Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เที่ยวแบบไม่กลัวโควิด “บ้านแม่กำปอง” เชียงใหม่

แม้ว่าจะฮิตฮ็อตเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีน กันมาพักหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเจอสถานการณ์โควิด-19 รอบสอง ทำเอาหมู่บ้านแม่กำปองและชาวแม่กำปองแทบล้มทั้งยืนไปเหมือนกัน ไม่ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนไทยด้วยกัน ต่างก็ห่างหายโรยราไม่หนาแน่นอู้ฟู่เหมือนก่อน ฉะนั้น ช่วงวันหยุดยาวมาฆะบูชา 2564 ถือโอกาสไปเยือน “แม่กำปอง” หมู่บ้านกลางหุบเขาที่อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ในบรรยากาศแบบไม่มีทัวร์จีน นับว่าเป็นอีกความรื่นรมย์และฟินกับความสบายๆ ที่อุณหภูมิ 18 องศา ยิ่งคนที่ชอบถ่ายรูปก็ได้ถ่ายรูปสวยๆ สมใจ

เล่าเรื่อง “บ้านแม่กำปอง” กันอีกที หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านของชาวบ้านภาคเหนือไม่ใช่หมู่บ้านชาวเขาอย่างที่หลายคนเข้าใจ ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว ๆ 50 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูงลดหลั่นสวยงาม มีลำธาร น้ำตก อยู่ภายในหมู่บ้าน ตามบันทึกของทางราชการระบุว่าหมู่บ้านแม่กำปองมีพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีต้นชาหรือต้นเมี่ยง ถ้าเป็นภาษาล้านนาจะอ่านว่า “เหมี้ยง” ประมาณ 2,000 ไร่ ชาวบ้านมีทั้งที่อาศัยอยู่มาแต่ดั้งเดิม และเกือบทั้งหมดเป็นชาวอำเภอดอยสะเก็ดที่สมัยก่อนเข้ามารับจ้างเก็บเมี่ยงและตัดสินใจตั้งรกรากที่หมู่บ้านแม่กำปองเป็นการถาวร อาชีพของคนที่นี่มีทั้งเก็บใบเมี่ยงขายและหมักใบเมี่ยงเอง ยังมีรับซื้อจากชาวบ้านด้วยกันจากนั้นนำไปขายให้แก่พ่อค้าคนกลางนอกหมู่บ้าน

บ้านฮิมห้วย ลุงปุ๊ด & ป้าเป็ง

สำหรับชื่อบ้าน “แม่กำปอง” มาจากในอดีตที่ว่าแต่เดิมบริเวณใกล้ลำห้วยของหมู่บ้านจะมี “ดอกกำปอง” ซึ่งเป็นดอกไม้ป่าขนาดเล็กสีเหลืองแดงขึ้นอยู่เต็มไปหมด เมื่อรวมกับคำว่า “แม่น้ำ” จึงกลายเป็น “บ้านแม่กำปอง” ก่อนหน้าที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ มา ทรงพูดคุยและแนะแนวทางการปลูกพืชต้นกาแฟและพัฒนาแหล่งน้ำแก่ชาวบ้าน ช่วงหลังบ้านกำปองจึงนิยมปลูกไร่กาแฟเพิ่มเติมขึ้นมาจากเดิมที่ปลูกแค่ใบเมี่ยง

ส่วนต้นชาหรือต้นเมี่ยงหรือเหมี้ยงในหมู่บ้านแม่กำปอง เก่าแก่ดั้งเดิมมานั้นมี 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์พื้นเมือง ชาวบ้านเรียกว่า “เหมี้ยงอี่อ๋าม” หรือ เมี่ยงป่า มียอดสีออกแดง ใบมีรสขม ไม่เหมาะกับการนำมาแปรรูปเป็นเมี่ยงหมัก ชาวบ้านมักตัดทิ้งเพราะไม่ได้ใช้ประโยชน์ ส่วนอีกพันธุ์เป็นพันธุ์อัสสัม ชาวบ้านเล่าว่ามีขึ้นเองอยู่แล้วในพื้นที่ป่า ตั้งแต่ชาวบ้านอาศัยอยู่มาอย่างน้อยสามชั่วอายุคน ต่อมาเมื่อชาวบ้านยึดอาชีพการเก็บใบเมี่ยง จึงมีการนำเมล็ดของต้นเดิมที่ขึ้นในป่ามาเพาะเป็นต้นกล้า แล้วนำไปปลูกต่อ โดยไม่มีการนำชาหรือเมี่ยงพันธุ์อื่นๆ มาปลูกเพิ่มเติมแต่อย่างใด ปัจจุบันชาวบ้านในหมู่บ้านยังคงอนุรักษ์ต้นเมี่ยงและการทำเมี่ยงแบบดั้งเดิมไว้ โดยในหมู่บ้านจะมีพิพิธภัณฑ์เมี่ยงเพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจ รวมทั้งมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นนำนักท่องเที่ยวเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีต้นเมี่ยงในป่าด้วย

กิ่วฝิ่น

ที่บ้านแม่กำปองอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ระยะหลังเมื่อการค้าขายเจริญมากขึ้นและสังคมทั้งโลกเชื่อมต่อถึงกันด้วยอินเตอร์เน็ต บ้านแม่กำปองเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตเดิมๆ ไปบ้าง มีร้านกาแฟและโฮมสเตย์ผุดขึ้นราวดอกเห็ดเพื่อต้อนรับและรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่หลั่งไหลเดินทางเข้าไป คนจากนอกหมู่บ้านเข้าไปเปิดธุรกิจมีร้านค้า ร้านกาแฟมากมาย แต่เมื่อโรคระบาดโควิด-19 รอบสองมาเยือน สภาพบ้านแม่กำปองไม่แตกต่างจากที่อื่นๆ ร้านรวง โฮมสเตย์หลายแห่งปิดตัว เลิกกิจการ ประกาศเซ้งต่อ บรรยากาศแบบนี้เป็นอยู่ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ที่เริ่มมีข่าวดีเรื่องวัคซีน บ้านแม่กำปองกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แม้จะไม่เหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่บรรยากาศที่คนไม่แออัดมากเกินไป สัมผัสได้ถึงอากาศบริสุทธิ์ และอุณหภูมิที่สบายๆ ไม่เกิน 20 องศา เป็ยเงื่อนไขที่ดีมากสำหรับช่วงนี้ในการไปชมทิวทัศน์ หรือท่องเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ ไปถ่ายภาพ ชิมรสชาติกาแฟหลากหลายแบรนด์ และสัมผัสวิถีชีวิตสุดเรียบง่ายของชาวบ้านกลางหุบเขา ยิ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ก็จะได้ชมทิวทัศน์อีกบรรยากาศไม่แพ้ไปต่างประเทศเลยทีเดียว

บ้านแม่คำปองยังมีทีเด็ดสำหรับนักท่องเที่ยวสายบุญด้วย นั่นคือวัดแม่กำปอง ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน เป็นวัดมีโบสถ์เล็กๆ ที่อยู่กลางลำธาร ให้คนไปกราบสักการะพระในโบสถ์และทำบุญ ชื่อ “วัดคันธาพฤกษา” หรือ “วัดแม่กำปอง” ในหน้าฝนหลังคาของวิหารที่เป็นไม้สัก จะมีมอสสีเขียวขึ้นปกคลุมทั่วหลังคา เป็นภาพแปลกตาและสวยงาม นอกจากนี้ยังมีแลนด์มาร์กสุดฮิตของคนชอบถ่ายรูป คือที่บ้าน “ฮิมห้วย ลุงปุ๊ด & ป้าเป็ง” ลักษณะเป็นบ้านไม้สองชั้น ขายอาหาร เค้ก เครื่องดื่ม มีคนบอกว่าไส้อั่วร้านนี้อร่อยดีทีเดียว

บ้านแม่กำปองในวันนี้ยังมีเอกลักษณ์ทั้งวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ชาวบ้านยังยึดถือประเพณีดั้งเดิมอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ มีชีวิตเรียบง่าย ยิ่งช่วงล็อกดาวน์ บ้านแม่กำปองก็ยิ่งน่าไปเยือน