Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ชวนไปดู “พระอัฏฐารศ” ที่พ่อขุนรามฯ ทรงช้างไปไหว้

วัดสะพานหิน โบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเนินภูเขาลูกเตี้ยๆ ทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย ชื่อวัดเรียกตามลักษณะทางขึ้นที่ปูลาดด้วยหินชนวนตั้งแต่ตีนเขาขึ้นไปจนถึงบริเวณลานวัดบนภูเขา (ภาพมุมสูง)

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ห่างจากตัวจังหวัดสุโขทัยไปประมาณ 12 กิโลเมตร นับเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวยุโรป จีนและญี่ปุ่นนิยมไปเที่ยวกันมาก แม้ขณะนี้ก็ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปเที่ยวชมอยู่ไม่น้อย ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมีวัดโบราณที่น่าสนใจและน่าไปค้นหาอยู่หลายวัดนอกเหนือจากวัดที่เป็นไฮไลท์เช่น วัดมหาธาตุ  วัดตระพังเงิน หรือวัดสระศรี นั่นคือ “วัดสะพานหิน”

วัดสะพานหินเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเนินภูเขาลูกเตี้ยๆ ทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย ชื่อวัดเรียกตามลักษณะทางขึ้นที่ปูลาดด้วยหินชนวนตั้งแต่ตีนเขาขึ้นไปจนถึงบริเวณลานวัดบนภูเขา ที่วัดแห่งนี้มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะตรงกับที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงเมืองสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง ว่า “…ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารศอันณึ่งลุกยืน…”  “พระอัฏฐารศ” ที่ปรากฏในศิลาจารึกนั้น เข้าใจว่าหมายถึงพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยที่วัดสะพานหินนี่เอง

ที่สำคัญน่าจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกชื่อ “รูจาคีรี” เพื่อไปนบพระในวัดนี้ทุกวันข้างขึ้นและแรม 15 ค่ำ ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักเดียวกันนี้ ว่า “…วันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดลยาง เที้ยรย่อมทองงา…ขวา ชื่อรูจาครี พ่อขุนรามคำแหง ขึ้นขี่ไปนบพระ(เถิง) อรัญญิกแล้วเข้ามา…”

หากใครเดินขึ้นไปถึงลานวัดด้านบนจะเห็นร่องรอยของกลุ่มโบราณสถานประกอบด้วย 1.ฐานวิหาร 5 ห้อง ก่ออิฐ เสาทำด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนฐานกว้าง 20 เมตร ยาว 26 เมตร ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นยืนปางประทานอภัย ยกพระหัตถ์ขวา สูง 12.50 เมตร เรียกว่า “พระอัฏฐารศ”  2.ฐานเจดีย์ขนาดเล็ก 6 ฐาน กระจายทั่วไปบนลานวัด มีอยู่องค์หนึ่งมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานกว้าง 4×4 เมตร อยู่ตรงเชิงบันไดด้านทิศตะวันออก  3.สะพานหิน ที่เป็นทางขึ้นอยู่ด้านทิศตะวันออก ทอดยาวจากถนนเชิงภูเขาจนถึงลานวัด ปูด้วยหินยาวประมาณ 300 เมตร นอกจากนี้ ทางด้านทิศเหนือมีทางขึ้นอ้อมเขา เข้าใจว่าน่าจะเป็นทางช้างขึ้น และถึงแม้เสาศิลาในพระวิหารทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ความงามความขลังของสถานที่แห่งนี้ม่เคยน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงรุ่งอรุณจุดนี้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามที่สุดในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

สำหรับพระอัฏฐารศ กรมศิลปากรเคยส่งนายช่างผู้ชำนาญการไปซ่อมแซมองค์พระราวปี 2560 เนื่องจากตรวจพบรอยปริแตกขององค์พระและมีปูนหลุดร่อนอย่างมากซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่องค์พระได้ มาถึงบัดนี้องค์พระอัฏฐารศกลับมางดงามดังเดิม   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโบราณสถานวัดสะพานหินจะสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย แต่พระอัฏฐารศเป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยทวารวดี รวมทั้งฐานหินชนวนสี่เหลี่ยมมีหลุมอยู่กึ่งกลาง อาจเป็นฐานเดิมของพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่สมัยทวารวดี สอดคล้องกับบริเวณพื้นที่ทางทิศตะวันออกของวัดสะพานหิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาสนสถานและชุมชนเก่าก่อนเมืองสุโขทัย คือบริเวณ วัดพระพายหลวง  ที่มีคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบศาสนสถาน โดยรับน้ำจากเขาพระบาทน้อย และยังมีคันดินชะลอน้ำบริเวณวัดศรีชุม

คันดินดังกล่าวน่าจะทำหน้าที่เบนน้ำลงตระพังวัดพระพายหลวง ซึ่งเป็นกลุ่มศาสนสถานก่อนสมัยสุโขทัย จนเมื่อมีการสร้างเมืองในผังสี่เหลี่ยม มีตรีบูรแล้วจึงมีการใช้ลำน้ำจากโซกพระร่วงฯ ลงสู่คลองเสาหอเบนน้ำลงคูเมืองสุโขทัยทางประตูอ้อในเวลาต่อมา การนำน้ำจากแถบเขาวัดสะพานหินสำหรับใช้ในเมืองสุโขทัยจึงลดน้อยลง

บริเวณลานวัดบนภูเขา ในช่วงรุ่งอรุณจุดนี้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามที่สุดในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อีกทั้งในตอนเย็น พลบค่ำก็เป็นจุดที่ชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยที่สุดเช่นกัน
บริเวณวัดสะพานหินบนภูเขา ประกอบด้วย 1.ฐานวิหาร 5 ห้อง ก่ออิฐ เสาทำด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนฐานกว้าง 20 เมตร ยาว 26 เมตร ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นยืนปางประทานอภัย ยกพระหัตถ์ขวา สูง 12.50 เมตร เรียกว่า "พระอัฏฐารศ" 2.ฐานเจดีย์ขนาดเล็ก 6 ฐาน กระจายทั่วไปบนลานวัด (ภาพจากกรมศิลปากร)

“ศรีศักร วัลลิโภดม” นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยาชาวไทย เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ ปี 2550 เคยตั้งข้อสังเกต ว่าแต่เดิมพื้นที่แห่งนี้น่าจะเป็นที่สิงสถิตของผีต้นน้ำที่สำคัญมาตั้งแต่ก่อนสมัยทวารวดี เพราะเมื่อถึงสมัยทวารวดีระบบความเชื่อทางศาสนาพุทธได้เข้ามาบูรณาการกับความเชื่อท้องถิ่น เกิดเป็นการสร้างพุทธศาสนสถานขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ โดยบริเวณโบราณสถานวัดสะพานหินพบหลักฐานชิ้นสำคัญ คือพระพุทธรูปประทับยืนทำวิตรรกะมุทราบนฐานบัว สูงเกือบ 3 เมตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนแบบทวารวดีใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร)

นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปประทับยืนแบบทวารวดีขนาดย่อมกว่าซึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับพื้นที่ต้นน้ำแห่งนี้จนกระทั่งถึงสมัยสุโขทัย ยังคงให้ความสำคัญกับพื้นที่ดังกล่าวด้วยการสร้างโบราณสถาน “วัดสะพานหิน” ในรูปแบบศิลปะสุโขทัยด้วยเช่นกัน

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

"พระอัฏฐารศ" ที่ปรากฏในศิลาจารึก "…วันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดลยาง เที้ยรย่อมทองงา…ขวา ชื่อรูจาครี พ่อขุนรามคำแหง ขึ้นขี่ไปนบพระ(เถิง) อรัญญิกแล้วเข้ามา…"
ทางขึ้นวัดสะพานหินปูลาดด้วยหินชนวนตั้งแต่ตีนเขาขึ้นไปจนถึงบริเวณลานวัดบนภูเขา
นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปชมความงามของวัดและพระอัฏฐารศ