Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ราชวงศ์มหิธรปุระ มีศูนย์กลางอยู่ที่ “พิมาย-พนมรุ้ง” : ภูมิหลังของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

ภาพสลักพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ ท่ามกลางข้าราชบริพารและนายทหารของพระองค์ ที่ผนังระเบียงปราสาทนครวัด
วรรณวิภา สุเนตรต์ตา(คัดและตัดคอนจาก : ชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรกัมพูชา เขียนโดย วรรณวิภา สุเนตรต์ตา สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๘)

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงมีเชื้อสายจากราชวงศ์ “มหิธรปุระ” ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนในเขตจังหวัดนครราชสีมา โดยมีศูนย์กลางบริเวณ “พิมาย-พนมรุ้ง” การศึกษาทางโบราณคดีในแถบลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน พบการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของชุมชนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยก่อนเมืองพระนครโดยพบหลักฐานจารึกที่กล่าวถึงดินแดนนี้ว่า “มูลเทศะ” มีเมืองสำคัญคือ “ภีมปุระ” จนกระทั่งเข้าสู่สมัยเมืองพระนครและมีศูนย์กลางชัดเจนที่เมืองพิมาย สอดคล้องกับหลักฐานศิลปกรรมจำนวนมากที่พบตามสายพัฒนาการในดินแดนแถบนี้

ในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ได้พบหลักฐานจารึกของกษัตริย์เขมรผู้ครองเมืองพระนคร ซึ่งมีนัยของการสืบเชื้อสายมาจากดินแดน “มหิธรปุระ” และได้ตั้งราชวงศ์ปกครองเมืองพระนครในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าต้นราชวงศ์คือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ ทรงครองราชย์ในช่วงปี พ.ศ. ๑๖๒๓-๑๖๕๐ และเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลของกษัตริย์ผู้ครองเมืองแห่งหนึ่ง พระนามของพระองค์ปรากฏในจารึกหลายหลักที่พบในประเทศไทย

จารึกหลักสำคัญที่กล่าวถึงพระราชวงศ์ไว้อย่างละเอียด ปรากฎในจารึกปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งเดิมได้พบเป็นชิ้นส่วนที่ไม่สมบูรณ์และมีการศึกษาและตีความโดยเซเดส์ ภายหลังกรมศิลปากรได้พบชิ้นส่วนของจารึกหลักเดียวกันนี้เพิ่มเติมในการบูรณะปราสาทพนมรุ้ง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาแปลความจารึกปราสาทพนมรุ้งเพิ่มเติมใน “จารึกที่พบที่ปราสาทพนมรุ้ง” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ พระราชนิพนธ์ของพระองค์ทำให้ภาพรวมของราชวงศ์มหิธรปุระชัดเจนขึ้น และเสนอความสัมพันธ์ทางเครือญาติของผู้ครองเมืองโบราณในแถบพนมรุ้งและกษัตริย์แห่งเมืองพระนคร

แผนที่แสดงเส้นทางคมนาคมความสัมพันธ์ระหว่างอีสานกับเขมรพระนคร

จารึกปราสาทพนมรุ้งได้กล่าวถึง “นเรนทราทิตย์” กษัตริย์ผู้นับถือศาสนาฮินดูไศวนิกาย ที่มีศูนย์กลางที่ปราสาทพนมรุ้ง เนื้อหาของจารึกยังได้กล่าวถึงลำดับพระญาติของพระองค์ ซึ่งมีต้นตระกูลจากพระเจ้าหิรัณยวรมันผู้ครองนครแห่งหนึ่ง และเป็นผู้ให้กำเนิดเจ้าชาย ๓ พระองค์ ซึ่งเซเดส์สันนิษฐานว่าคือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ และพระยุพราชซึ่งคงจะสิ้นพระชนม์ไปในภายหลัง ส่วนอีกวงศ์หนึ่งคือพระเจ้ากษิตีนทราทิตย์ อันมีศักดิ์เป็นพระนัดตาของพระเจ้าหิรัณยวรมัน ได้ทรงอภิเษกกับพระธิดาของพระเจ้าหิรัณยวรมัน และได้กำเนิดพระราชโอรส คือพระศรีสูรยวรมันหรือพระเจ้าสูรยวรมัน ที่ ๒

ดังนั้นลำดับราชวงศ์ที่ครองเมืองพระนครจึงเริ่มจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ และพระเชษฐา คือพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ ซึ่งทรงครองราชย์ในช่วงสั้นๆ เพียง ๖ ปี จากนั้นเป็นรัชกาลของพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ ซึ่งครองราชย์ต่อมากว่า ๕๐ ปี ในขณะเดียวกันจารีกปราสาทพนมรุ้งยังได้กล่าวถึงบุคคลที่ยังเป็นที่ถกเถียงของนักวิชาการในปัจจุบัน นั่นคือพระเจ้านเรนทราทิตย์ซึ่งสันนิษฐานว่าทรงมีพระชนม์อยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๑๖๘๘-๑๖๙๓ ผู้ซึ่งทรงถือกำเนิดจากพระนางภูปตีนทรลักษมี

เซเดส์ สันนิษฐานว่าพระนางภูปตีนทรลักษมี คือ พระธิดาในพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ และนเรนทราทิตย์ คือพระนัดดา โคลด ฌาค (Jacques C.) ตีความว่า พระนางคือพระเชษฐภคินีของพระเจ้าสูรยวรมันและนเรนทราทิตย์เป็นหลานลุงหรือหลานน้าของพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงสันนิษฐานว่า พระนางอาจมีฐานะเป็นอาของสูรยวรมัน และนเรนทราทิตย์เป็นพระญาติลูกพี่ลูกน้อง

อย่างไรก็ตาม จารึกได้กล่าวถึงการครองราชย์ของนเรนทราทิตย์ ซึ่งอาจเป็นดินแดนบริเวณพนมรุ้ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเมืองพระนครอย่างใกล้ชิดทั้งในฐานะพระญาติสนิทและความสัมพันธ์ทางกายภาพของเมือง เนื่องจากได้พบเส้นทางโบราณที่ตัดผ่านปราสาทต่างๆ จากเมืองพระนครมายังปราสาทพนมรุ้งอีกด้วย ในช่วงเวลาดังกล่าวพระเจ้าสุรยวรมันที่ ๒ ทรงครองเมืองพระนคร และได้พบข้อความสรรเสริญพระองค์ในจารึกปราสาทพนมรุ้งนี้ ในการที่ทรงรวมดินแดนทั้งสองเข้าไว้ในเศวตฉัตรเดียว ซึ่งอาจหมายถึงดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อันอาจเป็นศูนย์กลางการปกครองที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในพุทธศตวรรษที่ ๑๗

ในประเด็นเรื่องการอุปถัมภ์ศาสนา สันนิษฐานว่า ราชวงศ์มหิธรปุระอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการนำศาสนาพุทธมหายานให้มีบทบาทในราชสำนักเขมรอย่างแท้จริง จารึกโคกยายหอม ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ ได้กล่าวถึงการประดิษฐานพุทธศาสนาและพระราชวงศ์ จำนวนมากที่นับถือพุทธศาสนามหายาน ความสำคัญของพุทธศาสนามหายานยังคงมีอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ ในรัชสมัยของพระองค์ในปี พ.ศ. ๑๖๕๑ ได้ทรงส่งข้าราชการผู้มีนาม ว่า “กมรเตงอัญศรีวิเรนทราธิบดีวรมัน” แห่งเมืองโฉกวกุล เดินทางมายังเมืองพิมายเพื่อสถาปนา “เสนาบดีไตรโลกยวิชัย” ขึ้นไว้เพื่อเป็นเสนาบดีของ “กมรเตงชคตวิมาย” ดังที่ปรากฎในจารึกกรอบประตูระเบียงคดที่ปราสาทพิมาย

สันนิษฐานว่า กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย เป็นข้าราชการในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ ที่ทรงส่งมาประจำที่เมืองพิมาย และได้ทรงสร้างรูปเคารพเพื่ออุทิศให้ โดยถวายแก่พระพุทธเจ้า หรือพระสุคตวิมาย พระนามของพระสุคตวิมายยังได้ปรากฎอีกครั้งในจารึกปราสาทพระขรรค์เมืองพระนครในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ด้วย และสันนิษฐานว่าหมายถึงพระพุทธรูปประธานในปราสาทพิมายซึ่งสัมพันธ์กับภาพสลักทับหลังที่ปราสาทพิมายชิ้นหนึ่ง แสดงภาพขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรก หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงสันนิษฐานว่าอาจเป็นพระพุทธรูปนาคปรกที่ประดิษฐานในศาสนสถานที่พิมายแห่งนี้นั่นเอง

จารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ ยังได้พบที่ปราสาทพนมวัน จังหวัดนครราชสีมาอีกด้วย ซึ่งเดิมบริเวณดังกล่าวอาจหมายถึงชุมชนเมืองสุขาลัยที่ปรากฎในจารึก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไม่ไกลจากเมืองพิมาย อันแสดงไห้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเมืองแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับเมืองพระนครในรัชสมัยของพระองค์ และภูมิลำเนาเดิมของพระราชวงศ์มหิธรปุระ ซึ่งอาจอยู่ในบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำมูลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันนั่นเอง

ภายหลังจากรัชสมัยของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ ในช่วงเวลาสั้นๆ การปกครองก็ผ่านมายังตระกูลของพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ ผู้มีศักดิ์เป็นพระญาติและเป็นรัชสมัยที่ยิ่งใหญ่ยุคหนึ่งของเมืองพระนคร ทรงอุปถัมภ์ศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพ และได้สร้างศาสนสถานสำคัญในประวัติศาสตร์เขมรนั่นคือปราสาทนครวัด เราไม่อาจทราบแน่ชัดถึงการเปลี่ยนมาอุปถัมภ์ศาสนาฮินดูของพระองค์ สวนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเปลี่ยนอำนาจการปกครองในตระกูล

อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลต่อจากพระองค์ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๒ พระราชบิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ก็ทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนามหายานอีกครั้ง จารึกปราสาทพระขรรค์เมืองพระนคร ได้กล่าวถึงการสืบสันตติวงศ์และภูมิลำเนาของราชวงศ์ และอาจเป็นดินแดนที่มีรากฐานของพุทธศาสนามหายานมานานแล้ว เมื่อย้อนกลับไปดูลำดับพระญาติที่กล่าวไว้ในจารึกปราสาทพระขรรค์และเช่นเดียวกับที่ปรากฏในจารึกปราสาทตาพรหมพบว่า ทางฝ่ายพระราชมารดาคือพระนางศรีชยจูฑามณี ทรงเป็นพระธิดาของพระเจ้าหรรษวรมันที่ ๓ ผู้ครองราชย์ในลำดับก่อนการตั้งราชวงศ์มหิธรปุระราว พ.ศ. ๑๖๐๙-๑๖๒๓ ทางฝ่ายพระราชบิดาพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๒ ทรงสืบเชื้อสายจากตระกูลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ และพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ โดยทรงถือกำเนิดจากศรีมหิธราทิตยะ และพระมารดาคือพระนางราชปตีนทรลักษมี ซึ่งเป็นเจ้าหญิงแห่งเมืองหนึ่ง พระบิดาหรือศรีมหิธราทิตยะทรงเป็นพระโอรสของเจ้าหญิงองค์หนึ่งที่มีศักดิ์เป็นพระภคินีของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ ซึ่งศรีมหิธราทิตยะนี้ ยังมีฐานะเป็นพระอนุชาของพระราชมารดาในพระเจ้าสุรยวรมันที่ ๒ ดังนั้นพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๒ จึงทรงเป็นพระญาติลูกพี่ลูกน้องกับพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ อีกทางหนึ่งด้วย

ในช่วงที่พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๒ ครองราชย์นั้น นักวิชาการสันนิษฐานว่าการครองราชย์ต่อจากพระเจ้าสุรยวรมันที่ ๒ อาจมีความยุ่งยากบางประการเกิดขึ้น เซเดส์ เชื่อว่าทรงครองราชย์ในช่วงเวลาสั้นๆ ในขณะที่โกรสลิเย่ร์ (Grosilier B.) สันนิษฐานว่าอาจไม่ได้ขึ้นครองราชย์ที่เมืองพระนคร อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังได้ทรงสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า ในจารึกปราสาทพนมรุ้ง นเรนทราทิตย์อาจทรงครองราชย์แถบเมืองพนมรุงร่วมสมัยกับพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ และภายหลังทรงออกผนวช ทรงพรตเป็นโยคีมีข้าราชบริพารตามเสด็จไปด้วย ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ต้องการหลีกเลี่ยงความวุ่นวายในการสืบราชสมบัติต่อจากสุรยวรมันที่ ๒ ที่เมืองพระนคร ภายหลังเมื่อทรงสวรรคตลง

การอุปถัมภ์พุทธศาสนามหายานของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๒ อาจเป็นข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ได้เสนอความคิดเห็นเรื่องการอุปถัมภ์พุทธศาสนามหายาน โดยอาจเป็นเรื่องของการถ่วงดุลอำนาจของพวกพราหมณ์ในราชสำนัก ซึ่งมีบทบาทต่อการปกครองของกษัตริย์รวมถึงการสืบราชบัลลังก์เป็นอย่างมาก ดังนั้นพุทธศาสนามหายานอาจเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทต่อการปกครองอาณาจักรของกษัตริย์ไม่ต่างไปจากศาสนาฮินดู ทั้งนี้จิตรเชื่อว่าเป็นการดึงอำนาจสู่ศูนย์กลางคือราชสำนักของกษัตริย์ มากกว่าการให้พราหมณ์และตระกูลของพราหมณ์มีบทบาทสูงเช่นในสมัยก่อนดังที่ได้ปรากฎมาแล้วถึงความยิ่งใหญ่ของตระกูลพราหมณ์ในจารึกสด๊กก็อกธม ซึ่งจารึกขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ และกล่าวถึงการปฏิบัติสืบทอดของฝ่ายพราหมณ์ในราชสำนักเขมรมากว่าร้อยปี