Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เชื่อเลย !! ขุนนางอยุธยาพูด “ภาษาโปรตุเกส” ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ”

อัลฟงโซ ดือ อัลบูแกร์เกอ (Afonso de Albuquerque) อุปราชโปรตุเกสคนที่ 2 ประจำเมืองกัว (Goa) ที่อินเดีย ยึดมะละกาใน พ.ศ. 2053 (ค.ศ. 1510) ได้ส่งทูตไปยังอยุธยาทันที หมายจะให้เป็นพันธมิตรร่วมรบ และสนับสนุนเสบียงอาหาร ซึ่งทูตโปรตุเกสเดินทางไปอยุธยาก่อนที่การยึดมะละกาจะเรียบร้อยเสร็จสิ้นเสียอีก กว่าทูตจะถึงอยุธยา โปรตุเกสก็ยึดมะละกาได้พอดี

ขุนนางอยุธยา

สืบเนื่องจากการไปเที่ยวซอกแซกในอยุธยา ทำให้ได้รับความรู้จากนักประวัติศาสตร์รุ่นเก๋า “สุจิตต์ วงษ์เทศ” เกี่ยวกับเรื่องของภาษาในเมืองหลวงอยุธยาราชธานี แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่อย่างที่เราคิด เพราะอะไรนั้น….???

สุจิตต์ วงษ์เทศ ว่าไว้อย่างนี้…

“ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษากลางทางการค้าและการทูตในเอเชีย ขณะเดียวกันก็เป็น “ภาษากึ่งทางการ” ของอยุธยา โปรตุเกสเป็นฝรั่งกลุ่มแรกเดินทางไปติดต่อค้าขายกับอยุธยา ภาษาโปรตุเกสก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้าและการทูตของอยุธยา นอกจากนั้น ยังอาจสำคัญกว่าที่คิด เพราะภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาของ “ขุนนางอยุธยาระดับเสนาบดี”  เนื่องจากเสนาบดีเกือบทุกคนในอยุธยาพูดภาษาโปรตุเกสกับชาวตะวันตกอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ฯลฯ ที่ไปติดต่อราชการกับอยุธยา ซึ่งเท่ากับภาษาโปรตุเกสเป็น “ภาษากึ่งทางการ” ของอยุธยา (ข้อมูลเกี่ยวกับโปรตุเกสได้จากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท เรื่องชุมชนชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2059-2310 โดยนายพิทยะ ศรีวัฒนสาร ภาควิชาประวัติศาสตร์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ พ.ศ.2541)…”

“…โปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกกลุ่มแรกที่ไปมาค้าขายในพระนครศรีอยุธยา ราว พ.ศ.2061 ตรงกับแผ่นดินพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ.2034-2072 นอกจากนั้น ยังตั้งห้างค้าขายที่เมืองปัตตานี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองมะริด(พม่า) ฯลฯ (จากคำอธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2457) หลังจากนั้นจึงมีชาวตะวันตกกลุ่มอื่นๆ ทยอยเข้าไปติดต่อค้าขายกับรัฐอยุธยาแล้วตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจาย ได้แก่ ฮอลันดา(เนเธอร์แลนด์) อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน สกอตแลนด์ เดนมาร์ก ฯลฯ

ปืนไฟ เป็นเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สำคัญอันดับแรกของวัฒนธรรมตะวันตกที่แผ่เข้าถึงรัฐอยุธยาสมัยแรกๆ ซึ่งนำเข้าโดยพวกโปรตุเกสที่เป็นทหารรับจ้างออกรบในแผ่นดินพระไชยราชา(พ.ศ.2077-2089) ทำให้กองทัพอยุธยามีอานุภาพเป็นที่เกรงขามของบ้านเมืองโดยรอบในสมัยนั้น แล้วมีผลให้พ่อค้าโปรตุเกสเข้านอกออกในใกล้ชิดราชสำนักอยุธยา นับแต่นั้นพวกโปรตุเกสได้รับอนุญาตตั้งบ้านเรือนวัดวาอาราม
และสถานีการค้าในพระนครศรีอยุธยา อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยานอกเกาะเมืองทางทิศใต้(ใกล้ชุมชนมลายูมุสลิม คลองตะเคียน)

..อาหารการกิน โดยเฉพาะของหวานหรือขนมในวัฒนธรรมโปรตุเกสถ่ายทอดให้ชาวอยุธยา แล้วสืบทอดจนทุกวันนี้เป็นที่รู้กัน ได้แก่ ทองหยิบ ฝอยทอง ทองหยอด บ้าบิ่น ลูกชุบ ขนมผิง ทองม้วน หม้อแกง ขนมไข่ กะหรี่ปั๊บ ฯลฯ มีคำอธิบายแหล่งกำเนิดในโปรตุเกสของขนมบางอย่างเช่น ขนมตรูซูช ดาช กัลดัช เป็นต้นตำรับของขนมทองหยิบ  ขนมเกลชาดาช ดึ กูอิงบรา เป็นต้น

ตำรับของขนมบ้าบิ่น มีเนยแข็งเป็นส่วนผสม แต่ในไทยใช้มะพร้าวแทน  ลูกชุบเป็นขนมประจำท้องถิ่นของแคว้นอัลการ์วึในโปรตุเกส มีเม็ดอัลมอนด์เป็นส่วนผสมสำคัญ แต่ในไทยใช้ถั่วเขียวแทน…”

ภาษาโปรตุเกสและเทคโนโลยี่ตะวันตกโดยเฉพาะการพิมพ์เป็นหนึ่งในหลายอย่างของวัฒนธรรมก้าวหน้าจากนานาชาติที่แพร่หลายมาถึงรัฐอยุธยา มีพลังกระตุ้นการรับรู้และการเรียนรู้สู่โลกกว้างที่ต่างจากเดิม อันเป็นที่รู้กันในหมู่ชนชั้นนำรัฐอยุธยา และมีพลังดึงดูดความสนใจให้ชนชั้นนำอยุธยาเข้าหาข้อมูลความรู้ด้านอื่นๆ แล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนข้าถึงและใช้สร้างสรรค์งานต่างๆ รวมทั้งวรรรกรรม”

เป็นการอธิบายอย่างแจ่มแจ้งว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอยุธยาและชาวโปรตุเกสนั้นไม่ธรรมดา ถึงขั้นเข้านอกออกในราชสำนักอย่างสนิทสนม ต้องบอกว่ารัฐอยุธยาราชธานีไทย และเสนาบดีไทยทั้งหลายในสมัยนั้นความรู้ทางด้านภาษาและวิทยาการว่าไปแล้วไม่ด้อยไปกว่ายุคปัจจุบันเลย เผลอๆ อาจเก่งกว่าด้วยซ้ำไป!!

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

จดหมายของเสนาบดีไทยเขียนเป็นภาษาโปรตุเกส ส่งถึงประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อ พ.ศ.2361 ที่ทางการสหรัฐนำออกจัดแสดงนิทรรศการ “Great and Good Friends” เมื่อ พ.ศ.2561
แผนที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา "Judia, De Hoofd Stad de Siam-ยูทยา/ ยูเดีย เมืองหลักของสยาม" โดย ฟรังซัวร์ วาเลนทีน(ขอขอบคุณ http:xchange.teenee.com อย่างยิ่ง)
โบสถ์โปรตุเกสที่มะละกา(ขอบคุณภาพของอาจารย์ ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ )
โบสถ์โปรตุเกสที่มะละกา(ขอบคุณภาพของอาจารย์ ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ )
รูปหญิง-ชายชาวต่างชาติ เข้าใจว่าเป็นชาวโปรตุเกส ภาพจิตรกรรมบานประตู ที่วัดบางขุนเทียนนอก
แผนที่กรุงศรีอยุธยาเขียนโดยบาทหลวงกูร์โตแล็ง ชาวฝรั่งเศส พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2229 ตรงกับรัชสมัยพระนารายณ์ แสดงที่ตั้งชุมชนโปรตุเกส ดูในวงสีแดง
อาหารการกิน โดยเฉพาะของหวานหรือขนมในวัฒนธรรมโปรตุเกส ถ่ายทอดให้ชาวอยุธยา แล้วสืบทอดจนทุกวันนี้ เป็นที่รู้กัน ได้แก่ ทองหยิบ ฝอยทอง ทองหยอด บ้าบิ่น ลูกชุบ ขนมผิง ทองม้วน หม้อแกง ขนมไข่ กะหรี่ปั๊บ ฯลฯ