Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

พาชมช้าง… 3 อุทยานเมืองเก่า

‘ช้าง’ เป็นที่รู้จักในฐานะสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาอย่างยาวนาน และมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ดังปรากฏเป็นหลักฐานที่ประดับอยู่ในงานศิลปกรรมต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมทางศาสนา

คติการนำช้างมาประดับศาสนสถานนั้น แรกเริ่มเดิมทีน่าจะมีที่มาจากเรื่องเล่าในศาสนาพราหมณ์ว่า “ใต้โลกของเรานี้มีช้างอยู่ 4 เชือก หนุนแผ่นดินอยู่ โดยช้างยืนอยู่บนเต่า ซึ่งเต่าเองนั้นก็นอนทับอยู่บนตัวงู เมื่อใดที่สัตว์ตัวใดตัวหนึ่งขยับตัวก็จะเกิดแผ่นดินไหวขึ้น” สำหรับในศาสนาพุทธนั้น ช้างได้รับการยกย่องเป็นตัวแทนแห่งความยิ่งใหญ่ ความมีอำนาจ และความมั่นคง ซึ่งการนำช้างมารองรับนั้นคงมีความหมายว่าให้มาค้ำจุนและรองรับพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไป

ในเมืองไทยเองนั้นก็ปรากฏการนำช้างมาประดับศาสนสถาน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอิทธิพลจากพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ที่เข้ามาในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเด่นชัดมากในราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ดังปรากฏเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ซึ่งที่ฐานมีช้างล้อมรอบอยู่

โดยในวันนี้เรามาทำความรู้จักกับวัดที่มีช้างประดับล้อมรอบในอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ว่าจะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

วัดช้างล้อม อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

วัดแห่งนี้ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงเมืองฝั่งตะวันออก เป็นสถานที่พบจารึกหลักที่ 106 (จารึกวัดช้างล้อม) โดยเนื้อหากล่าวถึง ‘พนมไสดำ’ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นขุนนางที่ใกล้ชิดกับพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ได้อุทิศที่ดินเพื่อสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น จากนั้นจึงออกบวชในพุทธศาสนา

ภายในวัดมีเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีช้างล้อมรอบจำนวน 32 เชือก โดยที่นี่ถือเป็นแบบอย่างของเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะสุโขทัยที่สมบูรณ์ที่สุดอีกด้วย ซึ่งจากการศึกษาทางโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20

วัดช้างล้อม อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเกือบกึ่งกลางเมืองศรีสัชนาลัย บนที่ราบเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาพนมเพลิง แต่เดิมเชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยอ้างอิงจากข้อความในจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) ว่า “…๑๒๐๗ (พ.ศ. ๑๘๒๘)…ให้ขุดเอาพระธาตุออก ทั้งหลายเห็น กระทำบูชาบำเรอแก่พระธาตุได้เดือนหกวัน จึ่งเอาฝังในกลางเมืองศรีสัชชนาลัย ก่อพระเจดีย์เหนือหกเข้า (๖ ปี) จึ่งแล้ว ตั้งเวียงผาล้อมพระมหาธาตุ สามเข้าจึ่งแล้ว….”

ต่อมาได้มีการศึกษาทางโบราณคดีทำให้ทราบว่าไม่น่าจะใช่วัดที่ถูกกล่าวถึงในจารึกหลักที่  1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) ด้วยรูปแบบของเจดีย์มีช้างล้อมนั้นเป็นอิทธิพลของศิลปะลังกาแบบชัดเจน จึงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวกลางพุทธศตววรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งตรงกับสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) อันเป็นยุคที่อิทธิพลของศิลปะลังกากำลังเฟื่องฟูในดินแดนสุโขทัย

โบราณสถานสำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงระฆังมีช้างปูนปั้นเต็มตัวประดับโดยรอบฐานทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 9 เชือก ยกเว้นด้านหนึ่งซึ่งเป็นบันไดทางขึ้นมีเพียง 8 เชือก และที่มุมอีก 4 เชือก รวมทั้งหมด 39 เชือก เจดีย์องค์นี้เป็นองค์เดียวที่มีฐานประดับด้วยรูปช้างยืนโดยรอบ แทนที่จะเป็นรูปช้างโผล่อออกมาจากฐานเพียงครึ่งตัวเหมือนที่อื่นๆ ทั้งในศรีลังกาและประเทศไทย

4
5

บริเวณฐานชั้นบนทำเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ด้านละ 5 ซุ้ม รวมแล้วมีพระพุทธรูปทั้งหมด 20 องค์ ซึ่งถือเป็นเจดีย์รูปแบบพิเศษซึ่งพบที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

วัดช้างรอบ โบราณสถานเมืองกำแพงเพชร

ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิก โดยอยู่ในตำแหน่งที่เป็นจุดสูงสุดของเนินเขาลูกรังของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในคติศูนย์กลางจักรวาล โดยดูจากรายละเอียดการประดับตกแต่งที่ฐานเจดีย์ อันน่าจะสื่อว่าเป็นเชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาลนั่นเอง

เจดีย์ประธานของที่นี่ เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ที่ฐานประดับประติมากรรมรูปช้างปูนปั้นครึ่งตัว ด้านละ 17 เชือก รวมทั้งสิ้น 68 เชือก

สำหรับที่นี่จะเป็นช้างทรงเครื่องซึ่งแตกต่างจากที่อื่น ตัวช้างประดับด้วยลวดลายปูนปั้นที่แผงคอ กำไลโคนขา และข้อขา โดยส่วนใหญ่เป็นลายพรรณพฤกษา เช่น ดอกไม้ ใบไม้ สำหรับลายที่ประดับคอเป็นลายที่อยู่ในทรงใบระกา เหมือนกับลายที่ปรากฏบนผ้านุ่งของเทวรูปพระอิศวรสำริด ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ซึ่งเป็นศิลปะอยุธยา และผนังระหว่างช้างแต่ละเชือกตกแต่งลายปูนปั้นนูนสูงรูปต้นไม้

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี