Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ร่องรอยทวารวดีในเขต อ.เมือง จ.ราชบุรี

จังหวัดราชบุรี จังหวัดหนึ่งในภาคตะวันตกของประเทศไทย มีภูมิประเทศหลากหลายทั้งทิวเขาสูงในเทือกเขาตะนาวศรีจรดชายแดนไทย-พม่า จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สันนิษฐานได้ว่า “จังหวัดราชบุรี”  เป็นหัวเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่งของแคว้นสุวรรณภูมิมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งอินเดีย ได้เผยแพร่พุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนแถบนี้ราวปี พ.ศ. 218 โดยแคว้นสุวรรณภูมิ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ “นครปฐม”

ราชบุรีในปัจจุบันห่างจากกรุงเทพมหานคร ราว 110 กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญย่านหนึ่งของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไม่เฉพาะแต่ภูมิประเทศที่น่าสนใจ แต่ยังมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีของชนพื้นเมืองหลายชาติพันธุ์ที่มาอยู่รวมกัน ในอดีตกาล “เมืองโบราณ    คูบัว” เป็นเมืองท่าติดต่อทะเลเช่นเดียวกับนครปฐม หรือเมืองนครชัยศรีโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 ลงมา

กล่าวได้ว่าคูบัวโดดเด่นยิ่งกว่านครชัยศรีโบราณ เพราะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับเมืองเพชรบุรี  ตลอดไปถึงอู่ทอง นครปฐม คูบัว เป็นเครือข่ายของเมืองท่าโบราณแต่ครั้งสมัยวัฒนธรรมทวารวดีเฟื่องฟู และคูบัวนั้นนับเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนามหายานที่สำคัญแห่งหนึ่งในย่านนี้  เมื่อสมัยที่ขอมเรืองอำนาจ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 ตัวเมืองได้โยกย้ายศูนย์กลางจากคูบัวมาตั้งใหม่ที่ราชบุรีในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก

ร่อยของทวารวดีเท่าที่พบและยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่บริเวณ “เขาวังสะดึง” อ.เมือง ราชบุรี พบชิ้นส่วนประติมากรรมหินขนาดเล็กรูปคชลักษมี  โดยทำเป็นภาพแสดงการกำเนิดของ “พระศรี” หรือ “พระลักษมี” พระชายาของพระวิษณุ  ซึ่งเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์และโชคลาภ ลักษณะคล้ายกับที่พบที่เมืองโบราณนครชัยศรี จ.นครปฐมและเมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

พระศรีหรือพระนางลักษมี ชายาของพระวิษณุ  เป็นทพเจ้าที่ได้รับการยกย่องนับถือจากพวกพราหมณ์และพุทธศาสนิกชน พระศรีมีกำเนิดขึ้นมาจากเกษียรสมุทรพร้อมกับช้างสองเชือก ทรงมีความเป็นอมตะ ในประติมากรรมนิยมทำเป็นภาพพระนางนั่งตรงกลาง ขนาบข้างด้วยช้างสองเชือก แวดล้อมด้วยเครื่องสูงอันเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นเชื้อสายกษัตริย์ ได้แก่ แส้ฉัตร งาช้าง วัชระ ลูกประคำอย่างละหนึ่งคู่ จามร และปูรณฆฏะ (หม้อน้ำ) อย่างละหนึ่งอัน เนื่องจากพระนางเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์และโชคลาภ พวกพ่อค้าจึงนิยมทำรูปเคารพของพระนางไว้ใกล้ตัวเพื่อกราบไหว้บูชา

ส่วนที่ “เขางู” ตั้งอยู่ในเขต ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง ราชบุรี ห่างออกจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 6 กิโลเมตร ชาวบ้านถือว่าเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์มาแต่ยุคโบราณ เป็นที่ตั้งของถ้ำฤาษี ที่มีภาพสลักพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทแบบทวารวดี พร้อมจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต อ่านครั้งแรกโดยศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ เมื่อ พ.ศ.2472 ให้คำแปลไว้ว่า “การบุญของฤาษี (นาม) ศรีสมาธิคุปตะ” จึงกลายเป็นที่มาของชื่อถ้ำฤาษี  ต่อมาในปี 2529 ชะเอม แก้วคล้าย นักภาษาโบราณ กรมศิลปากร อ่านใหม่ได้ความว่า “พระศรีสมาธิคุปตะเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการทำบุญ”

นอกจากนี้ยังมีถ้ำอื่นๆอีก อาทิ ถ้ำจีน  ถ้ำจาม และถ้ำฝาโถ  ทั้งหมดเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 11–13) เช่นเดียวกัน และยังสันนิษฐานด้วยว่าในถ้ำต่างๆ เหล่านี้ เคยเป็นที่ที่พระภิกษุสงฆ์มาจำพรรษาและหาความวิเวก เพราะอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง หลักฐานทางโบราณคดีที่พบบนผนังถ้ำต่างๆ ในเขางู นับว่ามีคุณประโยชน์และคุณค่ามหาศาลต่อการสืบหาร่องรอยวัฒนธรรมของทวารวดี

“ถ้ำฝาโถ”  บนผนังถ้ำทางด้านทิศใต้ มีภาพจำหลักรูปพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ หันพระเศียรไปทางปากถ้ำ มีประภามณฑลหลังพระเศียร เหนือขึ้นไปเป็นภาพปูนปั้นรูปเทพชุมนุม และต้นไม้มีการตกแต่งด้วยริ้วผ้าและเครื่องประดับ ส่วนผนังถ้ำทางด้านทิศเหนือมีภาพพระสาวก 4 องค์ บางองค์ยืนพนมมือ บางองค์ยืนเอียงตนอยู่ในท่าตริภังค์ ลักษณะการสลักภาพลงบนผนังถ้ำ มีรูปแบบใกล้เคียงกับภาพสลักบนผนังถ้ำอชันตาในประเทศอินเดีย ที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12  คูหาถ้ำฝาโถด้านในพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงจำนวนมาก  ส่วนบริเวณปากถ้ำมีร่องรอยของโครงหลังคามุงกระเบื้องดินเผาและแนวกำแพงก่ออิฐถือปูน  ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นโบราณวัตถุและสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันรูปสลักต่างๆ เริ่มเลือนลาง บางรูปเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น รูปเทวดา และพระสาวกบางรูป

“ถ้ำจีน” ภายในถ้ำมีภาพจำหลักพระพุทธรูปปูนปั้นปรากฏอยู่บนผนังสององค์ โดยองค์ด้านในเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางแสดงธรรมเทศนา องค์ด้านนอกเหลือเพียงครึ่งองค์ ลักษณะคล้ายกับองค์แรก สันนิษฐานว่าเดิมคงจะสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี ต่อมาคงมีการบูรณะโดยพอกทับด้วยปูนปั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทาสีแดงชาดที่จีวร สบงและสังฆาฏิ ต่อมาภายหลังจึงมีการลงรักดำแล้วปิดทองทับ

“ถ้ำจาม” บริเวณทางเข้าและในถ้ำมีร่องรอยของเศษอิฐ ซึ่งมีแผ่นอิฐสมัยทวารวดีอยู่เป็นจำนวนมาก ปะปนกับอิฐและกระเบื้องในสมัยอยุธยา ภายในถ้ำมีภาพจำหลักบนผนังทุกด้าน ด้านทิศเหนือเป็นภาพตอน ยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี ประกอบ ด้วยภาพพระพุทธรูปประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ และปางแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางต้นมะม่วงที่มีผลอยู่เต็มต้น ซึ่งนิยมทำกันในสมัยทวารวดี ดังปรากฏในภาพสลักหินและพระพิมพ์ การสร้างภาพตอนยมกปาฏิหาริย์นี้ได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องพุทธประวัติในอรรถกถาภาษาบาลี ลัทธิหินยาน ส่วนผนังถ้ำทางด้านใต้ และด้านตะวันออก เป็นภาพปูนปั้นรูปบุคคลขี่คอซ้อนกันขึ้นไป และรูปพังพานพญานาคของพระพุทธรูปปางนาคปรก แต่เศียรนาคหายไปหมดแล้ว ผนังด้านตะวันตกเป็นภาพพระพุทธรูปไสยาสน์ แสดงปางปรินิพพาน

ติดตามเรื่องราวน่าสนใจและความเป็นไปของทวารวดีในทัวร์ “จากนครปฐมถึงราชบุรี พลังศรัทธา พุทธศาสน์ งานช่าง ทวารวดี” 24 สิงหาคมนี้ มติชนอคาเดมีพาทุกท่านไป      #ตามรอยศิลปะทวารวดี จ.นครปฐม-ราชบุรี