Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

มหาศิวะราตรี ค่ำคืนแห่งพระศิวะ

วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคมปีนี้ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือนผลคุณ ตามปฏิทินฮินดู โดยจะตรงกับเทศกาลประจำปีคือ มหาศิวะราตี (Maha Shivaratri) หรือ “ราตรีแห่งพระศิวะ” ซึ่งชาวฮินดูจะจัดงานเฉลิมฉลองแด่พระศิวะ (Shiva) หรือที่คนไทยคุ้นในชื่อว่า “พระอิศวร” ซึ่งนิยมจัดในยามค่ำคืนไปจนถึงเช้าวันใหม่ จึงเรียกว่า มหาศิวะราตรี

พระศิวะ หรือพระอิศวร เป็น 1 ในมหาเทพองค์สำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ประกอบด้วย พระพรหม พระวิษณุหรือพระนารายณ์ และพระศิวะ เรียกรวมกันเป็น “ตรีมูรติ” โดยพระองค์ถูกรู้จักในฐานะเทพผู้ทำลาย แต่เป็นการทำลายเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ และเป็นเทพที่ชาวฮินดูจำนวนมากนับถือและนิยมบูชาจนเป็นหนึ่งในลัทธิใหญ่ของศาสนานี้ ดังรู้จักในนาม ไศวะนิกาย โดยพระองค์มีพระชายาคือพระนางปาราวตีหรือพระอุมา และมีพระโอรสที่โดดเด่นอยู่ 2 พระองค์ คือพระขันทกุมาร เทพแห่งสงคราม และพระคเณศ เทพแห่งความสำเร็จ อีกทั้งพระองค์ยังถูกบูชาในรูปลักษณ์ของ “ศิวลึงค์” อีกด้วย

จากหลักฐานในอินเดียโบราณ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำสินธุ ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณแห่งหนึ่งของโลก แสดงให้เห็นว่า ความรับรู้เกี่ยวกับพระศิวะมีปรากฏหลักฐานมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะหลักฐานที่เมืองโมเฮนโจดาโรและเมืองฮารัปปา ซึ่งเป็นแผ่นดินเผาทำเป็นรูปมนุษย์ มีลักษณะคล้ายเขาสัตว์

เทวรูปพระศิวะ วัดวิษณุ ยานนาวา กรุงเทพฯ
เทวรูปพระศิวะ วัดเทพมณเฑียร กรุงเทพฯ

อยู่บนศีรษะ นั่งในท่าโยคะ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ภาพบุคคลดังกล่าวน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าองค์สำคัญ ซึ่งน่าจะหมายถึง “พระศิวะ” (ศานติ ภักดีคำ : 2559 : 1)

นอกจากนี้ยังมีการค้นพบแท่งหินยาวรูปทรงกระบอกขัดมันและหินทรงกลม ซึ่งน่าจะหมายถึงอวัยวะเพศชายและหญิง อันน่าจะเป็นที่มาของการบูชาศิวลึงค์ในเวลาต่อมา (ศานติ ภักดีคำ : 2559 : 1)

สำหรับในคัมภีร์เก่าแก่ของพราหมณ์-ฮินดู เรื่องราวของพระองค์ได้ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวทในนามของ ‘รุทร’ หรือพระรุทรเทพ แปลว่า ผู้ร้องคำราม หรือดุร้าย จนกระทั่งหลังยุคพระเวทจึงได้กำเนิดนามใหม่ว่า ‘ศิวะ’ ซึ่งแปลว่า การชุบให้สะอาด

จากนั้นเรื่องราวการบูชาพระองค์ก็ปรากฏในคัมภีร์ปุราณะต่างๆ โดยเฉพาะปุราณะของไศวนิกายทั้ง 5 คัมภีร์ คือ ลิงคปุราณะ ศิวปุราณะ สกันทปุราณะ กูรมปุราณะ และพรหมาณฑปุราณะ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่มาของเรื่องราวของพระศิวะในความรับรู้ของสังคมอินเดียโดยตรง

ในสังคมไทย การรับรู้เรื่องของพระศิวะคงจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11-12 พร้อมๆ กับการเข้ามาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนคือ ศิลาจารึกที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกของไทย ที่มีการกล่าวถึงการบูชาพระศิวะ เช่น ในศิลาจารึกอูบมุง จังหวัดอุบลราชธานี และศิลาจารึกสด็กก็อกธม อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว (ศานติ ภักดีคำ : 2559 : 48)

ต่อมาในสมัยสุโขทัยน่าจะรับความเชื่อนี้ผ่านทางอิทธิพลของเขมรโบราณ ดังมีหลักฐานทั้งที่เป็นศาสนสถาน เช่น ศาลตาผาแดง วัดศรีสวาย เป็นต้น รวมทั้งมีการค้นพบเทวรูปสำริดและข้อความในศิลาจารึก

ศิวลึงค์ วัดวิษณุ ยานนาวา กรุงเทพฯ
เทวรูปพระศิวนาฎราช ศิลปะอินเดียใต้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช
เทวรูปพระอิศวร (ศิวะ) ศิลปะสุโขทัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานการสรรเสริญพระศิวะในวรรณกรรมต่างๆ เช่น ลิลิตโองการแช่งน้ำ ที่แต่งขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) รวมทั้งในกฎหมายพีสูทดำน้ำลุยเพลิง ลิลิตยวนพ่าย ประชุมคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง ทั้งยังมีกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในเรื่องการสร้างรูปเคารพของพระองค์ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ที่สำคัญยังมีรายนามของพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาที่มีพระนามที่ได้รับการยกย่องเป็นพระศิวะ เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นต้น ซึ่งความเชื่อในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นได้ตกทอดมายังกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย

สำหรับตำนานพิธีมหาศิวะราตรี ในฮินดูกล่าวไว้ว่า เคยมีนายพรานป่าคนหนึ่งกลับมาจากล่าสัตว์ในป่า ได้ปีนขึ้นไปสร้างห้างค้างแรมอยู่บนต้นมะตูมใหญ่เพื่อพักผ่อนในคืนก่อนจะกลับบ้าน ปรากฏว่าคืนนั้นนายพรานสั่นหนาวเพราะน้ำค้างลงและความหิวโหย จึงนอนดิ้นกระสับกระส่ายตลอดคืน จนน้ำค้างที่เกาะใบมะตูมร่วงลงสู่ศิวลึงค์ที่ประดิษฐานอยู่ใต้ต้นมะตูมนั้นตลอดทั้งคืน ทำให้พระศิวะเจ้าผู้ประทับบนเขาไกรลาศคิดไปเองว่ามีผู้ทำการบูชาเซ่นสรวจพระองค์อยู่ด้วยใบมะตูมและน้ำค้างบริสุทธิ์ตลอดคืน พระองค์จึงประทานพรให้นายพรานนั้นพ้นจากบาปที่เกิดจากการล่าสัตว์มาตลอดชีวิต จากนั้นเป็นต้นมาพิธีกรรมบวงสรวงบูชาองค์พระศิวะมหาเทพ โดยมีการโปรยใบมะตูมพวงมาลัยดอกไม้และมีการอดหลับอดนอน อดข้าวอดน้ำ เพื่อสังเวยองค์พระศิวะ จึงได้มีการกำเนิดขึ้นมาเพราะเหตุนี้

โดยในคืนนี้ บรรดาผู้นับถือพระศิวะจะไปทำพิธีกรรมที่เทวสถานของพระองค์ โดยจะสวดมนต์สรรเสริญ ทำสมาธิ และนำศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์มาบูชา อาบด้วยน้ำนม นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง น้ำมันเนยแท้ ใบมะตูม ผงขี้เถ้า และดอกไม้ เพื่อขอพร บ้างก็อดอาหารและประกอบพิธีสรรเสริญพระศิวะทั้งคืน โดยมีความเชื่อว่าหากอดอาหารและอธิษฐาน จะทำให้ชีวิตสมหวังดังที่ขอพรไปนั่นเอง