Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

พระพุทธไสยาส วัดโพธิ์ กับมงคล 108 ประการที่ฝ่าพระบาท

พระวิหารพระพุทธไสยาส หรือที่เรียกกันว่า “วิหารพระนอน” ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ โดยเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในฐานะเป็นพระพุทธปฏิมาองค์สำคัญ ทั้งยังเป็นจุดสำคัญที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาที่วัดแห่งนี้ โดยความเชื่อว่าหากได้เข้าไปกราบขอพรแล้ว จะมีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุขดั่งมีร่มโพธิ์ร่มไทรเป็นที่พึ่งในชีวิต

พระพุทธไสยาส หรือพระนอนองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารขนาดใหญ่ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัววัด สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โดยฝีมือของช่างสิบหมู่ ซึ่งมีพระองค์เจ้าลดาวัลย์ (กรมหมื่นภูมินทรภักดี) ทรงกำกับดูแลการก่อสร้าง

องค์พระเป็นปูนปั้นปิดทองอร่ามทั้งองค์ มีความยาว 1 เส้น 3 วา (46เมตร) สูงจากพื้นถึงยอดพระเกตุมาลา 15 เมตร จัดว่าเป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ

มงคล 108 ประการที่ฝ่าพระบาทพระพุทธไสยาส

อีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือที่ฝ่าพระบาทของพระพุทธรูปนั้นมีการประดับมุกที่ฝ่าพระบาททั้ง 2 ข้าง โดยทำเป็นรูป “อัฎฐตดรสตมงคล” หรือมงคล 108 ประการ ซึ่งเป็นคติที่ปรากฏในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาของลังกา โดยระบุว่าเป็นมงคลที่พราหมณ์ได้เห็นจากฝ่าพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประสูติได้ 5 วัน แต่ทว่ากลับไม่ปรากฏการสร้างพระพุทธบาทรูปลักษณะแบบนี้ในศิลปะลังกา หากแต่พบในศิลปะพุกามแทน

กล่าวกันว่า ลายมงคล 108 ประการนี้ เป็นการพัฒนาแนวความคิดและสืบทอดมาจากรูปมงคล 8 ประกอบสัญลักษณ์มงคลต่างๆ ที่สามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้ …

1. เป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เช่น หม้อน้ำ ปลาคู่ สวัสดิกะ พวงมณี ดอกบัว เป็นต้น

2. เป็นเครื่องประกอบพระบารมีของกษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิราช เช่น สัตตรัตนะ ๗ ประการ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ บัลลังก์ เครื่องสูง เครื่องยศ เครื่องต้นต่างๆ และราชพาหนะ เป็นต้น

3. เป็นส่วนประกอบของภพภูมิในจักรวาลตามความเชื่อในไตรภูมิ เช่น ทวีปทั้ง 4 เขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ ป่าหิมพานต์ เป็นต้น