Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

อิทธิพลศิลปะชวาต่อศิลปะศรีวิชัย

รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี

ภาคใต้ของประเทศไทยในพุทธศตวรรษที่ 12-16 อาจเคยอยู่ภายใต้อำนาจ (ทางการเมืองหรือทางวัฒนธรรม) ของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เกาะสุมาตราและคาบสมุทรมลายูซึ่งปัจจุบันคือ ประเทศมาเลเซียและภาคใต้ของประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ “ศิลปะศรีวิชัย” ทางภาคใต้ของประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับศิลปะชวาภาคกลางในประเทศอินโดนีเซียอย่างมาก

ในทางสถาปัตยกรรม โบราณสถานทั้ง 3 แห่งในเมืองไชยาอันได้แก่ วัดพระบรมธาตุไชยา วัดแก้ว และวัดหลง ถือเป็นตัวอย่างที่คล้ายคลึงกับจันทิในศิลปะชวาภาคกลางมากที่สุด

วัดหลงและวัดแก้ว มีแผนผังห้าห้องซึ่งทำให้กลายเป็นแผนผังกากบาท ซึ่งคล้ายคลึงกับจันทิในศิลปะชวาภาคกลางตอนปลายหลายแห่ง เช่น จันทิกะลาสัน จันทิเซวู และจันทิปรัมบะนัน อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าห้องทั้งห้าของวัดแก้วและวัดหลงเคยประดิษฐานพระธยานิพุทธเจ้าตามทิศดังเช่นจันทิในชวาหรือไม่ 

การตกแต่งผนังเรือนธาตุของวัดแก้ว ยังมีประเด็นเรื่อง “เสาติดผนังที่มีร่องเสาตรงกลาง” ซึ่งทำให้คล้ายคลึงอย่างมากกับปราสาทในศิลปะจามสมัยฮัวหล่าย อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าเสาติดผนังของจันทิกะลาสันก็ปรากฏแถบลายก้านขดประดับอยู่กลางเสา ดังนั้นวัดแก้วจึงอาจได้อิทธิพลทั้งจากศิลปะจามและศิลปะชวาภาคกลางไปพร้อมกัน 

พระบรมธาตุไชยา ถือเป็นเจดีย์ที่มีความใกล้เคียงกับจันทิในศิลปะชวาภาคกลางมากที่สุด เจดีย์มีฐานล่างขนาดใหญ่รองรับเรือนธาตุ ซึ่งทำให้นึกถึงจันทิเมนดุต ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุซึ่งมีเสาติดผนังที่มีร่องกลางเสา อันเป็นกรณีเดียวกับวัดแก้วหรือจันทิกะลาสันดังที่ได้วิเคราะห์ไปแล้ว ชั้นหลังคาของพระบรมธาตุไชยา ประกอบไปด้วยเรือนธาตุจำลองจำนวน 3 ชั้น โดยแต่ละชั้นมีซุ้ม

จระนำ เสาติดผนังและลวดบัวจำลองเลียนแบบเรือนธาตุจริง หลังคาลาดด้านบนประดับกูฑุ นอกจากนี้ยังมีการประดับสถูปิกะทั้งที่มุมและที่ด้านอีกด้วย ทั้งหมดนี้คล้ายคลึงกับการประดับยอดจันทิในศิลปะชวาภาคกลางตอนกลางและตอนปลาย เช่น ยอดของจันทิเมนดุตและจันทิบริวารของเซวู เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม พระบรมธาตุไชยาได้รับการบูรณะอย่างต่อเนื่องทั้งในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ จึงทำให้รายละเอียดรวมถึงยอดด้านบนสุดของพระบรมธาตุฯ ถูกเปลี่ยนแปลงไป จึงสามารถเทียบกับศิลปะชวาภาคกลางได้เพียงเค้าโครงเท่านั้น

