Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

‘ปีนัง’ จากชุมชนจีนสู่ความเป็นมรดกโลก

ผศ.ดร.ศุภการ สิริไพศาล

จากหลักฐานทางโบราณคดี วรรณกรรมพื้นบ้าน ตลอดจนพงศาวดารของรัฐเคดาห์ (ฮิกายัค มรง มหาวังศา : Hikayat Merong Mahawangsa) ได้กล่าวถึงเรื่องราวการตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บนเกาะปีนังของชาวพื้นเมืองมลายู ตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 14-15 ซึ่งได้ระบุไว้อีกด้วยว่า เกาะแห่งนี้อยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่านแห่งเคดาห์ (ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, 2550 : 3-11) อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ของปีนังได้รับการบันทึกขึ้นอย่างเป็นทางการโดยชาวตะวันตกตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาโดยเป็นหลักฐานการเดินทางของพ่อค้าโปรตุเกสจากเมืองกัวร์ (Goa) ในอินเดียซึ่งได้แล่นเรือไปยังตะวันออกไกลในการค้นหาของเครื่องเทศและได้พบเกาะหินเล็กๆ บนชายฝั่งทางเหนือของเกาะใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุดแวะพักเรือสำหรับพ่อค้าเพื่อหาเสบียงและนํ้าจากแม่นํ้าใกล้เคียง โดยเกาะที่ใหญ่ที่สุดมีชื่อเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า Batu Ferringi แต่สำหรับชาวโปรตุเกสได้เรียกเกาะแห่งนี้ว่า “Pinaom Island” (เกาะขันน็อต) ต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากบนเกาะมีต้นหมาก (ปาล์ม) ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งต้นหมากนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่าปีนัง (Penang) ดังนั้นปีนังจึงได้กลายเป็นชื่อเรียกของเกาะมาจนถึงปัจจุบัน (Penang State Government,2010 : 3-4)

ในสมัยศตวรรษที่ 17 เกาะปีนังภายใต้การปกครองของสุลต่านแห่งเคดาห์ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกเหนือช่องแคบมะละกาได้กลายเป็นท่าเรือธรรมชาติที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุมซึ่งจะมีพ่อค้าอินเดีย, อาหรับ, จีน, ดัตช์, ฝรั่งเศสและเดนมาร์กเดินเรือมาแวะพักอย่างต่อเนื่องและได้ทำให้เกาะปีนังเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะเส้นทางการค้าและการเดินเรือที่สำคัญ ซึ่งจากความคับคั่งของกองเรือที่แวะเวียนเข้ามาได้ส่งผลให้น่านนํ้าบริเวณรอบเกาะปีนังและทะเลอันดามันกลายเป็นพื้นที่ที่มีโจรสลัดชุกชุมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและได้ทำการปล้นเรือสินค้าที่ผ่านเข้ามาในบริเวณนี้ (แอนโทนี รีด, 2547 : 46-49)

ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 18 กระแสการตื่นตัวในการเดินทางสู่ดินแดนเอเชียและตะวันออกไกลของชาวยุโรปได้ขยายวงกว้างขึ้นเมื่อการค้าเครื่องเทศและฝิ่นระหว่างตะวันออกและตะวันตกได้ให้ผลประโยชน์มหาศาลสำหรับชาวยุโรปพร้อมๆ กับการแข่งขันกันของชาติตะวันตกในการแสวงหาอาณานิคมในเอเชียได้ทวีความเข้มข้นและรุนแรงขึ้น ในปี ค.ศ. 1765 ฟรานซิส ไลท์ (Francis Light) พ่อค้าชาวอังกฤษซึ่งเดินทางเข้ามาในดินแดนมลายูได้พยายามสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับผู้ปกครองดินแดนนี้และขอเข้ามาค้าขายและตั้งสถานีการค้าในดินแดนมลายู ในช่วงเวลาที่ฟรานซิส ไลท์ เข้ามานี้ได้มีหลักฐานยืนยันได้ว่าสุลต่านแห่งเคดาห์ได้พยายามเสนอที่จะยกปีนังให้แก่ฟรานซิส ไลท์แลกเปลี่ยนกับการขอความคุ้มครองจากภัยที่คุกคามเคดาห์มาอย่างต่อเนื่องคือสยามและพม่าซึ่งมีอิทธิพลเหนือดินแดนแห่งนี้มาก่อนอย่างไรก็ตามฟรานซิส ไลท์ ได้ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือและไม่ขอเกี่ยวข้องใดๆ ในช่วงแรกของความสัมพันธ์ที่เริ่มจะไม่ราบรื่นของสยาม พม่าและเคดาห์(กรมศิลปากร, 2517 : 6-8) ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าฟรานซิส ไลท์ ในฐานะผู้เข้ามาใหม่ยังต้องกาดูท่าทีและประเมินกำลังของสยามรวมทั้งไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับการค้าขายของตนที่กำลังเจริญรุ่งเรืองขึ้น

212142020_4238219556239252_6613575005153559563_n
213634456_4238120296249178_2877493203358456333_n

ฟรานซิส ไลท์ ได้ดำเนินธุรกิจการค้าในปีนัง เคดาห์และถลางมาอย่างต่อเนื่องภายใต้การบริหารงานในนามบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ กระทั่งถึง ปี ค.ศ.1786 ฟรานซิส ไลท์ ได้มีท่าทีที่เปลี่ยนไปโดยตัดสินใจยอมรับเป็นผู้รักษาความปลอดภัยให้กับเคดาห์ภายหลังจากตนเองถูกขับออกมาจากถลางเมื่อปี ค.ศ.1780 ผลจากการตัดสินใจดังกล่าวทำให้ สุลต่านแห่งเคดาห์ได้ยกเกาะปีนังให้บริษัทอินเดียตะวันออกเช่าเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ.1786 ในราคา 10,000 ดอลลาร์ต่อปี (กรมศิลปากร, 2517 : 3) โดยอังกฤษเปลี่ยนชื่อเรียกเกาะแห่งนี้เป็น Prince of Wales Island และเรียกพื้นที่ในภาคตะวันออกของเกาะซึ่งมีความเจริญว่า Georgetown ตามพระนามของกษัตริย์อังกฤษคือ King George III ก่อนที่ฟรานซิส ไลท์จะได้เกาะปีนังจากสุลต่านแห่งเคดาห์นั้นปีนังเกือบจะเป็นเกาะร้าง โดยมีชาวมลายูพื้นเมืองอาศัยอยู่เพียงประมาณ 500-600 ครอบครัว กระทั่งเมื่อปีนังตกเป็นของอังกฤษแล้วปรากฏว่าได้มีการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วจากการอพยพภายใต้การคุ้มครองของอังกฤษโดยในปี ค.ศ.1789 มีผู้อยู่อาศัยในปีนังเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คน และในปี ค.ศ.1795 เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็น 20,000 คน แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของฟรานซิส ไล้ท์ในการขยายอิทธิพลของอังกฤษและสร้างความมั่นคงทางการค้าและความเจริญให้เกิดขึ้น (กรมศิลปากร, 2517 : 32)

อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษกับเคดาห์ก็มิได้ราบรื่นนักทั้งนี้เนื่องจากในขณะนั้นเคดาห์ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสยามในฐานะหัวเมืองประเทศราช ฟรานซิส ไลท์ จึงแสดงท่าทีอย่างระวังในการมิให้เกิดเรื่องกระทบกระทั่งกับสยามดังนั้นในปี ค.ศ.1790 เมื่อ Sultan Abdullah แห่งเคดาห์ ทรงทราบว่าอังกฤษมิได้มีความจริงใจในการปกป้องคุ้มครองเคดาห์แต่กระทำไปเพื่อหวังผลประโยชน์ของตนเองสุลต่านแห่งเคดาห์จึงได้พยายามยกเลิกสัญญาเช่าและยึดเกาะปีนังคืนจากอังกฤษนำมาสู่การทำสงครามระหว่างกันอันเป็นการเริ่มต้นยึดครองดินแดนตามแผนการสร้างระบอบอาณานิคมขึ้นในดินแดนตะวันออกไกล เคดาห์ได้แพ้สงครามแก่อังกฤษ ส่งผลให้ Sultan Abdullah ต้องลงนามในสนธิสัญญากับอังกฤษและมอบเกาะปีนังให้โดยอังกฤษสัญญาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนรายปีแก่สุลต่าน ผลจากสงครามที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษในยุคของพันโท Arthur Wellesley (Duke of Wellington) ได้ดำเนินการสร้างความปลอดภัยในการป้องกันเกาะปีนังโดยการสร้างค่ายและป้อมทหาร (Fort) หลายแห่งซึ่งเป็นการสานงานต่อจากฟรานซิส ไลท์ที่ได้สร้างป้อมคอร์นเวลลิส (Fort Cornwallis) ไว้ในปี ค.ศ.1786 (Ministry of Tourism Malaysia, 2008 : 2)

ดยุคแห่งเวลลิงตันได้ทำการปรับปรุงและเริ่มพัฒนาเกาะปีนังเพื่อรองรับกับการเข้ามาของชนชั้นสูงชาวอังกฤษ รวมทั้งมีการขยายอาณาเขตที่ดินเพิ่มเติมบนแผ่นดินบริเวณฝั่งตรงข้ามเกาะ ส่งผลให้ปีนังของอังกฤษประกอบด้วยพื้นที่สองส่วนคือเกาะปีนังและจังหวัด Wellesley บนฝั่งแผ่นดินต่อมาในปี ค.ศ.1832 รัฐบาลอังกฤษได้เข้าดำเนินการปกครองดินแดนอาณานิคมทั้งหมดแทนบริษัทอินเดียตะวันออกซึ่งถูกยุบเลิกไปและได้สถาปนา the Straits Settlements ขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันประกอบด้วยดินแดนเดิมของรัฐมะละกา, เกาะสิงคโปร์และปีนัง โดยปีนังได้รับการยกฐานะให้เป็นเมืองหลวงของ Straits Settlements (Penang State Government, 2010 : 6)

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ปีนังได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะนํ้าตาลและมะพร้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในการส่งออกจากปีนังรวมทั้งความมั่งคั่งจากเหมืองดีบุกของรัฐเปรักที่ถูกส่งออกขายโดยผ่านปีนัง ส่งผลให้ปีนังกลายเป็นเมืองท่าสำคัญทางการค้าและเป็นที่มาของการอพยพเข้ามาของผู้คนจากดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนและอินเดียจำนวนมากรวมทั้งชาวมลายูพื้นเมืองจากทางภาคใต้ของคาบสมุทรมลายู ต่อมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ปีนังได้ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเมื่อยางพาราได้เป็นสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ปีนังในฐานะเมืองท่าที่อยู่ใกล้แหล่งผลิตยางพาราจึงได้กลายเป็นศูนย์กลางการส่งออกยางพารา ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของการศึกษาและเทคโนโลยีซึ่งอังกฤษได้ดำเนินการไว้ กระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1930 ท่าเรือของปีนังได้เป็นศูนย์กลางของเรือกลไฟ 40 สายที่เชื่อมต่อไปยังลอนดอน สิงคโปร์และเมืองสำคัญๆ ทั่วโลกส่งผลให้เกิดการพัฒนาปีนังไปสู่ความเป็นเมืองทันสมัยและเป็นเมืองแห่งแรกๆ ในภูมิภาคที่มีแหล่งสถานบันเทิง อาทิ คาบาเร่ต์ โรงภาพยนตร์ สวนสนุกและสถานประกอบการเล่นการพนันต่างๆ เกิดขึ้น (Penang Heritage Centre, 2009 : 41)

ความเจริญเติบโตของปีนังได้ยุติลงเป็นการชั่วคราวในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1941 เมื่อญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพบุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงต้นของสงครามชาวอังกฤษจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในปีนังได้หลบหนีไปยังสิงคโปร์ซึ่งต่อมาภายหลังสิงคโปร์ก็ได้ถูกญี่ปุ่นเข้ายึดครองเช่นกัน ในช่วงระหว่างสงครามนี้ญี่ปุ่นได้ใช้ปีนังเป็นฐานในการสะสมและส่งกำลังเสบียงให้แก่

กองทัพญี่ปุ่นซึ่งกำลังรุกคืบเข้าไปในพม่าและอินเดีย โดยในช่วงปลายของสงครามปีนังได้ตกเป็นเป้าของการโจมตีทางอากาศอย่างหนักจากฝ่ายสัมพันธมิตร สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ท่าเรือและอาคารสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียน กระทั่งในวันที่ 4 กันยายน ค.ศ.1945 เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนต่อกองทัพสัมพันธมิตรทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ภายหลังสงครามอังกฤษได้กลับเข้าปกครองปีนังและมลายาอีกครั้งเพื่อเตรียมการไปสู่การประกาศเอกราชของมลายา กระบวนการสู่เอกราชได้ดำเนินไปกว่าทศวรรษภายใต้การนำของตนกู อับดุล รามานห์กระทั่งมาลายาได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.1957 โดยรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐได้กำหนดให้ปีนังซึ่งมีพื้นที่หลักคือเกาะปีนังและพื้นที่บางส่วนบนฝั่งติดกับรัฐเคดาห์ (ดินแดน Wellesley เดิม) เป็นหนึ่งใน 13 รัฐของสหพันธรัฐโดยมี Georgetown เป็นเมืองหลวงของรัฐ

รัฐปีนังได้รับการพัฒนาเรื่อยมากระทั่งกลายเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในภาคเหนือของมาเลเซีย โดยเฉพาะในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ปีนังได้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ด้านและมีการพัฒนาที่โดดเด่นในด้านการค้า การศึกษา อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลก

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี