Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

สายมูห้ามพลาด!! ชวนไปไหว้ “ศาลเจ้าแม่เฮงหลุย” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน ม.ศิลปากร วังท่าพระ

ศาลเจ้าแม่เฮงหลุย

เคยไปหรือยัง? เคยรู้ไหม?  ถ้าไม่ใช่เด็กศิลปากรอาจไม่รู้จัก!!

“ศาลเจ้าแม่เฮงหลุย” ศาลที่เคารพนับถือของเด็กมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เล่าลือกันว่าศาลแห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ใครไปกราบไหว้สักการะบนบานศาลกล่าวแล้วมักจะได้ตามที่ขอ โดยเฉพาะเด็กคณะจิตรกรรม จะเคารพนับถือกันมาก เนื่องจากเด็กคณะนี้จะมาทำพิธีรับน้องใหม่กันจุดนี้เป็นประจำ และหลายคนได้มากราบไหว้ขอพร

ศาลเจ้าเฮงหลุย ตั้งอยู่บริเวณ “สวนแก้ว”  ใกล้ๆ ศาลาดนตรี และติดกับหอศิลป์ หากเดินเข้าประตูมหาวิทยาลัยศิลปากรที่มีสิงโตคู่เฝ้าอยู่หน้าประตู ให้สังเกตทางขวามือจะมีทางเดินไปสวนแก้วสามารถเลี้ยวเดินไปตามทางได้เลย โผล่ไปก็เจอสวนแก้วพอดี  

สำหรับความเป็นมาของศาลแห่งนี้ กล่าวคือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเริ่มสร้างราชธานีกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2325 นั้น ได้ทรงสร้างวังพระราชทานเจ้านายพระองค์ชาย ซึ่งเจริญพระชันษาสมควรจะเสด็จอยู่วังต่างหากจำนวน 8 วัง ตั้งอยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา  รวมทั้งพระราชวังหลวง และพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า)ด้วย รวมเป็น 10 วัง  ต่อมาเมื่อเจ้านายพระองค์ชายที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ในเวลาสร้างกรุง ทรงพระเจริญถึงเวลาควรจะเสด็จอยู่วังต่างหากก็ทรงสร้างเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายวัง อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำทั้งสิ้น

วังที่ทรงสร้างขึ้นในยุคหลังนี้ สร้างที่ริมถนนหน้าพระลาน ตั้งแต่ท่าพระหรือท่าช้างวังหลวง ขึ้นไปถึงหน้าประตูวิเศษไชยศรีรวม 3 วัง เรียงติดกัน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือ “ตำนานวังเก่า” ถึงประวัติของวังทั้งหมู่นั้น และมีเอ่ยถึง “ศาลเจ้าเฮงหลุย”

“…ในสวนแก้วมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือ ศาลเจ้าแม่เฮงหลุย ซึ่งเดิมคือศาลพระภูมิของวังท่าพระ คาดว่าสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สร้างขึ้นเป็นศาลพระภูมิประจำวัง ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2426 เมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ขยายสถานที่มายัง วังท่าพระ เมื่อปี พ.ศ.2507 บริเวณศาลมีสิ่งของต่างๆ ทิ้งอยู่โดยรอบ เช่น ตุ๊กตาแก้บน ศาลที่ชำรุด ส่วนภายในมีเทวรูปทราย1องค์ เทวรูปพระพิฆเนศ 1 องค์ หรือ รูปวาดของเจ้าแม่เฮงหลุย  บริเวณสวนแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) มีเรื่องเล่าว่าเคยมีคนขโมยรูปวาดเจ้าแม่เฮงหลุยไป แต่เมื่อจะออกจากบริเวณศาล หาทางออกอย่างไรก็หาไม่เจอ จนต้องนำกลับไปวางไว้ที่เดิม…”

เรื่องราวของศาลเจ้าเฮงหลุยก็มีแต่เพียงเท่านี้ ถึงกระนั้นก็ยังเป็นที่เคารพกราบไหว้ของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร และคนแถวนั้นที่รู้จัก หากอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร แค่คำบอกเล่าคงไม่ดีเท่าไปดูด้วยตัวเอง ถือโอกาสเดินเที่ยวแถวนั้นไปด้วย ตอนนี้งานปรับปรุงภูมิทัศน์ ถนนหนทางเรียบร้อยดีน่าเดิน 

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี