Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ชวนคนชอบทองดู “เครื่องทองจีนโบราณ”

แท่งโลหะทอง ขุดจากแม่น้ำจูเจียง เมืองเหมยซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวน

เป็นที่ยอมรับกันว่าไม่มีใครที่ไม่ชอบ “ทอง”  ทุกชาติทุกภาษาหากไปดูในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาต่างนิยมใช้ “ทอง” หรือ “ทองคำ” ทำเป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ เครื่องตกแต่ง หรือแม้กระทั่งเป็นเงินตราแลกเปลี่ยนเพราะทองคำเป็นโลหะชนิดเดียวที่ได้รับการยอมรับในทุกหนทุกแห่ง  คงไม่มีชาติไหนที่ไม่ชอบทอง 

การที่ทองคำมีความสำคัญอย่างมาก ก็เพราะว่าทองคำเป็นโลหธาตุที่โดดเด่นกว่าโลหธาตุใดๆ ในโลก ทองคำแท้จะมีสีสันเหลืองอร่ามสุกใสอยู่เสมอ ไม่มีหมอง ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใด ทองคำไม่ทำปฏิกิริยากับกรดใดๆ (ยกเว้นกรดกัดทองหรือน้ำประสานทอง) นอกจากนั้น แม้ทองคำจะเป็นโลหะหนัก แต่กลับมีความอ่อนตัวสูงสุด ทองคำ 1 กรัม สามารถรีดเป็นแผ่นบางๆ ที่มีความหนาเพียง 1 ในล้านส่วนของเซนติเมตร สามารถตีเป็นทองคำเปลวได้ถึง 180 ตารางเซนติเมตร หรือสามารถดึงเป็นเส้นที่มีความยาวเท่าเส้นรอบวงของโลกได้ด้วย  แต่ทองก็เป็นโลหะที่หาได้ยากมากบนโลกใบนี้

จากการค้นพบทางธรณีวิทยา หินหนัก 1 ล้านกิโลกรัม จะมีแร่ทองคำปนอยู่เพียง 4 กรัม  และในน้ำทะเลหนัก 9 ล้านกิโลกรัม จะมีแร่ทองคำปนอยู่เพียง 1 กรัมเท่านั้น ทองคำจึงเป็นวัตถุยอดนิยมของมนุษย์เรา และยังเป็นของที่มีราคาแพงใช้เชิดหน้าชูตาในสังคมอีกด้วย

สำหรับประเทศจีนนับเป็นประเทศที่บริโภคทองคำมากที่สุดในโลกตามรายงานล่าสุดของสภาทองคำโลก หรือ World Gold Council “ทองคำ” ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์กาล – ค.ศ 220) แต่ด้วยการเข้ามาของศาสนาพุทธมากขึ้นจนทำให้ในช่วงราชวงศ์ที่ 6 (ค.ศ. 222 – 589) ได้มีการครอบครองทองคำอย่างแพร่หลายนอกราชสำนัก เนื่องจากมีการนำทองคำของเหล่าผู้ที่นับถือศาสนาพุทธมาร่วมกันสร้างพุทธบูชาทองคำต่างๆ ขึ้น เช่น เจดีย์ทองคำ และพระพุทธรูปทองคำ เป็นต้น

เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งแหล่งแร่อัญมณีและโลหะมีค่าหลายชนิดจำนวนมหาศาล จีนมีแหล่งแร่ทองคำในหลากหลายพื้นที่ประมาณว่า ในปี 2552 มากกว่า 500 เขตในจีนมีการผลิตทองคำ  ในจำนวนนี้ประมาณ 100 เขต กำหนดให้การผลิตทองคำเป็นอุตสาหกรรมหลัก  โดยในระดับมณฑล ซานตง(Shandong) ผลิตทองคำมากที่สุด  รองลงมาคือ มณฑลเหอหนาน(Henan) เจียงซี (Jiangxi) ฝูเจี้ยน(Fujian) และ ยูนนาน(Yunnan) โดย 5 มณฑลดังกล่าวสามารถผลิตทองคำได้ราวร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตรวมของประเทศ

ยุคสมัยโบราณในประวัติศาสตร์จีนก็มีการบริโภคทองคำจำนวนมากไม่แพ้ยุคปัจจุบัน เพราะเมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงาน ว่าหน่วยงานด้านวัตถุโบราณของจีน ค้นพบวัตถุโบราณจำนวนมากกว่า 10,000 ชิ้น  ส่วนใหญ่เป็นเครื่องทองคำและเครื่องเงิน ที่ถูกฝังอยู่บริเวณแม่น้ำหมินเจียง ที่เมืองเหมยซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวนของจีน

ส่วนหนึ่งของตราประทับสีทอง ขุดขึ้นจากแนวแม่น้ำเจียงหมิว เมืองเหมยซาน มณฑลเสฉวน
เครื่องประดับทองคำที่ขุดขึ้นจากแนวแม่น้ำเจียงโจว
สร้อยข้อมือสีทอง ขุดขึ้นมาจากแม่น้ำหมินเจียงในเมืองเหมยซาน

จากการคาดการอายุของวัตถุโบราณดังกล่าวเชื่อว่ามีอายุย้อนหลังไปถึงปลายราชวงศ์หมิง หรือในราว คศ.1368-1644  โดยการค้นพบดังกล่าวได้รับการจัดอันดับให้เป็น “หนึ่งในการค้นพบทางโบราณคดี 10 อันดับแรกของจีน” 

สำหรับวัตถุโบราณทองคำที่ขุดค้นพบ ได้แก่ ตราประทับสีทอง, เหรียญทอง ขุดขึ้นมาจากแนวแม่น้ำเจียงหมิวในเมืองเหมยซาน, เครื่องประดับทองคำขุดขึ้นจากแนวแม่น้ำเจียงโจว ในเมืองเหมยซาน, แท่งเงิน แหวนทองและสร้อยข้อมือสีทอง ขุดขึ้นมาจากแม่น้ำหมินเจียง ในเมืองเหมยซาน, แท่งโลหะทอง ขุดขึ้นมาจากแม่น้ำจูเจียงในเมืองเหมยซาน 

นอกจากนี้แล้ว ในปี 2008 ที่ผ่านมา จีนได้ขึ้นทะเบียนศิลปะการประดับลายบนเครื่องทองโบราณของจีน โดยใช้ทองคำและเงินเป็นวัสดุ ดัดให้เส้นโลหะกลายเป็นรูปทรงต่าง ๆ และฝังเพชรชนิดต่าง ๆ ลงบนเครื่องประดับทอง ถือเป็นตัวอย่างของศิลปหัตถกรรมในพระราชวังโบราณ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมระดับชาติของจีน

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

ช่างแกะทองคำของจีน
การแกะสลักลวดลายของทองคำโดยวิธีช่างแบบโบราณ
การทำแหวนทองคำแบบโบราณ
ตราประทับสีทองขุดแนวแม่น้ำเจียงหมิว เมืองเหมยซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวน
แหวนทองที่ขุดขึ้นจากแนวแม่น้ำหมิงเจียง
ลวดลายของถ้วยทำจากทองคำ ซึ่งจีนได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมในปี 2008
เหรียญทอง ขุดจากแม่น้ำเจียงหมิว ที่เมืองเหมยซาน
สร้อยทองคำจากวังโบราณ
แท่งเงินที่ขุดขึ้นมาจากแม่น้ำหมินเจียงในเมืองเหมยซาน