Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ย้อนรำลึกเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

วัดมหาธาตุ เจดีย์ประธานของวัด เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงยอดดอกบัวตูม เป็นรูปแบบเจดีย์ที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัย โดยเฉพาะ รายรอบเจดีย์ประธานมีเจดีย์บริวาร จำนวน 8 องค์ ได้แก่ เจดีย์ประจำด้าน(ทิศ)ทั้งสี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัย ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมและมีลวดลายปูนปั้นแบบอิทธิพลศิลปะลังกา ส่วนเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด ที่มีอิทธิพลของศิลปะพุกาม-หริภุญไชย-ล้านนา รอบ ๆ เจดีย์ประธานมีปูนปั้นรูปพระสาวกในท่าอัญชุลีเดินประทักษิณโดยรอบพระมหาธาตุ

บริษัท บูรพาทัศน์(1999) จำกัด นำพนักงานหนังสือพิมพ์ “ข่าวหุ้น” เกือบ 100 คน เข้าชมความงามของโบราณสถานที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย พร้อมรับฟังความรู้ทางประวัติศาสตร์ของกรุงสุโขทัย จากวิทยากร “ปรีดี พิศภูมิวิถี” อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการเปิดโลกทัศน์และมุมมองพนักงานให้เห็นคุณค่าของอดีตที่ผ่านมา ให้รู้จักรากเหง้าของตนเอง ให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ทำให้มีความรู้ความคิดอ่านกว้างขวาง  ทันเหตุการณ์  ทันสมัยและทันคน เพราะประวัติศาสตร์สามารถนำมาเป็นบทเรียนและประยุกต์ใช้ในกระบวนการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นพื้นที่ของกรุงสุโขทัยในอดีต มีความเจริญรุ่งเรืองระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-20 หลังจากนั้นจึงถูกผนวกเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 21 ร่องรอยความเจริญปรากฏผ่านแหล่งโบราณคดี โบราณสถานที่กระจายอยู่ในและนอกกำแพงเมืองสุโขทัย รวมทั้งสิ้น 193 แห่ง จำแนกเป็นโบราณสถานกลางเมืองหรือในกำแพงเมือง จำนวน 60  แห่ง  เช่น วัดมหาธาตุ วัดศรีสวาย ศาลตาผาแดง ฯลฯ

โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ จำนวน 27 แห่งเช่น วัดพระพายหลวง วัดศรีชุม เตาเผาเครื่องสังคโลก ฯลฯ โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้จำนวน 37 แห่ง  เช่น วัดเชตุพน วัดเจดีย์สี่ห้อง วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามฯลฯ โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก จำนวน 19 แห่ง เช่น วัดช้างล้อม วัดตระพังทองหลาง โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกจำนวน 50 แห่ง เช่น วัดสะพานหิน วัดป่ามะม่วง เทวาลัยมหาเกษตร สรีดภงส์ ฯลฯ

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนีเซีย ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2534นับเป็นมรดกโลกตามบัญชีในลำดับที่ 574

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

เจดีย์บริวารรอบๆ วัดมหาธาตุ
ชาว"ข่าวหุ้น" ทัวร์อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วัดศรีสวาย โบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ รูปแบบศิลปะลพบุรี ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียว ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน ได้พบทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ที่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อน แล้วแปลงเป็นพุทธสถานโดยต่อเติมวิหารขึ้นที่ด้านหน้า แล้วเป็นวัดในพุทธศาสนาภายหลัง
เดินทางถึง "พาสาน" ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่แม่น้ำ 4 สาย ปิง วัง ยม น่าน มาบรรจบกัน นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของนครสวรรค์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจในปากน้ำโพ ภายในตัวอาคาร จัดแสดงข้อมูลประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม อีกทั้งมีการติดตั้งระบบมัลติมีเดีย แสง สี เสียงที่สวยงาม ทันสมัย
เจดีย์ประธานของวัด เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงยอดดอกบัวตูม เอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยโดยเฉพาะ
วัดศรีสวาย ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อยู่ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ
วัดสระศรี เป็นโบราณสถานสำคัญอยู่บริเวณกลางสระน้ำที่มีขนาดใหญ่ ชื่อว่า ตระพังตระกวน และสิ่งสำคัญของวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงลังกา ด้านหน้าวิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย มีเจดีย์ขนาดเล็ก ศิลปศรีวิชัยผสมลังกา ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ มีซุ้มพระพุทธรูป 4 ทิศ ด้านหน้ามีเกาะกลางน้ำขนาดย่อมเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถขนาดเล็ก วัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นจุดที่มีทัศนียภาพที่สวยงามมาก
"ปากน้ำโพ" จังหวัดนครสวรรค์ เป็นที่รวมของแม่น้ำ 4 สายไหลมาบรรจบกัน คือ ปิง วัง ยม และน่าน อันเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายสำคัญของประเทศ บริเวณนี้เรียก "พาสาน"
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ลักษณะพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาด 2 เท่าขององค์จริง สูง 3 เมตร ประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่นมนังคศิลาบาตร พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน แท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ไว้ข้าง ๆ ลักษณะพระพักตร์เหมือนอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น
วัดศรีชุม ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระพายหลวง 800 เมตร เป็นวัดที่ประดิษฐาน พระอจนะ พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ลักษณะของวิหารสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้าน ก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเข้าไปภายใน และเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบ ๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์พระ เดิมภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี และบนเพดานช่องบันไดยังมีแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่แกะสลักลวดลายเรื่องชาดกต่าง ๆ มีจำนวนทั้งหมด 50 ภาพ ปัจจุบันแกะออกนำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ ดูน้อยลง
บริเวณวัดสระศรี บรรยากาศร่มรื่น ดูน้อยลง
วัดศรีชุม มีพระประธาน คือ พระอจนะ แปลว่า “ผู้ไม่หวั่นไหว มั่นคง” “ผู้ที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้” องค์พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในมณฑป พระพุทธอจนะ เป็นที่เลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์และมีมนต์เสน่ห์ เป็นเอกลักษณ์ชวนให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมและสักการะอย่างไม่ขาดสาย ดูน้อยลง
วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่กึ่งกลางของเมือง เปรียบดังวัดหลวงประจำราชธานีสุโขทัย ภายในวัดมีโบราณสถานมากมายประกอบด้วย เจดีย์ประธาน วิหาร มณฑป อุโบสถ(โบสถ์) และเจดีย์รายจำนวนมากถึง 200 องค์ และนับเป็นวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดของเมือง ดูน้อยลง
วัดสระศรี โบราณสถานสำคัญอยู่บริเวณกลางสระน้ำที่มีขนาดใหญ่ ชื่อว่า ตระพังตระกวน และสิ่งสำคัญของวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงลังกา ด้านหน้าวิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย มีเจดีย์ขนาดเล็ก ศิลปศรีวิชัยผสมลังกา ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ มีซุ้มพระพุทธรูป 4 ทิศ ด้านหน้ามีเกาะกลางน้ำขนาดย่อมเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถขนาดเล็ก วัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นจุดที่มีทัศนียภาพที่สวยงามมาก
เจดีย์ทรงระฆังของวัดสระศรี เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงการรับพุทธศาสนาจากลังกาของสุโขทัย บางครั้งจึงเรียกเจดีย์แบบนี้ว่า เจดีย์ทรงลังกา