Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ศรีศักร วัลลิโภดม ข้อมูลใหม่ “สุวรรณภูมิ” พาเที่ยวที่ “อู่ทอง”

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดี เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษามูลนิธิเล็กประไพ วิริยะพันธุ์ รับเป็นผู้บรรยายพิเศษในทัวร์ศิลปวัฒนธรรมของ “มติชนอคาเดมี” ในเครือบริษัทมติชน จำกัด(มหาชน) ร่วมกับ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักโบราณคดีอีกคน เป็นทริปที่ชื่อว่า “สุวรรณภูมิที่อู่ทอง” ครั้งแรกที่พบเจอและบอกกล่าวเชิญเป็นวิทยากร อาจารย์ศรีศักรบอกอย่างตรงไปตรงมา “ผมไม่พูดเรื่องทวารวดี แต่จะเล่าเรื่องสุวรรณภูมิ เพราะสุวรรณภูมิสำคัญกว่า ยิ่งใหญ่กว่าทวารวดี และผมมีข้อมูลใหม่ของสุวรรณภูมิ “เสียงอาจารย์ดังฟังชัด แม้วัยจะ 91 ขวบแล้วก็ตาม

สิ่งที่อาจารย์ศรีศักรอธิบายต่อจากนั้น มีว่า “อู่ทอง” เป็นศูนย์กลางของสุวรรณภูมิ เก่าแก่ที่สุดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการพัฒนาตั้งแต่ยุคเหล็กเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ตอนปลายๆ มีการติดต่อค้าขายจนเป็นเมืองท่า เป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่มีการติดต่อกับทางอินเดีย ยุคพุทธศตวรรษที่ 5-6 อู่ทองจึงเป็นเมืองท่าสำคัญที่ติดต่อไปยังจีน เวียดนาม และตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3-4 ยังเป็นเส้นทางของการเผยแผ่พุทธศาสนาจากอินเดียสู่สุวรรณภูมิ โดยข้ามมหาสมุทรอินเดีย เลาะมาแถวอ่าวเบงกอล ผ่านทางเมืองมอญ สะเทิง เข้ามาที่ทวาย พบหลักฐานที่ทวายอยู่มาก จากนั้นเดินทางข้ามเทือกเขาตะนาวศรี ตัดช่องเขามาทางเขตสวนผึ้ง ผ่านแถวบริเวณจอมบึง แล้วตัดเข้ากาญจนบุรี มาตามเส้นทางหนองขาวถึงดอนตาเพชร จนมาถึงอู่ทอง บริเวณนี้จึงเหมาะสมมาก เพราะตั้งอยู่เชิงเขาแล้วลงสู่ที่ราบลุ่ม รอบๆ เขาที่อู่ทอง มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานที่ดอนตาเพชรเป็นพยานยืนยันอย่างดี

“แต่ก่อนบริเวณนี้เป็นดินแดนก่อนประวัติศาสตร์ทั้งนั้น และไม่ใช่มีแค่ศาสนาพุทธ แต่มีทั้งฮินดู พราหมณ์ เริ่มจากวัดถ้ำเสือ รอบๆ เขาพุหางนาค จนถึงวัดเขาดีสลัก เป็นเทือกเขาที่สัมพันธ์กัน แต่ละถ้ำมีพระสงฆ์ ฤาษี เข้าไปจำศีลบำเพ็ญเพียร ถ้ำเหล่านี้เขาสร้างพระพิมพ์ เรียกว่า พระถ้ำเสือ ผมคิดว่าน่าจะเป็นพระพิมพ์รุ่นแรกๆ รูปร่างหน้าตาน่าเกลียด แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงความเก่าแก่ มีทั้งนั่งขัดสมาธิ นั่งเก้าอี้ ผสมปนเปกันไป เราจะไม่พบกันทั่วๆ ไป สะท้อนให้เห็นถึงว่าเคยมีพระสงฆ์หรือนักพรตอยู่บริเวณเขาเหล่านั้น”

“เมืองอู่ทอง” ในความเห็นของอาจารย์ศรีศักร ก็คือศูนย์กลางของสุวรรณภูมิ มีโบราณสถานและวัตถุสิ่งของสนับสนุนมากกว่าที่อื่นๆ นอกจากตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมแล้ว ยังเป็นเส้นทางที่ข้ามคาบสมุทร จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียมายังฝั่งทะเลจีนในอ่าวไทย อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางที่จะติดต่อทางทะเลไปยังบ้านเมืองทางตะวันออก “…ชุมชนบริเวณเมืองอู่ทองมีพัฒนาการมาจากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยทวารวดี ที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนภายนอก ทั้งทางบก ทางเรือ โดยคงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ 8-12 หลังจากนั้นจึงค่อยลดบทบาทเป็นเมืองรองจากนครปฐม ก่อนที่จะร้างไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17..”

คอกช้างดิน-เดิมเริ่มแรกเชื่อกันว่าเป็นบริเวณที่จับหรือขังช้าง แต่เมื่อมีการศึกษาและวิจัยสภาพดิน 

จึงเห็นว่าน่าจะเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ในเมืองอู่ทอง

เขาดีสลัก-เขาหนึ่งในเทือกเขาเขต อ.อู่ทอง สามารถมองเห็นเมืองอู่ทองโดยรอบ และมีวัดที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทอายุพันปี

ประเด็นหนึ่งที่อาจารย์ศรีศักรกล่าวอ้างถึงคือ “ฟูนัน” เป็นชื่อที่พบเห็นและได้ยินในวิชาเรียนประวัติศาสตร์ไทยมาตั้งแต่สมัยประถม ชื่อนี้แน่อนว่าใน “ข้อมูลใหม่” ของนักวิชาการโบราณคดีอย่างศรีศักร วัลลิโภดม ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่มีรายละเอียดเชื่อมโยงมาถึงอู่ทอง แต่จะอย่างไร เกี่ยวข้องกันหรือไม่ ต้องไปฟังจากปากอาจารย์กันเอง ที่แน่ๆ ได้ข้อสรุปของการถกเถียงที่ว่า “อู่ทองเป็นราชธานีของทวารวดี” ซึ่งเป็นเรื่องไม่อาจยืนยันได้ พอๆกับคำบอกเล่าที่ว่าพระเจ้าอู่ทองอพยพคนไปสร้างกรุงศรีอยุธยา

นอกเหนือจากโบราณสถานที่กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สนับสนุนแล้ว สิ่งหนึ่งที่พบเห็นในแถบนี้เช่นเดียวกันคือ “คอกช้างดิน” ซึ่งแต่เดิมนั้นเข้าใจกันว่าเป็นที่กักขังช้าง แต่เมื่อมีการศึกษาลงลึก จึงพบว่าแท้จริงแล้วเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณในการเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในเมือง “..เชิงเขารอบๆ ตรงเขตถ้ำเสือจะมีเน้นดินสูงเรียกว่า คอกช้างดิน มี 2-3 คอกช้าง ลักษณะคอกช้างเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า บาราย ใช้เก็บกักน้ำไว้บนผิวดิน เพราะบริเวณอู่ทองนี้เป็นที่แล้งน้ำ จำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้ คือการทำคันดิน ทั้งชะลอน้ำ แยกน้ำ แบ่งน้ำ น้ำนี้เขาเน้นเป็นน้ำกินน้ำใช้ในเมือง ไม่ใช่น้ำเพื่อการเกษตรกรรม”

เพราะข้อมูลที่ได้พัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นนั้นมีหลักฐานชัดเจน ว่าเมืองอู่ทองร้างไปก่อนจะเกิดกรุงศรีอยุธยาถึง 200 ปี