Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เปิดกรุ “โบราณวัตถุชิ้นเอก” แห่งรัตนโกสินทร์ ไปดูได้ที่…พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระที่นั่งพุดตาน วังหน้า ทำด้วยไม้ปิดทองประดับกระจก สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระที่นั่งพุดตานวังหน้ามีรูปทรงใกล้เคียงกับพระที่นั่งพุดตานทอง หรือ พระที่นั่งพุทธตาลกาญจนสิงหาสน์ของวังหลัง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 พระที่นั่งพุดตานวังหน้าใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระมหาอุปราช โดยมีหลักฐานคือพระฉายาลักษณ์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานวังหน้า ต่อมาเมื่อทรงประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชแล้ว โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระที่นั่งพุดตานวังหน้าให้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ดังปรากฏหลักฐานทั้งภาพถ่ายและจดหมายเหตุ ว่าในพระราชพิธีลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธย พ.ศ. 2429 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมารทรง "พระที่นั่งพุดตานฝ่ายพระราชวังบวร คนหาม 30" นอกจากนี้ พระที่นั่งพุดตานวังหน้ายังมีหลักฐานการใช้งานอื่นๆ เช่น หลังพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ในช่วงเช้าวันที่ 30 มกราคม 2444 แล้ว เวลาบ่าย 5 โมงเศษ เสด็จประทับ "พระที่นั่งพุดตานในพระราชวังบวร" ในกระบวนแห่ ด้วยเหตุที่ภายหลังยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้วนั้น พระที่นั่งพุดตานวังหน้า ใช้เป็นพระราชยานสำหรับพระราชกุมารหลายคราว จึงมีการเพิ่มเตียงลา (สำหรับก้าวขึ้นลง และใช้วางพระบาท) ขึ้นอีกชั้นหนึ่ง และเตียงลา 2 ชั้นนี้เองที่ปัจจุบันใช้จำแนกความแตกต่าง ระหว่าง "พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์" กับ "พระที่นั่งพุดตานวังหน้า" นอกจากนี้พระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นธรรมเนียมที่สำนักพระราชวังจะเชิญพระที่นั่งพุดตานวังหน้า จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไปใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 7 พระพุทธรูปซึ่งอัญเชิญมาเป็นประธานในการพระราชพิธี สำหรับนามพระที่นั่งพุดตานเป็นนามเก่า มีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา เนื่องจากได้พบชื่อพระที่นั่งสัปคับพุดตานทองอยู่ในกระบวนแห่เพ็ชรพวง ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อนุมานว่านามพระที่นั่งพุดตานอาจมีที่มาจากลายที่ทำขึ้นในพระที่นั่งสัปคับพุดตาน สันนิษฐานว่าเป็นลายอย่างจีน มีต้นแบบมาจากลายเครื่องถ้วยที่มีเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือมีที่มาจากแผ่นรูปกระจังขนาดใหญ่ซึ่งประดับอยู่สองข้างพระที่นั่งพุดตาน ส่วน "พระที่นั่งพุดตาน วังหน้า" ที่จัดแสดงให้ชมนี้ จัดแสดงอยู่ที่ห้องเฉลิมพระเกียรติกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มุขกระสัน กระทรวงวังเป็นผู้ส่งมา

โบราณสถานชิ้นเอก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

กรมศิลปากรเปิดให้ชมนิทรรศการถาวร “ประณีตศิลป์สยาม” ที่ “หมู่พระวิมาน” พระราชวังบวรสถานมงคล  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งมีโบราณวัตถุแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 10 ชิ้น ที่ถือว่าเป็นศิลปะ “ชิ้นเอก”

คำว่า “ศิลปะรัตนโกสินทร์ “ มีนิยามหมายถึงศิลปะในสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มต้นตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี พ.ศ. 2325 จนถึงสมัยปัจจุบัน  สามารถแยกได้เป็น 3 ช่วง

คือ “ช่วงแรกสมัยรัชกาลที่ 1-3”  เป็นศิลปะที่ถ่ายแบบมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น การสร้างเมือง การสร้างพระบรมมหาราชวัง กำแพงเมืองก็เลียนแบบอยุธยา  แม้แต่ชื่อวัดหรือชื่อสถานที่สำคัญก็ล้อมาจากอยุธยา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อทดแทนศิลปะที่สูญหายไปสมัยเสียกรุง โดยมีคติว่าจะให้เหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี   อย่างไรก็ดี ศิลปะช่วงนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 แตกต่างออกมาบ้าง โดยเปลี่ยนจากประเพณีนิยมเป็นแบบผสม คือผสมทั้งแบบยุโรปและจีน แต่ศิลปะสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะผสมระหว่างไทยและจีน

ช่วงถัดมาเรียกว่า “ช่วงปรับตัว” อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 เริ่มมีการเปิดประเทศ ยอมรับอิทธิพลตะวันตกและความคิดใหม่มาเปลี่ยนแปลงสังคม ระเบียบประเพณี การสร้างงานศิลปกรรมทุกสาขารวมทั้งประติมากรรม ก็ถูกกระแสการเมืองนี้ด้วย

ช่วงที่ 3 เป็น “ช่วงประติมากรรมร่วมสมัย” อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เป็นศิลปะที่มีผลสืบเนื่องมาจากความเจริญแบบตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย  ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ นการสร้างสรรค์ศิลปะ เพื่อสาธารณะประโยชน์ นอกเหนือจากการสร้างเพื่อศาสนาอย่างเดียว

สำหรับนิทรรศการที่จัดขึ้นใน “หมู่พระวิมาน” พระมณเฑียรที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น นับตั้งแต่ตัวหมู่พระวิมาน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1  มีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่เรียงกันสามหลัง สำหรับประทับในฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน เชื่อมต่อกันด้วยมุข รวมมีพระที่นั่ง 11 องค์ ท้องพระโรง 1 องค์

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานหมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ให้เป็นห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร   จนกระทั่ง พ.ศ.2555  กรมศิลปากรได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ บูรณะอาคารต่าง ๆ ตลอดจนกลุ่มอาคารหมู่พระวิมาน และจัดแสดงนิทรรศการถาวรขึ้น โดยหมู่พระวิมานใช้เป็นห้องจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเอก ที่แสดงเอกลักษณ์อันวิจิตรของศิลปะช่างหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวม 14 ห้องจัดแสดง

การจัดแสดงนิทรรศการถาวรนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ ณ หมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ทุกวัน (ปิดวันจันทร์และอังคาร) ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

มีค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท

โบราณวัตถุชิ้นเอกแห่งยุครัตนโกสินทร์ชิ้นเอกทั้ง 10 ชิ้น ได้แก่…

1.พระที่นั่งพุดตานฝ่ายพระราชวังบวร (พระที่นั่งพุดตานวังหน้า)

2.พระที่นั่งราเชนทรยาน

3.กลองวินิจฉัยเภรี

4.ศีรษะหุ่นพระยารักน้อย พระยารักใหญ่

5.แพลงสรงจำลอง ทำด้วยเงินกะไหล่ทองกับนาก

6.สัปคับจำหลักงาช้าง

7.ประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

8.ฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

9.ฉากไม้ลงรักประดับมุกพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ

10.กลองสำหรับพระนคร สมัยรัตนโกสินทร์

ทั้งหมดนี้ นับเป็นศิลปะชิ้นเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่จะต้องไปยลความงดงามให้ได้สักครั้งในชีวิต!!

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

พระที่นั่งราเชนทรยาน มีลักษณะเป็นทรงบุษบก ย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก พนักพิงและกระจังปฏิญาณแกะสลักเป็นภาพเทพพนมไว้ตรงกลางครุฑยุดนาค ซึ่งประดับที่ฐาน 14 ตัว มีคานสำหรับหาม 4 คาน แต่เวลาปกติจะคงคานประจำไว้ 2 คาน การประทับจะต้องนั่งห้อยพระบาท พระที่นั่งราเชนทรยานนี้สร้างคู่กับพระราชยานกงและพระวอสีวิกากาญจน์ ใช้พลแบกหาม 56 นาย สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในเวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราสี่สาย เช่น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และใช้ในการอัญเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ หรือพระโกศพระอัฐิพระบรมวงศ์จากพระเมรุท้องสนามหลวงเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในความดูแลของกรมศิลปากร จัดแสดงอยู่ที่ ห้องราชยานคานหาม พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร กระทรวงวังส่งมา
กลองวินิจฉัยเภรี สำหรับร้องทุกข์ถวายฎีกา เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เป็นผู้สร้าง และส่งเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงมีพระราชดำริว่าความทุกข์ร้อนของราษฎรจะร้องถวายฎีกาได้ ก็ต่อเมื่อเวลาเสด็จออก แต่ถ้าให้ตีกลองร้องฎีกาได้ทุกวัน ก็จะสามารถบรรเทาทุกข์ของราษฎรได้ และได้พระราชทานนามกลองนี้ว่า "วินิจฉัยเภรี" พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกลองวินิจฉัยเภรีที่ทิมดาบกรมวัง แล้วทำกุญแจปิดลั่นไว้ เวลามีผู้ต้องการจะถวายฎีกา เจ้าหน้าที่กรมวังก็จะไปไขกุญแจให้ เมื่อผู้ถวายฎีกาตีกลองแล้ว ตำรวจเวรก็ไปรับเอาตัวมา และนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ถ้ามีพระราชโองการสั่งให้ผู้ใดชำระ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จัดส่งฎีกาที่ราษฎรร้องทุกข์ไปตามพระราชโองการทุกครั้งไป เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริว่าผู้ที่เข้าตีกลองถวายฎีกาส่วนมากได้รับความยากลำบาก เนื่องจากต้องเสียค่าไขกุญแจให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกตีกลองเสีย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ป่าวประกาศ ว่าต่อไปจะเสด็จออกรับฎีกา ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เมื่อเวลาจะเสด็จออกให้ตีกลองวินิจฉัยเภรี เรียกผู้ที่จะถวายฎีกามาชุมนุมกันหน้าพระที่นั่ง เมื่อราษฎรได้ทราบวันและเวลาเสด็จออกทั่วกันแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องใช้กลองอีกต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสำหรับเก็บกลองใบนี้ไว้ที่ข้างป้อมสิงขรขัณฑ์ ริมประตูเทวาพิทักษ์ ต่อมา จึงได้ตั้งกลองวินิจฉัยเภรีจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร แสดงให้ประชาชนได้ชม ปัจจุบันกลองวินิจฉัยเภรีจัดแสดงอยู่ที่ ห้องพระแท่นราชบัลลังก์และพระโธรน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ
ศีรษะหุ่นหลวงพระยารักน้อย พระยารักใหญ่ อายุราว 200 ปีมาแล้ว ทำจากไม้แกะสลักลงรักปิดทอง เขียนสี ประดับกระจก สูง 38 เซนติเมตร กรมพิณพาทย์ และโขนหลวง ส่งมาให้เมื่อ พ.ศ.2469 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงชำนาญการแกะสลักไม้ ดังปรากฏว่าพระองค์ทรงมีส่วนในการแกะสลักบานประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม ศีรษะหุ่นหลวงตัวพระคู่นี้แกะสลักจากไม้รัก เป็นงานฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ 2 เช่นกัน เรียกกันว่า "พระยารักใหญ่ พระยารักน้อย" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตรัสชมว่างามไม่มีหน้าพระอื่นเสมอสอง โดยศีรษะพระคู่ที่เป็นฝีพระหัตถ์จะสวมชฎา สำหรับศีรษะหุ่นหลวงตัวพระอีกคู่หนึ่งที่แต่เดิมเก็บรักษาไว้ในลุ้งเดียวกันกับพระยารักใหญ่ พระยารักน้อย จะสวมมงกุฎ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ ทรงจัดการทำขึ้นใหม่ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าพระราชาควรจะสวมมงกุฎไม่โปรดการสวมชฎา ศีรษะหุ่นพระราม มีวรรณะหรือผิวกายสีเขียว ทรงชฎา และพระลักษณ์ พระอนุชาของพระราม มีวรรณะหรือผิวกายสีทอง หุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่ มักนิยมสร้างขนาดความสูงจากระดับศีรษะถึงปลายเท้า มีลำตัว แขน ขาและแต่งตัวเช่นเดียวกับละคร ภายในตัวหุ่นทำสายโยงติดกับอวัยวะของตัวหุ่น และปล่อยเชือกลงมารวมกันที่แกนไม้ส่วนล่างเพื่อใช้ดึงบังคับให้เคลื่อนไหว ปัจจุบันศีรษะหุ่นหลวงพระยารักน้อย พระยารักใหญ่ จัดแสดงอยู่ที่ห้องนาฏดุริยางค์ พระที่นั่งทักษิณาภิมุข
ประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพฯ เดิมเป็นบานประตูคู่กลางด้านหน้าพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงมีส่วนร่วมในการจำหลักด้วยพระองค์เอง ประตูจำหลักจากไม้แผ่นเดียวคว้านผิวลึกลงเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษาตวัดเกี่ยวกันคล้ายกำลังเคลื่อนไหว สอดแทรกรูปสรรพสัตว์นานาพันธุ์ ลงรักปิดทองฝีมือประณีตงดงามอย่างยิ่ง ต่อมาในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2502 เกิดไฟไหม้บานประตูชำรุดบานหนึ่ง จึงได้นำบานประตูคู่กลางด้านหลังมาใส่ไว้แทน และถอดบานประตูเดิมนี้ออกเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องเครื่องไม้จำหลัก มุขเด็จทิศตะวันตก
ฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ลักษณะเป็นเสื้อนอกแบบยุโรป ชายเสื้อยาว แขนยาว คอตั้ง และที่ปกเสื้อปักรูปพระมหามงกุฎ พระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 ฉลองพระองค์นี้มีต้นแบบจากชุดเครื่องแบบทหารยุโรป อันแสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมการแต่งกายแบบตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในราชสำนักขณะนั้น ต่อมาในรัชกาลที่ 5 จึงพัฒนาลวดลายปักที่เป็นแบบตะวันตกให้ผสมผสานกับลวดลายและฝีมือประณีตชั้นสูงของช่างไทยในราชสำนัก และใช้เป็นเครื่องแบบเต็มยศของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ฉลองพระองค์นี้เป็นสมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ พระที่นั่งอุตราภิมุข
ฉากไม้ลงรักประดับมุกพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ฉากไม้ประดับมุก ภาพพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติขนาบข้างด้วยพระอัครสาวกในซุ้มเรือนแก้ว ฉากประดับมุกนี้แสดงถึงความวิจิตรบรรจงของช่างไทยในการฉลุเปลือกหอยให้เป็นลวดลายชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก่อนติดลงบนแผ่นไม้ แล้วใช้รักสมุกถมลงช่องว่างจนเกิดลวดลายสีขาวของเปลือกหอย ตัดกับสีดำของยางรัก ฉากนี้ยังมีประวัติว่าได้นำไปจัดแสดงในนิทรรศการที่ต่างประเทศอยู่หลายวาระ อาทิ งานแสดงศิลปหัตถกรรมนานาชาติ ณ ชังป์ เดอมารส์ (Champ-de-Mars) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2410 หรือ มหกรรมแสดงสินค้าโลก ที่เมืองเซนต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2447 เป็นต้น ฉากไม้ลงรักประดับมุกพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติเป็นสมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องเครื่องประดับมุก พระที่นั่งพรหมเมศธาดา(ล่าง)
กลองสำหรับพระนคร กลองทั้งสามใบนี้แต่เดิมอยู่ที่หอกลองประจำเมืองกรุงเทพฯ ที่สวนเจ้าเชตุ หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) หอกลองมี 3 ชั้น โดยชั้นล่าง "กลองย่ำพระสุริย์ศรี" ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณย่ำรุ่ง-ย่ำค่ำ เวลาเปิดปิดประตูเมือง ชั้นกลาง "กลองอัคคีพินาศ" ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณเมื่อเกิดอัคคีภัย และกลองชั้นสุดบน "กลองพิฆาตไพรี" ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณเมื่อมีข้าศึกมาประชิดเมือง เมื่อมีการใช้นาฬิกาแพร่หลาย พ้นสมัยการตีกลองให้สัญญาณ จึงย้ายกลองทั้งสามใบนี้ไปยังหอนาฬิกาศาลสถิตยุติธรรม และหอนาฬิกาศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมตามลำดับ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องศัสตราวุธ พระที่นั่งบูรพาภิมุข
แพลงสรงจำลอง ทำด้วยเงินกะไหล่ทองกับนาก สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงสร้างถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระราชพิธีลงสรง เมื่อ พ.ศ. 2429 พระราชพิธีลงสรงเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมพระนามาภิไธยตั้งพระนามพระราชกุมาร ที่ดำรงพระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้าอย่างเต็มตำราครั้งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฏหลักฐานการประกอบพระราชพิธีลงสรงเพียงสองครั้งเท่านั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชทาน ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องโลหศิลป์ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข
สัปคับจำหลักงาช้าง ฝีมือช่างชั้นเยี่ยมชาวล้านนา อายุ 150 ปี สัปคับ เป็นที่สำหรับนั่งผูกติดบนหลังช้าง พื้นสำหรับนั่งอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าสานด้วยหวาย มีพนักล้อมทั้งสี่ด้าน ฉลุโปร่งเป็นลายพันธุ์พฤกษา นกยูง และรูปบุคคล พนักตอนบนโปร่งเป็นลูกกรงกลึงจากงาช้าง เสาพนักเป็นไม้ เว้นพนักช่วงหนึ่งเป็นช่องสำหรับขึ้นนั่ง พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา (พ.ศ. 2416) โดยทรงมีพระราชอำนาจ ในการบริหารราชการแผ่นดินโดยสมบูรณ์ มิต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินดังเดิม ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องสัปคับ พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข