Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ชวนชม”ของดี” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นิทรรศการ “อาโรคยปณิธาน”

คัมภีร์พระตำรับแผนฝีดาษ

สำหรับใครที่อยากไปพักผ่อนหย่อนใจแต่ยังไม่มีโปรแกรมเดินทางไปที่ไหนไกลๆ ขอแนะนำสถานที่ใกล้ๆ แค่...อยู่ใกล้สนามหลวงนี่เอง คือ...พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตรงสนามหลวง อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยกรมศิลปากร  กระทรวงวัฒนธรรม กำลังจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง”อาโรคยปณิธาน” ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคมถึง 7  สิงหาคม 2565 ที่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน  เมื่อไปถึงแล้วซื้อตั๋ว 30 บาทสำหรับคนไทย ต่างชาติ 200 บาท ถ้าไม่รู้ว่าพระที่นั่งศิวโมกขพิมานอยู่ตรงไหน ก็สอบถามจากเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ได้

เหตุแห่งที่มาของการจัดนิทรรศการเรื่องนี้ มีว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นหนึ่งในความทุกข์  4 ประการของมนุษย์ ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกผู้คนต่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

เมื่อโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้วย่อมสร้างความไม่สบายกายไม่สบายใจต่อตัวผู้ป่วยเอง จนต้องหาหนทางบำบัดรักษาให้หายจากโรคภัยนั้น แต่ถ้าหากโรคภัยเกิดขึ้นกับคนในสังคมพร้อม ๆ กัน ย่อมต้องมีความอลหม่าน

วุ่นวายเกิดขึ้นมากมาย แม้ว่าเราเรียนรู้ว่าโรคระบาดได้สร้างความเจ็บป่วยล้มตายแก่คนในสังคมมาตั้งแต่อดีต แต่ในปัจจุบันระบบสาธารณสุข มีการพัฒนาสามารถควบคุมและจัดการโรคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทำให้เราห่างไกลจากคำว่า “โรคระบาด” จนกระทั่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 สร้างวิกฤติให้กับประชากรโลกตลอดสองปีที่ผ่านมา จึงเกิดการเรียนรู้เพื่อสู้โรคขนานใหญ่  องค์ความรู้ด้านการรักษาโรคในอดีตถูกพลิกฟื้น ควบคู่ไปกับการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อผลิตยารักษา และวัคซีนป้องกันโรค มุ่งหมายเพื่อหาแนวทางการบำบัดแก้ไขโรคร้ายให้คลายลง

ในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์พยายามแสวงหาหนทางให้พ้นจากโรค ไม่ว่าจะด้วยสัญชาตญาณ การสังเกตจากธรรมชาติและสัตว์ การลองผิดลองถูก จนสั่งสมขึ้นเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ในการรักษาโรค ซึ่งมีทั้งการรักษาเยียวยาทางกายและจิตใจ  การป้องกันไม่ให้เกิดโรค และยังคงต้องคิดหาหนทางใหม่ ๆ ที่จะต่อสู่กับโรคภัยไข้เจ็บอยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ หากเราได้ศึกษาเรียนรู้โรคภัย ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์  และทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรค ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่อันสำคัญของแต่ละบุคคล ชุมชน รัฐ และผู้นำ ที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน เพื่อถอดบทเรียนจากประสบการณ์ในอดีต นำมาวิเคราะห์ ปรับใช้ ในการจัดการของทุกภาคส่วน สังคมมนุษย์ก็อาจผจญกับโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างเท่าทัน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ดังนั้น เพื่อการเรียนรู้และเข้าใจโรคระบาดที่ประชากรโลกกำลังเผชิญอยู่ กรมศิลปากรจึงได้จัดนิทรรศการพิเศษเรื่องนี้ขึ้น ซึ่ง “อาโรคยปณิธาน” นั้น หมายถึงความปรารถนาที่จะให้ปวงมนุษยชาติพ้นจากโรค

ประกอบด้วยหัวเรื่องนำเสนอ อาทิ ความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์  โรคภัยของมนุษย์จากหลักฐานทางโบราณคดี  นำเสนอโรคต่าง ๆ ที่พบบนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากหลักฐานต่าง ๆ ทั้งทางด้านโบราณคดี   ภาพจิตรกรรมฝาผนัง จารึก และบันทึกต่าง ๆ   ศาสตร์แห่งการรักษา นำเสนอแนวทางการรักษาโรคที่มีวิธีอธิบายสมุฏฐานและวิธีบำบัดโรคมากกว่าหนึ่งวิธี ได้แก่ ศาสตร์ด้านความเชื่อ ศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทย และศาสตร์ด้านการแพทย์แผนตะวันตก และสังคมระดมปัญญา สู่ชีวิตวิถีใหม่

