Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ศิลปะลพบุรี : ศิลปะขอมที่ถูกทำให้เป็นไทย เพราะการสร้างชาติของรัฐสยาม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“ศิลปะลพบุรี” เป็นส่วนหนึ่งของ “ศิลปะในประเทศไทย” ซึ่งเกิดขึ้นจากการสร้างประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในพรมแดนรัฐชาติสมัยใหม่ ที่มีขอบเขตที่แน่นอน เพื่อแสดงขอบข่ายของอำนาจรัฐ ผ่านเครื่องมือที่รู้จักกันดีคือ “แผนที่”

อย่างไรก็ตาม แผนที่ที่มีขอบเขตของอำนาจรัฐที่แน่นอนอย่างนี้ ไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยกันในวัฒนธรรมดั้งเดิมของอุษาคเนย์ กำเนิดของ “แผนที่” ประเภทดังกล่าวในอุษาคเนย์ ยุคอาณานิคม จึงทำให้สยามจำเป็นต้องเร่งสร้าง “จินตกรรม” ความเป็น “สยาม” ภายในกรอบพรมแดนแบบใหม่นี้ เพื่ออ้างสิทธิธรรมของอำนาจรัฐ

ความพยายามในการสร้างจินตกรรมความเป็น “สยาม” ในรูปแบบที่ว่า ทำให้เกิดการประดิษฐ์สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ชั้นอ๋องอย่าง อ.ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่า “แผนที่ประวัติศาสตร์” ขึ้นมา และถ้าจะว่ากันตามอย่างที่ อ.ธงชัยเสนอแล้ว แผนที่ประเภทนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้อ้าง “การสืบทอด” อำนาจการปกครองตามแต่จะสมมุติกันขึ้นมาจากผู้ปกครองท้องถิ่น ที่ยอมสยบ หรือถูกช่วงชิงอำนาจด้วยชาวยุโรป

ในกรณีของสยาม คือการอ้างการสืบทอดอำนาจของผู้ปกครองดินแดนภายในกรอบแผนที่ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่นี้ ในขณะเดียวกัน แผนที่นี้ก็จะทำหน้าที่หล่อหลอม โบราณวัตถุสถาน ศิลปวัตถุต่างๆ ที่สร้างขึ้นในหลากหลายวัฒนธรรมที่มีอยู่ในกรอบแผนที่ ให้กลายเป็นสยาม

กระบวนการดังกล่าวก็ได้หล่อหลอมให้ผู้คนหลากเผ่าหลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร กวย มอญ ฯลฯ กลายเป็น “คนไทย” ผ่านเครื่องมือการสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกันนี้ด้วย

ในกรณีนี้ “ศิลปะลพบุรี” จึงเป็นส่วนหนึ่งในปฏิบัติการของอำนาจรัฐสยามปฏิบัติการหนึ่ง ที่พยายามหล่อหลอม “ศิลปะขอม” ให้กลายเป็นต้นธารสายหนึ่งของ “ศิลปะไทย” ด้วยกลวิธีการสร้างชุดคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีนั่นแหละนะครับ

เค้าโครงหลักการจัดแบ่งยุคสมัยของ “ศิลปะในประเทศไทย” ปรากฏครั้งแรกในหนังสือเรื่อง “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2469

เรือน พ.ศ.ดังกล่าวเป็นปี พ.ศ.เดียวกับที่รัชกาลที่ 7 ประกาศตั้ง “ราชบัณฑิตยสภา” ให้ดูแลงานด้านโบราณคดี วรรณคดี ศิลปากร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำหรับพระนคร โดยมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา

ในการนี้ กรมดำรงฯ และศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Goerge Cœdès) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการอ่านจารึกอุษาคเนย์ ชาวฝรั่งเศส ได้เริ่มปรับปรุงการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ ทำให้พิพิธภัณฑสถานเปลี่ยนจาก “พิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป” กลายเป็น “พิพิธภัณฑสถาน ที่รวบรวมสงวนรักษาโบราณศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ”

238695347_4309254385802435_4203799169512650998_n

น่าสนใจว่า ตอนหนึ่งในคำนำของพระนิพนธ์เรื่องตำนานพระพุทธเจดีย์สยาม กรมดำรงฯ ได้ระบุไว้ว่า “ในการแต่งหนังสือเรื่องนี้สำเร็จ ข้าพเจ้ารู้สึกขอบใจศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ มากด้วยรับหน้าที่การค้นหนังสือและการเลือกรูปภาพที่พิมพ์ ต้องเหน็ดเหนื่อยมาก”

สองปีต่อมา คือในเรือน พ.ศ.2471 เซเดส์ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ “โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” ซึ่งเป็นหนังสือที่ใช้สำหรับอธิบายโบราณวัตถุ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในขณะนั้นตามชื่อของหนังสือ

ดังนั้น จึงยิ่งน่าสนใจยิ่งขึ้นอีกว่า ตลอดระยะเวลาสองปีนับแต่กรมดำรงฯ เขียน “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” โดยมีเซเดส์ช่วยค้นหนังสือและคัดรูปภาพ เมื่อปี พ.ศ.2469 จากนั้นทรงดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา ในช่วงปี พ.ศ.เดียวกันนั้นเอง แล้วเริ่มปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป ให้เป็นพิพิธภัณฑสถานที่รวบรวมสงวนรักษาโบราณศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดยมีเซเดส์คอยช่วยเหลือ จนกระทั่งสำเร็จแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2471

และมีหนังสือ “โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” ที่เขียนขึ้นโดยเซเดส์ ที่แทบจะถอดแบบเค้าโครงหลักการจัดแบ่งยุคสมัยจากพระนิพนธ์เรื่องตำนานพระพุทธเจดีย์สยาม เป็นปรากฏการณ์ที่ต่อเนื่องกันโดยมีนัยยะที่จงใจหรือไม่?

อย่าลืมนะครับว่า เซเดส์ดำรงตำแหน่งบรรณารักษ์ประจำหอพระสมุดวชิรญาณตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2461 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2469 และต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2470 ได้ดำรงตำแหน่งในสภาเลขานุการประจำราชบัณฑิตยสภาแห่งสยาม และก็เป็นที่นี่เอง ที่เซเดส์กับกรมดำรงฯ พบกันแทบจะทุกวัน

ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล นักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ทรงอิทธิพลต่อวงการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะไทย ผู้ทรงเป็นพระโอรสองค์สุดท้องของกรมดำรงฯ ยังเคยอ้างไว้ด้วยว่า “เหตุนั้น (เซเดส์) จึงถวายตนเป็นข้าและราชโอรสบุญธรรมของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ”

คำอ้างนี้ยิ่งแสดงถึงความแน่นแฟ้นของบุคคลทั้งสอง ซึ่งส่งอิทธิพลทางความคิดถึงกันทั้งเรื่องส่วนตัว ด้านวิชาการ และด้านอื่นๆ

วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2472 เซเดส์จึงได้ลาออกจากราชการสยาม หลังจากรับราชการนานถึง 13 ปี เพื่อไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (École Française d’Extrême-Orient) เป็นเวลานับไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากที่ตีพิมพ์ “โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” ซึ่งหมายความว่า การจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับ “ศิลปะในประเทศไทย” ตามข้อมูลในหนังสือฉบับดังกล่าว ควรจะเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว หรืออย่างน้อยก็ควรที่จะมีเค้าโครงการจัดแสดงที่ชัดเจนในระดับหนึ่ง นั่นหมายความว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ และ Cœdès จัดการทำรังวัดและปักปันเขตแดนของ “แผนที่ประวัติศาสตร์” ฉบับแรกของสยามเสร็จเรียบร้อยแล้วนั่นเอง

ในฐานะหนึ่งแล้ว ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีเขมร กับเขมรในประเทศไทย (หรือศิลปะลพบุรี) จึงนับเป็นงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ประเภทหนึ่ง ประวัติศาสตร์นิพนธ์ทั้งสองเรื่องนี้เป็นนิยายโรแมนติก ซึ่งมีการวางพล็อตเรื่องที่แตกต่างไปจากกัน

ในขณะที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส วางพล็อตแบบ “โศกนาฏกรรม” (tragedy) โดยกำหนดให้อาณาจักรเมืองพระนครอันยิ่งใหญ่ได้ล่มสลายลง และหาความสืบเนื่องไม่เจอกับอารยธรรมของเขมรสมัยหลังเมืองพระนคร ที่สามารถสืบย้อนได้กับประชากรในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน เพื่อสิทธิธรรมในการครอบครองดินแดนกัมพูชาที่มีร่องรอยอารยธรรมขอมโบราณของคนขาว

อำนาจของรัฐสยามกลับวางพล็อตเรื่องแบบ “สุขนาฏกรรม” (comedy) ที่ทำให้ศิลปะลพบุรีสามารถสืบเนื่องต่อมาถึงศิลปะอยุธยา และผูกโยงเข้ากับความเป็นไทยในปัจจุบันได้

หนังสือนำชมพิพิธภัณฑ์อย่าง “โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” ของเซเดส์ ได้พยายามขัดเกลาร่องรอยหรือตำหนิต่างๆ ใน “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” อย่างน้อยที่สุดก็แสดงให้เห็นถึงการพยายามเชื่อมโยงจาก “ศิลปะลพบุรี” มาเป็น “ศิลปะอยุธยา” ด้วยการสร้าง “ศิลปะอู่ทอง” ที่ไม่มีปรากฏอยู่ในหนังสือตำนานพระพุทธเจดีย์สยามขึ้นมา

และก็เป็นในหนังสือโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครนี่เองที่ “ศิลปะลพบุรี” มีหน้าที่ในการรับอิทธิพลจากศิลปะในสมัยก่อนหน้าคือ ทวารวดี ขอม และศรีวิชัย และส่งต่อรูปแบบศิลปะให้กับ “ศิลปะอู่ทอง” ซึ่งเป็นศิลปะของ “ชนชาติไทย” ในภาคกลางของประเทศ และ “ศิลปะอู่ทอง” นี้เองที่จะทำหน้าที่คลี่คลายความเป็น “ขอม” ของ “ศิลปะลพบุรี” ให้กลายมาเป็นศิลปะอยุธยา และสืบเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์

เอาเข้าจริงแล้ว “ศิลปะลพบุรี” จึงไม่ได้มีความแตกต่างทางด้านรูปแบบศิลปะอย่างมีนัยยะสำคัญไปจาก “ศิลปะขอม” เพราะสิ่งที่ทำให้ศิลปะทั้งสองต้องแยกออกจากกันเป็นคนละสกุลช่างนั้น เกิดจากปฏิบัติการของอำนาจต่างหาก

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า “ศิลปะลพบุรี” เกิดจากปฏิบัติการของอำนาจรัฐสยาม ในขณะที่ “ศิลปะขอม” เกิดจากปฏิบัติการของอำนาจฝรั่งเศส แต่ทั้งสองศิลปะเกิดจากปฏิบัติการของอำนาจความคิดแบบอาณานิคมก็เท่านั้นเองแหละครับ

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี