหอม  ขิงสดหั่นฝอย ถั่วลิสงคั่ว  น้ำกระเทียมดอง  น้ำตาล  และเกลือ

วิธีทำคือ เอาน้ำกระเทียมดองผสมน้ำตาลเคี่ยว ใส่เกลือ อาจจะปรุงรสด้วยน้ำส้ม ชิมให้ได้รสเค็ม หวาน เปรี้ยวตามใจชอบ นำเอาใบเหมี้ยงที่เลือกว่าไม่แก่เกินไปไม่อ่อนเกินไปมาแช่น้ำปรุง ทิ้งค้างคืนไว้ จากนั้นนำใบเหมี้ยงมาห่อมะพร้าวคั่ว น้ำตาล ขิงดอง กระเทียมดอง ถั่วลิสงคั่ว บางบ้านใส่แคบหมูลงไปก็มี  ม้วนเป็นคำๆ  แล้วห่อด้วยใบตองอีกชั้นหนึ่ง  รสชาติของเหมี้ยงทรงเครื่องจะแตกต่างกันไปแต่ละบ้าน แล้วแต่คนทำ บางแห่งนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นเหมี้ยงที่อร่อยพิเศษ

ปัจจุบันดูเหมือนว่าเราจะรื้อฟื้นเอาวัฒนธรรมการอมเหมี้ยงมาใช้อีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่รูปแบบการนำเสนอเหมี้ยงทรงเครื่องอาจจะต่างไปจากโบราณ พบได้ตามงานอีเวนต์ทางภาคเหนือ กระทั่งเป็นที่นิยมสำหรับชาวต่างประเทศในงานแสดงสินค้าไทยในต่างแดน

ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์