Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

มองความรุ่งเรืองเมื่อ1,500ปีก่อน ผ่าน‘ศิลปะทวารวดี’(คลิป)

‘ทวารวดี’คืออะไร เกี่ยวข้องกับอะไร กว้างใหญ่แค่ไหน บ้างก็ว่าเป็นอารยธรรม บ้างก็ว่าเป็นวัฒนธรรม จะหาคำตอบได้จากไหน?

จากบางท่อนบางตอนของคลิปศิลปวัฒนธรรมทวารวดี ตามโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยศิลปากร มีคำตอบที่น่าสนใจ ว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 1,400-1,500 ปี ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ได้เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ที่มีการใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือสื่อสาร อารยธรรมจากโพ้นทะเลภายนอก ผสมผสานกับอารยธรรมดั้งเดิม ทำให้ชุมชนต่างๆมีพัฒนาการ กลายเป็นบ้านเมืองที่ใหญ่โตและรุ่งเรือง รวมถึงบ้านเมืองที่มีนามว่า ‘ทวารวดี’ ด้วย

‘ทวารวดี’ เป็นบ้านเมืองที่สำคัญยิ่งในช่วงเริ่มแรกประวัติศาสตร์ ชื่อที่ใช้เรียกขานนี้เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าเมืองที่มีประตู หรือประกอบด้วยประตู อาจได้ชื่อนี้เพราะเป็นเมืองที่ติดต่อกับโลกภายนอกผ่านการค้าขายทางทะเลอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เสมือนเมืองท่าที่เป็นประตูติดต่อกับนานาอารยประเทศ จึงไม่แปลกใจที่จะพบกับโบราณวัตถุจากดินแดนโพ้นทะเลมากมาย เช่น ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินสี เหรียญกษาปณ์ต่างชาติ ของมีค่าต่างๆ เครื่องราง และรูปเคารพ

‘ทวารวดี’ ยังเป็นชื่อมงคล พ้องกันกับชื่อเมืองของพระกฤษณะ เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของศาสนาพราหมณ์ อวตารปางหนึ่งของพระวิษณุด้วย หลักฐานสำคัญที่ทำให้ทราบว่า ดินแดนไทยมีบ้านเมืองนามว่าทวารวดี คือบันทึกของพระภิกษุชาวจีนนามว่า พระเหี้ยนจังและพระอี้จิง ที่ได้จาริกแสวงบุญไปอินเดีย ราวพุทธศตวรรษที่12-13 ทั้งสองได้บรรยายไว้ว่า ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มีบ้านเมืองต่างๆตั้งเรียงรายกัน ในตำแหน่งที่เชื่อว่าตรงกับภาคกลางของไทย

พระเหี้ยนจังระบุชื่อว่า โถโลโปตี ส่วน พระอี้จิงระบุเฉโหโปตี ทั้งสองคำเป็นสำเนียงจีนภาษาสันสกฤตว่าทวารวดี

ต่อมาค้นพบเหรียญเงินมีจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่12ว่า ศรีทวารวดีศวรปุณยะ แปลว่าบุญของผู้เป็นใหญ่แห่งทวารวดี กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆในภาคกลางของไทย เช่น นครปฐม อู่ทอง คูเมือง คูบัว และพบจารึกอักษาปัลลวะ ภาษาสันสกฤตที่ฐานพระพุทธรูป วัดจันทึก อ.ปากช่อง นครราชสีมา แปลว่า พระเทวีของเจ้าแห่งทวารวดี ทรงบัญชาให้พระธิดาสร้างรูปพระตถาคตนี้ไว้

หลักฐานลายลักษณ์อักษรย้ำให้เห็นว่า ในดินแดงโดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางเป็นที่ตั้งของ ‘ทวารวดี’จริง  เชื่อกันว่าศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวตอนหนึ่งในคลิปว่า ทวารวดีเป็นบ้านเมืองที่ปกครองโดยระบบกษัตริย์อย่างแน่นอน รายละเอียดต่างๆนานาเราไม่ค่อยจะทราบ เพราะหลักฐานเหลือน้อยมาก หลักฐานสำคัญคือจารึกบนแผ่นทองแดงที่เจอจากเมืองอู่ทอง ระบุชื่อของบุคคลที่น่าจะเป็นกษัตริย์ คือ พระเจ้าศรีหันษะวรมันต์ เป็นนัดดาของพระเจ้าอีสานวรมัน อันนี้น่าจะเป็นหลักฐานเพียงแค่ชิ้นเดียวของปัจจุบันที่เราทราบถึงชื่อของกษัตริย์สมัยนั้น

“ศิลปะทวารวดี เป็นศิลปะที่มีความงาม เปี่ยมล้นไปด้วยความหมาย สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อศาสนาและความเชื่อ ตัวงานศิลปกรรมสะท้อนให้เห็นว่าคนทวารวดีเอาแรงบันดาลใจจากภายนอกมาปรับปรุงมาพัฒนาจนกลายเป็นตัวของตัวเองได้อย่างน่าชื่นชม

“ศิลปวัฒนธรรมทวารวดีได้แพร่หลายไปยังภูมิภาคต่างๆของดินแดนประเทศไทย และผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเชื่อท้องถิ่น จนทำให้ทวารวดีในแต่ละภูมิภาคมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน”ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าว