Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

สัญลักษณ์สิริมงคลอย่างจีน

นวรัตน์ ภักดีคำ

ชาวจีนให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์สิริมงคลมาตั้งแต่สมัยโบราณ อย่างน้อยตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซาง ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ 2 ของจีน มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 1711 – 1066 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยราชวงศ์ซาง (商朝) มีการเสี่ยงทายโชคลางเพื่อทำนายทายทักและเพื่อขอให้บรรพบุรุษและเทพเจ้าคุ้มครอง

การเสี่ยงทายนี้เองที่สามารถบอกได้ว่าเรื่องที่เสี่ยงทายนั้นเป็นสิริมงคลหรืออัปมงคล โดยพิจารณาดูจากรอยแตกของกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ที่นำไปเผาไฟเสี่ยงทายว่า ตรงกับอักษรตัวใด กระดองเต่าและกระดูกสัตว์เสี่ยงทายนี้พบได้เป็นจำนวนกว่าแสนชิ้น ในบริเวณที่เป็นโบราณสถานสมัยราชวงศ์ซาง (商朝) นอกจากนี้ในเครื่องสัมฤทธิ์สมัยราชวงศ์ซาง (商朝) ก็ปรากฏลวดลายต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นสัญลักษณ์สิริมงคลอย่างจีนด้วย

ต่อมาเมื่อสิ้นสุดราชวงศ์ซาง (商朝) เข้าสู่สมัยราชวงศ์โจว (周朝) ประมาณ 1066 – 256 ก่อนคริสตกาล ปรากฏหลักฐานว่ามีการบูชาฟ้าดิน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่แผ่นดิน สัตว์เลี้ยงที่จะนำมาฆ่าสังเวยฟ้าดินจะต้องมีการเสี่ยงทายก่อนว่าสัตว์ตัวนั้นเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองหรือไม่ นอกจากนี้ในคัมภีร์โจวหลี่ (周礼) ซึ่งเชื่อกันว่าแต่งขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (周朝) ก็กล่าวว่า วันที่เป็นสิริมงคลคือ วันขึ้น 1 ค่ำของทุกเดือน

ชาวจีนมีความเชื่อเรื่องสิริมงคลมาก ดังนั้นในวิถีชีวิตของชาวจีนจึงมีความเกี่ยวเนื่องกับสัญลักษณ์สิริมงคลอย่างลึกซึ้ง หลักฐานที่แสดงว่าชาวจีนนำบุคคล สิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ มาเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสิริมงคลตั้งแต่สมัยจ้านกวั๋ว (战国)

ปรากฏหลักฐานการใช้สัญลักษณ์สิริมงคลอย่างจีนในคัมภีร์ของสวินจื่อ (荀子) ซึ่งเป็นปราชญ์คนหนึ่งในเวลานั้นได้มีการกล่าวถึงการใช้สิ่งของเป็นสัญลักษณ์แทนคำพูดว่า “เจวี๋ยเหรินอวี้เสีย ฝ่านเหรินอวี้ฮว๋าน (决人玉瑕,反人玉环)” หมายความว่า “เมื่อจะตัดสัมพันธ์กับใครให้แสดงด้วยหยกเสีย เมื่อจะเรียกคนกลับมาให้แสดงด้วยหยกฮว๋าน” ในที่นี้ “หยกเสีย (อวี้เสีย玉瑕)” มีความหมายที่เป็นอัปมงคล ส่วน “หยกหวน (อวี้ฮว๋าน玉环)” ซึ่งแปลว่ากำไลแขน มีความหมายที่เป็นสิริมงคล เพราะคำว่าฮว๋านในภาษาจีนพ้องเสียงกับคำว่า หวน ที่แปลว่า กลับคืน

นอกจากนี้ในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีฟู่ (赋กลอน) บทหนึ่งในหนังสือ ฟู่โบราณสิบเก้าบท กล่าวถึงการปักลายบนผ้าห่มเป็นลายนกเยวียนยาง (鸳鸯นกเป็ดน้ำแมนดาริน) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคู่รักหรือสามีภรรยาที่รักใคร่กันไม่มีวันแยกจากกันได้

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสัญลักษณ์สิริมงคลของจีนนั้นมีความเป็นมาอันยาวนาน อย่างน้อยก็น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว และสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2,000 ปี ดังนั้นระบบสัญลักษณ์สิริมงคลอย่างจีนจึงมีความซับซ้อนเนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมาในแต่ละยุคแต่ละสมัย และสัมพันธ์กับความเชื่อของชาวจีนจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย

217897651_4237916866269521_3227742563898695139_n

การนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นระบบสัญลักษณ์สิริมงคลของชาวจีนนั้นมีเป็นสิ่งที่มีความหมายและสามารถอธิบายได้ เพราะส่วนใหญ่มีที่มาอันเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ ดังได้กล่าวมาแล้วว่าชาวจีนมีความเชื่อในเรื่องสิริมงคลมากตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซาง (ช่วงประมาณ 1711 – 1066 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นอย่างน้อย ดังนั้นชาวจีนจึงพยายามใฝ่หาสิ่งที่เป็นสิริมงคล เพื่อเสริมสร้างโชคลาภ และความยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้เมื่อชาวจีนพบว่า สิ่งใดมีเสียงพ้องกับคำที่เป็นสิริมงคลหรือมีลักษณะพิเศษเกี่ยวกับสิริมงคล หรือเป็นสิ่งของที่ “พ้องเสียง” กับคำที่เป็นสิริมงคล ชาวจีนก็จะนำของสิ่งนั้นมาจัดเข้าเป็นสัญลักษณ์แห่งสิริมงคลด้วย

โดยเฉพาะต่อมาเมื่อชาวจีนได้รับอิทธิพลทางพระพุทธศาสนาและบ้านเมืองมีความเจริญรุดหน้าทางด้านวัฒนธรรมมากขึ้น ก็เป็นเหตุหนึ่งที่พัฒนาทำให้เกิดระบบสัญลักษณ์สิริมงคลอย่างจีนเพิ่มเติมขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก

การนำพืชผล สัตว์ สิ่งของต่างๆ มาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนคำสิริมงคลอย่างจีนนั้นมีความนิยมสืบเนื่องยาวนานต่อมาจนถึงสมัยราชวงศ์หมิง (明朝) (ค.ศ. 1368 – 1644) และสมัยราชวงศ์ชิง (清朝) (ค.ศ.1616 – 1911) จึงทำให้ระบบสัญลักษณ์สิริมงคลอย่างจีนมีอยู่เป็นจำนวนมากมาย

ด้วยเหตุนี้ ศิลปกรรมจีนที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่จึงมักสื่อให้เห็นถึงแนวคิดเกี่ยวกับ “สิริมงคลอย่างจีน” ดังปรากฏในเห็นได้ทั้งในวัดไทยที่ประดับตกแต่งด้วยศิลปกรรมจีน ซึ่งเรียกกันว่า “ศิลปะแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 3” เช่น วัดราชโอรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น และในวัดจีน หรือศาลเจ้าจีน เช่น วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดทิพยวารี เป็นต้น โดยเฉพาะอิทธิพลด้านการประดับตกแต่งอาคารหรือนำมาใช้เป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม ดังปรากฏให้เห็นได้ในวัดไทยหลายแห่งที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจีนทั้งวัดในพระนคร และวัดฝั่งธนบุรี

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี