Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ภาพ “กรุงศรีอยุธยา” ในอดีต จาก “พรรณนาภูมิสถานกรุงเก่า ฉบับหอหลวง”

เคยสงสัยใช่ไหมว่า หากสามารถย้อนเวลากลับไปในอดีตได้อย่างในหนังในละคร เชื่อว่าหลายคนอยากเห็นสภาพบ้านเมืองของอดีตราชธานีไทย “กรุงศรีอยุธยา” ว่ามีสภาพภูมิประเทศเป็นเช่นไร  ชีวิตในรั้วในวังจะเป็นเหมือนกับในละครหรือไม่  ซึ่งจะว่าไปแล้วก็สามารถหาหลักฐานเพื่อนำมาจินตนาการให้เห็นภาพขนาดพื้นที่ของกรุงศรีอยุธยาในอดีตได้เช่นกัน แต่อาจจะไม่ละเอียดลออไปเสียทุกส่วน ต้องอาศัยการเติมเต็มของจินตนาการและความคิดใส่เข้าไปด้วย จึงได้อรรถรสในการอ่านหลักฐานต่อไปนี้…

หลักฐานที่ว่า คือ “พรรณนาภูมิสถานกรุงเก่า ฉบับหอหลวง”  มีการบันทึกพรรณนาไว้ ว่า… “..จะกล่าวถึงภูมลำเนาพระนคร ตั้งอยู่บนเกาะหนองโสนในประเทศสยาม มีแม่น้ำล้อมรอบเกาะ เกาะนั้นมีสันถานคล้ายรูปสำเภานาวา ด้านยาวอยู่ทิศเหนือและทิศใต้  ด้านกว้างข้างรูปศีศะสำเภานั้นอยู่ทิศตะวันออก  ด้านกว้างข้างท้ายสำเภาอยู่ทิศตะวันตก  มีกำแพงก่อด้วยอิฐบ้าง ศิลาแลงบ้าง ก่อด้วยศิลาแดงบ้าง ล้อมรอบเปนพระนคร  พระนามกรปรากฏว่า กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา กำแพงตั้งแต่พื้นดินสูงสุด ใบสีมาสามวามีชานเชิงเทินช่องเนินบันพทโดยสูง ๘ ศอก  มีป้อมค่ายคูประตูใหญ่น้อยเรียงรายล้อมรอบพระนคร ๆด้านยาวร้อยเส้นเสศ  ด้านกว้างห้าสิบเส้นเสศ  พรรณาตามมีในฉบับพระตำหรับหอหลวง ท่านกล่าวไว้ว่ากรุงศรีอยุทธยานั้นตั้งต้นทิศตะวันออกเวียนขวาตั้งแต่ป้อมมหาไชย ท้ายทำนบรอมาถึงประตูใหญ่  ชื่อประตูท่าช้างวังจันทนบวร คือท่าช้างวังน่า ๑ แลจึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อประตูฉนวนน้ำ ประจำท่าพระราชวังจันทนบวร คือประตูฉนวนวังน่า ๑ จึ่งมาถึงประตูช่องกุฎสามช่อง แล้วจึงมาถึงป้อมวัดฝาง ๑ แล้วจึงมาถึงประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงประตูใหญ่คลองน้ำชื่อประตูหอรัตนไชย ๑  แล้วจึ่งมาถึงประตูช่องกุฎสามช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่  ห้ามไม่ให้เอาศพออกชื่อประตูเจ้าจันทน ๑  แล้วมีประตูช่องกุฎสองช่อง จึ่งมาถึงป้อมปืนตรงเกาะแก้ว ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงมุมกรุงศรีอยุทธยาด้านตะวันออกเฉียงใต้นั้น โลกยสมมุติเรียกว่าหัวสาระภา ที่ตำบลตรงนั้นคล้ายกับที่ถอนสมอสำเภา สุดท้ายด้านตระวันออกเพียงนี้…”

“กรุงศรีอยุทธยาด้านยาวทิศใต้  ตั้งแต่มุมกรุงที่ตำบลหัวสาระภามานั้น มีประตูช่องกุฎหนึ่งจึ่งมาถึงป้อมปืนใหญ่ ๑ แล้วมามีประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงประตูป้อมปืนใหญ่ก่อด้วยศิลาแลงมั่นคงแข็งแรงสูง ๓ วา สองศอก ป้อมนี้สูงกว่ากำแพงกรุง ๒ ศอก มีชานชาลารอบป้อมกว้างสามวา มีกำแพงแก้วล้อมรอบชานป้อม มีประตูช่องกุฎข้างซ้ายป้อมประตู ๑ ข้างขวาป้อมประตู ๑ ประตูทั้งสองนั้นเดินออกตามชานป้อมใหญ่ได้รอบป้อม  มีปืนแซกตามช่องแปดกระบอก ชั้นล่างปืนใหญ่รางเกวียนบันจุทุกช่อง ๑๖ กระบอก  ป้อมใหญ่นี้มีชื่อป้อมเพชร ตั้งอยู่ตรงแม่น้ำตะลาดบางกระจะ ป้อม ๑  แล้วจึ่งมาถึงประตูคลองน้ำชื่อ ในไก่ ๑  แล้วมีประตูช่องกุฎ ๕ ช่อง จึ่งมาถึงป้อม อกไก่ หนึ่ง แล้วมาถึงประตูช่องกุฎ ๒ ช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่คลองน้ำชื่อ ประตูจีน ๑  แล้วมีประตูช่องกุฎ ๒ ช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่คลองน้ำชื่อ ปะตุเทสมี ๑  จึ่งมาถึงท่าด่านชีมีประตูช่องกุฎสองช่อง จึ่งมาถึงป้อมปืนตรงปากคลองคูจาม แล้วมีประตูช่องกุฎ ๑ อยู่ในด่านท่าชี แล้วถึงประตูใหญ่คลองน้ำชื่อ ประตูไชย ๑  แล้วมาถึงประตูช่องกุฎ ๒ ช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อ ประตูชะไกรน้อย ๑  แล้วมามีประตูช่องกุฎ ๓ ช่อง  จึ่งมาถึงประตูใหญ่คลองน้ำชื่อประตู ชะไกรใหญ่ ๑  แล้วมาถึงประตูช่องกุฎ ๒ ช่อง จึ่งมาถึงป้อมปืนตรงปากคลองลครไชย ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎช่อง ๑ สุดด้านยาวทิศใต้เพียงนี้…”

ภาพวาดกรุงศรีอยุธยา (ภาพจาก วิกิพีเดีย)

“กรุงศรีอยุทธยา ด้านกว้างทิศตะวันตกตั้งแต่หัวเลี้ยววังไชยมาบ้านชี มีประตูช่องกุฎ ๓ ช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อประตูคลองน้ำแกลบ ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎ ๒ ช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อ ประตูท่า พระราชวังหลัง ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎสองช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อประตู คลองฉางมหาไชย ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎ ๓ ช่อง จึงมาถึงประตูใหญ่ชื่อ ประตูคลองฝาง ๑ แล้วมาถึงป้อมปืนตรงแม่น้ำหัวแหลมชื่อ ป้อมสัดกบ ๑  สุดด้านกว้างตะวันตก…”

“กรุงศรีอยุทธยาด้านยาวฝ่ายทิศเหนือนั้น ตั้งแต่ป้อมสัดกบนั้นมาตามด้านเหนือมีประตูช่องกุฎ ๑  จึ่งมาถึงประตูใหญ่ออกไปตลาดขายปลาสด ชื่อประตู สัดกบ ๑ แล้วมามีประตูช่องกุฎ ๑ จึงมาถึง ป้อมปืนใหญ่ก่อใหม่ชื่อ ป้อมสุพรัตน ๑  แล้วมีประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อ ประตูห่าน ๑ แล้วมาถึงประตูช่องกุฎ ๑ จึงมาถึงประตูใหญ่ชื่อ หมูทะลวง ๑  ประตูนี้สำหรับเชิญพระศพพระเจ้าลูกเธอ แลพระเจ้าหลานเธอลงเรือขบวนแหไปถวายพระเพลิงที่ในพระเมรุวัดไชยวัฒนาราม  แล้วมีประตูช่องกุฎ ๑ แล้วจึ่งมาถึงประตูใหญ่คลองน้ำอยู่ตรงมุมกำแพงพระราชวังหลวงนั้น ชื่อประตู ปากท่อ  แต่มุมกำแพงพระราชฐานด้านตะวันตกไปจนมุมกำแพง พระราชสฐานด้านตวันออกนั้น มีประตูใหญ่ชื่อประตูท่าขันธ ๑ แล้วมามีประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงประตูใหญ่ชื่อ ประตูท่าชัก ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎสามช่องจึงมาถึงประตูใหญ่ ช้างลงอาบน้ำ ชื่อประตูท่าสิบเบี้ย ๑ ที่ริมท่าสิบเบี้ยนั้น มีโรงช้างระหว่างค่ายนอกกำแพงกรุง ริมน้ำโรงสี่ห้องใส่ช้างพลายห้องละช้างสี่ช้าง แล้วถัดมามีประตูช่องกุฎ ๑ ริมกำแพงออกไปทุ่ง จึ่งมาถึงประตูช่องกุฎมหาเถรไม้แซ ๑ ที่ตรงนั้นเขาคิดอ่านแบ่งน้ำให้ไหลเข้ามาใต้ถนนหลวง น้ำนั้นไหลทลุเลยมาตามลำคูปากสระ คิดฝังท่อดินเผามุดมาใต้ถนน ตะพานนาด กระแสน้ำไหลเข้าในท่อที่ฝังนั้นโดยแรง น้ำในท่อไหลออกมาบันจบคลองประตูเขาสมี ถัดนั้นมามีประตูช่องกุฎสองช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่ ชื่อ ประตูท่ากระลาโหม แล้วมีประตูช่องกุฎอีกสองช่อง จึ่งมาถึงประตูใหญ่คลองน้ำชื่อ ประตูเข้าเปลือก ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎ ๑ จึ่งมาถึงป้อมปืนชื่อ ป้อมจำปาพล ๑ แล้วมีประตูช่องกุฎ ๒ ช่อง จึงมาถึงป้อมปืนใหญ่ชื่อ ป้อมมหาไชย ๑ อยู่ตรงมุมกำแพงพระนครด้านเหนือ สุดด้านยาวทิศเหนือเท่านี้…”

“…ตามกำแพงรอบกรุงศรีอยุทธยานั้น มีป้อมปืนใหญ่น้อยยี่สิบสองป้อม มีประตูใหญ่มียอดทาแดงยี่สิบสามประตู มีประตูช่องกุฎหกสิบเอดประตู…”

ตามที่กล่าวพรรณนาบันทึกไว้นี้ พอจะทำให้เห็นว่าภาพกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยาในอดีตเป็นอย่างไร และยิ่งหากได้ลงไปในพื้นที่สำรวจลัดเลาะไปตามแผนที่ที่บรรยายไว้นี้ เชื่อว่าจะทำให้เห็นภาพกรุงศรีอยุธยาได้แจ่มชัดมากขึ้น เพราะประตูเมืองบางแห่ง คลองบางคลอง ก็ยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน