Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เช็กอิน ‘ปราสาทหิน’ ถิ่นอีสานใต้ จากโคราชถึงบุรีรัมย์ สำรวจวิมายปุระ ข้ามกาลเวลา ณ ภูพนมรุ้ง

ปราสาทหินพิมาย

เช็กอิน ‘ปราสาทหิน’ ถิ่นอีสานใต้ จากโคราชถึงบุรีรัมย์

นับเป็นดินแดนที่ชวนให้เดินทางไปสัมผัสความงดงามแห่งอารยธรรมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับ ‘อีสานใต้’ ซึ่งมากมายด้วยเสน่ห์เร้นลับของเหล่าปราสาทหินที่เดินทางผ่านกาลเวลาอันรุ่งโรจน์ในวันวานสู่มรดกวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติในวันนี้

กลิ่นอายแห่งประวัติศาสตร์ครั้งเก่าก่อนสะท้อนความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา อีกทั้งสายใยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไร้พรมแดนจากกัมพูชาถึงที่ราบสูงของไทย ทิ้งไว้ซึ่งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม อีกทั้งงานศิลป์อันน่าตื่นตาตื่นใจ

เยือน ‘วิมายปุระ’ ค้นปริศนาปราสาทหินพิมาย ต้นแบบนครวัด?

ปักหมุดที่จุดเริ่มต้นบนแผนที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อันเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณนาม ‘วิมายปุระ’ ตามปรากฏในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ กัมพูชา พาไปเยี่ยมเยือนมิติกาลเวลาที่เหลื่อมซ้อน ก้าวสู่ปราสาทหินพิมายซึ่งในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ชมสถาปัตยกรรมที่มีผู้สันนิษฐานว่าอาจเป็นต้นแบบให้แก่ปราสาทนครวัดอันยิ่งใหญ่ เพราะปราสาทหินพิมายถูกเนรมิตขึ้นก่อนถึง 60 ปี ด้วยศิลป์สถาปัตย์อันสอดคล้องต้องกัน

โบราณสถานแห่งนี้ ยังนับว่าเป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนแผ่นดินไทย จากการค้นคว้าของนักวิชาการยังพบว่าเป็นสถาปัตยกรรมโบราณที่มีการสร้างซ้อนทับหลากยุคสมัย กระทั่งปรากฏชัดถึงการใช้งานเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธมหายาน หรือวัชรยาน หาใช่ศาสนาพราหมณ์ฮินดูดังเช่นที่คุ้นเคย

ย้ำชัดผ่านทับหลังจำหลักภาพองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งพระโพธิสัตว์ สอดรับกับข้อความที่จดจารในศิลาจารึกซึ่งเอ่ยถึง ‘กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย’ รูปเคารพสำคัญอันเป็นองค์ประธานของปราสาท พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พบที่ปรางค์พรหมทัต ปราสาทพิมาย จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

นอกจากนี้ ไฮไลต์ที่ไม่ชมให้ประจักษ์แก่สายตาไม่ได้ มีด้วยกันหลายชิ้น อาทิ ทับหลังสลักเสลารูปพระโพธิสัตว์ไตรโลกยวิชยะ เนื่องในพระพุทธศาสนาแบบวัชรยาน, ทับหลังเล่าเรื่องมารผจญ

พุทธประวัติตอนสำคัญที่คนไทยคุ้นเคย เผยภาพพระยาวัสสวดีมาร เข้าผจญพระพุทธองค์เมื่อครั้งกำลังจะตรัสรู้ โดยมีแม่พระธรณีผุดขึ้นมาบีบน้ำจากมวยผมปราบกองทัพพญามาร เป็นต้น

ไม่เพียงปราสาทหินพิมายที่เชื้อเชิญให้สัมผัสซึ่งความงดงาม หากแต่ยังมีศิลปกรรมชิ้นเอกอีกมากมายจัดแสดงใน ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย’ ที่รวบรวมไว้ซึ่งโบราณวัตถุที่ในเมืองพิมาย อีกทั้งแหล่งโบราณคดีในจังหวัดนครราชสีมาและอีสานใต้ ละลานตา เพลิดเพลินใจ เพ่งพินิจในรายละเอียดอันสุดประณีตได้อย่างไม่รู้เบื่อ

อีกหนึ่งประเด็นต้องขีดเส้นใต้ คือ ปริศนาในวงวิชาการที่ว่า เมืองพิมายหรือวิมายปุระอาจเป็นเมืองพื้นเพเดิมของบรรพชนกษัตริย์เขมรโบราณ นั่นคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด รวมถึง พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ อีกด้วย

พินิจ ‘ศิวนาฏราช’ แห่งพนมรุ้ง

แวะเมืองต่ำ ย้อนฉากโจรกรรมโพธิสัตว์ ณ ภูปลายบัด

จากเมืองพิมาย เช็กโลเกชั่นต่อไปยัง อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ยืนเบื้องหน้าปราสาทหินพนมรุ้งซึ่งได้รับยกย่องว่างามที่สุดในประเทศ ถูกสร้างขึ้นบนภูพนมรุ้ง ภูเขาไฟที่ดับสนิท เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ภายใต้ศิลปะแบบนครวัด ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ลัทธิไศวะนิกายซึ่งนับถือพระอิศวรหรือพระศิวะเป็นใหญ่

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พบที่ปรางค์พรหมทัต ปราสาทพิมาย จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
หน้าบันศิวนาฏราช ปราสาทหินพนมรุ้ง
ทางขึ้นปราสาทหินพนมรุ้ง

เพ่งมองศิวนาฏราชบนทับหลังชิ้นเด่นขึ้นชั้นมาสเตอร์พีซ

มองให้ลึกถึงรายละเอียดอันลึกซึ้งของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยรอนแรมไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ไกลโพ้นถึงสหรัฐอเมริกา ก่อนถูก ‘ทวงคืน’ กลับมาสำเร็จ เดินทางกลับถึงไทยแลนด์เมื่อปลายปี 2531

ตัวปราสาทประธานสร้างด้วยหินทราย อย่างไรก็ตาม ปรากฏหลักฐานปราสาทอิฐที่ถูกสร้างขึ้นก่อนหน้าอีกทั้ง ‘ปรางค์น้อย’ ใช้เวลาเดินอ้อยอิ่งซึมซาบทุกความงามในรายละเอียด

สำรวจการทำงานของ ‘ท่อโสมสูตร’ ที่ชนชั้นสูงราดรดน้ำบนศิวลึงค์รินไหลกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อยุคบรรพกาล

อีกประเด็นน่าสนใจ คือ เรื่องราวของ ‘นเรนทราทิตย์’ เชื้อพระวงศ์องค์สำคัญผู้ปรากฏนามในจารึกปราสาทพนมรุ้งว่าเป็นผู้สร้างปราสาทพนมรุ้งงดงามตระการตาแห่งนี้

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
ทางขึ้นปราสาทหินพนมรุ้ง

จากภูพนมรุ้ง ซึ่งรายล้อมด้วยชุมชนขนาดใหญ่ ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับเมืองพระนครในกัมพูชา ห่างออกไปไม่ไกล ยังมี ‘ภูปลายบัด’ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ‘ปราสาทปลายบัด’ อีกหนึ่งศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นฉากลอบขุดมรดกวัฒนธรรมของชาติครั้งใหญ่ อย่าง ‘โพธิสัตว์สัมฤทธิ์’ อายุราว 1,300 ปี ขายฝรั่งต่างชาติองค์ละ 3-5 พันบาท จนถึงหลักแสนเมื่อราว 50 ปีก่อน

กระทั่งพบว่าบางองค์ถูกนำออกประมูลหลักล้าน ขณะที่บางองค์จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยระบุในป้ายอย่างชัดแจ้งว่ามาจากปราสาทปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์ นำมาซึ่งการ ‘ทวงคืน’ สมบัติชาติกลับมาตุภูมิโดยกลุ่มนักวิชาการ ‘สำนึก 300 องค์’ นำโดย ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี ผลักดันต่อเนื่องกระทั่งรัฐบาลไทยตั้ง ‘คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ’ โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้ส่งมอบบัญชีโบราณวัตถุที่เชื่อว่าเป็นโบราณวัตถุไทย จำนวน 133 รายการ ให้ฝ่ายสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันได้คืนแล้วบางส่วน แต่ประติมากรรมพระโพธิสัตว์ยังอยู่ระหว่างดำเนินการด้วยความหวัง

นับได้ว่า เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งมีเรื่องราวเล่าขานอย่างเข้มข้นจนต้องไปเยือนถึงสถานที่จริงสักครั้ง

ปราสาทปลายบัด 2 บนภูปลายบัด
ปราสาทปลายบัด 2 บนภูปลายบัด

อีกปราสาทยิ่งใหญ่สร้างด้วยหินทรายบนเส้นทางอารยธรรมขอมจากเมืองพระนครในประเทศกัมพูชา ขึ้นสู่ทางเหนือผ่านเทือกเขาพนมดงรัก คือ ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากปราสาทพนมรุ้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร

ปราสาทเมืองต่ำ ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ สร้างจากศิลาทราย ความโดดเด่นคือแผนผังอลังการ ล้อมด้วยสระน้ำ 4 มุม ภายนอกยังมีบารายให้ความชุ่มฉ่ำ สร้างตามคติความเชื่อทางศาสนาฮินดู เพื่อถวายพระศิวะ มีลักษณะเป็นศาสนสถานประจำชุมชน

ปราสาทเมืองต่ำ ล้อมด้วยสระน้ำ งดงามที่แผนผัง
ปราสาทเมืองต่ำ

พระนอนหินทราย เมืองเสมา ทวารวดีที่แอ่งโคราช

ปิดท้ายด้วยกลิ่นอายวัฒนธรรม ‘ทวารวดี’ ก่อนการมาถึงของอารยธรรมเขมรโบราณ แวะเมืองเสมา เมืองโบราณในเขตจังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของลำตะคอง ห่างจากที่ว่าการอำเภอสูงเนินไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร พบโบราณวัตถุร่วมสมัยทวารวดี อาทิ ธรรมจักรหิน รวมถึงศิลาจารึกบ่ออีกา ระบุศักราชที่ตรงกับ พ.ศ.1411

กราบสักการะพระนอน วัดธรรมจักรเสมาราม พระพุทธรูปหินทรายสมัยทวารวดีอายุราว 1,300 ปี ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ประดิษฐานภายในเมืองเสมาทางฝั่งทิศตะวันออกเฉียงใต้

ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเสด็จลงพื้นที่สำรวจเมื่อ พ.ศ.2512 ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม ในขณะนั้นผู้คนยังคิดว่าเป็นพระพุทธรูปประทับยืน จึงมีการนำส่วนพระบาทตั้งขึ้นดังปรากฏในภาพถ่ายเก่า แต่ต่อมาทราบว่าเป็นพระนอน จึงนำส่วนพระบาทวางตะแคง พระเศียรหันไปทางทิศเหนือ

ปัจจุบัน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา ในขณะเดียวกัน นับเป็นหลักฐานสำคัญแห่งอารยธรรมทวารวดีในภาคอีสานของไทยอีกด้วย

เป็นเส้นทางต้องปักหมุด หยุดสายตาไว้ ณ เหล่าปราสาทหินซึ่งไม่เพียงงดงาม หากแต่ประกอบสร้างขึ้นจากประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์จากศาสนสถานแห่งความศรัทธาในวันวานสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ควรค่าแก่การเยี่ยมเยือน

พระนอนทวารวดีอายุ 1,300 ปี วัดธรรมจักรเสมาราม เมืองเสมา

ทัวร์สุดยอดปราสาทหิน ถิ่นอีสานใต้ นครราชสีมา-บุรีรัมย์ โดย มติชนอคาเดมี

ศุกร์ที่ 26-อาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม วิทยากร ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

พาชม ปราสาทหินพิมาย, ปราสาทหินพนมรุ้ง, ปราสาทเมืองต่ำ, ปราสาทปลายบัด 2, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย, พระนอนหินทรายศิลปะทวารวดีอายุกว่า 1,300 ปี รวมถึงธรรมจักรหินทราย วัดธรรมจักรเสมาราม และ เมืองเสมา

ราคา 12,900 บาท (พักเดี่ยวเพิ่ม 1,000 บาท) โปรโมชั่น มาคู่ ลดทันที 1,800 บาท

พักโรงแรม 4 ดาว เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ทแอนด์แอดเวนเจอร์แคมป์ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

เสิร์ฟอาหารเลิศรสตลอดการเดินทาง

สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่ง

  • โทร 08-2993-9097, 08-2993-9105
  • Inbox เฟซบุ๊ก Matichon Academy-มติชนอคาเดมี
  • Line : @matichon-tour,@matichonacademy
ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

รู้จักวิทยากรประจำทริป

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี อารยธรรมเขมรโบราณ

แกนนำทวงคืนโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ของไทยจากต่างแดนในนามกลุ่ม ‘สำนึก 300 องค์’

หนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลไทย

มีผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ปราสาทหิน อาทิ การอนุรักษ์โบราณสถาน : ปราสาทพลสงคราม และกู่บ้านปราสาท ร่วมกับ ดุสิต ทุมมากรณ์ สำนักศิลปากรที่ 2 นครราชสีมา เป็นต้น

ที่มา : มติชนรายวัน

ผู้เขียน : พรรณราย เรือนอินทร์