Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

วัดพระแก้ว เมืองกำแพงเพชร เสน่ห์แห่งแท่งศิลา

พระพุทธรูปที่ยังเหลืออยู่ภายในวัดพระแก้ว สร้างด้วยศิาแลง โบกปูน พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้อยู่บริเวณด้านหลังของวัด

วัดพระแก้ว เมืองกำแพงเพชร

ชื่อเมือง  “กำแพงเพชร” ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 38  หรือ จารึกกฎหมายลักษณะโจร  กล่าวพระนามจักรพรรดิราชได้ขึ้นเสวยราชสมบัติที่เมืองกำแพงเพชร

ขณะเดียวกัน “กำแพงเพชร” ก็เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซ้ำยังเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมือง เช่น เมืองชากังราว ไตรตรึงษ์ นครชุม เมืองเทพนคร เป็นต้น

ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่ากำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัย มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง เดิมชื่อ เมืองชากังราว  ด้วยความที่เป็นเมืองหน้าด่าน กำแพงเพชรจึงเป็นเมืองยุทธศาสตร์และมีความสำคัญมาก หลักฐานที่ปรากฏถึงความรุ่งเรืองของกำแพงเพชร ได้แก่ กำแพงเมือง คูเมือง ป้อมปราการที่ถูกสร้างอย่างแข็งแรง  รวมถึงวัดโบราณหลายแห่ง

สมเด็จกรมพระยําดํารงราชานุภาพ ทรงบันทึกว่า กำแพงเมืองกำแพงเพชรเป็นกำแพงเมืองที่เก่าแก่มั่นคง ยังมีความสมบูรณ์มาก และเชื่อว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย  ขณะที่ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวถึงความมหัศจรรย์ของกำแพชร ว่า กำแพงเพชรคือเมืองสองฝั่ง ขยายจากเมืองนครชุมทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง มีการขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีสมัยทวาราวดีและก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นการคมนาคมทางแม่น้ำปิงมาก่อน  เมืองนครชุมอาจมีการพัฒนาเป็นบ้านเมืองในพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคมและศูนย์กลางเศรษฐกิจของสุโขทัยในลุ่มแม่น้ำปิง   โบราณสถานที่เหลือ เช่น แนวกำแพงเมือง เชิงเทิน ป้อม ประตู น่าจะสร้างร่วมสมัยกับอยุธยาตอนต้น  ในสมัยโบราณมีการใช้ “วัด” เป็นศูนย์กลางของนครเช่นเดียวกับสุโขทัย  ดังนั้น กลางเมืองกำแพงเพชรจึงปรากฏมี “วัดพระแก้ว” และ “วัดพระธาตุ”  เป็นศูนย์กลาง

“วัดพระแก้ว” เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมือง และมีสถานะเป็นวัดหลวงที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาส เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในกรุงศรีอยุธยา หรือวัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย หรือวัดพระศรีรัตนศาสดารามของกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ ปัจจุบัน)  วัดพระแก้วกำแพงเพชรสันนิษฐานว่ามีการต่อเติมสิ่งก่อสร้างในวัดหลายยุคหลายสมัย ด้านเหนือของวัดเป็นบริเวณที่เรียกว่า “สระมน” สันนิษฐานว่าเป็นเขตพระราชวังโบราณ

โบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ “ศาลพระอิศวร” ซึ่งเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูที่ปรากฏเพียงแห่งเดียวในเขตเมืองกำแพงเพชร ภายในเมืองยังมีซากวัดเล็กๆ อีกประมาณ 10 แห่ง รวมทั้งคูน้ำและสระน้ำ

กำแพงวัดเป็นศิลาแลงกลมทั้งท่อน สูงประมาณเมตรเศษ ขาดเป็นตอน ๆ  แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับกำแพง สิ่งก่อสร้างภายในวัดใช้ศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่  ตรงกลางของวัดมี “พระเจดีย์กลม” แบบลังกาองค์ใหญ่เป็นประธาน ฐานสี่เหลี่ยม ที่ฐานทำเป็นซุ้มคูหาโดยรอบมีสิงห์ยืนอยู่ในคูหา แต่ชำรุดหมด หลังการขุดแต่งของกรมศิลปากร พบฐานเจดีย์แบบต่าง ๆ กัน รวม 35 ฐาน วิหารใหญ่และเล็ก 8 วิหาร ฐานโบสถ์ 3 แห่ง ซึ่งแสดงว่าเป็นวัดใหญ่ และสำคัญมาก  ว่ากันว่าใครไปถึงกำแพงเพชรแล้วไม่ได้ไปเที่ยววัดพระแก้ว ชมความสวยงามของเจดีย์และความขรึมขลังของบรรยากาศ  เรียกว่าไปไม่ถึงจังหวัดกำแพงเพชรเลยทีเดียว….

วัดพระแก้วภาพมุมสูง สามารถมองเห็นอาณาเขตของวัดได้อย่างทั่วถึง เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมือง และมีสถานะเป็นวัดหลวงที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาส คือ ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ด้านเหนือของวัดเป็นบริเวณที่เรียกว่า "สระมน" สันนิษฐานว่าเป็นเขตพระราชวังโบราณ
แนวกำแพงเมืองของกำแพงเพชร สร้างด้วยศิลาแลง ยังมีป้อมปราการทั้งในแนวกำแพงเมือง และป้อมหน้าประตูเมือง ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 9 ป้อม ได้แก่ ป้อมมุมเมือง 3 ป้อม ป้อมเจ้าจันทร์ ป้อมเจ้าอินทร ป้อมเพชร ป้อมประตูวัดช้าง ป้อมประตูเผาอิฐ และป้อมประตูบ้านโนน สมเด็จกรมพระยําดํารงราชานุภาพ ทรงบันทึกว่า กำแพงเมืองกำแพงเพชรเป็นกำแพงเมืองที่เก่าแก่มั่นคง ยังมีความสมบูรณ์มาก และเชื่อว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย ขณะที่ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวถึงความมหัศจรรย์ของกำแพชร ว่า กำแพงเพชรคือเมืองสองฝั่ง ขยายจากเมืองนครชุมทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง มีการขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีสมัยทวาราวดีและก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นการคมนาคมทางแม่น้ำปิงมาก่อน
กำแพงเมืองกำแพงเพชร ทั้งสูงทั้งใหญ่สมกับเป็นกำแพงเมืองที่แข็งแกร่ง และยังได้ชื่อว่าเป็นกำแพงเมืองที่สวยที่สุดในประเทศไทย มีความยาวของกำแพงด้านเหนือประมาณ 2.200 เมตร ความยาวด้านใต้ประมาณ 2,000 เมตร ความกว้างด้าน สกัดทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร และด้านที่สำคัญทางทิศตะวันตกประมาณ 250 เมตร ส่วนแนวกำแพงด้านใต้ถูกรื้อทำลายไป กำแพงเมืองกำแพงเพชร มีลักษณะเป็นกำแพงแบบมีคูน้ำคันดินสามชั้น ต่อมาพัฒนากำแพงเมืองชั้นในเป็นกำแพงศิลาแลง มีการสร้างเชิงเทิน ใบเสมา และป้อมประตูรอบกำแพงเมือง ที่เป็นคันดินชั้นกลางและชั้นนอก ยังคงเห็นร่องรอยอยู่บ้าง กำแพงเมืองโดยรอบมีป้อมประตูเข้าออกรวม 10 ประตู ได้แก่ ประตูน้ำอ้อย ประตูบ้านโนน ประตูดั้น ประตูเจ้าอินทร์ ประตูหัวเมือง ประตูผี หรือประตูผีออก ประตูสุพานโคม ประตูวัดช้าง ประตูเตาอิฐ และประตูท้ายเมือง
บริเวณด้านหลังวัดพระแก้ว ดูมีมนต์ขลัง ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ สิ่งก่อสร้างภายในวัดใช้ศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ ตรงกลางของวัดมี "พระเจดีย์กลม" แบบลังกาองค์ใหญ่เป็นประธาน ที่ฐานของเจดีย์ทำเป็นซุ้มคูหาโดยรอบ มี "สิงห์ยืน" อยู่ในคูหาแต่ชำรุดหมด วัดพระแก้วนี้หลังจากขุดแต่งแล้วปรากฏว่าพบฐานเจดีย์แบบต่าง ๆ กัน รวม 35 ฐาน วิหารใหญ่และเล็ก 8 วิหาร ฐานโบสถ์ 3 แห่ง ซึ่งแสดงว่าเป็นวัดใหญ่ และสำคัญมากมาก่อน

ส่วนที่ว่าทำไมถึงมีชื่อว่า “วัดพระแก้ว” ก็มาจากตำนานพระแก้วมรกต เล่าลัดตัดตอนมาที่เมื่อพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรได้ระยะหนึ่ง ทำให้เมืองกำแพงเพชรมีชื่อเสียงว่าเป็นเมืองสำคัญในทางพระพุทธศาสนา บรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือคิดจะแย่งชิงพระแก้วมรกตไป แต่ไม่สำเร็จ  กระทั่งเจ้าเมืองเชียงรายยกกองทัพใหญ่มีไพร่พลนับแสนมาที่กำแพงเพชร เพื่อทูลขอพระแก้วมรกต ด้วยแสนยานุภาพของกองทัพเมืองเชียงราย เจ้าเมืองกำแพงเพชรจึงจำใจให้ไปด้วยความโศกเศร้าของอาณาประชาราษฏร์  ต่อมามีการทำศึกแย่งชิงพระแก้วมรกตกันอีกหลายครั้งจนเจ้าเมืองเชียงรายนำพระแก้วมรกตไปซ่อนไว้ภายในพระเจดีย์ วัดป่าเยี้ยะ ซึ่งอยู่ในเชียงรายนั่นเอง จึงทำให้พระแก้วมรกตหายสาบสูญไปตั้งแต่บัดนั้น

จนกระทั่งเกิดฟ้าผ่าพระเจดีย์จึงทำให้พบเห็นพระแก้วมรกตอีกครั้ง คราวนี้เจ้าเมืองเชียงใหม่อัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่เชียงใหม่  แต่มาถึงกลางทางช้างที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตไม่ยอมเดิน แต่กลับไปที่เมืองเขลางค์นคร(ลำปาง) จึงต้องประดิษฐานพระแก้วมรกตไว้ที่นครลำปาง

พระอิศวร เป็นองค์จริงที่แต่เดิมประดิษฐานอยู่ในเทวสถาน “ศาลพระอิศวร” ภายในกำแพงเมืองกำแพงเพชร มีจารึกที่ฐานรอบบาท ความว่าเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชประดิษฐานรูปพระอิศวรในเมืองกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. 2053 ตรงกับสมัยอยุธยา แต่ลักษณะของเทวรูปแสดงถึงการรับอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวเยอรมันคนหนึ่งได้มาพบเทวรูปนี้ในสภาพดี แม้จะตากแดดตากฝนอยู่นานกว่า 400 ปี จึงลักลอบตัดพระเศียรและพระหัตถ์เทวรูปพระอิศวรออกเป็นชิ้นส่วน จะส่งไปประเทศเยอรมนี แต่โดนจับได้ที่กรุงเทพฯ จึงนำมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ปัจจุบันเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์องค์จริงนี้ นำกลับไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

ต่อมาพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เชียงใหม่ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากลำปางไปไว้ที่สถูปเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ เมื่อเกิดศึกเชียงใหม่กับลาว พระเจ้าไชยเชษฐาได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่นครหลวงพระบาง แล้วต่อมาย้ายไปที่เมืองเวียงจันทน์ในที่สุด  พระแก้วมรกตอยู่ในเวียงจันทน์มาเป็นเวลาประมาณ 200 ปี จนสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อเสร็จศึกเมืองเวียงจันทน์ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมายังพลับพลาที่วัดแจ้ง(วัดอรุณราชวราราม)

โดยพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า ได้อาราธนาจากเมืองเวียงจันทน์ ข้ามมายังเมืองพานพร้าว(น่าจะเป็นเมืองศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง เดินทัพมาถึงเมืองสระบุรี พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกต เป็นขบวนเรือไปรับที่ท่าเจ้าสนุก หลังจากอัญเชิญมาทางบก แล้วทำพิธีสมโภช 3 วัน 3 คืน จึงอัญเชิญมาที่ท่าพระราชวังหลวง มาประทับแรมที่พระตำหนักบางธรณี(วัดตำหนักใต้บางกระสอ นนทบุรี) และในที่สุดพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน

เมื่อครั้งพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรนั้น เชื่อว่าต้องประดิษฐานภายในวัดในกำแพงเมืองหรือวัดประจำเมืองก็คือ  วัดพระแก้ว ประกอบกับที่วัดพระแก้วมีมณฑปขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกฟัก ย่อมุม 28 ตั้งซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น ฐานชั้นล่างกว้างประมาณ 12 เมตร สูงประมาณ 2 เมตร ตรงกลางด้านทิศตะวันออกทำเป็นทางขึ้น ถัดจากนั้นเป็นฐานบัวลูกฟัก ย่อมุม 36 อีก 1 ชั้น แต่ชั้นนี้ไม่มีบันไดทางขึ้น ต่อไปเป็นฐานย่อมุม 28 กว้างประมาณ 8 เมตร รองรับตัวเรือนธาตุ ย่อมุมไม้ 12  มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ภายในเป็นห้องสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตนั่นเอง

ด้านหลังสุดของวัดพระแก้ว ยังมีเจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยมเรียกว่า เจดีย์ช้างเผือก เพราะฐานล่างประดับด้วยรูปช้างปูนปั้นครึ่งตัวจำนวน 32  เชือก และแปลกกว่าเจดีย์ทรงระฆังและช้างล้อมอื่น ๆ คือ บนฐานสี่เหลี่ยมยังมีเจดีย์ประจำมุมทั้ง 4 มุม การก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมเห็นว่าส่วนใหญ่จะสร้างในยุคสุโขทัย และในตำนานพระพุทธสิหิงค์ ก็เคยมาประดิษฐานที่กำแพงเพชร  จึงเชื่อว่าทั้ง พระพุทธสิหิงค์ และ พระแก้วมรกต น่าจะเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วนี้มาก่อนทั้งสององค์

และเมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จมาที่กำแพงเพชร ได้โปรดเรียกกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางเมืองว่า “วัดพระแก้ว”

มีโอกาสเดินทางเที่ยวเมืองกำแพงเพชรเมื่อไหร่อ ยากชวนไปสัมผัสความงามของสถาปัตยกรรมศิลาแลงที่วัดแห่งนี้

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี