Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เที่ยวตามรอย ร.5 เมืองโบราณ@โคราช (1) #พาเที่ยวทิพย์ไปทุกๆ ที่…‼

ภายในบริเวณเมืองเสมา หรือเมืองศรีจนสะ เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินยังเมืองนครราชสีมา หลังจากมีการสร้างทางรถไฟเสร็จเรียบร้อยและเปิดเดินรถแล้ว ในปี พ.ศ.2446 ระหว่างวันที่ 10-20 มกราคม ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปตรวจราชการที่จังหวัดนครราชสีมา 

ในครั้งนี้ได้เสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่ง ตั้งแต่เมืองโบราณเสมา ปราสาทเมืองแขก ปราสาทโนนกู่  ปราสาทพิมาย  ท่านางสระผม  กุฏิฤาษี  ไทรงาม และปราสาทพนมวัน ซึ่งมีปรากฏอยู่ใน “รวมเรื่องเมืองนครราชสีมา” ดังนี้

วันที่ 12 มกราคม เวลาเช้า 1 โมงเศษ เสด็จทรงม้าไปประทับรถไฟพิเศษไปประพาสอำเภอสูงเนิน เมื่อถึงสะเตชั่นสูงเนิน ได้เสด็จทรงม้าไปประทับที่ว่าการอำเภอประมาณครู่หนึ่ง แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรเสมาร้าง (สันนิษฐานว่าคือเมืองโบราณเสมา) แลเทวสถานที่เมืองเก่า ซึ่งราษฎรเรียกว่าเมืองแขก กับเทวสถานกู่แลเทวสถานที่เมืองเก่า แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นรถไฟพิเศษที่ตำบลกุดจิก กลับไปประทับพลับพลาเมืองนครราชสีมา

วันที่ 14 มกราคม เวลาเช้า 1 โมงเศษ เสด็จทรงม้าออกจากหนองบัวบ้านตูม (บ้านตูม ตำบลทองหลาง อำเภอจักราช) ไปประทับร้อนที่พลับพลาห้วยศักราช (ปัจจุบันเรียกห้วยจักราช) อำเภอเมืองพิมาย เวลาบ่าย 1 โมงเศษ เสด็จทรงช้างไปถึงวังหิน แล้วเสด็จประทับเรือทอดพระเนตรลำน้ำวังหิน ไปขึ้นที่ท่าริมเมือง แล้วเสด็จทรงช้างมาประทับแรมที่พลับพลาเมืองพิมาย เวลาประมาณย่ำค่ำเศษ

วันที่ 15 มกราคม เวลาเช้า เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรปราสาทหินแลคลังเงิน (ปัจจุบันเรียกพลับพลาเปลื้องเครื่อง ปราสาทพิมาย) ซึ่งก่อด้วยหินตามที่ราษฎรได้เรียกกันมาแต่เดิม เมื่อทรงทอดพระเนตรทั่วแล้ว ได้เสด็จกลับยังพลับพลา ครั้นเวลาบ่ายได้เสด็จวอทอดพระเนตรสระเพลงแลเมรุพรหมทัต แล้วเสด็จประทับพลับพลาที่สนามหญ้าริมที่ว่าการอำเภอ ทอดพระเนตรมวย แล้วเสด็จประทับที่ว่าการอำเภอพิมาย มีรับสั่งให้นายเหม นายอำเภอเมืองพิมาย ทดลองเครื่องสัญญาชนิดที่เรียกลูกบ้านมาประชุมจับโจรผู้ร้าย เมื่อลูกบ้านถือสาตราวุธมาประชุมพร้อมกัน ทอดพระเนตรแล้วเสด็จกลับพลับพลาที่ประทับ

วันที่ 16 มกราคม เวลาเช้า เสด็จทรงม้าไปทอดพระเนตรท่านางสระผม กุฏิฤาษี ไทรงาม แล้วเสด็จลงประทับเรือมาตามลำน้ำมูล มาขึ้นที่ท่าสงกรานต์ เลยเสด็จกลับมายังพลับพลา ทอดพระเนตรการที่นายอำเภอลองเครื่องสัญญาชนิดจับโจรอีก เพื่อให้ช่างถ่ายรูปลูกบ้านที่มาประชุมนั้นไว้ แล้วทอดพระเนตรมวย ซึ่งนายอำเภอจัดมาถวาย

คูน้ำ คันดิน ของผังเมืองเสมาหรือ ศรีจนสะ
ปราสาทเมืองแขก ไฮไลท์ของโบราณสถานในบริเวณนี้เลยก็ว่าได้ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15
ทางเข้าด้านหน้าปราสาทเมืองแขก

วันที่ 17 มกราคม เวลาเช้า เสด็จทรงช้างออกจากอำเภอเมืองพิมายมาประทับร้อนที่พลับพลาบ้านโคกพระ เวลาบ่ายประมาณ 2 โมง เสด็จทรงม้ามาประทับแรมที่พลับพลาบ้านทองหลาง อำเภอกลาง (สันนิษฐานว่าคือ บ้านทองหลาง ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง) ในที่นั้นได้มีมวยถวายทอดพระเนตร 1 คู่

วันที่ 18 มกราคม เสด็จทรงช้างจากพลับพลาบ้านทองหลางมาประทับพักร้อนพลับพลาวัดพนมวัน ท้องที่อำเภอเมือง แลทรงทอดพระเนตรเพลงและปราสาทหิน เวลาบ่าย เสด็จทรงช้างเข้าเมืองนครราชสีมา ประทับพลับพลาที่กองทหาร จนกระทั่งเช้าวันที่ 20 มกราคม จึงประทับรถไฟพิเศษกลับกรุงเทพฯ

ปราสาทเมืองเก่า เป็นศาสนสถานประจำอโรคยศาลในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

เรื่องบอกเล่าข้างต้น ทำให้เห็นสภาพของการเดินทางในสมัยอดีต ซึ่งการจะไปยังโบราณสถานต่างๆ นั้น เป็นเรื่องลำบากมิใช้น้อย ผิดกับยุคสมัยปัจจุบันที่สามารถเดินทางไปอย่างสะดวกง่ายดาย หากใครมีโอกาสก็สามารถไปเที่ยวตามรอยพระองค์ท่านได้  สถานที่แรก “เมืองโบราณเสมา” เมืองโบราณที่น่ารัก สงบ และน่าอยู่อย่างมากในปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน หนแรกที่ไปเยือนไม่คาดคิดว่าโคราชก็มีเมืองโบราณกับเขาด้วย สันนิษฐานว่าเมืองเสมาน่าจะเป็นชุมชนโบราณก่อนมีการย้ายเมืองมาที่ตัวเมืองนครราชสีมาในปัจจุบัน  เมืองเสมาแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกเป็นชุมชนวัฒนธรรมแบบทวาราวดี มีการรับเอาวัฒนธรรมอินเดีย คือศาสนาพราหมณ์และพุทธเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่คงขนบธรรมเนียมบางอย่างไว้ เช่น การฝังศพนอนหงายเหยียดยาว รวมทั้งอุทิศสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่ศพ  ช่วงที่สอง-พบหลักฐานการอยู่อาศัยต่อเนื่องจากสมัยแรก แต่เป็นชุมชนที่รับเอาวัฒนธรรมเขมรเข้ามา จนภายหลังพุทธศตวรรษที่ 18-19 ไม่ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์อีกเลย สันนิษฐานว่าเมืองแห่งนี้อาจถูกทิ้งร้างมาจนถึงปัจจุบัน

ที่เมืองโบราณเสมายังเห็นร่องรอยคูน้ำ-คันดิน และกำแพงดินล้อมรอบเป็นบางส่วน ภายในเมืองมีสภาพเป็นป่าโปร่ง ปัจจุบันสภาพพื้นที่ถูกปรับไถปลูกพืชไร่นา จึงเหลือที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเอาไว้อยู่ประมาณ 2,475 ไร่  แต่ก็นับว่าเมืองเสมาเป็นเมืองโบราณที่สมบูรณ์ที่สุดอีกเมืองหนึ่ง แม้ว่าโบราณสถานภายในเมืองถูกลักลอบขุดทำลายเพื่อหาโบราณวัตถุไปจำหน่าย  โบราณสถานที่พบภายในเมืองมีทั้งสิ้น 9 แห่ง โดย 6 แห่งอยู่ในเมืองรูปกลมรี อีก 3 แห่งอยู่ด้านทิศเหนือในเมืองวงใหญ่ที่มีรูปค่อนข้างกลม นอกจากนี้ ยังมีโบราณสถานนอกเมืองที่สำคัญอีก 2 แห่ง คือ พระนอนในวัดธรรมจักรเสมาราม และสถูปในวัดแก่นท้าว  โบราณสถานทั้งหมดได้รับการขุดแต่ง บูรณะเสริมความมั่นคงและปรับภูมิทัศน์แล้วเสร็จ ยกเว้นสถูปในวัดแก่นท้าว สำหรับโบราณวัตถุที่พบ อาทิ ธรรมจักรศิลา จารึกเมืองเสมา จารึกบ่ออีกา และจารึกศรีจนาศะ

โดยจารึกบ่ออีกาและจารึกศรีจนาศะ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชาแห่งศรีจนาศะ มีบุคคลที่ชื่อว่า “อังศเทพ” สร้างศิวลึงค์ทองคำอันเป็นสัญลักษณ์พระอิศวรในลัทธิไศวนิกาย และได้รับดินแดนอยู่นอกกัมพุเทศ จารึกหลักนี้ทำขึ้นในพุทธศักราช 1480  ส่วนจารึกเมืองเสมาเป็นจารึกในพุทธศักราช 1514 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 กล่าวถึงพราหมณ์ยัชญวราหะ สั่งให้ทำจารึกขึ้นไว้ที่เมืองเสมา เพื่อแสดงอำนาจเมืองพระนครแห่งอาณาจักรเขมร

“ปราสาทเมืองแขก” แทบจะเรียกว่าเป็นไฮไลท์ของเมืองเลยก็ว่าได้ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 ตั้งอยู่ที่บ้านกกกอก ตำบลโคราช อยู่เลยปราสาทโนนกู่ไปประมาณ 600 เมตร ที่แห่งนี้เป็นศาสนสถานแบบศิลปะเขมร ก่อด้วยอิฐปนหินทราย ประกอบด้วยปรางค์ 3 หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศเหนือ  ปัจจุบันเหลือเพียงมณฑปด้านหน้า ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและคูน้ำคันดินอีกชั้นหนึ่ง มีซุ้มประตูทิศเหนือเป็นทางเข้า-ออก นอกประตูซุ้มบนคันดินชั้นนอกสุด มีซากปราสาทขนาดย่อมอีกสองหลัง หน่วยศิลปากรได้ขุดแต่งและพบทับหลังสลักลายตามแบบศิลปะเขมรสมัยเกาะแกร์แปรรูป รวมทั้งศิลาจารึกที่ถูกนำมาก่อเป็นฐานประตูซุ้มชั้นนอกสุด นอกจากนี้แล้วยังขุดพบประติมากรรมและลวดลายจำหลักหลายชิ้น

โบราณสถานในเมืองเสมาที่เหลือเพียงฐานก่อด้วยอิฐ
ปราสาทโนนกู่ เป็นโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลของขอม
ด้านหน้าของปราสาทโนนกู่จะมองเห็นอาคารหลังเดียวบนฐานสูง

“ปราสาทโนนกู่” จากแยกวัดญาณโศภิตวนารามไป 3 กิโลเมตร เป็นศาสนสถานแบบศิลปะเขมร ก่อด้วยอิฐปนหินทราย ประกอบด้วยปรางค์หลังเดี่ยวบนฐานสูง ด้านหน้ามีวิหารหันเข้าหาปรางค์ประธาน 2 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นทางเข้า-ออก และที่ลานระหว่างวิหารทั้งสองพบ “โคนนทิ”หมอบในอาการเคารพปราสาทประธาน อันเป็นที่สถิตของพระศิวะตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู  ปัจจุบันตัวปรางค์เหลือเพียงฐาน มีการขุดพบเศียรพระพุทธรูป เทวรูปและวัตถุโบราณหลายชิ้นภายในบริเวณปราสาทแห่งนี้

ปราสาทเมืองเก่าที่ปัจจุบันยอดปรางค์หักทลายเหลือเพียงครึ่งองค์

“ปราสาทเมืองเก่า” อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นศาสนสถานประจำอโรคยศาลในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตามที่ปรากฏในจารึกปราสาทตาพรหม ที่กล่าวว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างอโรคยศาล 102 แห่งทั่วราชอาณาจักร  หนึ่งในนั้นก็คือปราสาทเมืองเก่า อยู่เลยปราสาทเมืองแขกไปประมาณ 3.3 กิโลเมตร องค์ปรางค์ของปราสาทเมืองเก่าก่อเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมย่อไม้สิบสอง มีประตูและมุม 4 ทิศ ประตู้ซุ้มอยู่ทางทิศตะวันออกและกรอบประตูทำด้วยศิลาทราย ปัจจุบันยอดปรางค์หักทลายเหลือเพียงครึ่งองค์

..ทั้งสามปราสาทนี้ คือปราสาทเมืองแขก ปราสาทโนนกู่ และปราสาทเมืองเก่า จะมีลักษณะคล้ายๆ กัน อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมของขอมได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในเมืองเสมา ต้นกำเนิดของเมืองโคราชปัจจุบัน

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

กรอบประตูที่ปราสาทเมืองแขก เป็นเสาหินทรายสลักลวดลายยังเห็นชัด สวยงาม