Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

พาเที่ยวทิพย์ เจดีย์วัดป่าสัก เมืองเชียงแสน

ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ กล่าวว่า วัดป่าสักมีตำนานกล่าวว่าพระเจ้าแสนภูได้โปรดให้สร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่งนอกประตูเมืองเชียงแสน ภายหลังจากการสร้างเมือง 4 ปี และให้ปลูกต้นสัก 300 ต้น จึงให้ชื่ออารามแห่งนี้ว่า “อารามป่าสัก” ซึ่งถ้าวิเคราะห์ศักราชแล้วจะตรงกับปี พ.ศ.1875 รูปแบบของเจดีย์วัดป่าสักมีองค์ประกอบของเจดีย์ที่ต่างจากเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดโดยทั่วไป คือมีการเพิ่มเรือนธาตุชั้นล่างอีกชั้นหนึ่งมารองรับเจดีย์ทรงปราสาทยอด ดังนั้นจึงสามารถแยกกล่าวเป็น 2  ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ฐานล่างหรือเรือนธาตุชั้นล่าง กับส่วนที่ 2 คือส่วนของเจดีย์ทรงปราสาทยอดทั่วไป ที่ประกอบด้วยฐานบัวรองรับเรือนธาตุและมีส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง

รูปแบบเจดีย์วัดป่าสัก ส่วนที่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด มีส่วนยอดเป็นชุดของเจดีย์ทรงระฆังแบบไม่มีบัลลังก์ ลักษณะต่างๆ จากฐานถึงยอดแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานทางด้านรูปแบบระหว่างที่มีอยู่ก่อน คือหริภุญชัยผสมกับที่รับเข้ามาใหม่จากพุกามของพม่า นอกจากตัวสถาปัตยกรรมเองแล้วยังมีงานประติมากรรม ได้แก่ พระพุทธรูปลีลาที่ประดับเรือนธาตุด้านทิศเหนือ เชื่อว่ามีอิทธิพลของพุกามด้วย

ลักษณะโครงสร้างโดยส่วนรวมของเจดีย์วัดป่าสักนี้นักวิชาการได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอายุสมัยของวัดป่าสักไว้หลายประเด็นดังนี้ คือ ประเด็นแรก เชื่อว่าวัดป่าสักมีอิทธิพลของศิลปะศรีวิชัยที่รับขึ้นมาจากทางภาคใต้ของประเทศไทยในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งปัจจุบันได้มีการตรวจสอบรูปแบบใหม่แล้วเห็นว่าแนวความคิดดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปได้แล้ว ประเด็นที่สอง เชื่อว่า เจดีย์วัดป่าสัก เป็นเจดีย์ที่รับอิทธิพลของศิลปะพุกาม จากประเทศพม่า

การกำหนดอายุเจดีย์วัดป่าสัก กระทำได้ คือ จากโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมมีการผสมผสานรูปแบบจากศิลปะหริภุญชัยและศิลปะพุกามของพม่า แต่โครงสร้างสำคัญ ได้แก่ เจดีย์ทรงปราสาทที่มีเรือนธาตุมียอดเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบไม่มีบัลลังก์ ประดับเจดีย์จำลองที่มุมถือเป็นอิทธิพลศิลปะพุกาม ซึ่งก็ต้องวิเคราะห์จากตำนานอีกครั้งหนึ่งว่า ล้านนามีการติดต่อกับอาณาจักรพุกามของพม่าในช่วงระยะเวลาใด ความสำคัญของการกำหนดอายุน่าจะอยู่ที่ปูนปั้นประดับเจดีย์ แม้ว่าจะมีทั้งลวดลายแบบเขมร และลังกา ก็ดี แต่เหล่านี้น่าจะได้รับผ่านมาจากศิลปะสุโขทัยแล้วสำหรับลวดลายจีน เช่น ลายดอกไม้ ลายพรรณพฤกษานั้นพบมากในศิลปะสุโขทัยและล้านนา เช่น ลวดลายบนเครื่องถ้วยและลายปูนปั้นประดับศาสนสถานอื่นๆ

การกำหนดอายุจากลวดลายจีนนั้น ต้องดูจากอิทธิพลทางศิลปะจีนที่ปรากฏบนเครื่องถ้วย และการติดต่อกับจีนเป็นสำคัญ ซึ่งน่าจะมีอายุไม่เกินไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะหลักฐานจากการขุดค้นหรือขุดแต่งทางโบราณคดีที่เมืองเชียงแสนได้พบเครื่องถ้วยจีนที่เก่าสุด คือ เครื่องถ้วยในราชวงศ์หยวน (พ.ศ.1820 -1911) พบร่วมกับเครื่องถ้วยสมัยสุโขทัย

สิ่งสำคัญที่น่าจะเป็นตัวช่วยในการกำหนดอายุได้ดีอีกประการหนึ่งคือพระพุทธรูปที่ประดับเจดีย์ ซึ่งมีทั้งพระพุทธรูปลีลาและพระพุทธรูปยืน ได้มีความเห็นสามารถกล่าวได้เป็น 2 กรณี คือ สำหรับพระพุทธรูปลีลาประดับเรือนธาตุนั้นได้มีผู้เสนอว่าเป็นระเบียบที่พบในพุกามของพม่า ลักษณะพระพักตร์และการแสดงการลีลาก็ดี ยังคงมีเค้าของศิลปะพุกามของพม่าปรากฏอยู่ ส่วนพระพุทธรูปลีลาประดับในซุ้มด้านล่างและลักษณะพระพักตร์ของพระพุทธรูปยืนที่เหลือหลักฐานอยู่โดยเฉพาะนั้น เป็นพระพุทธรูปลีลาอิทธิพลสุโขทัย ส่วนองค์พระพุทธรูปในจระนำซุ้มองค์อื่นๆ ที่มีเศียรเป็นของเดิม เช่น องค์ที่สมบูรณ์ที่สุดคือ องค์ที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน และองค์ที่ประดิษฐานในจระนำซุ้มของเรือนธาตุด้านทิศใต้มีลักษณะพระพักตร์คล้ายกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนรุ่นแรกหรือแบบสิงห์ (ขัดสมาธิเพชร) แต่พระพักตร์เริ่มยาวเป็นรูปไข่มากขึ้น ประการสำคัญคือชายสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายแยกเป็น 2 ชายและม้วนเข้าหากันคล้ายเขี้ยวตะขาบ ซึ่งเป็นแบบพระพุทธรูปสุโขทัยแล้ว น่าจะมีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยเข้ามาปะปนแล้ว และลักษณะดังกล่าวนี้มาเหมือนกับกลุ่มพระพุทธรูปที่พบมากที่เมืองเชียงแสนในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 เช่น พระเจ้าล้านทอง และพระพุทธรูปที่มีจารึกที่วัดพระเจ้าล้านทองเมืองเชียงแสน มีจารึก พ.ศ.2032

เมื่อพิจารณาจากรูปแบบเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่นิยมอยู่ในล้านนาที่ปรากฏหลักฐานแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญชัย พัฒนาการของลวดลายที่เป็นลายกาบบนกาบล่างที่มีกรอบสามเหลี่ยมเริ่มคดโค้งเล็กน้อย และลวดลายภายในเป็นลายพรรณพฤกษาการมีลวดลายจีนปรากฏอยู่อย่างมาก รวมทั้งพระพุทธรูปที่มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยแล้ว อายุของเจดีย์วัดป่าสักจึงอาจจะอยู่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 20

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี