Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เที่ยว‘พิพิธภัณฑ์ฯขอนแก่น’ยลศิลปกรรมล้ำค่า‘ทวารวดี-เขมร-ล้านช้าง’

เกือบ 50 ปีที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น เปิดให้บริการเป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยมีส่วนจัดแสดงที่แบ่งตามยุคสมัยต่าง ๆ ที่น่าสนใจ รวม7ส่วน

1.สมัยก่อนประวัติศาสตร์

จัดแสดงเรื่องราวในอดีตของจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญแห่งหนึ่งของภาคอีสาน นับตั้งแต่แหล่งโบราณคดีโนนนกทา อ.ภูเวียง ได้รับการสำรวจขุดค้นโดยกรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาวาย เมื่อปี พ.ศ. 2509 ทำให้ทราบว่าเมื่อประมาณ 4,500 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มมีชุมชนโบราณเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่แถบนี้

ปัจจุบันจากข้อมูลการขุดค้น และศึกษาทางโบราณคดีพบแหล่งโบราณคดีประมาณ 100 แห่ง ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำชี อาทิ แหล่งโบราณคดีโนนเมือง อ.ชุมแพ แหล่งโบราณคดี โนนชัย แหล่งโบราณคดีศรีฐาน อ.เมือง เป็นต้น

จากหลักฐานทางโบราณคดีสามารถสรุปได้ว่า มีชุมชนโบราณตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจ.ขอนแก่น เป็นจำนวนมากส่วนใหญ่ เป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุปะมาณ 2,500 – 2,000 ปี ดำรงชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรม มีการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ สามารถผลิตเครื่องมือ เครื่องใช้สำริดเหล็ก เครื่องปั้นดินเผา และยังมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอกที่อยู่ห่างไกลด้วย

จากชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้มีการพัฒนาการสืบเนื่องมาเป็นชุมชนสังคมเมืองในระยะแรกปรากฏหลักฐาน คือ การกำหนดขอบเขตของชุมชน หรือเมือง โดยการขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคชุมชนเมืองลักษณะนี้ พบกระจายอยู่หลายแห่งมีทั้งขนาดเล็ก และใหญ่ โดยเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดิน ล้อมรอบและมีขนาดใหญ่ที่สุดคือ เมืองโบราณบ้านดงเมืองแอม อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

2.สมัยประวัติศาสตร์แรกเริ่ม และวัฒนธรรมทวารวดี

ชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่ดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า – ล่าสัตว์ ได้เริ่มพัฒนาสู่การเป็นสังคมเมือง ตั้งแต่ราว 2,500 – 2,000 ปีมาแล้วจนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 (1,500-1,400ปี มาแล้ว) จึงเริ่มรับอิทธพลทางวัฒนธรรม และระบบความเชื่อทางศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่าง ๆ จากชุมชนภายนอกที่เจริญกว่า เปลี่ยนชุมชนเหล่านี้เข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง

เชื่อว่าชุมชนโบราณที่อาศัยในแถบภาคอีสานตอนบนได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมทวารวดีที่เจริญขึ้นทางภาคกลางของประเทศ ผ่านมาทางเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ทำให้ชุมชนเหล่านี้เปลี่ยนมารับคติความเชื่อในพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท

สะท้อนให้เห็นผ่านงานศิลปกรรมที่เกิดจากการผสมผสานของศิลปะทวารวดีกับศิลปะพื้นถิ่น จนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะแบบศิลปะทวารวดีในภาคอีสาน อาทิ ใบเสมาหินทราย ที่มีการสลักภาพเล่าเรื่อง และชาดกต่าง ๆ ในพุทธศาสนาซึ่งพบอยู่เป็นจำนวนมาก ที่เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กลุ่มพระพิมพ์ดินเผารูปแบบต่าง ๆ จากเมืองโบราณนครจัมปาศรี อ.นาดูน จ.มหาสารคาม

3.วัฒนธรรมเขมรโบราณ (ศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย)

จัดแสดงเรื่องราวของจ.ขอนแก่น และพื้นที่ภาคอีสานตอนบนในสมัย พุทธศตวรรษที่ 16 (1,000 ปีมาแล้ว) เมื่อวัฒนธรรมทวารวดี เริ่มเสื่อมถอย ขณะเดียวกันวัฒนธรรมเขมรโบราณในเขตอีสานตอนล่างบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลได้แพร่กระจายเข้ามาสู่บริเวณลุ่มแม่น้ำชี ทำให้กลุ่มชนพื้นเมืองรับอิทธิพลศาสนาพราหมณ์เข้ามาด้วย ดังปรากฏจากศาสนสถานแบบเขมร มักสร้างเป็นอาคาร ประกอบด้วย ศิลาแลง และศิลาทรายตกแต่งด้วยภาพสลักของเทพเจ้าต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์ อาทิ พระนารายณ์ พระอินทร์ อันเป็นหลักฐานการรับความเชื่อใหม่ของชุมชน นอกเหนือจากศาสนาพุทธ ซึ่งเข้ามาแพร่หลายในช่วงก่อนหน้านี้

ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 18 (800 ปีมาแล้ว) วัฒนธรรมเขมรที่นับถือศาสนาพราหมณ์ผสมผสานกับศาสนาพุทธนิกายมหายาน ได้แผ่จากอีสานตอนล่างขึ้นมาในจ.ขอนแก่นอีกครั้งหนึ่ง ดังปรากฏศาสนสถานขึ้น 2 แห่ง ในเขตจ.ขอนแก่นในปัจจุบัน คือ กู่แก้ว บ้านดอนช้าง อ.เมือง และกู่ประภาชัย บ้านนาคำน้อย อ.น้ำพอง ทั้ง 2 แห่งเป็นศาสนสถานเขมรแบบบายน สร้างตามคติพุทธศาสนานิกายมหายาน โดยเฉพาะที่กู่แก้วพบประติมากรรมหินทรายรูปพระโพธิสัตว์วัชรธร (พระไภษัชยคุรุ) และศิลาจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของวัฒนธรรมเขมรโบราณ ซึ่งกล่าวถึงการสร้างอโรคยศาล หรือศาสนสถานประจำโรงพยาบาล

4.วัฒนธรรมล้านช้าง

จัดแสดงเกี่ยวกับอิทธิพลของวัฒนธรรมล้านช้างจากอาณาจักรลาวแถบลุ่มแม่น้ำโขง และอิทธิพลวัฒนธรรมล้านนาจากภาคเหนือ ที่มีบทบาทเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมเขมรโบราณที่ค่อย ๆ เสื่อมลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างมาก ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 (700 – 200 ปีมาแล้ว) ช่วงเวลานี้พุทธศาสนาลัทธิเถรวาทกลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง

มีการรับเอาคติความเชื่อเกี่ยวกับตำนานอุรังคธาตุ รูปแบบงานศิลปกรรมที่ปรากฏมีลักษณะเฉพาะแสดงอิทธิพลของวัฒนธรรมล้านช้างอย่างชัดเจน คือพระธาตุทรงบัวเหลี่ยม อาทิพระธาตุศรีสองรัก พระธาตุขามแก่น พระธาตุบังพวน ส่วนพระพุทธรูปต่าง ๆ นิยมสร้างขึ้นตามความเชื่อในการสืบทอดพระพุทธศาสนา อย่างเช่น พระบุเงินบุทอง พระพุทธรูปสำริด แสดงถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมล้านช้าง ผสมผสานความเป็นพื้นถิ่นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะส่วนฐานพระพุทธรูปที่เรียกว่าแอวขัน

5.สมัยรัตนโกสินทร์

จัดแสดงเกี่ยวกับการสร้างเมืองขอนแก่น ได้เริ่มขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2340 ปรากฏชื่อเจ้าเมืองนามว่า “เพียเมืองแพน” จากนั้นเปลี่ยนนามมาเป็น “พระนครศรีบริรักษ์” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” มาเป็น “จังหวัด” และให้เรียก “เจ้าเมือง” เป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ในปีพ.ศ. 2459 จากนั้นได้เปลี่ยนนามตำแหน่งมาใช้ “ข้าหลวงประจำจังหวัด” ก่อนที่จะเปลี่ยนกลับมาใช้ผู้ว่าราชการจังหวัด อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2495 และใช้จนมาถึงปัจจุบัน ศิลปวัตถุที่จัดแสดงจึงมีความเกี่ยวข้องกับพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่น อาทิ ตราประทับเจ้าเมือง เสื้อผ้าไหมประจำตำแหน่ง

6.ห้องศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน

จัดแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม และประเพณีความเชื่อท้องถิ่นของประชากรหลากเชื้อชาติ ที่อาศัยร่วมกันในภูมิภาคอีสาน ปรากฏหลักฐานจากการแต่งกาย เครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่อยู่อาศัยตลอดจน เครื่องดนตรี นาฏศิลป์สะท้อนเอกลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่

7.อาคารจัดแสดงใบเสมา

จัดแสดงใบเสมาหินทรายทั้งที่มีภาพสลักเล่าเรื่องใบเสมามีจารึก ศิลาจารึก ชิ้นส่วนประติมากรรมหินทราย และส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทรายที่พบจากโบราณสถานในภาคอีสานตอนบน บริเวณรอบอาคารมีการจัดแสดงลักษณะการจัดวางของกลุ่มใบเสมาต่าง ๆ ที่ได้จากการสำรวจ และขุดค้นทางโบราณคดี

โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น เปิดบริการเวลา 09.00-16.00 น. วันพุธ-วันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์,วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น เป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญ ที่ทัวร์ ‘ทวารวดี’ ปะทะ ‘เขมร’ วัฒนธรรมไฮบริดต้นลุ่มน้ำชี จ.ชัยภูมิ-ขอนแก่น ของมติชนอคาเดมี จะพาทุกท่านไปชม

ครั้งแรกกับการดีเบตของ2วิทยากร เกี่ยวกับเรื่องราววัฒนธรรมไฮบริดต้นลุ่มน้ำชี การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเขมรกับวัฒนธรรมทวารวดี

โดยรศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ จะมาบอกเล่าถึงวัฒนธรรมเขมร ต้นลุ่มน้ำชี

และ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จะมาเล่าถึง วัฒนธรรมทวารวดี ต้นลุ่มน้ำชี 

ทริป2วัน1คืน วันเสาร์อาทิตย์ที่ 9-10 พฤศจิกายน 2562

ราคา 7,200 บาท

คลิกดูโปรแกรมเดินทาง >>> https://bit.ly/2MDaLsO

___________________________________

สนใจติดต่อ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งได้ที่

inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี

โทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105

line : @matichon-tour

หรือ line : @matichonacademy