Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

พระอิศวรปางปราบอสุรตรีปูรำ

โฉมหน้าเทวรูป "พระอิศวรปางปราบอสุรตรีปูรำ เทิดรัฐธรรมนูญสยามรัฐ" ในพิพิธภัณฑ์พระยาพหลพลพยุหเสนา ค่ายพหลโยธิน ต.เขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี

เทวรูปหน้าพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นเทวรูปที่จัดแสดงอยู่ใน "พิพิธภัณฑ์พระยาพหลพลพยุหเสนา" มีชื่อเต็มๆ ว่า "อิศวรปางปราบอสุรตรีปูรำ เทิดรัฐธรรมนูญสยามรัฐ"

สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน ต.เขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี  เป็นค่ายทหารที่เวลานี้ไม่อนุญาตให้คนนอกเข้าไปดู ซึ่งผิดกับก่อนหน้านี้ที่อนุญาตให้ไปเที่ยวชมได้

จะด้วยสาเหตุใดไม่มีใครทราบ!!!

เทวรูปพระอิศวร ปางปราบอสุรตรีปูรำ เทิดรัฐธรรมนูญสยามรัฐ องค์นี้  “ชาตรี ประกิตนนทการ” อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงเทวรูปนี้ว่าสร้างขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2476

เพียง 1 ปีหลังจากเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยตัวปฏิมากรรมชิ้นนี้เป็นหินทรายแกะสลัก สูงประมาณ 60 เซนติเมตร มือขวาถือพานรัฐธรรมนูญ มือซ้ายถือคันธนู บนบ่าด้านซ้ายมีรูปปั้นคนขนาดเล็กเกาะอยู่

จุดสำคัญ คือ ให้สังเกตที่ใบหน้า จะเห็นว่าตั้งใจแกะสลักให้ออกมาเป็นหน้าตาของ “พระยาพหลพลพยุหเสนา” หัวหน้าคณะราษฎรผู้นำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

คนแกะสลักเป็นคนจีนท้องถิ่น ชื่อ นายซุ่นฮะ ตวลพรรณ์  มีเสียงเล่าว่าเป็นเพราะดีใจที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองทำให้คนชาวบ้านธรรมดามีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น   “การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชาวบ้านคนธรรมดาเยอะแยะมากมายที่ดีใจ เชื่อว่าคนจีนท้องถิ่นก็ดีใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงแกะสลักเพื่อมอบเป็นของที่ระลึกแก่พระยาพหลฯ”เป็นคำบอกเล่าของอาจารย์ชาตรี

“พระยาพหลพลพยุหเสนา” เป็นหัวหน้าคณะราษฎร สายทหารบก ทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475   ชื่อเดิม คือ “พจน์”  มีพ่อชื่อนายกิ่ม (มีชื่อยศศักดิ์คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา เช่นกัน)  มีแม่ชื่อ นางจับ  ปู่ของพระยาพหลฯ ชื่อว่า นายฉ่ำ เป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 5 มีภริยาชื่อนางอิ่ม นายฉ่ำมีพ่อชื่อ พัฒนอากร เป็นคนจีนฮกเกี้ยน แซ่หลิม  มาสำเภาเดียวกับพระยาอินอากร (อิน ทำหน้าที่เก็บภาษีอากร) ต่อมาสามารถสืบสาแหรกความสัมพันธ์ไปยัง ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้  ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นภูมิหลังของพระยาพหลฯ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับชนชั้นปกครองอยู่ในระดับหนึ่ง

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และดำรงตำแหน่งกรรมการราษฎร และรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของ พระยามโนปกรณนิติธาดา พอวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ได้กระทำรัฐประหารรัฐบาลของพระยามโนปกรณนิติธาดา โดยนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (ยศในขณะนั้น) ได้เข้าดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี  นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทยหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ต่อมาในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้กราบถวายบังคมลาออก โดยอ้างเหตุผลว่าหย่อนความรู้ในทางกฎหมายและการเมือง แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอร้องให้รับตำแหน่งต่อไป  และทรงแจ้งไปยังสภาฯ ขอให้สนับสนุนคำขอร้องของพระองค์ท่านด้วย ที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีบางตำแหน่ง

พระยาพหลพลพยุหเสนา "ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ"
อนุสาวรีย์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
สิ่งของเครื่องใช้ของพระยาพหลฯ เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ จัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ ค่ายพหลโยธิน

พระยาพหลฯ เรียนหนังสือจบจากเยอรมัน พอกลับมาประเทศไทยก็ได้ชื่อว่าเป็นทหารที่จบเมืองนอกคนแรก ในช่วงทศวรรษ 2470

ก่อนปี 2475 พระยาพหลฯ ถูกส่งให้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ในบันทึกของ กุหลาบ สายประดิษฐ์  ปี 2490 ได้กล่าวถึงความมีสัตย์ของพระยาพหลฯ โดยยกกรณีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรีและต้องมีคนมาดำรงตำแหน่งต่อ มีกระแสว่าให้พระยาพหลฯ จะกลับมาเป็นนายกฯ อีก  แต่พระยาพหลฯ ปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าเคยว่าเคยบอกหลวงพิบูลฯ ไว้แล้วว่าไม่รับเด็ดขาด มีการบันทึกคำพูดของพระยาพหลฯ ตอนนี้ไว้ด้วยว่า

“…เมื่อผมได้ลั่นวาจาไว้แล้ว แต่กลับไปรับตำแหน่งต่อจากเขา เขาก็อาจจะคิดว่าผมพยายามจะเข้ามาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาไป และวาจาผมก็จะไม่เป็นวาจาสัตย์ ผมอยู่ในตำแหน่งที่เป็นผู้ใหญ่ ก็ตั้งใจจะไม่ให้ผู้มาทีหลังเขาดูแคลนวาจาของเราได้”

แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ ทำตามสัญญา พูดแล้วก็รักษาคำพูด วาทะนี้จึงเป็นที่มาของวลี “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ” ซึ่งหมายถึง พระยาพหลพลพยุหเสนา นั่นเอง

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

รูปปั้นพระยาพหลฯ ในพิพิธภัณฑ์พระยาพหลพลพยุหเสนา ค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี
ตั้งโกศพระยาพหลพลพยุหเสนา ณ วังปารุสกวัน
จัดแสดงผลงานของ "เชษฐบุรุษ" ทั้งด้านการเมืองและการปกครอง
เสื้อผ้าของใช้ส่วนตัวก็นำมาจัดแสดงด้วย