Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘ทวารวดี’ มีปัญหา อย่าบอกข้อมูลไม่ครบ

“ทวารวดี” เป็นชื่อยังมีปัญหาทางวิชาการอีกมาก ต้องทักท้วงถกเถียงไม่สิ้นสุด แต่ข้อจำกัดทางการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฯ จะทำข้อความเยิ่นเย้อเพื่ออธิบายยืดยาวย่อมไม่เหมาะ และไม่มีใครอ่าน แต่ไม่ควรบอกคลุมๆ ข้อมูลไม่ครบถ้วน

ดังนั้น ไม่ควรมีชื่อ “ทวารวดี” ในการจัดแสดง แต่เลี่ยงใช้ชื่ออื่นที่ไม่มีปัญหา หรือไม่ใช้ชื่ออะไรเลย แต่เรียกรวมๆ ว่างานช่างหรืองานศิลปกรรมของพื้นที่นั้นๆ ในเรือน พ.ศ. 1000

แผ่นป้ายในพิพิธภัณฑ์

“ทวารวดี” บนแผ่นป้ายอธิบายติดไว้ผนังห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี มีสาระสำคัญ สรุปสั้นๆ ดังนี้

1. บันทึกของภิกษุจีนเฉี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) กล่าวถึงชื่อ “โถ-โล-โป-ตี” ตั้งอยู่ระหว่างบ้านเมืองชื่อศรีเกษตร (ในพม่า) และบ้านเมืองชื่ออิศานปุระ (ในกัมพูชา)

2. ชื่อ “โถ-โล-โป-ตี” สอดคล้องกับชื่อบนเหรียญเงิน พบที่เมืองโบราณนครปฐม จารึกว่า “ศรีทวารวดีศวรปุณยะ” แปลว่า บุญกุศลของพระราชาศรีทวารวดี

โถ-โล-โป-ตี

บันทึกจีนมี 2 ฉบับ ไม่มีฉบับเดียว และไม่บอกแค่เมืองเดียว แต่บอกกล่าวสอดคล้องกันว่ามีบ้านเมืองต่างๆ ตามลำดับระนาบเดียวกัน ดังนี้

ทิศตะวันออกของอินเดียและบังกลาเทศ มีชื่อ ศรีเกษตร (พม่า), ถัดไปทางตะวันออก มีชื่อ เล่งเกียฉู่ (ไทย), ถัดไปทางตะวันออก มีชื่อ โถโลโปตี (ไทย), ถัดไปทาง

ตะวันออก มีชื่อ อิศานปุระ (กัมพูชา), ถัดไปทางตะวันออก มีชื่อ จามปา (เวียดนาม)

มานิต วัลลิโภดม (นักปราชญ์สามัญชนชาวสยาม อดีตข้าราชการผู้ใหญ่กรมศิลปากร) อธิบายไว้นานแล้ว ต่อมา ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายเพิ่มเติมโดยสรุปว่า

เล่งเกียฉู่ (บางแห่งอ่าน หลั่งยะสิว) น่าจะหมายถึง บ้านเมืองลุ่มน้ำท่าจีน คือเมืองโบราณนครปฐม, โถโลโปตีน่าจะหมายถึง เมืองละโว้ (ลพบุรี)

ส่วนนักค้นคว้าอื่นอธิบายต่างไป โดยเฉพาะจุดสำคัญเลื่อนเล่งเกียฉู่ไปอยู่ปัตตานี เพราะอ่านออกเสียงภาษาจีนเป็นอย่างอื่น ถ้าสนใจขอให้ติดตามการอ่านจากผู้รู้อักษรและภาษาจีนโบราณ

 

เหรียญเงิน

เหรียญเงินทวารวดีที่นครปฐม มีจารึกข้อความ “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ” แปลว่า “บุญของผู้เป็นเจ้าแห่ง(ศรี)ทวารวดี” ชาวบ้านพบเมื่อ พ.ศ. 2486 ในโถจมอยู่ซากเจดีย์ร้าง ไม่ได้พบจากการขุดค้นของนักโบราณคดีกรมศิลปากร (ตามที่อ้างกันมานานมาก)

ไม่ได้พบแห่งเดียวที่นครปฐม (ตามที่อ้างกัน) แต่พบอีกหลายแห่ง เป็นเหรียญในพิธีกรรม (ไม่ใช่เงินตรา) ซึ่งพบทั่วไปทั้งในไทยและเพื่อนบ้าน

ข้อมูลเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์บอกความจริงไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ถึง พ.ศ. 2000 (ฉบับพิมพ์โดยสมาคมประวัติศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. 2535 หน้า 25-26)

เหรียญเงิน ด้านหน้า รูปหม้อน้ำ ด้านหลัง มีอักษร อ่านว่า “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ” พบในไทยหลายแห่ง เช่น นครปฐม, สิงห์บุรี ฯลฯ

ไม่มี “อาณาจักร” ทวารวดี

“ทวารวดี” ไม่เป็นอาณาจักร มีนักวิชาการนานาชาติคัดค้าน ยอร์ช เซเดส์ ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2522 (ราว 39 ปีมาแล้ว) ว่าความเป็นทวารวดีไม่ใช่อาณาจักรที่มีเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางในการปกครอง ซึ่งมีโครงสร้างทางอํานาจที่เป็นระบบแบบแผนที่กระชับ

แต่ทวารวดีเป็นการรวมกลุ่มและเครือข่ายของนครรัฐอย่างหลวมๆ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางการแต่งงานกินดองกัน ระหว่างกษัตริย์กับราชวงศ์ของพระราชาธิบดีของแต่ละนครรัฐ ทําให้ความเป็นศูนย์กลางไปอยู่ที่กษัตริย์ของนครที่มากด้วยพระบารมี

มีผู้คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการใช้คําว่า “อาณาจักร” และ “จักรวรรดิ” ในโครงสร้างการเมืองการปกครองของรัฐสมัยโบราณก่อนพุทธศตวรรษที่ 16-17 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้ความเห็นว่าการใช้คําว่าอาณาจักร (kingdom) ก็ดี หรือจักรวรรดิ (empire) ก็ดี เป็นคําเรียกที่เหมาะสมกับบ้านเมืองขนาดใหญ่ เช่น อินเดียและจีน อีกทั้งเป็นการใช้เรียกโดยคนจีนและคนอินเดีย รวมทั้งพ่อค้าวาณิชจากบ้านเมืองที่เป็นอาณาจักรในโพ้นทะเล

“ทวารวดี” มีทั่วไปทั้งไทยและกัมพูชา

คำว่า “ทวารวดี” ในจารึก พบทั้งในไทย (ภาคกลาง, ภาคอีสาน) และในกัมพูชา ดังนี้

(1.) เหรียญเงิน พบที่ จ. นครปฐม, เมืองอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี, บ้านคูเมือง อ. อินทร์บุรี จ. สิงห์บุรี, และที่อื่นๆ (2.) จารึกวัดจันทึก อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา (3.) จารึกทวารกได (Thvar Kdei ทวารกดี) กัมพูชา (4.) จารึก Prah Non กัมพูชา

[จากบทความเรื่อง “ศรีทวารวดี” ของ ชะเอม แก้วคล้าย นิตยสาร ศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2534) หน้า 58-68]

เหรียญเงินทวารวดีที่เคยยกเป็นหลักฐานว่านครปฐมโบราณเป็นศูนย์กลางของรัฐทวารวดีจึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะ “ทวารวดี” เป็นชื่อในพิธีกรรม ไม่เป็นชื่อจริง และพบทั่วไปหลายแห่ง รวมทั้งมีในชื่อรัฐอยุธยา (สืบจากเมืองละโว้) ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”

ที่มาหน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนสุจิตต์ วงษ์เทศ