Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร หนึ่งเดียวในเมืองน่าน

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร น่าน

ภายในพระวิหารหลวง วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ในตัวเมืองน่าน นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปูนปั้นที่แสนงดงามแล้ว ที่ด้านข้างทั้งสองฝั่งขององค์พระยังมีพระพุทธรูปสำริด 2 องค์ ที่มีอายุเก่าแก่และมีมนต์สเน่ห์ไม่แพ้กัน

โดยองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริด ปางลีลา ที่โดดเด่นด้วยพุทธศิลป์แบบสกุลช่างน่าน โดยปรากฏอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยในหลายๆ จุดอย่างชัดเจน แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ พระพุทธรูปสำริด ปางห้ามสมุทร ซึ่งพบแค่เพียงองค์เดียวเท่านั้น

พระพุทธรูปสำริดกลุ่มนี้ จากข้อมูลของกรมศิลปากร ระบุว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระยาสารผาสุมหรือสมเด็จพระญางั่วฬารผาสุม กษัตริย์นครน่านแห่งราชวงศ์พูคา องค์ที่ 15 ทรงให้หล่อขึ้นพร้อมกัน 5 องค์ โดยเป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์ (ห้ามสมุทร) จำนวน 1 องค์ และพระพุทธรูปปางลีลาจำนวน 4 พระองค์

พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ มีลักษณะพุทธศิลป์เหมือนกัน คือเป็นพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ หากแต่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะบางประการเช่น การแสดงออกของสีหน้าพระพักต์ พระวรกายที่อวบอ้วนมากยิ่งขึ้น หรือชายขอบจีวรซ้อนกันสองเส้น เป็นต้น

สำหรับพระพุทธรูปสำริด ประทับยืน ปางประทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทรองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปสำริดประทับยืน มีพระพักต์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโค้ง งุ่มลงเล็กน้อย พระหนุเป็นปม ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มคลุม มีผ้าจีบหน้านาง ประทับยืนตรง แสดงปางประทานอภัยสองพระหัตถ์

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการแสดงปางประทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์และการมีผ้าจีบหน้านางประดับ มักพบในศิลปะอยุธยา จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยาด้วยอีกทางหนึ่ง

สำหรับพระพุทธรูปางห้ามสมุทร เป็นการแสดงอิริยาบถตามเรื่องราวในพุทธประวัติ 2 เรื่อง คือเรื่องแรกเป็นการแสดงปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์เพื่อทำลายมิจฉาทิฏฐิของเหล่าพี่น้องตระกูลชฎิล เมืองพาราณสี โดนพระองค์แสดงปาฏิหาริย์หยุดน้ำฝนมิให้ตกหนักในบริเวณริมแม่น้ำเนรัญชรา แขวงอรุเวฬา เมื่อเหล่าพี่น้องตระกูลชฎิลเห็นจึงเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ขอเข้าบรรพชาอุปสมบทพร้อมกับบริวารจำนวน 1,000 คน และพระพุทธองค์ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรแก่หมู่พี่น้องตระกูลชฎิลทั้งสามและบริวารจนบรรลุพระอรหันต์

ส่วนเรื่องที่สองคือพระพุทธองค์ทรงห้ามพระประยูรญาติแห่งราชวงศ์ศากยะที่กำลังวิวาทะแย่งน้ำแม่น้ำโรหิณีใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ ขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ณ นิโครธาราม

ที่ฐานของพระพุทธรูปองค์นี้ ยังพบจารึกความว่า “สมเด็จพระยาสารผาสุมเสวยราชย์ในนันทปุระ สถาบกสมเด็จพระเป็นเจ้า 5 พระองค์ โพระจะให้คงในศาสนา 5 พันปีนี้ ตั้งเป็นพระเจ้าในปีมะเมีย เพื่อบุญจุลศักราช 788 มหาศักราช 1970 เดือน 6 วันพุธ เดือน 7 ยาม ปราถนาทันพระศรีอาริยไมตรีเจ้า”

ทำให้เราทราบประวัติของพระพุทธรูปองค์นี้ ว่าสร้างโดยสมเด็จพระยาสารผาสุม อดีตกษัตริย์นครน่านแห่งราชวงศ์พูคาจริงๆ

พระพุทธรูปองค์นี้จึงถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจน ในการศึกษาประวัติความเป็นมาของเมืองน่าน และยังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับสุโขทัยอีกด้วย

325257661_2852081824935794_4559306148039905128_n

มติชนอคาเดมี ชวนเที่ยว “น่าน-แพร่” เสน่ห์มนตรา ล้านนาตะวันออก จ.น่าน-แพร่

นำชมโดย สมฤทธิ์ ลือชัย  นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์

วันที่ 28-30 มกราคม 2566 (3 วัน 2 คืน)

เดินทางโดยสายการบินนกแอร์

ราคา 14,900 บาท (พักเดี่ยวจ่ายเพิ่ม 1,000 บาท)

จองทริป

☎️08-2993-9097 ,08-2993-9105

✅ line : @matichon-tour คลิก https://lin.ee/JvBAkIX

✅ line : @matichonacademy คลิก https://line.me/R/ti/p/%40matichonacademy