Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

พาดู… สิงห์ขี่ช้าง ที่วัดเจดีย์สี่ห้อง

โบราณสถานวัดเจดีย์สี่ห้อง ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านทิศใต้  โดยตั้งอยู่ห่างจากวัดเชตุพนไปทางทิศตะวันออกประมาณ 100 เมตร  ถือเป็นหนึ่งในโบราณสถานสำคัญกลุ่มโบราณสถานทางทิศใต้ของเมืองเก่าสุโขทัย

ในพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้กล่าวถึงวัดแห่งนี้ว่า

“ต่อมาวัดเชตุพนไปทางตะวันออกมีวัดอยู่วัดหนึ่ง ซึ่งราษฎรเรียกว่ากัน วัดเจดีย์สี่ห้อง เพราะในนั้นมีพระเจดีย์อยู่องค์หนึ่ง ที่ฐานรองระฆัง ทำเป็นคูหาสี่ทิศ ต่อพระเจดีย์นั้นออกไปทางตะวันออกมีอุโบสถอยู่หลังหนึ่งซึ่ง ไม่สู้แปลกอะไร การก่อสร้างในวัดนี้ใช้แลงเป็นพื้น ที่โบสถ์นี้ห่างจากวัดเชตุพนเพียงประมาณ ๒ เส้นเท่านั้น จึงเห็นว่าน่าจะเป็นวัดเดียวกับวัดเชตุพนนั่นเอง จริงอยู่ระหว่างวัดทั้ง ๒ นี้ มีคูคั่นอยู่ แต่คูนี้อาจจะขุดขึ้นภายหลังก็ได้ หรือขุดไว้ใช้ขังน้ำในวัดก็ได้ ถ้าวัดนี้ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกันกับวัดเชตุพนแล้ว ก็ต้องเป็นวัดที่สร้างขึ้นภายหลังที่วัดเชตุพนหายเป็นวัดสำคัญเสียแล้ว แต่พิจารณาดูที่อุโบสถก็ดูท่าทางเป็นของโบราณ แลงที่ใช้ทำเสาเป็นก้อนเขื่องๆ พอใช้ อีกประการหนึ่งภายในเขตที่เรียกว่า วัดเชตุพนนั้น อุโบสถหรือวิหารหามีไม่ จึ่งสันนิษฐานว่า อุโบสถในที่ซึ่งเรียกว่าวัดเจดีย์สี่ห้องนี้เองคืออุโบสถของวัดเชตุพน และวัดเจดีย์สี่ห้องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัดเชตุพน ที่ดินแปลงที่เรียกว่าวัดเชตุพนเดี๋ยวนี้เป็นแปลงที่รักษาไว้ให้สะอาดงดงาม เป็นที่พระราชาเสด็จและราษฏรไปมนัสการ ทางแปลงที่เรียกว่าวัดเจดีย์สี่ห้อง เดี๋ยวนี้เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์สามเณร”

สำหรับโบราณสถานแห่งนี้ล้อมรอบด้วยคูน้ำ ภายในประกอบไปด้วยเจดีย์ประธานซึ่งได้รับการบูรณะแล้ว เป็นเจดีย์ทรงระฆัง อีกทั้งยังมีเจดีย์รายจำนวน 14 องค์ ตั้งอยู่ล้อมรอบฐานเจดีย์ประธานทั้ง 4 ด้าน

ไฮไลต์ของที่นี่คือ ที่บริเวณฐานเจดีย์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบ โดยปั้นเป็นรูปบุคคลทั้งบุรุษและสตรี สวมอาภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ ในมือถือภาชนะมีพันธุ์พฤกษางอกออกมา ซึ่งแสดงถึงความเจริญงอกงามและความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีปูนปั้นรูปช้างและสิงห์ประดับอยู่ด้วย

สำหรับประติมากรรมรูปช้างที่ประดับอยู่ที่ฐานของเจดีย์องค์นี้ มีลักษณะพิเศษต่างไปจากที่อื่น นั่นคือมีสิงห์ประดับอยู่บนหลังช้างด้วย ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนในเจดีย์องค์อื่นๆ ในศิลปะสุโขทัย

การประดับรูปช้างไว้รอบฐานเจดีย์ ถือเป็นคติที่นิยมในแคว้นสุโขทัย เพราะเชื่อว่าช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่คอยค้ำจุนจักรวาลและพุทธศาสนา รวมทั้งยังเป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุด้วย ส่วนสิงห์นั้นถือเป็นสัตว์ที่มีพละกำลังและอำนาจมาก จึงนิยมนำมาประดับส่วนฐานอาคารด้วยเช่นกันโดยอยู่ในฐานะผู้ปกปักรักษา รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ในป่าหิมพานต์ ที่อยู่ด้านล่างของเขาไกรลาส

สำหรับคติที่นำสิงห์และช้างมาประดับรวมกันเช่นนี้ คงเกิดขึ้นจากการที่ช่างสุโขทัยนำเอาคติดั้งเดิมที่นิยมใช้ช้างและสิงห์ ซึ่งมีมาก่อนแล้วในศิลปะอินเดียและลังกา มาผสมผสานเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นงานสร้างสรรค์ใหม่ ลักษณะเดียวกับการสร้างสรรค์รูปบุคคลที่มีรูปแบบผ้านุ่งปนกันระหว่างแบบเขมรกับแบบลังกาด้วยเช่นกัน

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี