Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เคยเห็นไหมเครื่องถ้วยลาย “พระอไภย”???

ที่ห้องจัดแสดงเครื่องถ้วยในราชสำนัก พระที่นั่งวสันตพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีชามฝาลายน้ำทองเรื่อง “พระอภัยมณี”  ตอนหนีนางผีเสื้อสมุทร บนฝามีตัวหนังสือเขียนว่า  “พระอไภย” และที่ก้นชามมีตัวหนังสือเขียนว่า “อยางจินพุก”ชามฝาชุดนี้นำเข้าโดยพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก โชติกะพุกกณะ) ราวปลายรัชกาลที่ 4   ส่วนคำว่า “อยางจินพุก”  เป็นชื่อทางการของห้าง Jin Tang Fu Ji หรือ  “กิม ตึ๋ง ฮก กี่”  ของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) ผู้สั่งเครื่องถ้วยชุดพิเศษนี้เข้ามาในสยาม ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงให้พ่อค้าชาวจีนสามารถเป็นตัวแทนนำเข้าและจำหน่ายเครื่องถ้วยตามห้างต่างๆ ในกรุงเทพฯ ได้

ส่วนชามฝานี้เดิมเป็นสมบัติของพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร  หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2527

เครื่องถ้วยของไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  ถือเป็นยุคสุดท้ายของเครื่องเบญจรงค์ เพราะคนเริ่มนิยมเครื่องถ้วยที่สั่งเข้าจากประเทศทางยุโรป จีน และญี่ปุ่น 

อย่างไรก็ตาม การผลิตของคนไทยเองก็ยังมีอยู่ โดยมีเตาเผาผลิตเครื่องถ้วยลายน้ำทองที่สำคัญ คือ “เตากรมพระราชวังบวร” ซึ่งกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ในรัชกาลที่ 5 โปรดให้ตั้งเตาถ้วยชามเขียนลายไทยแบบเครื่องถ้วยลายน้ำทองขึ้น ที่มีชื่อและนิยมมาก คือกระโถนใบเล็ก ๆ เรียก “กระโถนค่อม” หรือ “กระโถนวังหน้า” ต่อมาเมื่อชาติตะวันตกมีการผลิตกระโถนติดรูปลอกลายไทยเพื่อเลียนแบบกระโถนวังหน้านี้ แต่มีฝีมือไม่ประณีตเท่าเรียกว่า “กระโถนบีกริม”

นอกจากนี้ ยังมีขุนนางบางคน เช่น พระยาสุนทรพิมล (เผล่  วสุวัต) ได้นำช่างจีนมาทำเครื่องถ้วยในเมืองไทย โดยตั้งเตาเผาไว้ที่ในบริเวณบ้านของท่านเอง และสั่งทำถ้วยชามสีขาวมาจากจีน แล้วให้ช่างเขียนลายแบบไทยขึ้น โดยวิธีเขียนสีลงยาบนเคลือบ (overglaze enamels) ส่วนลายที่นิยมเขียนมักเป็นเรื่องในวรรณคดีไทย เช่น พระอภัยมณี มัจฉานุ อุณรุท  เป็นต้น