Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

บางแง่มุมของวัดแขกสีลม : ใครคือเจ้าแม่วัดแขก?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมได้รับคำถามที่น่าสนใจหลายอย่างระหว่างเดินทางร่วมกับพี่ๆ ในทริปชมเทวสถานบางกอกของมติชน เช่น ทำไมต้องบูชายัญ บูชาทำอย่างไร เรื่อยไปจนประเด็นทางศาสนาและสังคมไทย เช่น พระพิฆเนศวร์ควรจะอยู่ในวัดทางพุทธศาสนาไหม และถ้าอยู่จะอยู่อย่างไร? ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจมากๆ แต่ผมคิดว่าไม่ง่ายที่จะตอบเรื่องนี้ เพราะเกี่ยวทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา การผสานความเชื่อ การจัดตำแหน่งแห่งที่ของจักรวาลวิทยาสองแบบเข้าด้วยกัน ความเป็นศาสนาชาวบ้าน-ปัญญาชน ฯลฯ

ต้องค่อยๆ ขอใช้เวลาใคร่ครวญก่อนนะครับ แล้วมีโอกาสจะขอมานำเสนอทุกท่านอีกครั้ง

แต่ที่แน่ๆ สำหรับผมแล้ว การชมสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ แม้ตัวเองจะเคยไปมาจนนับไม่ถ้วน แต่การได้เข้าร่วมพิธีกรรมซึ่งในเวลาปกติไม่ได้ร่วม และมีเวลาพิเคราะห์ถกเถียงกับท่านอื่นๆ บางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้เพิ่มเติม ที่ไม่เคยคิดก็ได้คิดเพิ่ม นับว่าเป็นกำไรความรู้ของคนนำชมเองด้วย (ฮา)

ในบรรดาเทวสถานที่ไปนั้น เทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช เป็นที่ที่ผมคุ้นเคยที่สุด เพราะครูบาอาจารย์ของตัวอยู่ที่นั่น เทวสถานโบสถ์พราหมณ์เป็นอีกแห่งที่เมื่อมีเวลาว่างผมมักเข้าไปนั่งเล่นเสมอ ส่วนวัดวิษณุยานนาวาก็พอจะคุ้นเคยอยู่ เพราะเป็นวัดของชาวอินเดียภาคเหนือซึ่งมีประเพณีพิธีกรรมคล้ายกันกับเทพมณเฑียร

ส่วนที่ว่าไปนั่งเล่นในโบสถ์พราหมณ์ คือ ผมไปนั่งชมเทวรูปนะครับ โบสถ์พราหมณ์มีบรรยากาศสงบไม่พลุกพล่าน ใช้เวลานานๆ นั่งชมเทวรูปสมัยสุโขทัยที่สวยงามหยาดเยิ้มหยดย้อยที่สุด ดูแล้วหวานจับตาจับใจ เป็นของควรชมอย่างหนึ่งในพระนคร เป็นโบราณวัตถุ “เป็นๆ” ที่คนยังมากราบไหว้บูชา

มิตรสหายรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งเป็นจิตรกรบอกผมว่า เทคโนโลยีการหล่อสำริดสมัยนี้ดีกว่าสมัยสุโขทัยมากๆ เพราะอาศัยความรู้สมัยใหม่ แต่ยังไม่สามารถทำเทวรูปใหญ่ๆ สวยๆ ชนิดเชื่อมไม่เห็นตะเข็บอย่างสุโขทัยได้

ท่านว่า “ใจ” มันไม่ถึงว่ะ ใจมันยังไม่ได้ ผิดกับใจของคนสมัยก่อน ทั้งที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่เท่ากัน อันนี้ศิลปินท่านมองด้วยตาศิลปินครับ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ก็น้อมรับคำอธิบายนี้

ส่วนเทวสถานสำคัญและโด่งดังที่สุดในกรุงเทพฯ คือวัดแขกสีลม หรือวัดพระศรีมหาอุมาเทวี

ที่จริงวัดนี้มีชื่อทมิฬ คือ “ติรุมาริอัมมันโกยิล” ติรุ ชาวทมิฬใช้เหมือนคำว่า “ศรี” ในภาษาสันสกฤต คือคำยกย่อง ส่วนมาริ เป็นชื่อพระแม่เจ้าผู้เป็นประธานของวัด อัมมาหรืออัมมัน (ลงท้ายอันอย่างไวยากรณ์ทมิฬ) คือแม่ และโกยิลแปลว่า ปราสาท หรือมณเฑียร

ติรุมาริอัมมันโกยิล จึงแปลว่า “ปราสาทพระแม่ศรีมาริ”

ที่ต้องเรียกวัดด้วยนามว่า “ศรีมหาอุมาเทวี” นั้น ก็เพื่อให้คนไทยเข้าใจได้โดยง่าย โดยถือคติว่า เจ้าแม่ทุกองค์ย่อมเป็นภาคส่วนของพระเทวีใหญ่ เช่น ทุรคา อุมาหรือปารวตีด้วยกันทั้งนั้น เรียกอย่างนี้ก็ไม่ผิดหรอก

ที่น่าสนใจนะครับ ว่าพระนาม “อุมาเทวี” เป็นที่นิยมมากในบ้านเรา แต่ในวรรณคดีแขกจริงๆ กลับมีชื่ออุมา หรืออุมาไหมวตี ค่อนข้างน้อย พระนามเทวีอื่นๆ เช่น เคารี ปรรพตีหรือปารวตี ทุรคา ดูเหมือนจะมีมากกว่า

ผมคิดว่า น่าจะเพราะในตำราพราหมณ์อย่างของไทยหรือในวรรณคดีไทยนั้น ใช้พระนาม อุมา หรือ อุมาเหมวตี มากกว่าพระนามอื่นๆ เราจึงคุ้นเคยที่สุดและใช้บ่อยกว่าพระนามอื่น

พระแม่วัดสีลม ซึ่งกล่าวโดยเคร่งครัดแล้วที่จริงจึงเป็นพระแม่เจ้าของชาวทมิฬเองโดยแท้ คือ เป็นเจ้าแม่พื้นเมืองเดิมของชาวอินเดียใต้ (เหมือนศาสนาผีพื้นเมืองของเรา) ก่อนศาสนาฮินดูจะแผ่ลงมาแล้วผนวกเจ้าแม่เข้ามาเป็นเทวีฮินดูในภายหลัง

พระนาม “มาริ” ในภาษาทมิฬยุคสังคัมนั้น แปลว่า “ฝน” พระองค์คือเจ้าแม่แห่งฝน ซึ่งนับถือกันมากในสังคมเกษตรของทมิฬโบราณ แต่ในขณะเดียวกันตำนานพื้นเมืองกล่าวถึงพระองค์ในฐานะ เจ้าแม่แห่งโรคฝีดาษ

การมีเจ้าแม่แห่งโรคระบาดเป็นสิ่งที่สามารถพบได้ทั่วไปในทุกอารยธรรมตะวันออก เนื่องจากคนโบราณเห็นว่า โรคภัยนั้นไม่ได้เป็นเพียงความเจ็บป่วยของร่างกายอย่างในมโนทัศน์ทางการแพทย์ปัจจุบัน โดยเฉพาะโรคที่มักเป็นตามฤดูกาล แต่เป็นอำนาจของสิ่งภายนอก เช่น เทพหรือผี จึงต้องบูชาเซ่นสรวงให้ดีพลีให้ถูก

เจ้าแม่มาริจึงเป็นที่เคารพของชาวบ้าน อย่างเจ้าพ่อเจ้าแม่ของเรา ของสักการะและสิ่งเกี่ยวกับพระองค์จึงเป็นของอย่างเดียวกับที่ใช้ลดไข้และรักษาโรค เช่น หม้อใส่น้ำผสมขมิ้นและใบนีมหรือสะเดาแขก เป็นต้น และพระองค์ก็มี “เขี้ยว” ด้วยนะครับ ซึ่งแสดงด้านร้ายของธรรมชาติ เช่น ความป่วยไข้และความตาย

เมื่อพระแม่มาริเป็นเทพชาวบ้าน ในลักษณะ “ครามเทวดา” หรือครามเทวี คือเทพประจำหมู่บ้าน อีกหน้าที่จึงคล้ายๆ เจ้าที่เจ้าทางด้วย ชาวบ้านจึงบูชาพระองค์อย่างง่ายๆ เช่น บูชาที่พูนดินจอมปลวกหรือก้อนหิน โดยบูชากันง่ายๆ และไม่ต้องใช้พราหมณ์กระทำบูชา

แต่ภายหลังการนับถือพระองค์แพร่หลาย พราหมณ์จึงเข้ามาเป็นผู้บูชาหลัก อย่างวัดแขกสีลมก็มีพราหมณ์ผู้รู้พระเวทเป็นผู้กระทำบูชา แต่ครั้นพอมีพิธีกรรมอย่างประเพณีชาวบ้าน เช่น เข้าทรงในงานนวราตรี พราหมณ์จะเข้ามาแค่บางส่วนของพิธีเท่านั้น ส่วนมากเป็นงานของชาวบ้านเอง

อย่างที่นครมุมไบ (เขียนว่า มุมพาอี แต่แขกออกเสียง พ เป็น บ) เดิมเป็นชื่อของครามเทวี “มุมพาเทวี” ซึ่งเป็นเจ้าที่ของเกาะนั้น เขายังมีวัดอยู่ ทำเป็นรูปศีรษะเจ้าแม่วางอยู่บนพูนดิน อย่างเดียวกับพระมาริอัมมัน

คราวนี้ไปวัดสีลม คุณสุรพงษ์ สิริธรกุล ประธานกรรมการวัดกรุณาให้พราหมณ์ทำพิธีให้อย่างเต็มที่ ผมจึงได้ฟังได้ดูพราหมณ์ท่านทำพิธี จึงพอทราบจากสันสกฤตงูๆ ปลาๆ ของตนเองว่า ท่านใช้ทั้งมนตร์พระเวท ซึ่งเป็นฤคเวทและ “กฤษณยชุรเวท” (ยชุรเวทดำ) ผิดกับพราหมณ์ทางเหนือที่ใช้ “ศุกลยชุรเวท” (ยชุรเวทขาว) (ดำขาวในที่นี้ไม่เกี่ยวกับมนตร์ดำมนตร์ขาวนะครับ เป็นเพียงแต่ความต่างของชื่อและคัมภีร์ประกอบ) ใช้ฉันท์สันสกฤต และใช้บทขับภาษาทมิฬด้วย

ฟังไปฟังมาได้ยินพราหมณ์ท่านเรียกพระแม่มาริในบทบูชาด้วยภาษาสันสกฤต ว่า “ศีตลา” ผมจึงถึงบางอ้อว่า ที่แท้ท่านเทียบพระมาริอัมมัน กับ ศีตลาเทวี นั่นเอง

คืองี้ครับ พระแม่ท้องถิ่นก็คือเจ้าแม่ท้องถิ่น จะนำเข้ามาในระบบเทวีของฮินดูก็ต้องเทียบว่าเป็นภาคส่วนของเทวีองค์ใด เช่น โดยมากถ้าเป็นเจ้าแม่ดุร้าย เขาก็มักนับว่าเป็นภาคของเจ้าแม่กาลี แต่จะกาลีที่ไหนก็ใส่ชื่อเฉพาะไว้ ส่วนเทพผู้ชายดุร้ายมักรวมกับไภรวะ

ส่วนพระศีตลาเทวี เป็นเทวีที่นิยมในภาคเหนือของอินเดีย ศีตลาแปลว่า “เย็น” พระองค์มักจะถือหม้อยาเย็น (น้ำผสมขมิ้นสะเดา) ไม้กวาด (สัญลักษณ์ของคนวรรณะต่ำหรือชาวบ้าน) และขี่ลา (ซึ่งเป็นพาหนะชาวบ้าน แสดงภาวะการเดินทางไปๆ มาๆ)

พระศีตลาเทวี เป็นเทวีของโรคระบาดเช่นเดียวกันกับมาริอัมมัน พระนาม “เย็น” มีความหมายถึง การหายจากอาการไข้ (ร้อน)

ผมไม่ได้ยินพราหมณ์ท่านออกพระนามพระอุมาแต่อย่างใดนะครับ การเทียบกับศีตลาเทวีที่จริงก็สมควรแล้ว เพราะต่างก็มีลักษณะอย่างเดียวกันคือเป็นเทวีท้องถิ่นและเป็นเทวีแห่งโรคระบาดด้วยกันทั้งคู่

จริงๆ อาจนับว่าเป็นองค์เดียวกันเลยก็ยังได้ ผิดแต่ว่าอยู่คนละที่ และต่างกันอีกนิดตรงที่ พระนามศีตลา เป็นภาษาสันสกฤต ส่วนมาริเป็นภาษาทมิฬ

เมื่อพราหมณ์ต้องสวดภาษาสันสกฤต ท่านจึงใช้พระนาม พระศีตลา เพราะเป็นนามสันสกฤต และคุณลักษณะทั้งสององค์ก็ตรงกัน แต่เวลาขับและเรียกด้วยทมิฬก็ใช้อย่างของท้องถิ่นเอง คือมาริอัมมัน

คติเจ้าแม่ในอินเดียจึงซับซ้อนกว่าเจ้าพ่อมาก เพราะ “พลัง” (ศักติ) ในแง่ สตรีภาพ (Feminine) อันซับซ้อนหลากหลาย ล้วนถือเป็นเจ้าแม่ทั้งสิ้น

มารีอัมมัน จึงทั้งใช่และไม่ใช่ศีตลาเทวีในเวลาเดียวกัน ดุจทะเลกับคลื่น ทั้งสองทั้งเป็นคนละสิ่ง และเนื้อแท้คืออย่างเดียวกัน

สุดท้ายอยากขอบคุณทางวัดที่ต้อนรับขับสู้อย่างดี รวมทั้งเทวสถานทุกแห่ง และที่ขาดไม่ได้คือเพื่อนร่วมทางทุกท่านที่ช่วยกันสนทนาแลกเปลี่ยน

หวังว่าจะได้พบกันอีกครับ

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี