Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ปีขาลปีนี้(2565) ไปไหว้ “พระธาตุช่อแฮ” กันเถอะ!!!

พระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลป่าแดง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อ่านชื่อภาษาล้านนาว่า "พะทาดจ้อแฮ"

ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า “พระธาตุช่อแฮ” พระอารามหลวง ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลป่าแดง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อ่านชื่อภาษาล้านนาว่า “พะทาดจ้อแฮ”

เป็นศาสนสถานสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดแพร่  กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เป็นพระธาตุที่บรรจุพระเกศาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุ พระข้อศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า

คำว่า “ช่อแฮ” แปลว่า ช่อ (ธงรูปสามเหลี่ยม) ที่ทำมาจากผ้าแพร

พระธาตุช่อแฮตั้งอยู่บนดอยชื่อ “โกสิยะธชัคคะ” องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ศิลปะแบบเชียงแสน มีแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง หุ้มทองดอกบวบ

ความเป็นมาของพระธาตุช่อแฮมีประวัติและตำนานเล่าขานไว้หลายเรื่อง ตั้งแต่พงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย หอสมุดแห่งชาติ บันทึกไว้ว่า พญาลิไท หรือ พระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อครั้งยังเป็นมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย มีศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทรงรับเอาพระพุทธศาสนาในแบบลังกาวงศ์เข้ามาในประเทศ และโปรดให้สร้างศาสนสถานตามที่ปรากฏในพุทธประวัติหลายแห่ง โดยทรงเลือกสถานที่ด้วยพระองค์เอง สำหรับเมืองแพร่ ได้เลือกเอาดอยโกสิยะธชัคคะ เป็นที่ตั้งของพระธาตุช่อแฮ

ส่วนตำนานเมืองสุโขทัย กล่าวว่าพญาลิไทพระราชทานพระบรมธาตุให้แก่ขุนลวะก๊อม นำไปบรรจุในเจดีย์ให้ผู้คนกราบไหว้ ขุนลวะก๊อมเห็นว่าดอยโกสิยะธชัคคะ มีทำเลดี จึงได้ชักชวนหัวเมืองต่าง ๆ มาช่วยกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นขุนลวะก๊อมเอาผอบพระบรมธาตุ ตั้งไว้บนแท่นทองและเงิน ตั้งสิงห์ทองคำไว้ แล้วโบกปูนทับ ต่อมาเมื่อเมืองแพร่เข้ารวมในอาณาจักรล้านนา กษัตริย์ล้านนาก็ทำนุบำรุงพระธาตุช่อแฮเสมอมาจนหมดอำนาจลง เวลาผ่านไปพระธาตุช่อแฮทรุดโทรมเป็นอันมาก  ในปี พ.ศ.2467 ครูบาศรีวิชัยจึงเข้ามาเป็นประธานปฏิสังขรณ์พระธาตุองค์นี้ บูรณะให้มีฐานกว้างขึ้น เสริมยอดให้สูงขึ้น หุ้มทองเสียใหม่ ล้อมรั้ว ทำประตูเข้าออกเป็นซุ้มสลักลายสวยงาม 4 ประตู อยู่ประจำ 4 ทิศ

อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่าเสด็จมาถึงดอยโกสิยะธชัคคะด้วยพระองค์เอง และประทับอยู่ใต้ต้นหมากบนบรรพตแห่งนี้ ด้วยเป็นชัยภูมิอันร่มรื่น ครั้งนั้นมีขุนลวะนามอ้ายก๊อมมากราบไหว้พระพุทธเจ้าด้วยความศรัทธา พระพุทธองค์ทรงประทานพระเกศาให้อ้ายก๊อมไว้เส้นหนึ่งแล้วรับสั่งว่าต่อไปบริเวณนี้จะเป็นเมืองใหญ่นามว่า “เมืองแพร่”  เมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพานไป 218 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชและบรรดาพระอรหันต์ได้ร่วมกันอธิษฐาน ว่าเมื่อพระองค์ยังพระชนม์ชีพ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังถิ่นสถานหลายแห่ง สมควรอัญเชิญพระบรมธาตุไปบรรจุสถิตไว้ตามที่ต่างๆ ซึ่งดอยโกสิยะธชัคคะ ก็เป็นหนึ่งของสถานที่นั้น ในสมัยพญาลิไท มีการปฏิสังขรณ์เจดีย์ที่ช่อแฮ โดยมีเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย ไพร่ฟ้าประชาชนมาร่วมบุญกัน และมีการบรรจุพระบรมอัฐิธาตุศอกข้างซ้ายและพระเกศา รวมทั้งสร้างถาวรวัตถุอื่นๆ ตามคติความเชื่อของคนล้านนา

วัดพระธาตุช่อแฮได้ชื่อว่าเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่ มีอายุมากกว่า 1,000 ปี ที่สำคัญเป็นพระธาตุ 1 ใน 12 ปีนักษัตร เล่าขานกันว่าคนที่เกิดปีขาล นักษัตรเสือ ควรไปกราบไหว้บูชาพระธาตุช่อแฮอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต และในปี 2565 เป็นปีนักษัตรปีขาล จึงเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับคนเกิดปีขาล หรือนักท่องเที่ยวที่เกิดปีขาลที่จะเดินทางไปไหว้สักการะองค์พระธาตุช่อแฮเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ทั้งนี้ ไม่ได้ห้ามคนที่เกิดปีนักษัตรอื่น

ทำไมคนเกิดปีขาลต้องไปไหว้พระธาตุช่อแฮ???

ตามคติความเชื่อของชาวล้านนาเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดนั้น ไม่ได้มีหรือระบุวิธีปฏิบัติโดยตรงใด ๆ ในพุทธศาสนา เป็นแต่เพียงการเชื่อมโยงคติความเชื่อของคนในอดีตให้สอดรับกับแนวคำสอนในพุทธศาสนาเท่านั้น โดยชาวล้านนารับรู้กันมาตามที่บันทึกไว้ในตำนานพื้นเมือง ว่า เมื่อคนตายไปแล้ว ก่อนที่วิญญาณจะมาปฎิสนธิในครรภ์มารดา จะมี “ตัวเปิ้ง” ซึ่งเป็นสัตว์ประจำนักษัตรนำวิญญาณผู้ตายไปพักไว้ที่พระธาตุเจดีย์ก่อน เรียกว่า “ชุธาตุ” (ชุ แปลว่าตั้ง, วาง, รวม, สุม) เมื่อได้เวลาวิญญาณผู้ตายจะไปสถิตที่บริเวณกระหม่อมของผู้ที่จะเป็นบิดาเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์มารดา และเมื่อทุกคนเสียชีวิตลงวิญญาณก็จะกลับไปอยู่ที่องค์พระธาตุที่เคยอยู่ โดยคติล้านนา มีความเชื่อว่า วัดพระธาตุช่อแฮ  คือพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีขาล(ปีเสือ )  ดังนั้น คนที่เกิดปีขาลและมีความเชื่อในคติดังกล่าวก็จะพากันไปไหว้พระธาตุช่อแฮ ที่จังหวัดแพร่ อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต

สำหรับวัดพระธาตุช่อแฮที่แต่เดิมเตรียมจัดงาน “รวมพลคนปีขาล” ระหว่างวันที่ 11-17 มีนาคม 2565 นั้น มีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อนเนื่องจากสถานการณ์โควิด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้วัดพระธาตุช่อแฮ อยู่ระหว่างการบูรณะองค์พระธาตุใหม่ให้มีความสวยงาม เนื่องจากทองจังโกและทองคำเปลวแท้ที่หุ้มองค์พระธาตุได้แตก กะเทาะ บางจุดเป็นรู ทำให้น้ำฝนสาดเข้าถึงเนื้อในองค์พระธาตุได้รับความเสียหาย จึงจะทำการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 ด้วยการปิดทองและเพิ่มทองคำใหม่บนยอดฉัตร ซึ่งทางวัดได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรเรียบร้อยแล้ว

โดยทางวัดจะรื้อทองจักโกและทองคำเปลวแท้ออกแล้วบูรณะหุ้มทองจังโก 900 ตารางเมตรๆ ละ 16,000 บาท และทองคำเปลวแท้ใหม่ เพิ่มทองคำบนยอดฉัตรดอกหมากเบ็ง แจกันรองรับดอกหมากเบ็ง ปลีบัวพระธาตุช่อแฮ มีเป้าหมาย 123 กิโลกรัม หรือบูชาแผ่นทองคำแท้แผ่นละ 500 บาท พร้อมหล่อพระสิงห์ 2 ช่อแฮ  เนื้อเงิน 29 นิ้ว พระประจำปีเกิดปีขาล โดยใช้เงินแท้ประมาณ 300 กิโลกรัม กิโลกรัมๆ ละ 38,000 บาท หรือบูชาแผ่นเงินได้แผ่นละ 300 บาท จะทำการหล่อในวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันชาติกาล 144 ปี พระครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา 

"หลวงพ่อช่อแฮ" หรือ "พระเจ้าช่อแฮ" พระประธานเก่าแก่อายุหลายร้อยปีภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา-เชียงแสน
สัญลักษณ์ธงการจัดงาน "รวมพลคนปีขาล" ประจำปี 2565 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-17 มีนาคม 2565 แต่มีเหตุให้ต้องเลื่อนออกไปก่อนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-โอไมครอน
องค์พระธาตุช่อแฮ อยู่ระหว่างการบูรณะองค์พระธาตุใหม่ให้มีความสวยงาม เนื่องจากทองจังโกและทองคำเปลวแท้ที่หุ้มองค์พระธาตุได้แตก กะเทาะ บางจุดเป็นรู ทำให้น้ำฝนสาดเข้าถึงเนื้อในองค์พระธาตุได้รับความเสียหาย จึงจะทำการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 ด้วยการปิดทองและเพิ่มทองคำใหม่บนยอดฉัตร ซึ่งทางวัดได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรเรียบร้อยแล้ว

พระโกศัยเจติยารักษ์ เจ้าอาวาสกล่าวว่าการบูรณะองค์พระธาตุในครั้งนี้แล้วอีก 100 ปีถึงจะได้บูรณะอีกครั้งหนึ่ง ถือเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ที่ทุกคนจะได้มาร่วมกัน ดังนั้น ขอเชิญชวนผู้ที่ศรัทธานับถือร่วมบริจาคทองคำแท่ง ทองคำรูปพรรณ เพื่อเพิ่มทองคำบนยอดฉัตรองค์พระธาตุ ได้ที่บัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาแพร่ เลขที่บัญชี 105-2-88255 ชื่อกองทุนบูรณะพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และส่งสลิปการโอนเงินเข้าที่ FB เพจ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง

ในวัดพระธาตุช่อแฮ นอกจากองค์พระธาตุช่อแฮแล้วยังมี “หลวงพ่อช่อแฮ” หรือ “พระเจ้าช่อแฮ” พระประธานเก่าแก่อายุหลายร้อยปีภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา-เชียงแสน  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากสร้างองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

ขบวนแห่ตุงเพื่อสักการะพระธาตุ