เจดีย์แบบพระบรมธาตุไชยา ต่อมาได้สืบทอดอยู่ในภาคใต้ของไทยอย่างยาวนาน แม้ว่าจะอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอยุธยาและรัตนโกสินทร์แล้ว แต่ “เจดีย์คล้ายจันทิ” ซึ่งประกอบด้วยชั้นวิมานที่ประดับสถูปิกะก็ยังได้รับความนิยมอยู่เสมอ 

ประติมากรรมในศิลปะศรีวิชัย โดยเฉพาะประติมากรรมสำริด ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายคลึงกับศิลปะชวาภาคกลางอย่างมาก เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรขนาดใหญ่ 2 องค์จากไชยา

ประติมากรรมทั้งสองทรงกะบังหน้าที่ประดับด้วยสามตาบทรงสร้อยคอไข่มุก สร้อยเพชรพลอย และยัชโญปวีตไข่มุกซึ่งคล้ายคลึงอย่างมากกับประติมากรรมที่จันทิเมนดุต บุโรพุทโธ จันทิเซวู และส่าหรี นอกจากนี้ชายเข็มขัดรูปวงโค้งซึ่งสอดแทรกกับหัวเข็มขัดเพชรพลอย และการปล่อยชายเข็มขัดให้ยาวลงมาด้านหน้าทั้งสองข้าง ยังเป็นรูปแบบเช่นเดียวกับประติมากรรมชวาภาคกลางหลายองค์อีกด้วย 

ประติมากรรมสำริดขนาดเล็กก็คล้ายคลึงกับศิลปะชวาอย่างมาก ทั้งเครื่องแต่งกาย รูปแบบบัลลังก์และประติมานวิทยา จนเกิดปัญหาว่าประติมากรรมเหล่านี้เป็นของนำเข้าจากอินโดนีเซียหรือไม่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นางตารา และท้าวกุเวร ถือเป็นประติมากรรมที่ค้นพบมากที่สุดทางภาคใต้ของไทย อาจเป็นไปได้ที่ประติมากรรมเหล่านี้อาจเคยเป็น “ของส่วนตัว” ของพระภิกษุผู้เดินทางไป-มาทั้งอินเดีย ชวา และศรีวิชัย

พระพิมพ์ที่ค้นพบจากทางภาคใต้ของประเทศไทยเองก็มีความคล้ายคลึงกับศิลปะชวาภาคกลางมาก โดยมีลักษณะเป็นดินเหนียวรูปกลมหรือรีที่ถูกแม่พิมพ์กด ทำให้ขอบด้านข้างหนา ตรงกลางมีพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์ที่แสดงประติมานวิทยาตามแบบมหายาน เช่น พระพิมพ์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่กร ถือดอกบัวปัทมะ อันเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ หรือท้าวกุเวร เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย กำลังประทับนั่งในท่าลิตาสนะ มีพุงพลุ้ยอันแสดงความร่ำรวย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พระพิมพ์เหล่านี้ก็อาจใช้แม่พิมพ์เดิมซึ่งสร้างขึ้นศิลปะปาละของอินเดียมาเป็นเครื่องมือในการสร้าง ด้วยเหตุนี้ พระพิมพ์จึงดูเหมือนศิลปะปาละมากกว่าที่จะเป็นของพื้นเมือง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในชวาและพุกามเช่นกัน  โดยสรุปแล้ว ศิลปะศรีวิชัยทางภาคใต้ของประเทศไทยในพุทธศตวรรษที่ 12-16 มีความใกล้ชิดอย่างมากกับศิลปะชวาภาคกลางในประเทศอินโดนีเซียจนสะท้อนอยู่ทั้งในสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อมาที่ศูนย์กลางของเกาะชวาได้ย้ายไปยังชวาภาคตะวันออกและบาหลี จึงทำให้อิทธิพลทางวัฒนธรรมของชวาเสื่อมลง หลังพุทธศตวรรษที่ 16 คาบสมุทรภาคใต้จึงอยู่ภายใต้อิทธิพลทางวัฒนธรรมขอม ลังกา และอยุธยาตามลำดับ

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี