Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ติดตั้ง”บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น” ความงามแห่งวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

ใครที่แวะไปเที่ยวที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม แถวถนนสราญรมย์ ใกล้ๆ พระบรมมหาราชวังในตอนนี้ จะได้เห็นความงดงามของบานหน้าต่างไม้ซึ่งเป็นบานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ของเดิมชำรุดทรุดโทรมไปมากแล้ว แต่ขณะนี้ได้รับการซ่อมแซมจากช่างเทคนิคที่เป็นความร่วมมือของฝ่ายไทยและญี่ปุ่น จนบานหน้าต่างดังกล่าวกลับมามีความงดงามเช่นเดิม และได้นำกลับมาติดตั้งไว้เป็นปฐมฤกษ์ที่พระวิหารหลวงของวัด โดยมีพระพรหมวัชราจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺโก) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯ  นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วย Mr.Shigeki Kobayashi ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นางมุกดา จิราธิวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล และนางสาวจุฬาลักษณ์ ปิยะสมบัติกุล  ร่วมในพิธี

นายกิตติพันธ์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่าความร่วมมือนี้นับเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงานอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมให้เกิดสัมฤทธิผลอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน ทั้งแง่การรักษา อันเป็นภารกิจของกรมศิลปากรเอง ความร่วมมือทางวิชาการจากสถาบันทั้งในและต่างประเทศ การให้ความสำคัญร่วมทำหน้าที่ปกป้องของวัด อันเป็นที่ตั้งของมรดกศิลปวัฒนธรรมนั้น  ตลอดจนแรงสนับสนุนด้วยความศรัทธาเห็นคุณค่าจากภาคเอกชน กรมศิลปากรมุ่งหวังให้โครงการอนุรักษ์บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นในประเทศไทยนี้ เป็นต้นแบบของการดำเนินงานอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ที่ประกอบด้วยกระบวนงานศึกษาเทคนิควิทยาการอนุรักษ์อย่างรอบคอบ การบันทึกองค์ความรู้วิธีการอนุรักษ์เพื่อเป็นจดหมายเหตุสำหรับอนาคต  และการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 กรมศิลปากรร่วมกับสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม นำโดยพระวชิรธรรมเมธี ศึกษาแผ่นไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นบนบานประตูและหน้าต่างภายในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งสั่งนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อประดับพระวิหารมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2408

ต่อมาบานประตูไม้และบานหน้าต่างประดับมุกดังกล่าวชำรุดทรุดโทรม จึงหาวิธีการอนุรักษ์ซ่อมแซมที่ถูกต้องตามเทคนิคงานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาคเอกชน คือ นางมุกดา จิราธิวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล และ นางสาวจุฬาลักษณ์ ปิยะสมบัติกุล  กระทั่ง พ.ศ.2564 กรมศิลปากรจึงจัดสรรงบประมาณโครงการอนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นในประเทศไทย แก่สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ เพื่อเริ่มดำเนินการซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นภายในพระวิหารหลวงทั้งหมด จำนวน 76 แผ่น(รวมบานประตูและบานหน้าต่าง) และบานไม้ประดับรักลายนูน จำนวน 38 แผ่น  ร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ และการให้คำปรึกษาด้านเทคนิควิทยาจาก Ms.Yoko Futakami และ  Mr.Yoshihiko Yamashita ผู้เชี่ยวชาญแห่งสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยกำหนดดำเนินงานระหว่าง พ.ศ. 2564-2568

ความงดงามของบานประดับมุกศิลปะแบบญี่ปุ่น
ภายในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐฯ จะเห็นบานหน้าต่างในสภาพสวยงามดังเดิม หลังมีการซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว
นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วย Mr.Shigeki Kobayashi ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมชมบานประดับมุกหลังซ่อมแซมเสร็จแล้ว
นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วย Mr.Shigeki Kobayashi ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมชมบานประดับมุกหลังซ่อมแซมเสร็จแล้ว
นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร Mr.Shigeki Kobayashi ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นางมุกดา จิราธิวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล และ นางสาวจุฬาลักษณ์ ปิยะสมบัติกุล ร่วมในพิธีติดตั้งบานหน้าต่างประดับมุก ที่พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐฯ
นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร Mr.Shigeki Kobayashi ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นางมุกดา จิราธิวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล และ นางสาวจุฬาลักษณ์ ปิยะสมบัติกุล ร่วมในพิธีติดตั้งบานหน้าต่างประดับมุก ที่พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐฯ

การดำเนินงานหนึ่งปีที่ผ่านมา มีผลสัมฤทธิ์ในส่วนขององค์ความรู้เรื่ององค์ประกอบงานลงรักประดับมุก นำไปสู่การอนุรักษ์ซ่อมแซมแผ่นประดับมุกบานหน้าต่างด้วยวัสดุดั้งเดิมจำนวน 1 คู่ ที่ได้นำมาประกอบคืนบานหน้าต่างเป็นปฐมฤกษ์ พร้อมทำพิธีเจริญชัยมงคลคาถา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน และเป็นสิริมงคลแก่ทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานในโครงการนี้

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

ติดตั้งบานหน้าต่างมุกกลับเข้าที่เดิม ในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์ฯ
แสดงการซ่อมแซมการประดับมุกตามเทคนิคและวิธีการแบบญี่ปุ่น
การลอกลาย ส่วนหนึ่งของการซ่อมแซมและวิธีการประดับมุก