Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

พาเที่ยวทิพย์ วัดสองพี่น้อง เมืองสรรคบุรี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (ตำแหน่งทางวิชาการขณะนั้น)

วัดสองพี่น้อง ตั้งอยู่ที่ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 จากหลักฐานทางเอกสารไม่ปรากฏเรื่องราวของผู้สถาปนาวัดแห่งนี้

วัดสองพี่น้องไม่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวกับประวัติการสร้างแต่ประการใด หากแต่ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าการที่ชื่อว่าวัดสองพี่น้องเกี่ยวข้องกับเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา จนมีเว็บไซต์บางแห่งนำไปขยายความโดยการโยงกับเรื่องเจ้าอ้ายพระยาชนช้างกับเจ้ายี่พระยา

ประเด็นนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ชื่อวัดสองพี่น้องไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาแต่ประการใด ทั้งนี้เพราะ ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสเมืองสรรคบุรี ในปี พ.ศ.2444 ได้กล่าวถึงวัดมหาธาตุ เมืองสรรคบุรี ว่าเกี่ยวกับเจ้ายี่พระยา แต่กลับไม่พูดถึงตำนานวัดแห่งนี้ว่าเกี่ยวข้องกับเจ้านายทั้งสองพระองค์นี้แต่ประการใด อีกทั้งในรายงานการสำรวจของ น. ณ ปากน้ำ รวมทั้งของ รองศาสตราจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม ในช่วงปี พ.ศ.2500 – 2520 ไม่ได้กล่าวถึงตำนานวัดสองพี่น้องแห่งนี้ว่าเกี่ยวกับเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาแต่ประการใด จึงทำให้น่าเชื่อว่าตำนานเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

หลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสภาพวัดแห่งนี้คือ พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จประพาสเมืองสรรคบุรี ในปี พ.ศ.2444 ในคราวทรงเททองหล่อพระพุทธชินราช ว่า

“ถัดเข้าไปจึงไปวัดสองพี่น้องแลวัดจันทร์ วัดสองพี่น้องนั้นมีพระปรางค์เขมรยังดีอยู่ไม่ทลาย ในห้องปรางค์มีพระพุทธรูปซึ่งชำรุดตอนล่างองหนึ่งตอนบนดี หน้าตาเป็นพระชั้นนครไชยศรี บางทีจะชำรุดมาเก่าแล้วจึงเอาขึ้นไปซ่อนไว้เสียบนพระปรางค์ ตอนล่างก็เห็นจะก่อประกอบ ได้ให้ค้นดูหนักไม่พบๆ แต่องค์ชงฆ์ 2 ข้างเปนพระแปลกดีมาก รูปนี้ไม่เคยเห็นใหญ่ถึงได้เท่านี้ ได้ให้ส่งไปที่กรุงเทพฯ อาการกิริยาที่สร้างวัดนี้เหมืองเมืองลพบุรีทุกอย่าง คือพระเจดีย์รูปต่างๆ รายรอบ 2 รอบ แลพระปรางค์เฟืองตามมุม เป็นต้น วัดสองพี่น้องนั้นเห็นจะไม่ใช่สองพี่น้องสร้าง เปนวัดสองวัดติดกันและกำแพงเหลื่อมกันอยู่ วัดเหล่านี้ไม่เก่าเหมือนวัดมหาธาตุทั้งนั้น”

สิ่งก่อสร้างประธานของวัดสองพี่น้องคือพระปรางค์ สภาพก่อนที่กรมศิลปากรจะบูรณปฏิสังขรณ์มีสภาพชำรุดเป็นอย่างมาก แต่ถ้าพิจารณาส่วนของเรือนธาตุที่ยังเหลืออยู่นั้น ทำให้ทราบได้ว่าสัดส่วนของฐานสูงกว่าพระปรางค์ธรรมดาทั่วไป

จากการศึกษาของ ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม เสนอว่า “ปรางค์ประธานวัดสองพี่น้อง ได้แสดงการผสมผสานระหว่างศิลปะสุโขทัยและศิลปะอู่ทอง ทั้งในพระพุทธรูปและลวดลายปูนที่ประดับปรางค์เป็นลักษณะผสมอันเห็นได้ชัดและยากในการกำหนดอายุ ทรงของปรางค์คล้ายกับปราสาทเขมร เช่นหลังลดซ้อนกันเป็นชั้น แต่ละชั้นจำลองแบบส่วนล่างคือเป้นซุ้มขนาดเล็ก พะรพุทธรูปที่ประดิษฐานในซุ้มจระนำด้านทิศตะวันตก เป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง และซุ้มด้านทิศใต้เป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัย ต้นพุทธศตวรรษที่ 20

อิทธิพลศิลปะสุโขทัยได้เข้ามาเกี่ยวข้อง เห็นได้จากพระพุทธรูปปางลีลาที่ซุ้มเรือนธาตุและลวดลายประกับปางบางชนิดเช่นลายกลีบบัว อย่างไรก็ตาม การทำกนกประกอบด้วยกลุ่มกนกซ้อนในลายกรุยเชิงและลายเฟื่องอุบะก็ชวนให้นึกถึงลายแบบเขมร แต่ในขณะเดียวกันลักษณะของลวดลายบางชนิดเช่น ลายหน้ากระดาน ลายตุ่มแหลม และลายกนก ได้แสดงว่าลักษณะของลวดลายแบบไทยแล้ว” นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้พระปรางค์วัดสองพี่น้องอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับมณฑปทิศมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระปรางค์ประธานวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกำหนดอายุให้อยู่ในช่วง พ.ศ.1913–1952

ต่อมา โทโมฮิโตะ ทะคะตะ ศึกษาเพิ่มเติมแล้วได้เสนอว่า ลวดลายปูนปั้นที่กลีบขนุนเหมือนกับปูนปั้นที่วัดศรีสวาย จังหวัดสุโขทัย ดังนั้น สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของสุโขทัย ส่วนเรื่องอายุของพระปรางค์กำหนดให้อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20

ตามความเห็นของผู้เขียนคิดว่าลวดลายปูนปั้นที่ โทโมฮิโตะ ทะคะตะ อ้างถึงนั้นคือรูปบุคคลที่ปั้นประดับที่กลีบขนุน ซึ่งเป็นของที่พบได้โดยทั่วไปในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รูปแบบดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากกลีบขนุนของปราสาทในวัฒนธรรมทะเลสาบเขมร ที่สำคัญรูปบุคคลปูนปั้นยังแสดงการนุ่งสมพตสั้นซึ่งเหมือนกับประติมากรรมสมัยอยุธยาตอนต้น มิใช่การนุ่งผ้าตามแบบที่ปรากฏในแผ่นภาพจำหลักในอุโมงค์วัดศรีชุม และเทวรูปสุโขทัย ดังนั้น ปูนปั้นที่ประดับกลีบขนุนตามที่ โทโมฮิโตะ อ้างถึงนั้นก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นอิทธิพลของสุโขทัยเสมอไป

ในช่วงปี พ.ศ.2554 กรมศิลปากรขุดแต่งบริเวณพระปรางค์ของวัดสองพี่น้องแล้วเผยให้เห็นว่า แต่เดิมมีระเบียงคดล้อมรอบพระปรางค์ และที่ระเบียงคดมีพระพุทธรูปปูนปั้นหันพระปฤษฎางค์ให้แก่พระปรางค์ ซึ่งลักษณะระเบียงคดเช่นนี้แสดงถึงอิทธิพลจากลุ่มแม่น้ำภาคกลางตอนบน ยกตัวอย่างเช่น ระเบียงคดวัดมหาธาตุ สุโขทัย เป็นต้น ส่วนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเริ่มปรากฏให้เห็นชัดในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ลงมาเช่น ระเบียงคดวัดพระราม และระเบียงคดวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นต้น

ดังนั้น การที่พระปรางค์องค์นี้มีระเบียงคดล้อมรอบ จึงส่งผลให้ฐานของพระปรางค์สูงกว่าปกติ

อนึ่ง ในพระราชหัตถเลขาได้กล่าวระบุถึงพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ได้จากคูหาพระปรางค์ให้ส่งลงมากรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ระบุว่าให้ไปประดิษฐานที่ใด แต่เมื่อพิจารณาจากช่วงเสด็จพระราชดำเนิน คือ พ.ศ. 2444 ซึ่งกำลังสร้างวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ประกอบกับภายในระเบียงคดวัดแห่งนี้ก็มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ปรากฏจารึกที่ฐานระบุว่าโปรดให้อัญเชิญจากเมืองสรรคบุรี อีกทั้งพุทธลักษณะ ก็ใกล้เคียงกับในพระราชหัตถเลขาจึงอาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวกันกับในพระราชหัตถเลขา

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี