Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ประเวศ แสงเพชร เล่าเรื่อง “ทุเรียนจันทบุรี”

“ทุเรียน” ผลไม้ชื่อดังยอดฮิตติดอันดับของเมืองไทย ทั้งราคาและความนิยม น่าสังเกตว่าปัจจุบันผู้คนคลั่งไคล้การกินทุเรียนกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน เมื่อย้อนหลังไปไม่ถึงสิบปีมานี้ ปัจจุบันกลายเป็นว่าใครไม่กินทุเรียน ถือว่าตกเทรนด์ความเก๋ไก๋ไปโดยปริยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกไร้พรมแดน ชาวจีนที่กลายเป็นเศรษฐีมีสตางค์ ต่างสั่งซื้อทุเรียนจากเมืองไทยไปบริโภคอย่างมโหฬาร ดูได้จากสถิติการจำหน่ายทุเรียนผ่านทางอาลีบาบา เว็บไซต์ขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อรักจะกินทุเรียนก็ต้องเรียนรู้ประวัติกันหน่อย ว่า “ทุเรียน” ผลไม้กลิ่นฉุนชนิดนี้มีความเป็นมาอย่างไร เริ่มกันตั้งแต่คำว่า “ทุเรียน” มีผู้ค้นคว้าไว้ว่ามาจากภาษามอญว่า “ตูเรน” ขณะที่คนอินโดนีเซีย-มาเลเซีย เรียก “ดูเรน” แล้วพัฒนาเป็นภาษาอังกฤษว่า “ดูเรียน” (Durian) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 27 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้อยู่ในเกาะบอร์เนียว 19 สายพันธุ์ ในแหลมมลายู 11 สายพันธุ์ และเกาะสุมาตรา 7 สายพันธุ์ สำหรับประเทศไทย หลักฐานจากกรมป่าไม้ระบุว่ามีอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ ทุเรียนบ้าน (Durio zibethinus Murr.) ทุเรียนดอน (D. malaccensis Planch. ex Mast.) ทุเรียนนก (D. griffithii Mast. Bakh.) และทุเรียนป่า (D.pinanginan Ridley)

กล่าวกันว่าคนไทยรู้จักกินทุเรียนมาตั้งแต่เมื่อ 300 ปีก่อนแล้ว สันนิษฐานว่ารับมาจากมอญ โดยเข้ามากับกองทัพที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ครั้งยกกองทัพไปตีเมืองมะริดและตะนาวศรี เมื่อขาดเสบียงอาหาร เหล่านายกองจึงออกหาตามที่ต่างๆ และคงพบทุเรียนเข้าจึงนำมารับประทาน พบว่ามีรสชาติดี อร่อย จึงนำเมล็ดกลับมาที่กรุงเทพฯ ด้วย และเริ่มปลูกตามบ้านขุนนางผู้ใหญ่หรือเจ้านายทั้งหลาย กลายเป็นสวนทุเรียนแถวฝั่งธนบุรีเรื่อยไปจนถึง จ.นนทบุรี ต่อมาเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ทั้งกรุงเทพฯและฝั่งธนบุรีถึง 2 ครั้ง ทำให้ต้นทุเรียนเก่าตายไปหมด หาดูหลักฐานไม่ได้ บางหลักฐานเชื่อว่าทุเรียนที่นำมาปลูกในกรุงเทพฯ และธนบุรีสมัยนั้น ได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปลูกได้ผลดีแล้วจึงแพร่ไปยังจันทบุรี ตราด และทางภาคเหนือ

พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) กล่าวถึงการปลูกทุเรียนของภาคกลาง ว่าประมาณ พ.ศ.2397 มีการทำสวนทุเรียนที่ตำบลบางกร่าง คลองบางกอกน้อยตอนใน แรกๆ นั้น เป็นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ก่อนพัฒนามาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน ทุเรียน 3 สายพันธุ์ที่นำเมล็ดมาเพาะ ได้แก่ อีบาตร (ทุเรียนนนทบุรี) ทองสุก และการะเกด ใช้เมล็ดของทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ปลูก ทำให้เกิดทุเรียนลูกผสมขึ้นมากมาย แล้วจึงปรับปรุงสายพันธุ์มาเรื่อยๆ จนเป็นสายพันธุ์ทุเรียนในปัจจุบัน แม้ว่าทุเรียนจะสามารถปลูกได้ในทุกภาคของประเทศไทย แต่แหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของประเทศ คือ จันทบุรี ตราด ระยอง และปราจีนบุรี

“ประเวศ แสงเพชร” นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร กล่าวถึงทุเรียนว่าในช่วง 5 ปีนี้ ยังเป็นพืชที่ทำราคาได้เป็นอย่างดี ซึ่งเวลานี้ประเทศจีนกำลังจับจ้องมองไทยอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร และเริ่มมีการนำพันธุ์จากเมืองไทยไปให้ฝั่งลาวและกัมพูชาปลูกแข่ง จำเป็นที่ประเทศไทยต้องศึกษาเรื่องนี้ให้ละเอียดและใส่ใจอย่างมาก ว่าปีหนึ่งๆ ไทยเราผลิตได้เท่าไหร่ บริโภคเท่าไหร่ และส่งออกเท่าไหร่ ส่งไปจีนเท่าไหร่ “ข้อดีของทุเรียนคือทำราคาได้ดี ในช่วง 5 ปีนี้ถ้าจีนจะไปพัฒนาแข่งกับเรา คิดว่าไทยเรายังนำชัยอยู่ ต้องเข้าใจการปลูกทุเรียน ว่าถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตปริมาณน้ำฝนค่อนข้างดี

เพราะฉะนั้นจะปลูกได้ดีที่จันทบุรี ระยอง และภาคใต้หลายๆ จังหวัด ขณะเดียวกันก็มีเกษตรกรไทยที่เก่งๆ พยายามจะนำไปปลูกในถิ่นอื่น อย่างไรก็ตามต้องปลูกแถวชายน้ำ เช่น แถว จ.หนองคาย เป็นต้น ซึ่งเป็นผลงานของกรมวิชาการเกษตร และศูนย์วิจัยพืชสวน จ.นครพนมก็ช่วยอยู่ เพราะฉะนั้นหากพูดถึงด้านวิชาการแล้ว ประเทศไทยเรายังเก่งอยู่และไปได้ดี” อาจารย์ประเวศกล่าว และบอกผ่านไปยังชาวสวนที่สนใจเรื่องของทุเรียนแบบใหม่ๆ ให้ติดต่อขอข้อมูลจากศูนย์วิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตรได้

อาจารย์ประเวศ อธิบายว่าทุเรียนเป็นพืชต้องการน้ำ แต่อย่าให้น้ำขังแฉะ ถ้าน้ำขังในระยะ 2-3 วัน จะเกิดรากเน่า โคนเน่าได้ อย่างไรก็ดี ถือว่าชาวสวนทุเรียนในแถบจันทบุรี ระยอง เก่งมาก จะแก้ปัญหาโดยเซาะร่องระหว่างต้นทุเรียน ให้ร่องลึกประมาณ 1 เมตร กว้างราว 50 เซนติเมตร เพื่อเวลาฝนตกน้ำจะได้ระบายออกไปทางร่องดังกล่าว ไม่เกิดน้ำขังทำรากเน่า โคนเน่า ส่วนทางภาคอีสานแถว จ.บุรีรัมย์ เวลานี้สามารถปลูกได้ผลดี เนื่องจากเป็นดินภูเขาไฟ ซึ่งข้อดีของดินภูเขาไฟคือระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ขัง และที่สำคัญมีธาตุเหล็กและกำมะถัน ช่วยทำให้กลิ่นทุเรียนดีขึ้น ไม่รุนแรง “อย่างไรก็ตาม หากอยากกินทุเรียนดีและอร่อย ต้องไปที่จันทบุรี ระยอง หรือแถวภาคตะวันออก เพราะเป็นแหล่งปลูกที่สำคัญรวมถึงมีการพัฒนาพันธุ์หลากหลายด้วย”

อ.ประเวศ แสงเพชร

ถามถึงพันธุ์ทุเรียนยอดนิยม อาจารย์ประเวศบอกว่ายังมีหมอนทอง กระดุม กบ และก้านยาว เป็นหลักอยู่ ส่วนพันธุ์ใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาก็มีพวงมณี และกระจิบ โดยปีที่ผ่านมาชาวสวนพยายามชูพวงมณีขึ้นมา บอกว่ารสชาติดี เนื้อแน่น ทั้งนี้คิดว่าขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนที่กิน ส่วนตัวแล้วยังเห็นว่าก้านยาวและกระดุมยังเป็นหนึ่งอยู่

“ชาวสวนที่เก่งๆ เขาสามารถปลูกทุเรียนนอกฤดูได้ ทำให้ได้ราคาดีมาก ซึ่งที่จริงแล้วทุเรียนส่วนใหญ่ 70% เป็นการบริโภคภายในประเทศ เราจะส่งออกไปจีนส่วนหนึ่ง แต่ถ้าถามถึงตลาดที่ใหญ่ของไทยเป็นตลาดอินโดนีเซีย ใหญ่และน่าสนใจกว่าจีน เวลานี้ทุเรียนไทยที่ข้ามไปปลูกฝั่งลาวมีให้เห็นแล้ว แต่ถึงอย่างไร รสชาติก็ยังสู้ไทยไม่ได้ คุณภาพก็สู้ยังไม่ได้ ชื่อชั้นแล้วหากไปจากประเทศไทย ราคาจะดีและชื่อติดตลาด เพียงแต่การประชาสัมพันธ์ของเรายังดีไม่พอ ยังสู้มาเลเซียไม่ได้” อาจารย์ประเวศทิ้งท้ายให้คิด

