Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

รู้จัก “ลัทธิหินยาน” ในพุทธศาสนา

นับแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พัฒนาการของพุทธศาสนาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป โดยในช่วงแรกพระสัมมาสัมพุทธดำรัสแก่พระอานนท์ว่า “พระธรรมวินัยจักเป็นศาสดาแทนพระองค์ในกาลที่พระองค์ล่วงไป” ซึ่งก็คือจุดกำเนิดของ “ลัทธิสาวกยานหรือหินยาน”

เมื่อกาลเวลาผ่านไปไม่นาน มีพระสงฆ์บางกลุ่มเริ่มตีความบางประเด็นของพระวินัยและพระธรรมวินัยใหม่ ทำให้เกิด ‘ลัทธิมหายาน’ จนต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 12  ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในอินเดียเฟื่องฟูอย่างมาก ทำให้พุทธศาสนาลัทธิมหายานต้องปรับตัว โดยมีการนำปรัชญาและหลักปฏิบัติของฮินดูเข้ามาผสมผสาน เกิดเป็นลัทธิซึ่งเรียกว่าลัทธิตันตระยานหรือวัชรยาน

ลัทธิหินยาน เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีกายและใจเป็นมนุษย์ ทรงตรัสรู้และประกาศหลักธรรมสำคัญคือหลักแห่งการดับทุกข์ ผู้นับถือศรัทธาสามารถแสวงหาความดับทุกข์ได้ตามแนวทางที่พระองค์ทรงชี้แนะสั่งสอนด้วยตนเอง ลัทธินี้นับถือพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ในภัทรกัป คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระสมณโคดม รวมทั้งพระโพธิสัตว์เมตไตรยผู้จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต คัมภีร์ของลัทธิหินยานนิยมใช้ภาษาบาลี แต่มีบางนิกายใช้คัมภีร์ภาษาสันสกฤต

ลัทธิหินยาน สามารถแบ่งนิกายสำคัญได้ 4 นิกาย ดังนี้

นิกายมูลสรรวาสติวาท คือชื่อเรียกนิกายสรรวาสติวาทในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 – กลางพุทธศตวรรษที่ 13 มีการใช้ภาษาสันสกฤต เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ธรรมดา ปฏิเสธเรื่องปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ให้ความสำคัญกับเรื่องบารมี 6 ประการของพระโพธิสัตว์ คือ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ ญาณ และปัญญา ใช้นิทาน อวทาน (อดีตชาติอันรุ่งโรจน์และกล้าหาญ) และชาดกในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา นิกายนี้แพร่หลายในหลายภูมิภาค เช่น ทางอินเดียภาคตะวันตกเฉียงเหนือ รวมทั้งปัจจุบันเป็นดินแดนของปากีสถานและอัฟกานิสถาน คือที่เมืองมธุรา แคว้นคันธาระ แคว้นกัษมีระ/แคชเมียร์ ต่อมาแพร่หลายสู่ศรีลังกา เอเชียกลาง จีนตอนใต้ ศรีเกษตร (ในพม่า) จัมปา (เวียดนามตอนใต้) และแถบหมู่เกาะอินโดนีเซีย ศาสนสถานสำคัญในประเทศไทยที่สร้างขึ้นจากความศรัทธาในพุทธศาสนานิกายนี้คือเจดีย์จุลประโทน จ.นครปฐม สถูปหมายเลข 10 ที่เมืองคูบัว จ.ราชบุรี สถูปหมายเลข 1 บ้านโคกไม้เดน จ.นครสวรรค์ ด้วยมีการตกแต่งฐานสถูปด้วยภาพปูนปั้นนิทานอวทานซึ่งเป็นเนื้อหาจากคัมภีร์ภาษาสันสกฤตของนิกายนี้

นิกายสัมมิตียะ คือนิกายซึ่งคัดค้านพุทธปรัชญาที่ว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตา โดยตั้งสมมุติฐานไว้ว่าเราจะพูดถึงสิ่งที่เป็นสภาวธรรมที่ไม่มีตัวตนแน่นอนกันอย่างไร ด้วยเหตุนี้ นิกายสัมมิตียะจึงเชื่อในหลักของปรัชญาบุคคลภาวะหรืออาตมภาวะ อันทำให้เกิดชาติภพต่างๆ ของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า นิกายนี้รุ่งเรื่องมากที่เมืองสารนาถ ฉะนั้น พระพุทธรูปเนื่องในนิกายนี้จะสร้างสรรค์ในแบบสกุลช่างสารนาถ

นิกายสถวิรวาทและต่อมาพัฒนาเป็นนิกายเถรวาท ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 12 นิกายสถวิรวาทได้พัฒนาแตกแขนงเป็นนิกายเถรวาท  นิกายนี้ยังคงยึดหลักคำสั่งสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าคือหลักปฏิจจสมุปบาทและหลักอริยสัจ 4 ดำรงความเข้มข้นของพระวินัยดั้งเดิม รวมทั้งการรับคติธรรมลัทธิมหายานเข้ามาประสม เช่น การอุทิศส่วนบุญกุศลของตนเองให้แก่ผู้อื่น นิกายนี้แพร่หลายทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียที่เมืองกาญจีปุระ ลังกา และนำเข้ามาเผยแพร่สู่ภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 13  นิกายนี้มีพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี เคารพบูชาพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ และพระพุทธเจ้าในอนาคต (พระศรีอาริยเมตไตรย) 1 พระองค์ และให้ความสำคัญกับการสร้างพระธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรม

นิกายมหาสังฆิกะ เป็นนิกายที่สถาปนาขึ้นหลังการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 2 ที่เมืองไพศาลี เมื่อ พ.ศ.127 (386 ปีก่อนคริสตกาล) นิกายนี้เชื่อว่า “พระพุทธเจ้าทรงมีสภาวะเป็นโลกุตระ และมีพระชนม์เป็นอนันตกาล พระตถาคตเป็นเพียงการสร้างสรรค์ด้วยปาฏิหาริย์เพื่อสั่งสอนพระธรรมแทนพระพุทธองค์ซึ่งทรงสถิตอยู่เหนือโลก นอกจากนั้นแล้ว ยังชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระอรหันต์และพระพุทธเจ้าว่า การเป็นพระอรหันต์นั้นง่ายกว่าการเป็นพระพุทธเจ้า นิกายมหาสังฆิกะเชื่อว่า จิตนั้นบริสุทธิ์ ปราศจากความเศร้าหมอง แต่ต้องขุ่นมัวเพราะกิเลสเข้าครอบงำ พร้อมกับสอนว่า ภาวะที่แท้จริงของทุกสิ่งในโลกนั้นเป็นศูนฺยตา หรือความว่างเปล่า ซึ่งแนวความคิดของนิกายนี้ได้เป็นต้นกำเนิดของลัทธิมหายานในเวลาต่อมา นิกายนี้แพร่หลายทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียที่เมืองอมราวดี เมืองนาคารชุนโกณฑะเมื่อพุทธศตวรรษที่ 10

แม้จะต่างกันในรายละเอียด แต่ทั้ง 3 ลัทธิต่างคงไว้ซึ่งการให้ความเคารพบูชาพระรัตนตรัย รวมทั้งมีจุดมุ่งหมายปลายทางด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือมุ่งสู่การดับทุกข์และการดับขันธ์ทั้ง 5 เหมือนกัน นั่นเอง

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี