Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ฯราชบุรี ย้อนประวัติศาสตร์‘ทวารวดี-รัตนโกสินทร์’

อยากจะศึกษาร่องรอยประวัติศาสตร์ สิ่งหนึ่งที่หลายๆคนนึกถึง คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และหากอยากจะศึกษาประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัด หลายคนตรงดิ่งไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดนั้นๆ

ยกตัวอย่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี  มีเรื่องราวของสภาพภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของจ.ราชบุรี มีเรื่องของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจ.ราชบุรี ตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดี และอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร

น.ส.ประจิน เครือจันทร์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี เล่าถึงประวัติความเป็นมาในการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ว่า จัดตั้งขึ้นตามโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เมือง อาคารหลังนี้แต่เดิมเป็นศาลารัฐบาลมณฑลราชบุรี ต่อมาใช้เป็นศาลากลางจังหวัดราชบุรี หลังจากนั้นกรมศิลปากรขอใช้ในการตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรีจนถึงปัจจุบัน

“สำหรับการจัดแสดงเป็นไปตามลักษณะของพิพิธภัณฑ์เมือง คือ มีเรื่องราวตั้งแต่สภาพภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของจ.ราชบุรี มีเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจ.ราชบุรี ตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดี อิทธิพลวัฒนธรรมเขมร สุโขทัยถึงอยุธยา และรัตนโกสินทร์ หลังจากนั้นจะเป็นเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ในจ.ราชบุรี มีทั้งหมด8กลุ่มชาติพันธุ์

“มีเรื่องราวมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติของจ.ราชบุรี รวมทั้งเรื่องของบุคคลสำคัญ จะมีทั้งพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และบุคคลสำคัญท่านอื่นๆที่มีความเกี่ยวข้องและได้กระทำคุณประโยชน์แก่เมืองราชบุรี

“ส่วนห้องสุดท้ายจะเป็นห้องราชบุรีราชสดุดีเป็นเรื่องเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่9 ได้ทรงพระราชดำเนินมาจ.ราชบุรี และได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ”น.ส.ประจินกล่าว

ทั้งนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ได้จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญเอาไว้จำนวนมาก โดยน.ส.ประจิน เผยว่า จะมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี พบในประเทศไทยทั้งหมด5องค์ โดยจะพบที่โบราณสถาน จอมปราสาท ที่สระโกสินารายณ์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี 1 องค์ ที่ลพบุรี2องค์ ปราสาทเมืองสิงห์ ที่กาญจนบุรี 1 องค์ วัดกำแพงแลง จ.เพชรบุรี 1 องค์ การพบพระโพธิสัตว์เป็นไปตามชื่อเมืองที่ปรากฏอยู่ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ของพระเจ้าชัยวรมันที่7

“นอกจากนั้นยังมีพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุอยู่ในผอบทองคำ เราพบที่เจดีย์หมายเลข1ที่เมืองโบราณคูบัว พระแสงราชศาสตราประจำมณฑลราชบุรี รัชกาลที่6 ทรงพระราชทานให้กับหม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร เมื่อปี2459”หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรีเผย

สำหรับผู้สนใจเข้าชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี เปิดวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์-อังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์