แม้ว่าทุเรียนปลูกได้แทบทุกภาคของประเทศ แต่แหล่งปลูกที่สำคัญเชิงการค้าจะอยู่ในเขตภาคตวันออกและภาคใต้ มูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลเองได้กำหนดให้ทุเรียนเป็นพืช Product champion ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องรับผิดชอบดูแลการผลิตอย่างครบวงจร รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น

รวมถึงส่งเสริมให้ชาวสวนมีความรู้ในการผลิตที่เหมาะสม สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพแต่มีต้นทุนต่อหน่วยลดลง ก็จะช่วยชาวสวนทุเรียนลืมตาอ้าปากได้ อีกทั้งยังได้ทุเรียนที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดด้วย

ชวนตะลุยสวน!!! ชิม & ช็อปผลไม้ จันทบุรี-ตราด
วันที่ 11-12 พฤษภาคม 2562
วิทยากร : อ.ประเวศ แสงเพชร
ราคา 5,900 บาท
ติดต่อสอบถามรายละเอียด หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand
หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichon-tour คลิก http://line.me/ti/p/%40matichon-tour

กิจกรรมทำอะไร?

วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2562
ช่วงเช้า ชมสวนส้มโอทับทิมสยาม ของ “ประยุทธ์ พานทอง” พร้อมฟังเทคนิคการปลูก ดูแลให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ ในระดับส่งออก ช่องทางการจำหน่ายรายได้งาม
กลางวันรับประทานอาหาร ร้านครัวคุณแดง ริมคลอง
ช่วงบ่าย เดินทางไปยัง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ชม “สวนคุณลูกหมู” หรือศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า (ศพก.) เขาคิชฌกูฏ รับฟังความรู้เทคนิคต่างๆ ในการดูแลผลผลิตในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน, มังคุด ฯลฯ ทั้งยังให้สอยมังคุดสดๆ จากต้น ในราคาย่อมเยาว์อีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม 2562
เดินทางไปยัง อ.เขาสมิง จ.ตราด เข้าชมความงดงามของ “วัดบุปผาราม” หรือ “วัดปลายคลอง” วัดเก่าแก่ที่สุดใน จ.ตราด สร้างราวรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ชมจิตรกรรมเก่าแก่ ซึ่งผสมผสานศิลปะจีนภายในพระอุโบสถและวิหารพระพุทธไสยาสน์ ฝีมือช่างท้องถิ่น จากนั้นเข้าชมพิพิธภัณฑ์วัดบุปผาราม แหล่งรวบรวมโบราณวัตถุอันทรงคุณค่า พระพุทธรูปทองบุเงิน พระพุทธรูปปางต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องถ้วยจีน กราบพระบรมสารีริกธาตุ

จากนั้นเดินทางไป “สวนสละสมโภชน์” ของ “กระจ่าง-สมโภชน์ ตรีวงษ์” ฟังเทคนิคการปลูก, การดูแล และการผสมเกสรของทางสวนจนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและรักษารสชาติจนเป็นที่เลื่องลือ ชิมและเลือกซื้อสละพันธุ์สุมาลีที่การันตีรสชาติและคุณภาพ ในราคากิโลกรัมถูกสุดๆ (ราคานี้ขายเฉพาะที่สวนเท่านั้น)
กลางวันรับประทานอาหารบรรยากาศกลางสวนทุเรียน ที่ “สวนไพฑูรย์” ของ “ไพฑูรย์ วานิชศรี” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเขาสมิงอันเงียบสงบ อิ่มอร่อยกับหลากหลายเมนูทำจากทุเรียน พร้อมบุฟเฟต์ทุเรียนคุณภาพส่งออก การันตีด้วยรางวัลการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism)

ปิดท้ายก่อนกลับบ้าน ด้วยการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ต่างๆ ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรเขาบายศรี “ร้านป้าแกลบ” แหล่งรวมของดีเมืองจันท์ระดับรางวัลโอท็อป 5 ดาว

ทัวร์คุณภาพดีอย่างนี้ ไม่รักกันจริงไม่ชวนไปหรอกจ้ะ เพราะฉะนั้น อย่าพลาด!!