Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ทำไมถึงเรียก “หลักสี่” ที่แท้คืออะไรกันแน่

ป้ายบอกเขตหลักสี่ ที่ถนนวิภาวดีรังสิต

“บัณฑิต จุลาสัย”  และ  “รัชดา โชติพานิช”  จากหน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ฯ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไขข้อข้องใจเรื่องนี้ว่า “หลักสี่”  ที่เป็นชื่อ เขตหลักสี่ นั้น นอกจากจะเป็นชื่อของสถานีรถไฟหลักสี่แล้ว ยังน่าจะเป็นหลักกิโลเมตรของถนนหรือทางหลวงแผ่นดิน โดยเฉพาะถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตหลักสี่ วัดและโรงเรียนวัดหลักสี่ ที่น่าจะมีระยะทางสี่กิโลเมตร จากจุดเริ่มต้นถนนตรงดินแดง หรือจะเป็นหลักกิโลเมตรบอกระยะของสถานีรถไฟ เพราะจากสถานีหลักสี่เลยสถานีดอนเมืองไปจะเป็นสถานีรถไฟหลักหก

เช่นเดียวกับผู้คนใน “ตำบลหลักหก” จังหวัดปทุมธานี จะเกิดความสงสัย เพราะตำบลนี้ไม่ได้อยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต และอยู่ห่างจากหลักสี่มากกว่าสองกิโลเมตร

คำว่า “หลักสี่”  นี้ เป็นคำโบราณ มีมาก่อนการสัญจรทางถนนจะเกิดขึ้น จึงไม่ใช่หลักบอกระยะของถนน หากเป็น “หลักบอกระยะของคลอง”  ที่เคยเป็นทางสัญจรหลักในอดีต  รวมทั้งการปักหลักเสาเพื่อบอกระยะที่ไม่ใช่ระยะ “หนึ่งกิโลเมตร” เหมือนทางหลวงทั่วไป หากเป็นระยะ “หนึ่งร้อยเส้น” หรือ ประมาณ 4 กิโลเมตร

ดังนั้น “หลักสี่”  จึงไม่ใช่หลักบอกระยะของถนนหรือสถานีรถไฟ แต่เป็นหลักบอกระยะของคลองเปรมประชากร และคำว่า หลักสี่ จึงเริ่มมาจากการเรียกขานชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ว่า บ้านหลักสี่ และ ตำบลหลักสี่ ในเวลาต่อมา  ตำบลหลักสี่ ในกรุงเทพฯ และตำบลหลักหก ในปทุมธานี จึงอยู่ต่อเนื่องกัน อยู่ริมคลองเปรมประชากร และอยู่ห่างกันแปดกิโลเมตรพอดี

เช่นเดียวกับหลักสอง เป็นหลักบอกระยะคลองภาษีเจริญ ที่อยู่ทางด้านฝั่งธนบุรี

แม้ว่าความเป็นมาของคลองเปรมประชากร จะมีเอกสารระบุ ว่าขุดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.2413 แต่ เอนก นาวิกมูล พบหลักฐาน ในหนังสือจดหมายเหตุ The Bangkok Recorder เล่ม 1 เมื่อ ค.ศ.1865 ตรงกับ พ.ศ.2408 ที่กล่าวถึงเรื่องการขุดคลองแห่งหนึ่ง ไว้ดังนี้

“…ข้าพเจ้าเจ้าของหนังสือบางกอกริคอเดอ ได้ยินว่า, พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามทรงพระกรุณา, จะให้ขุดคลอง ตั้งแต่วัดเจ้าพระนางเชิง, ตัดท้องทุ่งดอนเมือง, ตรงตลอดมาโดยลำดับมาออกตรงวัดโสมนัศวิหาร, ข้าพเจ้ามีความยินดีด้วยนักหนา ข้าพเจ้าพิจารณาเหนว่า ถ้าขุดคลองตลอดไปได้แล้ว, ก็จักเปนคุณเปนประโยชน์แก่บ้านเมืองเปนอันมาก เพราะพวกราษฎรจะได้อาไศรยทำนา ครั้นเนื้อนาเกิดทวีมากขึ้นแล้ว, ก็จะเปนประโยชน์สองฝ่าย…”

ข้าพเจ้า ในหนังสือดังกล่าว หมายถึง หมอบรัดเลย์ ผู้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการขุดคลอง ส่วนคลองนั้น คือ คลองเปรมประชากร เพียงแค่ว่าไม่ได้เริ่มจากวัดพระนางเชิง หรือวัดพนัญเชิง หากเริ่มที่เกาะใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างลงมาทางตอนใต้

จึงเป็นไปได้ว่า คลองเปรมประชากร นั้น มาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงปลายรัชสมัย แต่มาเริ่มขุดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.2412 ต้องใช้เวลาขุดนานถึง 18 เดือน จึงมาแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2413

สถานีรถไฟหลักสี่ในอดีต ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว
สถานีรถไฟหลักสี่ในอดีต ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว

มีหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการขุด เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้เป็นบุตรชาย เป็นแม่กอง พระชลธารวินิจจัย (ฉุน) เป็นผู้ปักหมายกรุย และจ้างชาวจีนขุด เหมือนคลองอื่นที่ขุดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อย่างคลองดำเนินสะดวก และคลองภาษีเจริญ การขุดคลองเปรมประชากร เริ่มต้นทางเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลเกาะใหญ่ แขวงกรุงเก่า (ปัจจุบัน คือ ตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขุดลงมาทางใต้ ขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา ลงมาจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม ตรงบริเวณวัดโสมนัสราชวรวิหาร มีความยาวรวม 51.1 กิโลเมตร

โดยทั่วไป ในการขุดคลอง จะต้องมีการปักหลักบอกระยะ เช่น ที่คลองดำเนินสะดวก ซึ่งพระครูสิริวรรณวิวัฒน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดหลักหก ออกสำรวจหลักบอกระยะริมคลองดำเนินสะดวก ยังพบว่ามีหลักเหลืออยู่หลายแห่ง และบันทึกอยู่ในเรื่องประวัติตลาดน้ำดำเนินสะดวก ในหนังสืองานประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคมนานาชาติ 1-7 มีนาคม พ.ศ.2536 หลักบอกระยะที่คลองดำเนินสะดวกนี้ ทำ ด้วยหินแกรนิตรูปสี่เหลี่ยม ด้านบนแกะสลักเป็นรูปพระปฐมเจดีย์ ถัดลงมา แกะตัวเลข 3 ภาษา ได้แก่ เลขไทย โรมัน และจีน และคลองภาษีเจริญที่ยังมีเหลือหลักบอกระยะสามร้อยเส้น อยู่ที่บริเวณหน้าวัดหลักสาม เขตหนองแขม อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นหินแกรนิตสี่เหลี่ยมหัวตัด แกะสลัก 4 บรรทัดด้วยกัน บรรทัดแรกแกะเป็นภาษาไทย เขียนว่า สามร้อยเส้น ถัดมาเป็นอักษรภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และบรรทัดที่สี่ เป็นเลขไทย แต่สำหรับหลักของคลองเปรมประชากรนั้น ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบัน

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้อำนวยการขุดคลองเปรมประชากร

แต่ก็มีหลักฐานที่ระบุว่า เคยมีหลักบอกระยะ ดังเช่น เพลงยาวนายตาบ บุตรสุนทรภู่ แต่งเมื่อคราวตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ไปกรุงเก่า เมื่อปี พ.ศ.2414 โดยนายตาบลงเรือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองผดุงกรุงเกษม แล้วเลี้ยวเข้าคลองเปรมประชากร ผ่านคลองสามเสน บางซื่อ บางซ่อน บางเขน และถึงนนทบุรี ได้กล่าวถึงหลักบอกระยะว่า “ตามแถวคลองร้อยเส้นเห็นหลักมี บอกวิถีทุกระยะที่จะไป”

หรือในนิราศสุโขทัย ของคุณหญิงส้มจีน เขื่อนเพ็ชรเสนา ประพันธ์ไว้เมื่อ พ.ศ.2473 กล่าวถึงหลักสี่ ดังนี้

…อันหลักสี่นี้นามยังงามอยู่

หลักหนึ่งสองสามไม่รู้ไปอยู่ไหน

รัชกาลที่สี่มีพระทัย

บำรุงไพร่พลเมืองให้เฟื่องฟู

ให้ขุดคลองแยกจากคลองผดุง

ผ่าท้องทุ่งป่าละเมาะถึงเกาะคู่

ตำบลบางปะอินถิ่นควรรู้

ปักหลักไว้ให้ดูตลอดคลอง…

ราวร้อยเส้นเป็นมีศาลาพัก

ตัวไม้สักมุงกระเบื้องเขื่องอยู่หนา

เมื่อยังเยาว์เราได้เห็นเด่นในตา

แต่เวลานี้ไม่เห็นดังเช่นเคย..

เมื่อวิเคราะห์ บนแผนที่ประวัติศาสตร์ และแผนที่กรุงเทพฯ และวัดระยะทุก 100 เส้น หรือ 4 กิโลเมตร สันนิษฐานได้ว่า หลักหนึ่ง น่าจะอยู่ประมาณคลองบางซื่อในอดีต หรือประมาณสโมสรนายทหารสื่อสาร ถนนพระรามที่ 5 ในปัจจุบัน  หลักสอง น่าจะอยู่ประมาณคลองบางซ่อนในอดีต หรือประมาณจุดข้ามคลอง ทางด่วนพิเศษศรีรัช เขตจตุจักร ในปัจจุบัน หลักสาม น่าจะอยู่ประมาณสเตชั่นบางเขนในอดีต หรือ ประมาณสะพานข้ามคลอง หลังตลาดบางเขน ในปัจจุบัน

คลองเปรมประชากรช่วงที่มีการบูรณะแล้ว
คลองเปรมประชากรในปัจจุบัน ช่วงที่ยังไม่มีการบูรณะ ยังมีชาวบ้านรุกล้ำลำคลอง

หลักสี่ น่าจะอยู่ประมาณสเตชั่นหลักสี่ในอดีต ประมาณวัดหลักสี่ ในปัจจุบัน หลักห้า น่าจะอยู่ประมาณสเตชั่นดอนเมืองในอดีต หรือประมาณสะพานข้ามคลองตรงข้ามสถานีรถไฟดอนเมือง ในปัจจุบัน และ หลักหก น่าจะอยู่ประมาณสเตชั่นหลักหกในอดีต หรือประมาณซอยผ่าบุญธรรม ตำบลหลักหก จังหวัดปทุมธานี ในปัจจุบันเรื่องราวความเป็นมาของนาม เขตหลักสี่ จึงมีมาด้วยประการฉะนี้ ด้วยความมุ่งหวังที่จะช่วยให้ชาวกรุงเทพฯเลิกสงสัย หรือเข้าใจถูกต้องว่า หลัก ไม่ใช่ หลักถนน หากเป็น หลักคลอง

และ สี่ ไม่ใช่ สี่กิโลเมตร หากเป็น สี่ร้อยเส้น หรือประมาณ สิบหกกิโลเมตร

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี