Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ชัยภูมิ : จากเมืองทวารวดีสู่เขมรโบราณและวัฒนธรรมล้านช้าง

ใบเสมาสมัยทวารวดี ภายในวัดศรีปทุมคงคาวนาราม บ้านกุดโง้ง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ

รองศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ

เมืองชัยภูมิ แม้จะเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย – กรุงรัตนโกสินทร์ แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า บริเวณพื้นที่ในจังหวัดชัยภูมิ ปรากฏหลักฐานการอาศัยอยู่ของผู้คนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาเมื่อได้รับวัฒนธรรมทวารวดี จึงมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบทวารวดีจากภาคกลางของประเทศไทย

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญของวัฒนธรรมทวารวดีในจังหวัดชัยภูมิปรากฏให้เห็นหลายแห่ง เช่น บ้านกุดโง้ง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งพบใบเสมาสมัยทวารวดีจำนวนมาก ใบเสมาที่พบมีทั้งที่ศาล ปู่ตา ปากทางเข้าหมู่บ้าน และในวัดศรีปทุมคงคาวนาราม ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับที่พบบริเวณเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ อายุสมัยน่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12–16 ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมทวารวดีในลุ่มแม่น้ำชี

นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปศิลาแกะสลักศิลปะสมัยทวารวดีบนหน้าผาที่ภูพระ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิด้วย อันแสดงให้เห็นว่าบริเวณจังหวัดชัยภูมิได้มีการอยู่อาศัยในสมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 13–14) ด้วย 🗃

นอกจากในบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ แล้ว ยังพบว่าในอำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ ยังมีแหล่งโบราณคดีเมืองคอนสวรรค์ ซึ่งเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่มีแผนผังคูน้ำคันดินเป็นรูปวงกลม ราวพุทธศตวรรษที่ 13–15 ภายในเมืองโบราณคอนสวรรค์นี้พบทั้งใบเสมาสมัยทวารวดี และพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี ที่เรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” เมืองคอนสวรรค์แสดงให้เห็นว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางโบราณที่ใช้สืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ตัวเมืองคอนสวรรค์เดิมเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินที่มีลักษณะเป็นรูปกลม มีการพบใบเสมาหินขนาดใหญ่ร่วมสมัยกับศิลปะแบบทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนมาก ที่วัดคอนสวรรค์ พบทั้งใบเสมาหินทรายและพระพุทธรูปใหญ่สมัยทวารวดี และใบเสมาหินทรายที่วัดศรีวิชัย ซึ่งมีลวดลายใกล้เคียงกับที่พบ ณ บ้านกุดโง้ง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

แสดงให้เห็นว่าชุมชนโบราณที่เมืองคอนสวรรค์และชุมชนโบราณที่บ้านกุดโง้ง มีการติดต่อสัมพันธ์กัน อันเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นว่าเส้นทางที่ผ่านจากบ้านกุดโง้งที่ลำประทาย ไปยังบ้านจอก เมืองคอนสวรรค์ และช่องสามหมอเป็นเส้นทางโบราณ

นอกจากนี้ยังพบศิลาจารึกในช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ 13–14 ได้แก่จารึกห้วยมะอึ จารึกด้วยอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต พบที่ห้วยมะอึ บ้านหนองหินตั้ง ตำบลบ้านยาง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และศิลาจารึกบ้านหัวขัวซึ่งจารึกขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 14–15 เป็นศิลาจารึกหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต พบที่บ้านหัวขัว ตำบลหนองข่า อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อันแสดงถึงการอาศัยอยู่ของชุมชนบริเวณจังหวัดชัยภูมิในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13–15 ได้เป็นอย่างดี

ต่อมาเมื่ออาณาจักรเขมรโบราณสมัยพระนครได้ขยายอำนาจเข้ามาในอีสาน ราวพุทธศตวรรษที่ 15–18 ได้พบร่องรอยของวัฒนธรรมเขมรโบราณภายในจังหวัดชัยภูมิด้วย ดังพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายแห่ง เช่น ปราสาทกู่แดง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ปราสาทปรางค์กู่ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบศิลาจารึกภาษาเขมรโบราณที่เมืองภูเขียว เรียกว่า “จารึกภูเขียว” พบที่ห้วยมะอึ ตำบลบ้านยาง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จารึกหลักนี้เป็นจารึกเขมรสมัยพระนครราวพุทธศตวรรษที่ 15 ซึ่งกล่าว ถึงเจ้าเมืองที่ชื่อ “ชัยสิงหวรมัน” อีกด้วย รวมทั้งยังพบศิลาจารึกเกษตรสมบูรณ์ ราวพุทธศตวรรษที่ 16 และจารึกวัดปรางค์กู่ หนองบัว ซึ่งเป็นจารึกอโรคยศาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อีกด้วย

ใบเสมาสมัยทวารวดี ภายในวัดศรีปทุมคงคาวนาราม บ้านกุดโง้ง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
ใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดี ที่วัดคอนสวรรค์ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ
พระพุทธรูปศิลาแกะสลักบนหน้าผาที่ภูพระ ศิลปะสมัยทวารวดี อ.เมือง จ.ชัยภูมิ

จากหลักฐานต่างๆ แสดงให้เห็นว่า บริเวณเมืองชัยภูมิเป็นชุมชนสำคัญในวัฒนธรรมเขมรโบราณตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15 โดยทับซ้อนกับพื้นที่ซึ่งมีการอยู่อาศัยในวัฒนธรรมทวารวดี สืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อย่างไรก็ตามภายหลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แล้ว ไม่พบร่องรอยการอาศัยอยู่ต่อมา แสดงให้เห็นว่าในเวลาต่อมาดินแดนบริเวณนี้ได้ถูกทิ้งร้างไป

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 19–20 อิทธิพลอาณาจักรล้านช้างได้แผ่ขยายอำนาจเข้ามาจนถึงจังหวัดชัยภูมิ ปรากฏหลักฐานว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างได้แผ่เข้ามาในบริเวณจังหวัดชัยภูมิ ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการสร้างพระธาตุที่หนองสามหมื่น เรียกกันว่า พระธาตุหนองสามหมื่น อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

ทับหลังการกวนเกษียณสมุทร ที่ปราสาทกู่แดง อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ

พระธาตุหนองสามหมื่น หรือพระธาตุบ้านแก้ง เป็นพระธาตุที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนา ศิลปะล้านช้าง และอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 21–22 ในรัชกาลพระไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานว่า เมืองชัยภูมิเป็นหนึ่งในเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชาวเวียงจันทน์ชื่อท้าวแล ได้อพยพครอบครัวมาตั้งอยู่ที่บ้านหนองน้ำขุ่น หรือหนองอีจาน ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2362 จึงได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่บ้านชีลอง หลังจากนั้นจึงมีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่เพิ่มเติมอีกหลายบ้าน เช่น บ้านแสนพัน บ้านบุ่งคล้า ฯลฯ มีจำนวนชายฉกรรจ์กว่า 700 คน ท้าวแลจึงเกณฑ์ส่วยผ้าขาวส่งเวียงจันทน์มีความชอบ เจ้าอนุวงศ์จึงตั้งให้เป็นขุนภักดีชุมพล

ต่อมา ใน พ.ศ.2365 ขุนภักดีชุมพลเห็นว่าที่ตั้งเดิมกันดารน้ำจึงย้ายครอบครัวและบ้านเรือนมาตั้งที่บ้านหลวง ระหว่างหนองปลาเฒ่ากับบ้านหนองหลอด จากนั้นได้เลิกส่งส่วยให้กับเวียงจันทน์ แล้วขอส่งส่วยเร่วทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านหลวงเป็น “เมืองชัยภูมิ” และโปรดเกล้าฯ ให้ขุนภักดีชุมพล (ท้าวแล) เป็นพระยาภักดีชุมพล (แล)

ต่อมาใน พ.ศ.2369 เจ้าอนุวงศ์ยกทัพลงมาเมืองนครราชสีมา และให้พระยาภักดีชุมพล (ท้าวแล)เข้าร่วมด้วย และให้กวาดต้อนครอบครัวเมืองชัยภูมิขึ้นไปเวียงจันทน์ แต่พระยาภักดีชุมพล (ท้าวแล) ไม่ยอม กองทัพเจ้าอนุวงศ์จึงจับพระยาภักดีชุมพล (ท้าวแล) ประหารชีวิตที่บริเวณหนองปลาเฒ่า ต่อมาชาวเมืองจึงสร้างศาลไว้ที่หนองปลาเฒ่าสืบมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

หนังสือ “ทำเนียบหัวเมือง ร.ศ.118” (พ.ศ.244) สมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวว่า เมืองชัยภูมิเป็นเมืองขึ้น

เมืองนครราชสีมา และมีระบุผู้ปกครองเมืองไว้ดังนี้

              “ไชยภูมิ์ ขึ้น

                      ผู้ว่าราชการเมือง พระภักดีชุมพล”

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

ปราสาทกู่แดง อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ
ปราสาทปรางค์กู่ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
พระธาตุหนองสามหมื่น หรือพระธาตุบ้างแก้ง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ
พระพุทธรูปหินทรายสมัยทวารวดี ที่วัดคอนสวรรค์ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ
อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล(แล) ที่หน้าวงเวียนศูนย์ราชการจังหวัดชัยภูมิ
พระพุทธรูปศิลาแกะสลักบนหน้าผาที่ภูพระ ศิลปะสมัยทวารวดี อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
หน้าบันรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่ปราสาทปรางค์กู่ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองคอนสวรรค์ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ (ภาพจาก มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)