นำเสนอการจัดการวิกฤติโรคระบาดในสังคมไทยให้ผ่านพ้นจากโรคร้ายด้วยพลังของทุกภาคส่วนในสังคม เรื่องราวอันน่าสนใจนี้ รอคอยให้ผู้สนใจไปชม ทั้งได้ความรู้เรื่องโรคภัยในอดีต นำมาสู่ความเข้าใจในปัจจุบัน ต่อยอดไปสู่การรักษาโรค ร่างกายและจิตใจ นำพาไปสู่การมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ห่างไกลโรคในที่สุด

นิทรรศการดังกล่าว เปิดแสดงตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00-16.00 น. ปิดทำการวันจันทร์และวันอังคาร

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

หน้ากากชิมเมลบุช ประดิษฐ์ขึ้น พ.ศ. 2433 โดย นพ.เคอร์ท ชิมเมลบุช ศัลยกรรมชาวเยอรมัน ลักษณะเป็นตะแกรงหน้ากากโปร่ง หุ้มด้วยผ้าสำสีสำหรับหยดยาสลบ แล้วนำไปครอบจมูกและปากให้ผู้ป่วยสูดดม เป็นเครื่องมือแพทย์ยุคเริ่มแรกสำหรับผ่าตัดภายในโรงพยาบาลศิริราช ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ศัลยแพทย์ผ่าตัดด้วยความเรียบร้อย และลดอาการเจ็บปวดผู้ป่วยได้
สมุดไทยขาวตำราแม่ซื้อ รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24-25 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร หนังสือสมุดไทยขาว หมวดเวชศาสตร์ เลขที่ 102 เขียนภาพลงสี ลักษณะแม่ซื้อประจำวันต่างๆ และลำบองราหู ลักษณะที่เกิด พร้อมทั้งวิธีแก้ บรรยายภาพด้วยอักษรไทย ลายเส้นสีดำ จิตรกรรมลำบองราหู ที่ปรากฏในสมุดไทยเล่มนี้ เป็นรูปอมนุษย์ ที่แสดงลักษณะอาการของโรคในเด็กทารก ตั้งแต่แรกเกิดจนมีอายุครบขวบปี โดยความเจ็บไข้ของเด็กในช่วงปีแรกเกิดขึ้นเพราะอำนาจของลำบองราหู ที่มีอาการและรูปลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน รูปลักษณ์ของลำบองราหูจึงปรากฏการใช้สัญลักษณ์ประจำจักรราศี (12 ราศี) มาเป็นองค์ประกอบของรูปเพื่อสื่อความหมายถึงโรคภัยในเดือนนั้นๆ ด้วย ภาพลำบองราหูที่ปรากฏในหนังสือสมุดไทยขาวเล่มนี้ มีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรลำบองราหู บริเวณคอสองเฉลียงศาลาราย (ศาลาแม่ซื้อ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร
แท่นหินบดยา มีจารึกเยธมฺมาฯ ทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 11-12 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พบที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2507แท่นหินบดยา พบเหลือครึ่งแท่นตามแนวขวาง ใต้แท่นหินบดยา มีคาถา เยธมฺมาฯ จำนวน 5 บรรทัด อักษรปัลลวะ ภาษาบาลี นายเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก (ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร) ได้อธิบายว่า การนำคาถาเย ธมฺมา ซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนามาจารึกบนแท่นหินบดยา จะทำให้ตัวยาศักดิ์สิทธิ์ด้วยพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้จะพ้นจากโรคคือการพ้นจากทุกข์ ปัจจุบันพบแท่นหินบดยาที่มีจารึกคาถาเยธมฺมาเพียง 2 ชิ้น จึงนับเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนความเชื่อและความศรัทธาของผู้คนในสมัยทวารวดีที่มีต่อพระพุทธศาสนาและปรุงยารักษาโรค
เครื่องประดับข้อพระกร อยุธยา พุทธศตวรรษที่ 20 ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ปี พ.ศ. 2500 หอยเบี้ยจั่นพร้อมตลับและสายสร้อยข้อมือทองคำ พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ สันนิษฐานว่าเป็นการนำหอยเบี้ยมาใช้เป็นเครื่องรางของขลัง เนื่องด้วยหอยเบี้ยมีตลับปิดมิดชิด ในศาสนาฮินดูใช้หอยเบี้ยจั่นเป็นตัวแทนพระลักษมีในการบูชาพระนาง โดยที่พระนางลักษมี เป็นเทวีแห่งโชคลาภ การบูชาด้วยเบี้ยจั่นจึงถือว่าทำให้เกิดความมั่งคั่ง และความเจริญรุ่งเรือง ทั้งนี้ ปกติแล้วเบี้ยจั่นใช้เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนซื้อขายมาแต่โบราณ โดยใช้เป็นเงินปลีก ตัวอย่างจารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาไทย) หลักที่ 1 พ.ศ. 1904 กล่าวถึงการบำเพ็ญทานฉลองพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 ตอนหนึ่งว่า “แล้วกระยาทานคาบนั้นทองหมื่นหนึ่ง เงินหมื่นหนึ่ง เบี้ยสิบล้าน หมากสิบล้าน ผ้าจีวรสี่ร้อย บาตรีสี่ร้อย หมอนนั่งสี่ร้อย หมอนนอนสี่ร้อย...”
ประติมากรรมฤาษีดัดตน อยู่ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถือเป็นหลักฐานสําคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการจัดการองค์ความรู้ด้านการแพทย์ ที่ได้ดำเนินการสืบต่อมาจากสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก บทพระราชนิพนธ์เรื่อง โคลงดั้นปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้กล่าวถึงเรื่อง การสร้างฤาษีดัดตนสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สรุปว่า... เมื่อจุลศักราช 1198 ปีวอก ตรงกับ พ.ศ. 2379 โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ ระดมช่างหล่อรูปฤาษีดัดตน จํานวน 80 ท่า รวมเป็นรูปฤาษีทั้งหมด 82 ตน เพราะมี 2 ท่า ที่ทำเป็นรูปฤาษีสองตนช่วยกันดัดกาย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งไว้ทุกศาลารายรอบวัด พร้อมจารึกโคลงอธิบายไว้ทั้ง 80 ท่า นอกจากนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ ขุนวิสุทธิอักษร บันทึกลงในหนังสือสมุดไทย โดยมีพนายจิตรกรรม เขียนภาพฤาษีดัดตน 80 ท่า แล้วเสร็จเมื่อเดือน 5 แรม 11 ค่ํา ปีจอ สัมฤทธิศก จุลศักราช 1200 ตรงกับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พุทธศักราช 2381
พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช 2477 นายเสียง ปาลวัฒน์ (เป้า) สร้างอุทิศให้นายสำรวย ปาลวัฒน์ (บุตร) รูปเคารพทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่มีเค้าลางเรื่องการสะเดาะเคราะห์ ต่ออายุ เรียกว่า พระช่วยชีพ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงจีวรลายดอก ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 ถือเป็นพระพุทธรูปกลุ่มที่นิยมสร้างเพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชา มีการเว้นที่ว่างสำหรับจารคำอธิษฐาน ขออำนาจพุทธเทวดาบันดาลให้บุตรหายป่วย แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องการต่ออายุด้วยการอุทิศรูปเคารพ ในลักษณะเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปถวายเจ้านายพระองค์สำคัญ ที่จริงแล้ว คติการบูชาพระพุทธรูปปางมารวิชัย โดยนัยแล้วการบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ จึงบูชาเพื่อชัยชนะทั้งทางโลกและทางธรรม ในทางโลกคือชัยชนะเหนือศัตรู ทางธรรมคือชัยชนะเหนือกิเลสทั้งปวง
พระกริ่งบาเก็ง ศิลปะจีน พุทธศตวรรษที่ 18 พระเครื่องจำลองรูปพระไภษัชยคุรุ นิยมนำไปใส่ลงในภาชนะเพื่อทำน้ำมนต์ สำหรับดื่มชำระโรคภัยและใช้ประพรมเพื่อความเป็นสิริมงคล มีต้นแบบสำคัญอยู่ในประเทศทิเบต แล้วแพร่หลายต่อไปยังประเทศจีน โดยพระกริ่งกลุ่มนี้พบบนเขาพนมบาเก็ง ประเทศกัมพูชา ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยว่านำเข้ามาจากประเทศจีน ทั้งนี้ แม้ความเชื่อเรื่องการดื่มน้ำมนต์เพื่อรักษาโรคจะถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงการใช้ประพรมก็ตาม แต่อำนาจพุทธคุณของพระกริ่งยังคงเป็นที่นับถือสืบมาจนปัจจุบัน